ล่า ฮิปโป เอา ” เขี้ยวฮิปโป ” ภัยคุกคามใหม่จากมนุษย์ในอุทยานแห่งชาติ

ล่า ฮิปโป เอา ” เขี้ยวฮิปโป ” ภัยคุกคามใหม่จากมนุษย์ในอุทยานแห่งชาติ

ความต้องการในการซื้อ เขี้ยวฮิปโป และเนื้อกลายเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับ ฮิปโป หนึ่งในสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก

หลักฐานใหม่ชี้ว่า เมื่อไม่นานมานี้การลักลอบล่า ฮิปโป ในอุทยานแห่งชาติบางแห่งของประเทศยูกันดาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รายงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและผลการสำรวจทางอากาศครั้งล่าสุดชี้ให้เห็นว่าจำนวนประชากรฮิปโปลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ซากของพวกมันกลับหายไป ความผิดปกติดังกล่าวบ่งบอกว่าเกิดการลักลอบล่าสัตว์ขึ้น และผลจากรายงานทั้งสองก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเหล่าฮิปโปที่มีแนวโน้มว่าใกล้จะสูญพันธุ์ในอนาคต

สัตว์กินพืชขนาดใหญ่อย่างฮิปโปโปเตมัสนั้นเป็นสัตว์สังคมซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูงตามอุทยานแห่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาในยูกันดา ผู้ลักลอบล่าสัตว์มีแนวโน้มพุ่งเป้าการล่าไปที่ฮิปโปมากขึ้น เนื่องจากฟันของพวกมันสามารถนำไปแกะสลักและส่งออกไปยังต่างประเทศในชื่อเขี้ยวฮิปโป (Hippo ivory) ได้ นอกจากนี้ พวกมันยังถูกล่าเพื่อนำเนื้อไปบริโภคอีกด้วย

ชาร์เลส ทุมเวสซิกเย (Charles Tumwesigye) รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามประจำหน่วยงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ายูกันดา (Uganda Wildlife Authority: UWA) ระบุว่า ผลการสำรวจทางอากาศครั้งล่าสุดซึ่งยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชี้ให้เห็นว่า จำนวนประชากรของฮิปโปโปเตมัสในอุทยานแห่งชาติแหล่งต่าง ๆ ของยูกันดาลดลง เขากล่าวว่า “พวกเราทราบว่าจำนวนของฮิปโปลดลง โดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติน้ำตกเมอร์ชิสัน (Murchison Falls National Park)” ซึ่งเป็นบ้านของฮิปโปประมาณ 3,000 ตัวจากจำนวนฮิปโปทั้งหมดประมาณ 10,000 ตัวที่พบในประเทศ

ในปี 2016 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้กำหนดให้ฮิปโปโปเตมัสเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ โดยระบุว่า ภัยคุกคามหลักของพวกมันคือการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การเสื่อมสภาพของถิ่นฐานที่อยู่ และการถูกล่าอย่างผิดกฎหมายโดยไร้การควบคุม หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฮิปโปไม่สามารถเพิ่มประชากรให้มากขึ้นเพื่อทดแทนจำนวนที่เสียไปได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว คือการที่ฮิปโปตัวเมียสามารถตกลูกได้ครั้งละเพียง 1 ตัวและเว้นระยะการผสมพันธุ์นานถึง 1 ปี

ฮิปโป
ฮิปโปเป็นสัตว์สังคมที่มักรวมตัวกันอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Murchison Falls และอุทยานแห่งชาติอื่น ๆ ในยูกันดา แต่จำนวนของพวกมันกำลังลดลงอยู่ในชณะนี้ PHOTOGRAPH BY EDWIN GIESBERS, NATURE PICTURE LIBRARY

ไมเคิล เคกวิน (Michael Keigwin) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์สัตว์ป่ายูกันดา (Uganda Conservation Foundation: UCF) มูลนิธิไม่แสวงหากำไรซึ่งสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ายูกันดาได้กล่าวว่า “ยูกันดาเผชิญกับเคราะห์กรรมมากมาย จนเอื้อให้กลุ่มผู้กระทำสิ่งผิดกฎหมายสามารถหาประโยชน์จากผู้คนที่สิ้นหวังได้” เขาอธิบายเสริมว่าภัยแล้งที่เกิดในประเทศ ตามด้วยอุทกภัยจากน้ำท่วม และการล็อคดาวน์จากโรคระบาดเมื่อไม่นานมานี้ล้วนมีส่วนทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศและธุรกิจประเภทอื่น ๆ เกิดความตึงเครียดจนประชาชนหันมาลักลอบล่าสัตว์มากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ประเทศยูกันดาสั่งห้ามไม่ให้ส่งออกเขี้ยวฮิปโปในเชิงพาณิชย์ แต่อย่างไรก็ตามในต่างประเทศยังมีความต้องการที่จะนำเขี้ยวฮิปโปซึ่งได้มาอย่างถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้างจากประเทศต่าง ๆ มาแปรรูปเพื่อผลิตเป็นสินค้าอยู่ โดยเขี้ยวของฮิปโปมักจะถูกแกะสลักเป็นเครื่องประดับและรูปสลักเล็ก ๆ แล้วนำไปจำหน่ายในทวีปเอเชียเป็นหลักและถูกส่งไปจำหน่ายในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ

