จักจั่นเขา : แมลงแสนพิสดาร

จักจั่นเขา : แมลงแสนพิสดาร

จักจั่นเขา: แมลงแสนพิสดาร

หากมีการประกวดแมลงแปลกประหลาดที่สุดในโลก จักจั่นเขา คงเป็นตัวเต็งแน่ๆ โครงสร้างประหลาดที่ยื่นออกมาจาก    ตัวมัน คือ อะไรกันแน่

จักจั่นเขาหลายชนิดอวดโครงสร้างแปลกประหลาดที่ยื่นออกจากตัวให้เห็นชัดๆ เช่น ปุ่มกลมเหมือนเฮลิคอปเตอร์ของจักจั่นเขาชนิด โบซีเดียม (Bocydium) บางชนิดใช้วิธีหลีกเลี่ยงโดยลอกเลียนหนาม ใบไม้ หรือมูลแมลงชนิดอื่นๆ บ้างปลอมตัวเป็นมดหรือแตน จักจั่นเขาที่ได้รับการระบุชื่อแล้ว 40 กว่าชนิดและอีกประมาณ 700 ชนิดที่กำลังรอการบรรยายลักษณะทางวิทยาศาสตร์ มีรูปร่างคล้ายหยดน้ำฝน

นักกายวิภาคศาสตร์แมลงอธิบายว่า โครงสร้างพิเศษเหล่านั้นงอกจากโปรโนตัม (pronotum) ที่แปรรูปร่างไป  โปรโนตัมเป็นส่วนหนึ่งของส่วนอกซึ่งในแมลงอื่นๆ มีลักษณะคล้ายแผ่นโล่อันเล็กๆ แต่จักจั่นเขามีหัวสร้างสรรค์ จึงมีโปรโนตัมโค้งเป็นยอดแหลมพิสดารหรือทรงกลม อันเป็นป้ายโฆษณาอวดความโดดเด่นเฉพาะตัวของพวกมัน

แมลงขนาดจิ๋วเหล่านี้อาศัยอยู่บนต้นไม้และพืชพรรณทั่วโลก โดยเกือบครึ่งหนึ่งของชนิดพันธุ์ที่ได้รับการบรรยายลักษณะแล้วประมาณ 3,200 ชนิด อาศัยอยู่ในเขตร้อนของโลกใหม่ ใบไม้หนึ่งใบในป่าดิบชื้นของเอกวาดอร์ที่ซึ่งช่างภาพไปเก็บภาพสำหรับสารคดีเรื่องนี้ เป็นแหล่งอาศัยของจักจั่นเขามากชนิดกว่าที่พบทั่วยุโรปเสียอีก

จักจั่นเขา
เพลี้ยจักจั่นเขาชนิด Alchisme grossa  ที่ถูกรบกวนตัวนี้มาเกาะบนใบไม้สีแดง  หลังจากบินหนีช่างภาพ ฆาบิเอร์ อัซนาร์ กอนซาเลซ เด รูเอดา  แต่บ่อยครั้งกว่าที่เราจะพบชนิดพันธุ์นี้บนใบไม้ที่มีสีสันตรงกับสีของตัวเอง
จักจั่นเขา
เพลี้ยจักจั่นเขาชนิด โบซีเดียม (Bocydium) มีโครงสร้างประหลาดรูปทรงเหมือนเฮลิคอปเตอร์ยื่นออกมาจากตัว

จักจั่นเขาเป็นสมาชิกในอันดับที่ใหญ่และหลากหลายของแมลงที่เรียกว่า เฮมิปเทอรา (Hemiptera) ซึ่งรวมถึงเพลี้ยจักจั่นและจักจั่น เช่นเดียวกับแมลงอื่นๆในอันดับนี้ จักจั่นเขามีส่วนปากสำหรับแทงก้านพืชแล้วดูดกินน้ำเลี้ยงภายใน มันมีท่อดูดอาหารลักษณะเหมือนเข็มที่ประกบกันสองท่อคล้ายกับยุง ท่อหนึ่งสำหรับดูดของเหลว อีกท่อหนึ่งสำหรับหลั่งน้ำลายซึ่งป้องกันน้ำเลี้ยงจับเป็นก้อน

เนื่องจากพวกมันมักกินน้ำเลี้ยงพืชชนิดเดียวตลอดชีวิต จักจั่นเขาส่วนใหญ่จึงไม่เป็นภัยคุกคามต่อพืชผลสำคัญทางเศรษฐกิจเท่าใดนัก (แต่อาจแพร่โรคพืชอย่างน้อยหนึ่งโรค) สาเหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จักจั่นเขาไม่ได้รับการศึกษาอย่างครอบคลุมเท่าญาติใกล้ชิดอื่นๆ การขาดความสนใจจากวงการวิทยาศาสตร์ส่งผลให้เกิดช่องว่างสำคัญในความรู้ที่เรามีเกี่ยวกับแมลงเหล่านี้ รวมถึงวัตถุประสงค์ในการแปลงร่างกายของพวกมัน

