จากถุงไข่ซาลาแมนเดอร์ที่บอบบาง ไปจนถึงป่าที่สว่างไสวด้วยหิ่งห้อย ภาพถ่ายสัตว์ป่า ที่ชนะการประกวดประจำปีเหล่านี้ต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การอนุรักษ์”
ตั้งแต่การเน้นย้ำถึงช่วงเวลาอันสงบสุขระหว่างแม่กับลูกไปจนถึงการต่อสู้ระหว่างผู้ล่าและเหยื่อในผืนน้ำเย็นยะเยือก ภาพถ่ายจากช่างภาพที่ดีที่สุดในโลกบางคนได้ถูกจัดแสดงผ่านการประกวด “ช่างภาพสัตว์ป่าแห่งปี” ประจำปี 2023 โดยพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสหราชอาณาจักร (U.K.’s Natural History Museum)
ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกภาพสัตว์ป่าที่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา หรือการเปิดผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติจากการพัฒนาของมนุษย์ การประกวดภาพถ่ายครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยปลูกฝังความเคารพต่อโลกของเรา พัฒนาการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเผยแพร่ความตระหนักเกี่ยวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม
ช่างภาพหลายคนจาก National Geographic ได้รับเกียรติผ่านการได้รับการคัดเลือกในปีนี้จากผลงานของพวกเขาที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์อันยากลำบากของบรรดาสัตว์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมนุษย์ เหล่านี้ภาพที่เราชื่นชอบจากการประกวดในปีนี้
Bertie Gregory นักสำรวจ National Geographic ได้บันทึกภาพฝูงวาฬออร์กาที่เชี่ยวชาญในการล่าแมวน้ำโดยการพุ่งเข้าหาพื้นน้ำแข็ง สร้างคลื่นที่ซัดแมวน้ำลงไปในน้ำ ทว่า ด้วยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้แผ่นน้ำแข็งละลาย จนทำให้แมวน้ำใช้เวลาบนบกมากขึ้น พฤติกรรมการ ‘ซัดด้วยคลื่น’ นี้อาจหายไป PHOTOGRAPH BY BERTIE GREGORY, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
Max Waugh บันทึกภาพกระทิง (Bison) ตัวนี้ขณะกำลังวิ่งฝ่าหิมะในอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน กระทิงเคยอาศัยอยู่ทั่วทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีประชากร 50 ถึง 60 ล้านตัวในช่วงต้นทศวรรษ 1800 จากนั้นเหลือไม่ถึงพันตัวในตอนปลายศตวรรษ ปัจจุบัน จำนวนของพวกมันกำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากความพยายามในการอนุรักษ์อย่างรอบคอบ PHOTOGRAPH BY MAX WAUGH, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
เห็ดนกยูง (Parasol mushrooms) ในภูเขาโอลิมปัส ประเทศกรีซ ปล่อยสปอร์หลายพันล้านตัวจากเหงือกใต้ฝาของมัน สปอร์จะล่องลอยไปในอากาศ และบางส่วนจะตกลงในที่ที่มีความชื้นและอาหาร ทำให้สามารถเจริญเติบโตเป็นเครือข่ายใต้พื้นป่า ช่างภาพ Agorastos Papatsanis ถ่ายภาพนี้ในขณะฝนตกอย่างระมัดระวัง ซึ่งช่วยเน้นสปอร์ในภาพได้PHOTOGRAPH BY AGORASTOS PAPATSANIS, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
Isaac Szabo ถ่ายภาพสายพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่มารวมตัวกันรังปลาน้ำจืดในลำธาร Whitetop Laurel Creek ของรัฐเวอร์จิเนีย ในช่วงฤดูวางไข่ฤดูใบไม้ผลิ ปลาน้ำจืดผู้มักจะคาบหินและก้อนกรวดไปไกลถึง 10 เมตร เพื่อสร้างกองที่ไข่สามารถหลบภัยจากกระแสน้ำและสัตว์นักล่า นอกจากนี้ สายพันธุ์ปลาซิวอื่นๆ ยังใช้รังของพวกมันเพื่อเก็บไข่ให้ปลอดภัยเช่นกันPHOTOGRAPH BY ISAAC SZABO, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
Hadrien Lalagüe ใช้เวลาหกเดือนในการถ่ายภาพนกเป่าแตรปีกเทา (grey-winged trumpeter birds) ที่กำลังเฝ้าดูงูเหลือมเลื้อยผ่านไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในป่าฝนรอบศูนย์อวกาศ Guiana ในเฟรนช์เกียนา นกเป่าแตรใช้เวลาส่วนใหญ่อาหารบนพื้นป่ากินผลไม้สุก แมลง และงูตัวเล็กๆ ในบางครั้ง อย่างไรก็ตาม งูเหลือมตัวนี้ก็อาจเขมือบพวกมันได้เช่นกัน PHOTOGRAPH BY HADRIEN LALAGÜE, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
ในภาพนี้ ช่างภาพชาวเม็กซิกัน เฟอร์นันโด คอนสแตนติโน มาร์ติเนซ เบลมาร์ แสดงให้เห็นว่า ทางรถไฟข้ามประเทศสายใหม่สําหรับนักท่องเที่ยว ทําลายภูมิทัศน์ธรรมชาติใน เปาอามูล รัฐกินตานาโร (Paamul, Quintana Roo) เส้นทางรถไฟจะนําผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก แต่ก็ทําให้ระบบนิเวศแตกสลาย คุกคามเขตสงวนธรรมชาติและแหล่งโบราณคดี รวมทั้งส่งผลกระทบต่อชนพื้นเมือง เนื่องจากไปทําลายที่ดินของพวกเขา PHOTOGRAPH BY FERNANDO CONSTANTINO MARTÍNEZ BELMAR, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
