มดน้อยน่าเกรงขาม – ภาพถ่ายของ มด ระยะใกล้ เผยมุมมองที่หาดูได้ยาก

มดน้อยน่าเกรงขาม – ภาพถ่ายของ มด ระยะใกล้ เผยมุมมองที่หาดูได้ยาก

ภาพถ่ายระยะใกล้มากเผยลักษณะเฉพาะที่ไม่ธรรมดาของ มด แมลงที่พบได้ทั่วไปมากที่สุดชนิดหนี่งในโลก

ความอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็กๆ อาจติดต่อกันได้ ระหว่างเดินไปสวนสาธารณะในละแวกบ้านที่ลอนดอนเมื่อไม่กี่ปีก่อน เอดูอาร์ด ฟลอริน ไนกา กับลูกสาวตัวน้อย พบ มด ตัวหนึ่งบนทางเท้า สาวน้อยหยุดพินิจพิจารณามัน “ตาของมดอยู่ตรงไหนคะพ่อ” เธอถาม พ่อผู้เป็นครู และอดีตตำรวจผู้เก็บหลักฐานจากสถานที่เกิดเหตุอาชญากรรม สมัยอยู่บ้านเกิดในโรมาเนีย รู้ว่า ภาพถ่ายจะให้คำตอบได้

มดเป็นสัตว์ที่มีจำนวนมากที่สุดและประสบความสำเร็จในขยายพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก หลักฐานฟอสซิล ชี้ว่ามดถือกำเนิดขึ้นในช่วง 168 ล้านถึง 140 ล้านปีก่อน ปัจจุบันอาจมีมดกว่า 15,000 ชนิด ในจำนวนนี้ได้รับการบรรยายทางอนุกรมวิธานแล้วประมาณ 12,000 ชนิด และหลายสิบชนิดมีภาพปรากฏใน Ants: Workers of the World (มด: กรรมกรของโลก) หนังสือเล่มแรกของไนกา

มด
ภาพของมด Dorylus mayri เพศผู้จากแอฟริกาตะวันตก
มดไร่ข้าวโพด (Lasius alienus) มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันกับเพลี้ย มดดูแลแมลงขนาดเล็กกว่านี้โดยป้องกันภัยจากสัตว์ผู้ล่า และได้ดื่มน้ำหวานจากร่างกายของเพลี้ยเป็นการตอบแทน
มดเดินขบวน ในภาพบน มดดำสวน (Lasius niger) เดินเรียงเดี่ยวตามกันมา ขณะบางตัวแวะกินหยดน้ำผสมน้ำตาลที่ช่างภาพหยดไว้ให้
มด, มดช่างไม้
ขนสีเหลืองสดใสแต่ละเส้นเห็นเด่นชัดอยู่บนส่วนท้องของ Camponotus fulvopilosus ซึ่งเป็นมดช่างไม้จากทางตอนใต้ของแอฟริกา

การถ่ายภาพมาโครของไนกานั้นต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการขยายสิ่งใดให้มีขนาด 10 เท่า หรือหนึ่งพันเท่าของขนาดจริง เขาทำงานตามลำพังยามค่ำคืนในสตูดิโอหลังบ้าน เพราะแรงสั่นสะเทือนจากรถ ที่แล่นผ่านไปมาจะไม่รบกวนอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ แสงสว่างเพียงแหล่งเดียวในห้องคือแสงที่เขาฉายไปบนตัวแบบ

ผู้ร่วมงานส่งตัวอย่างมดและแมลงอื่นๆ มาให้ไนกา หรือไม่เขาก็สั่งมาจากอินเทอร์เน็ต บางตัวมาแบบเป็นๆ หลังถ่ายภาพแล้ว พวกมันถูกส่งคืนไปยังผู้ส่งหรือใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในคอโลนีที่ไนกาเลี้ยงไว้ บางตัวอย่างดองมา โดยมักดองในแอลกอฮอล์ ในการเตรียมตัวอย่างที่ตายแล้วสำหรับการถ่ายภาพระยะใกล้ ไนกาคืนความชื้นให้มันอย่างระมัดระวัง ทำความสะอาด ง้างขากรรไกรออก แล้วปักมันให้อยู่ในท่วงท่าเหมือนมีชีวิต จากนั้น เขาถ่ายภาพขยายขนาดส่วนต่างๆ ของแมลงหลายร้อยภาพ ในการสร้างภาพสุดท้าย ไนการวมภาพ 150 ถึง 500 ภาพด้วยกระบวนการที่เรียกว่า การซ้อนโฟกัส (focus stacking) ซึ่งผสานภาพแบบเดียวกันที่มีจุดโฟกัสต่างกันเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ ความชัดลึกมากขึ้น กว่าภาพถ่ายมดเหล่านี้ภาพหนึ่งจะเสร็จสมบูรณ์อาจต้องใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์หรือนานกว่านั้น

มด, มดทุ่งเหลือง
มดเติบโตโดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างสี่ขั้นตอนจากไข่ไปเป็นตัวเต็มวัย ในภาพนี้ มดทุ่งเหลือง (Lasius flavus พบในยุโรปและเอเชีย) คาบตัวอ่อนในขั้นตอนที่สองของพัฒนาการ ขั้นตอนต่อไปตัวอ่อนจะกลายเป็นดักแด้
มด Camponotus singularis จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มด, มดงาน, มดนางพญา
มดเพศเมียอาจเติบโตเป็นนางพญา มดงานหลัก (ขวา) หรือมดงานรอง (ซ้าย) ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินตอนเป็นตัวอ่อน มดงานหลักคอยปกป้องรัง คาบสิ่งของหนักๆ และเคี้ยวอาหารแข็งๆ ส่วนมดงานรองทำหน้าที่ เช่น หาอาหารเลี้ยง ตัวอื่นๆ และทำความสะอาดรัง สองตัวนี้กินน้ำผสมน้ำตาลที่ไนกาหยดไว้ให้

เทคนิคการรวมภาพนี้ใช้กับตัวแบบที่มีชีวิตไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวทำให้มดดูราวกับว่ามีหลายหัว ดังนั้น การถ่ายภาพแมลงมีชีวิตเพื่อให้ได้ภาพที่น่าพอใจ ไนกาอาจต้องใช้เวลาสองถึงสามวัน เขาบอกว่า ในสถานการณ์ส่วนใหญ่ เขาไม่ใช่คนที่มีความอดทน “แต่กับงานนี้ ผมไม่รู้ว่าความอดทนมาจากไหนครับ อาจเป็นเพราะผมรักมันจริงๆ ก็ได้” ไนกาหวังว่า ภาพถ่ายของเขาจะมีส่วนช่วยให้คนเห็นคุณค่าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วของโลก มากขึ้น ทั้งดวงตาและทุกส่วน

เรื่อง ฮิกส์ โวแกน

ภาพถ่าย เอดูอาร์ด ฟลอริน ไนกา

แปล ปณต ไกรโรจนานันท์

ติดตามสารคดี มดน้อยน่าเกรงขาม ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือน เมษายน 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/574217


อ่านเพิ่มเติม ภาพถ่ายโคลสอัปเผยให้เห็น โลกของ แมงมุม ที่สวยงามไม่เหมือนใคร

Recommend