เป็นไปได้ว่าโปรโนตัมที่เด่นชัดเหล่านั้นช่วยปกป้องจักจั่นเขาจากสัตว์นักล่า หนามและเงี่ยงประกาศเตือนว่า อย่าได้คิดกลืนพวกมันง่ายๆ ส่วนสีสันสดใสบ่งบอกว่าในตัวมีสารพิษ การลอกเลียนซึ่งเป็นศิลปะการทำตัวให้เหมือนสิ่งอื่น ยังมีบทบาทในการป้องกันตัวด้วย ทรงกลมประหลาดด้านบนลำตัวของ โบซีเดียม ดูคล้ายดอกเห็ดของ คอร์ดีเซปส์ (Cordyceps) ซึ่งเป็นราฆ่าแมลงที่พบได้ทั่วไปในป่าดิบชื้น

ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ แต่โปรโนตัมก็กลวงและมีน้ำหนักเบา ช่วยให้จักจั่นเขาบินได้ง่ายดายอย่างน่าแปลกใจ สจวร์ต แมกแคมีย์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานแมลงของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กล่าวว่า ที่น่าทึ่งก็คือโปรโนตัมของพวกมันมีเส้นประสาทและโครงสร้างคล้ายขนเรียกว่า ขนแข็ง (seta) ซึ่งรับสิ่งเร้าที่ยังไม่มีใครทราบและอาจช่วยจักจั่นเขารับสัมผัสสิ่งแวดล้อม

จักจั่นเขา
จักจั่นเขาชนิด Stylocentrus rubrinigris อาจลอกเลียนราฆ่าแมลง
จักจั่นเขา
แม่เพลี้ยจักจั่นเขาชนิดพันธุ์ Alchisme tridentata  คอยเฝ้าระวังลูกๆ จนกระทั่งพวกมันมีอายุมากพอจะบินจากไป  ตัวอ่อนเพลี้ยชนิดนี้มีหนามและลำตัวสีแดงกับสีเหลืองสดใส ซึ่งอาจเป็นการเตือนว่าพวกมันมีรสชาติไม่ชวนลิ้มลอง
จักจั่นเขา
เพลี้ยจักจั่นชนิดพันธุ์ Bocydium (ใหญ่กว่าขนาดจริงห้าเท่า) นำมาเปรียบเทียบเพื่อแสดงให้เห็นว่าเพลี้ยจักจั่นเขาหลายชนิดมีขนาดเล็กมาก

แม้จะชวนให้คิดว่า จักจั่นเขาได้รับข้อมูลอะไรจากตัวรับเหล่านี้บ้าง วิธีการสื่อสารของพวกมันยังคงใช้การสั่นสะเทือนบนพืชเป็นหลัก เร็กซ์ โคครอฟต์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี บอกว่า จักจั่นเขาสั่นและสะบัดร่างกายเพื่อส่งสัญญาณผ่านพืช ผิดกับญาติคือจักจั่น ซึ่งสื่อสารโดยการถูส่วนของร่างกายให้เกิดเสียงแหลมเป็นทำนองเพลง โคครอฟต์และนักวิจัยคนอื่นๆ บันทึกการสั่นสะเทือนนี้ด้วยอุปกรณ์คล้ายไมโครโฟนที่เผยท่วงทำนองประสานของเสียงร้อง เสียงเดาะ เสียงแหลม และเสียงเพลง ซึ่งทั้งหมดนี้หูมนุษย์ไม่ได้ยิน

ความสามารถในการสื่อสารกับตัวอื่นๆ นี้ช่วยให้จักจั่นเขาป้องกันภัยให้ตัวอ่อนได้ แม่จักจั่นเขาหลายชนิดยังคงป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆ คอยดูแลความปลอดภัย ปกป้องลูกจนกระทั่งตัวอ่อนโตและบินจากไป เมื่อสัตว์นักล่าเข้ามาใกล้ตัวอ่อนที่อยู่ใกล้ที่สุดจะส่งสัญญาณเตือนโดยการส่ายลำตัวและทำให้เกิด “เสียงแหลม” จากการสั่นสะเทือน เมื่อพี่น้องรับรู้สถานการณ์และร่วมกันขยายสัญญาณ แม่ก็จะออกโรงมาเผชิญหน้ากับผู้บุกรุก โดยการกระพือปีกอย่างโกรธเกรี้ยวหรือเตะด้วยขาหลังที่มีรูปร่างเหมือนกระบอง

เรื่อง ดักลาส เมน

ภาพถ่าย ฆาบิเอร์ อัซนาร์ กอนซาเลซ เด รูเอดา


อ่านเพิ่มเติม

สาเหตุของการลดลงของจำนวนประชากรแมลง

Recommend