วิษณุ โคปาล บันทึกภาพสมเสร็จอเมริกาใต้ (lowland tapir) ตัวหนึ่ง กําลังเดินออกมาจากป่าฝนอย่างระมัดระวังใกล้เมือง Tapiraí รัฐเซาเปาลู ประเทศบราซิล สมเสร็จอเมริกาใต้พึ่งพาป่าเพื่อหาอาหาร เช่น ผลไม้และพืชชนิดอื่นๆ และในทางกลับกัน สมเสร็จอเมริกาใต้ก็ช่วยรักษาประชากรพืชให้สมบูรณ์โดยการกระจายเมล็ดพันธุ์ผ่านมูลของมัน ความสัมพันธ์ที่สําคัญนี้กำลังตกอยู่ในอันตรายจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าสัตว์ผิดกฎหมาย และการชนกับยานพาหนะ PHOTOGRAPH BY VISHNU GOPAL, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
Laurent Ballesta นักชีววิทยาทางทะเลและนักสํารวจแห่ง National Geographic ถ่ายภาพแมงดาญี่ปุ่น (tri-spine horseshoe crab) ในน่านน้ำบริเวณเกาะปังกาตาลัน ประเทศฟิลิปปินส์ สถานที่ที่พวกมันได้รับการคุ้มครอง แมงดาสายพันธุ์นี้อยู่รอดมากว่า 100 ล้านปี แต่ตอนนี้กําลังตกอยู่ในอันตราย สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเลือดของมันมีบทบาทสําคัญในการพัฒนาวัคซีน ในขณะที่มีปลาตะคองเหลือง (golden trevally) ตัวน้อยสามตัว คอยตามแมงดาเพื่อดูว่าแมงดาเตะอะไรที่พวกมันพอกินได้บ้างPHOTOGRAPH BY LAURENT BALLESTA, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
อามิต เอเชล บันทึกภาพการต่อสู้อันน่าระทึกใจของแพะภูเขานูเบียน ไอเบ็กซ์ (Nubian ibex) สองตัวบนหน้าผาในทะเลทราย Zin ประเทศอิสราเอล การต่อสู้ดําเนินไปนานประมาณ 15 นาทีก่อนหนึ่งในนั้นจะยอมแพ้ และทั้งคู่จากไปโดยไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรง ก่อนฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้มักต่อสู้กันโดยยืนบนขาหลังและโขกหัวเข้าหากัน บางครั้งเขาของมันหักจากการต่อสู้กัน PHOTOGRAPH BY AMIT ESHEL, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
ไมค์ โครอสเตเลฟ ไปเยี่ยมชมฮิปโปโปเตมัสในทะเลสาบใกล้เขตอนุรักษ์โคซีเบย์ ประเทศแอฟริกาใต้ มาเป็นเวลาสองปีแล้ว เขาใช้เวลาใต้น้ําเพียง 20 วินาทีเพื่อถ่ายภาพนี้จากระยะที่ปลอดภัย โดยไม่ทําให้แม่ฮิปโปตัวหนึ่งและลูกสองตัวตกใจ ฮิปโปให้กําเนิดลูกหนึ่งตัวทุกสองถึงสามปี ประชากรของมันเติบโตช้า ทําให้เปราะบางต่อการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ ภัยแล้ง และการล่าสัตว์เพื่อเนื้อและเขี้ยว PHOTOGRAPH BY MIKE KOROSTELEV, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
ปิโอตร์ นาสเครกกี บันทึกภาพกลุ่มปลาดุกแอฟริกา (African sharptooth catfish) กําลังกินซากของละมั่งวอเตอร์บัค (Waterbuck) ที่ตายหลังจากติดตมในโคลน ที่อุทยานแห่งชาติโกรองโกซา ประเทศโมซัมบิก แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรของชีวิต ปลาดุกแอฟริกากินได้ทุกอย่างและอยู่รอดได้หลายวันนอกผืนน้ําด้วยอวัยวะหายใจในเหงือก หากพวกมันตายในขณะรอให้ฝนตก มันก็จะเป็นอาหารให้สัตว์ชนิดอื่น PHOTOGRAPH BY PIOTR NASKRECKI, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
สตีเวน จอห์นสัน ถ่ายภาพก้อนไข่ของซาลาแมนเดอร์จุด (spotted salamander) ที่พักอยู่บนสแฟกนั่มมอส(Sphagnum Moss) ในบ่อฤดูใบไม้ผลิใกล้อุทยานแห่งชาติเชนันโดอาห์ สหรัฐอเมริกา บ่อตามฤดูกาลตื้นๆ เช่นนี้เหมาะสมในการเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สะเทินน้ําสะเทินบก เพราะปลอดภัยจากศัตรู เช่น ปลา แต่ถิ่นที่อยู่เหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนฤดูใบไม้ผลิที่คาดเดาได้ยากขึ้น ทําให้บ่อแห้งก่อนกิ้งก่าตัวอ่อนจะพัฒนาเต็มที่และมีชีวิตอยู่บนบกได้ PHOTOGRAPH BY STEVEN JOHNSON, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
ความมืดมิดมีความจําเป็นสําหรับหิ่งห้อยในการหาคู่ ทําให้มันเปราะบางต่อมลภาวะทางแสงเป็นพิเศษ ประมาณร้อยละ 83 ของมนุษย์อาศัยอยู่ใต้ท้องฟ้าที่ปนเปื้อนแสง ศรีราม มูราลิ ถ่าภาพที่แสดงป่าที่สว่างไสวด้วยหิ่งห้อย ที่เขตสงวนเสือดาวอนามาลัย ในอินเดีย PHOTOGRAPH BY SRIRAM MURALI, WILDLIFE PHOTOGRAPHER OF THE YEAR
เรื่อง ALLIE YANG