เคกวินเชื่อว่าเขี้ยวฮิปโปที่มีมูลค่าสูงคือเป้าหมายหลักของบรรดาผู้ลักลอบล่าสัตว์ในยูกันดา นอกจากจะฆ่าฮิปโปเพื่อเขี้ยวของมันแล้ว นักล่าเหล่านี้มักจะนำเนื้อของพวกมันไปบริโภค เคกวินใช้การสังหารหมู่ฮิปโปที่ทีมของเขาเคยพบในอุทยานแห่งชาติหลายแห่งเป็นหลักฐานประกอบการอธิบาย เขาเล่าว่าเหล่าผู้ลักลอบล่าฮิปโปมักจะ “ทิ้งเพียงกระดูกและหัวของฮิปโปไว้แต่นำส่วนอื่น ๆ ไปจนหมด” เขายังเสริมอีกว่าในบางครั้งพวกนักลักล่าฮิปโปจะขนร่างของมันไปทั้งตัวแล้วค่อยนำไปแยกชิ้นส่วนในภายหลัง ซึ่งการจัดการในลักษณะนี้ทำให้การติดตามร่อยรอยของซากฮิปโปยากขึ้น

เคกวินยังเล่าว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทีมของเขาพบซากฮิปโปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบมากในอุทยานแห่งชาติน้ำตกเมอร์ชิสันและอุทยานแห่งชาติควีนเอลิซาเบธ (Queen Elizabeth National Park) ซึ่งเป็นสถานที่อีกแห่งที่มีฮิปโปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เขาคาดว่าฮิปโปกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรฮิปโปทั้งหมดในอุทยานน้ำตกเมอร์ชิสันถูกล่าในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก

ทว่า รองผู้อำนวยการทุมเวสซิกเยซึ่งเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกลับชี้แจงว่าจำนวนของฮิปโปที่ล้มตายจากการถูกล่ายังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอยู่ เขากล่าวว่า “พวกเรายังไม่สามารถยืนยันข้อมูลดังกล่าวได้จนกว่าจะได้รับผลการรายงานจากการสำรวจครั้งล่าสุด” ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหลังจากที่ผลการวิเคราะห์ของการสำรวจทางอากาศเสร็จสิ้น

ทุมเวสซิกเยกล่าวว่า การที่ซากของฮิปโปหายไปทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าจุดประสงค์หลักของผู้ลักลอบล่าฮิปโปคือเนื้อ เขี้ยว หรือทั้งสองสิ่งที่กล่าวมา เขาเสริมว่า “พวกเรากำลังคิดว่ามันอาจจะไม่ได้มีแค่การค้าเขี้ยวฮิปโปเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะมีการลอบค้าเนื้อสัตว์ป่าร่วมด้วย เพราะการขายเนื้อสัตว์ต้องนำร่างของมันไปด้วย” นอกจากนี้ทุมเวสซิกเยยังกล่าวอีกว่าเขาเชื่อว่าโดยรวมแล้วยูกันดามีแนวโน้มว่าจะสูญเสียฮิปโปไปกับการค้าเนื้อสัตว์ป่ามากกว่าการค้าเขี้ยวฮิปโป

เขี้ยวฮิปโป
ฮ่องกงเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าเขี้ยวฮิปโปรายใหญ่ โดยช่างแกะสลักจะเปลี่ยนพวกมันให้เป็นวัตถุศิลปะ โดยชิ้นนี้ถูกยึดโดยองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ PHOTOGRAPH BY REBECCA HALE, NATIONAL GEOGRAPHIC

