หนูยักษ์ที่ตกลงมาเป็นหนูชนิดใหม่

หนูยักษ์ที่ตกลงมาเป็นหนูชนิดใหม่

เรื่อง เจสัน บิตเทล

เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้ว ที่ชาวเกาะโซโลมอนบอกเล่าถึงเรื่องราวของหนูขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่บนยอดไม้

แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ยังคงอยู่หรือไม่ จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2015 คนงานตัดไม้บนเกาะวังกูนู ร่วงตกลงมาจากต้นไม้พร้อมกับมีหนูตัวหนึ่งหล่นลงมาด้วย

โชคไม่ดีนักที่เจ้าหนูยักษ์ตัวนั้นเสียชีวิตหลังจากตกลงมา แต่ก็ยังพอมีเรื่องโชคดีอยู่บ้าง ฮิกูนา จัดจ์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานอยู่ในเขตอนุรักษ์ใกล้ๆ ได้เป็นประจักษ์พยานในการพบเห็นหนูชนิดนี้ก่อนมันจะตาย

การที่เขาทราบว่า เขาพบกับสิ่งมีชีวิตที่แสนพิเศษ เขาจึงจัดการตระเตรียมหนูยักษ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และส่งมันไปยังพิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์ ในประเทศออสเตรเลีย

“ผมรู้ทันทีว่ามันต้องเป็นชนิดพันธุ์ใหม่” ไทโรน ลาเวอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กล่าวหลังจากได้รับตัวอย่างหนู เมื่อโตเต็มวัย หนูยักษ์วังกูนู (Uramis vika) มีน้ำหนักราวหนึ่งกิโลกรัม ความยาวจากปลายจมูกถึงหางประมาณ 45 เซนติเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นสี่เท่าของหนูที่เราพบทั่วไปตามบ้านเรือน และมันเป็นสัตว์ฟันแทะชนิดใหม่ที่มีการค้นพบบนหมู่เกาะโซโลมอนในรอบ 80 ปี

หนูยักษ์
หนูยักษ์วังกูนู เมื่อโตเต็มที่อาจหนักถึง 1 กิโลกรัม และอาจมีความยาว 45 เซ็นติเมตร

 

ชีวิตบนต้นไม้

แม้ว่าจะมีตัวอย่างให้ศึกษาเพียงตัวเดียว แต่นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถคาดเดาพฤติกรรมของหนูยักษ์ชนิดนี้ได้

ตัวอย่างเช่น หางที่ไร้ขนและเรียวยาวช่วยในการทรงตัวขณะที่มันไต่ไปบนยอดไม้ ด้านหลังของฝ่าเท้าขนาดใหญ่พบปุ่มนูน และมีกรงเล็บโค้งงอ ซึ่งอาจจะเป็นการปรับตัวสำหรับการใช้ชีวิตที่ต้องอยู่บนต้นไม้ ลาเวอรีอธิบาย เขาและจัดจ์ตีพิมพ์การค้นพบครั้งนี้ลงใน Journal of Mammalogy

เช่นเดียวกับสัตว์ฟันแทะชนิดอื่น หนูยักษ์วังกูนูมีฟันตัดคู่หน้าขนาดใหญ่และแหลมคม ซึ่งใช้เจาะเปลือกของถั่ว Caranium และตามคำบอกเล่าของชาวเกาะที่อาศัยอยู่ในวังกูนู ยังพบว่าพวกมันชื่นชอบการกินมะพร้าวอีกด้วย

พื้นที่เกาะวังกูนูตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันในชื่อเขตเมลานีเซีย ซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่หลายชนิด นาธาน วิตมอร์ นักชีววิทยาที่มีฐานการทำวิจัยอยู่ในปาปัวนิวกีนี บอก

“ประเด็นก็คือมันพบตัวได้ยากมากครับ” วิตมอร์ส่งอีเมลมาบอกเรา “พวกเราหลายคนคิดว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งมีรายงานว่า พวกมันยังมีชีวิตอยู่”

ฟันของพวกมันแหลมคม พอที่จะเจาะเมล็ดมะกอกเกลื้อนกินได้

 

สายพันธุ์ที่ต้องรับมือกับการสูญพันธุ์

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมวาเลอรีและจัดต์ถึงโชคดีที่พบหนูยักษ์วังกูนู พวกมันหายตัวไปจากพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติอย่างรวดเร็ว และนั่นหมายความว่ามันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ

บริษัทค้าไม้ดำเนินกิจการป่าไม้กว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่บนเกาะโซโลมอนและวังกูนู ซึ่งเหลือพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร (ตัวอย่างของหนูที่พบอยู่ในหมู่บ้านไซนา ซึ่งเป็นชุมชนที่ต่อต้านการทำไม้) ลาเวอรีบอก

แมวจรจัดและหนูต่างถิ่นกำลังเป็นภัยคุกคามอย่างหนักต่อหนูยักษ์วังกูนู “พวกหนูต่างถิ่นเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของหนูประจำถิ่นโดยตรง เนื่องจากพวกมันเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้าสู่ธรรมชาติ” วิตมอร์อธิบาย

แน่นอนว่าการค้นพบและการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจะเป็นก้าวแรกในการอนุรักษ์สายพันธุ์นี้ไว้ได้ “โดยปกติแล้ว เราไม่สามารถขอเงินทุนทำวิจัยกับสิ่งมีชีวิตที่พิสูจน์ไม่ได้ว่ายังคงมีชีวิตอยู่ การค้นพบครั้งนี้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาของไทโรนเป็นอย่างมาก” วิตมอร์กล่าวปิดท้าย

 

อ่านเพิ่มเติม : พี่เลี้ยงที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ของเจ้าเหมียวฝันร้ายขั้นสุดของคนกลัวหนู

Recommend