การลักลอบล่า หา เขี้ยวฮิปโป

จากข้อมูลขององค์กรโฟกัสท์คอนเซอร์เวชัน (Focused Conservation) องค์กรไม่แสวงหาผลกําไรระดับโลกซึ่งร่วมสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมต่อสัตว์ป่าควบคู่ไปกับฝ่ายดูแลอาชญากรรมสัตว์ป่าของหน่วยงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ายูกันดา พบว่าในปี 2023 นี้อัตราการเข้ายึดเขี้ยวฮิปโปในยูกันดาพุ่งสูงขึ้น กลุ่มนักอนุรักษ์จากองค์กรได้ออกประกาศเตือนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโดยมีใจความว่า ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของปี 2023 ทางการยูกันดาได้ยึดเขี้ยวฮิปโปไปถึง 598 ซี่ ในขณะที่ผลการสำรวจในปี 2022 พบว่ามีจำนวนเขี้ยวที่ถูกทางการยึดเพียง 32 ซี่

องค์กรโฟกัสท์คอนเซอร์เวชันแจ้งว่าทางองค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับฮิปโปขึ้นในนามขององค์กรยูไนเต็ด ฟอร์ ไวลด์ไลฟ์ (United for Wildlife) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งด้วยการสนับสนุนจากเจ้าชายวิลเลียม (Prince William of Wales) และกองทุนรอยัล เฟาน์เดชัน (Royal Foundation) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย โฟกัสท์คอนเซอร์เวชันได้ระบุในผลการรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายในยูกันดา และในบางครั้งผู้ค้าที่มีเส้นสายก็สามารถจัดหาใบอนุญาตในการส่งออกเขี้ยวฮิปโปได้แม้จะมีคำสั่งห้ามในปี 2014 ก็ตาม

ทุมเวสซิกเยกกล่าวว่า การสืบสวนยังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ดีการที่ข้อมูลการเข้ายึดเขี้ยวฮิปโปเป็นรายงานล่าสุดไม่ได้หมายความว่าของกลางที่ถูกยึดจะมาจากฮิปโปที่เพิ่งถูกฆ่า และทั้งสองสิ่งนี้เป็น “สิ่งที่ยากจะนำมาเชื่อมโยงกัน”

เขี้ยวฮิปโป
ยูกันดาห้ามการค้าเขี้ยวฮิปโปในปี 2014 แต่มันย้ายการซื้อขายไปแบบใต้ดิน เจ้าหน้าที่สืบสวนของยูกันดาได้ยึดเขี้ยวจำนวน 363 กิโลกรัม (880 ปอนด์) ในปี 2016 ซึ่งน่าจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการค้าเขี้ยวฮิปโปเท่านั้น PHOTOGRAPH BY VINCENT OPYENE

ในการจะฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่อย่างฮิปโปโปเตมัสนั้นนักล่าจะต้องมีความสามารถและความชำนาญสูงมาก เคกวินกล่าวว่าผู้ลักลอบล่าฮิปโปในยูกันดานั้นมีทั้งสองอย่างที่กล่าวมาจึงสามารถทำงานอันยากเย็นนี้ให้สำเร็จและลากซากฮิปโปออกไปได้ภายในเวลาไม่ถึงไม่ถึง 30 นาที

เขาเล่าต่อว่าในตอนกลางคืนผู้ลักลอบล่าสัตว์จะนั่งเรือตกปลาที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ของอุทยานของยูกันดา แทงฮิปโปด้วยฉมวกแล้วลงมือฆ่ามันให้ตาย จากนั้นจึงลากซากมันออกไป เคกวินบรรยายว่าเมื่อฮิปโปโผล่ขึ้นจากน้ำเพื่อหาอาหาร นักล่าจะใช้เครื่องมืออื่น ๆ อย่างเช่นบ่วงขนาดใหญ่ หลุมกับดักที่เมื่อฮิปโปตกลงไปแล้วจะโดนเหล็กแหลมแทง และปืนที่สามารถยิงหอกถ่วงน้ำหนักไปยังบริเวณไหล่ของฮิปโปได้ เขาเสริมว่าหากใช้หนึ่งในวิธีเหล่านี้นักล่าอาจจะต้องใช้หอกแทงย้ำเพื่อให้สัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บตายสนิท

ส่วนทุมเวสซิกเยกอธิบายว่า “สิ่งหลัก ๆ ที่เราต้องทำคือการปรับปรุงกลยุทธ์ที่ใช้ระหว่างการลาดตระเวนภายในเขตพื้นที่คุ้มครอง ฮิปโปอาศัยในพื้นที่เฉพาะซึ่งใคร ๆ ก็รู้จัก ดังนั้นถ้าเราเพิ่มการลาดตระเวนในบริเวณนั้นให้มากขึ้นเราจะสามารถต่อกรกับพวกนักลักลอบล่าฮิปโปได้”

เคกวินเล่าว่าในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก มูลนิธิของเขาเลี้ยงอาหารเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานและจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับรถ ยารักษาสำหรับช่วยเหลือสัตว์ และของอื่น ๆ อีกมากมายให้กับเจ้าหน้าที่ เขายังกล่าวเสริมว่า “พวกเราทำดีที่สุดแล้ว และหน่วยงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าก็ทำทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้แล้วแต่หน่วยงานของพวกเขาขาดแคลนทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และทรัพยากรอย่างหนัก”

ฮิปโป
ฟันของฮิปโปซึ่งสามารถยาวได้ถึงเกือบ 1 เมตร นั้นถูกซื้อขายทั้งในแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย PHOTOGRAPH BY JASON EDWARDS, NAT GEO IMAGE COLLECTION

การซื้อขายชิ้นส่วน เขี้ยวฮิปโป ข้ามประเทศ

ฮิปโปเป็นสัตว์ประจำถิ่นของประเทศต่าง ๆ ในแถบแอฟริกาใต้ทะเลทรายสะฮาราด้วยกันถึง 38 ประเทศ จากการประเมินขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติในปี 2016 พบว่าในแถบนี้มีจำนวนประชากรฮิปโปรวมทั้งสิ้นประมาณ 115,000 ถึง 130,000 ตัว อย่างไรก็ตาม การประเมินจำนวนฮิปโปที่สูงเกินความเป็นจริงของมูลนิธิในครั้งก่อนส่งผลให้การติดตามสุขภาพของฮิปโปและการจัดการพวกมันเป็นไปอย่างยากลำบาก

ในงานประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2022 ข้อเสนอห้ามค้าขายฮิปโปและผลิตภัณฑ์จากฮิปโปข้ามพรมแดนนั้นไม่ผ่านมติของที่ประชุม มีรายงานบางฉบับชี้ให้เห็นว่าการค้าเขี้ยวฮิปโปในประเทศต่าง ๆ นั้นยังคงทรงตัวหรืออาจลดลงบ้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าผู้สนับสนุนกลับโต้แย้งว่าการติดตามการเคลื่อนไหวของการค้าเขี้ยวฮิปโปยังมีจุดที่ผิดพลาดและไม่สอดคล้องอยู่ ซึ่งนี่อาจจะเป็นการปิดบังการคุกคามฮิปโป

ผลการวิเคราะห์ล่าสุดจากองค์กรทราฟฟิก (TRAFFIC) องค์กรไม่แสวงหาผลกําไรระดับโลกซึ่งให้ความสนใจกับการค้าสัตว์ป่าเป็นพิเศษได้ระบุว่าระหว่างปี 2009 ถึง 2018 ประเทศผู้ส่งออกเขี้ยวฮิปโปรายงานว่ามีการซื้อขายไปประมาณ 25 ตัน คิดเป็นเขี้ยวฮิปโปประมาณ 40,000 ชิ้น ในขณะที่ประเทศและเขตต่าง ๆ ที่นำเข้าเขี้ยวฮิปโปรายงานว่าได้รับสินค้าไปประมาณ 36 ตันซึ่งคิดเป็นเขี้ยวฮิปโปประมาณ 23,000 ชิ้น สาเหตุของจำนวนเขี้ยวฮิปโปที่แตกต่างกันยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี องค์กรทราฟฟิกได้รายงานว่าในช่วงนั้นยูกันดาเป็นประเทศผู้รับผิดชอบการส่งออกเขี้ยวฮิปโปถึงร้อยละ 40

รีเบกกา เลวิสัน นักนิเวศวิทยาด้านการอนุรักษ์ผู้ร่วมงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์ฮิปโปกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติกล่าวว่า ความแตกต่างของจำนวน “เป็นเรื่องน่ากังวลและชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่เกี่ยวกับความอยู่รอดของประชากรฮิปโปในอนาคต” และเคกวินได้อธิบายถึงความสำคัญของฮิปโปว่า “ฮิปโปเป็นสัตว์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ พวกมันไม่ได้สำคัญเพียงเพราะความสามารถในการเล็มหญ้าเท่านั้น แม้แต่สาหร่ายที่เกิดจากมูลของพวกมันก็มีความสำคัญอย่างมากต่อการประมง  และการท่องเที่ยวเองก็ต้องการฮิปโปเช่นกัน ดังนั้นการที่ประชากรของพวกมันลดลงมากขนาดนี้จึงก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง”

เรื่อง ดีนา ไฟน์ แมรอน

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม แกะรอยงาช้างเถื่อน

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2014 ขณะเอกซเรย์ตู้สินค้าไปเวียดนามซึ่งระบุสิ่งที่อยู่ภายในว่าเป็นเม็ดมะม่วง หิมพานต์ เจ้าหน้าที่ท่าเรือของโตโกพบสิ่งผิดปกติ นั่นคืองาช้าง ในที่สุดพวกเขายึดงาช้างได้มากกว่าสี่ตัน

Recommend