เมื่อตัวผู้พัฒนาอาวุธให้โดดเด่น ตัวเมีย ก็สมองใหญ่ขึ้น งานวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่าเมื่อสัตว์ตัวผู้พัฒนาอาวุธให้ซับซ้อนขึ้นเช่น เขากวาง หรือเขาแพะ ตัวเมีย ที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกันจะมีสมองใหญ่มากกว่าที่คาดไว้
มีฉากธรรมชาติบนภาพศิลปะมากมายที่เต็มไปด้วยกวางตัวผู้ที่มีเขาขนาดใหญ่ที่โค้งงอสวยงาม หรือไม่ก็เขากวางมูสมหึมายาวเกือบ 2 เมตรเมื่อมันโตเต็มที่ สัญลักษณ์อันสง่างามของเพศผู้นี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ และมนุษย์ก็ชื่นชอบมาอย่างยาวนานเช่นกัน แต่ความหลงใหลในธรรมชาติของเขา นอ หรืองา อาจทำให้เรามองไม่เห็นความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นใน ตัวเมีย ได้
ในการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร ‘Behavioral Ecology and Sociobiology’ ได้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานชิ้นแรกว่า ในขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวผู้พัฒนาอาวุธให้ใหญ่ขึ้นสำหรับการต่อสู้ และเพื่อส่งสัญญาณความพร้อมในการผสมพันธุ์ของพวกมันออกมา
แต่ตัวเมียที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกันเหล่านี้ก็มีสมองใหญ่ขึ้นกว่าใคร ๆ คาดไว้ “ฉันคิดว่าชีววิทยาที่สำคัญของตัวเมียมักถูกมองข้าม” นิโคล โลเปซ (Nicole Lopez) นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยมอนทานา และผู้เขียนงานวิจัยหลัก กล่าว “เพราะว่าปกติแล้วพวกมันจะดูจืดชืด น่าเบื่อ หรือไม่ก็ไม่ซับซ้อนเท่า (เหมือนตัวผู้)”
สมองกับกล้ามเนื้อ ตัวผู้ – ตัวเมีย
ข่าวดีสำหรับเพศผู้ตัวใหญ่ทุกตัวก็คือ งานวิจัยไม่ได้ระบุว่าอาวุธที่ใหญ่ขึ้น ไม่ได้หมายถึงปัญญาที่ต่ำแต่อย่างใด “ไม่ใช่ว่าหากตัวผู้ลงทุนกับอาวุธ (ในที่นี้คือกล้ามเนื้อ) มากขึ้น พวกเขาจะโง่ขึ้น” เท็ด สตานโควิช (Ted Stankovich) นักนิเวศวิทยาด้านพฤติกรรมเชิงวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนียลองบีช กล่าว
แต่ขนาดสมองของตัวผู้ดูเหมือนจะคงเดิม แม้ว่าวิวัฒนาการจะสร้างกะโหลกที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าตัวเมียจะเททรัพยากรไปลงที่ขนาดของสมอง สตานโควิชกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าลักษณะทั้ง 2 นี้เชื่อมโยงกันโดยตรงหรือไม่ แต่ในการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันจริง ๆ
เพื่อรวบรวมข้อมูลให้รอบด้าน สตานโควิช, โลเปซ และโจนาธาร มัวร์ ทูปาซ (Jonathon Moore Tupas) ผู้เชียนงานวิจัยร่วม ได้เดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์ 7 แห่งเพื่อวัดกะโหลกศีรษะ ปริมาตรสมอง และขนาดอาวุธในตัวอย่างกว่า 413 ชิ้นจากสัตว์กีบเท้า 29 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงทุกอย่างตั้งแต่กวาง เรนเดียร์ มูส ไปจนถึงแพะ แกะ และละมั่ง
“ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ตัวอย่างมามากกว่า 400 ตัวอย่าง” โลเปซบอก และพวกเขากำลังพยายามหาคำตอบถึงสาเหตุว่าทำไมตัวเมียต้องเพิ่มสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวผู้และอาวุธของพวกเขา
“สิ่งที่เราคิดว่ากำลังเกิดขึ้นก็คือตัวผู้ลงทุนในอาวุธมากขึ้น ซึ่งทำให้พวกเขาส่งสัญญาณที่สำคัญมากขึ้นสำหรับตัวเมีย และบางทีระบบสังคมอาจจะซับซ้อนมากขึ้นเมื่อถึงจุดนั้นเช่นกัน” สตานโควิช บอก “และบางทีตัวเมียอาจต้องการสมองที่ใหญ่กว่าเพื่อที่จะรู้ได้ว่าควรจับคู่กับใคร และจะนำทางระบบสังคมของพวกเขาอย่างไร”
อัมเม็ท โซมจี (Ummat Somjee) นักชีววิทยาเชิงวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน และสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิธโซเนียนในปานามากล่าวว่า ข้อจำกัดหลายประการในการศึกษานี้ เช่น ขนาดสมองที่ไม่ได้แปลว่าเป็นความฉลามเสมอไป ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น จะต้องศึกษาพฤติกรรมสัตว์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก
กระนั้น เขาก็ชื่นชมทีมวิจัยที่พยายามตรวจสอบตัวอย่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาทำได้ แม้ 29 สายพันธุ์จะเป็นตัวแทนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของสัตว์กีบเท้าที่มีเขาบนโลก ใครจะรู้ว่ารูปแบบนี้อาจเปลี่ยนไปก็ได้ หากได้ประเมินสัตว์ที่ไม่ใช่กีบเท้า แต่เป็นงา (ช้าง) หรือนอ (แรด) แทน
ทว่า “แนวคิดนี้ก็น่าสนใจอย่างยิ่งและอาจมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง” โซมจี กล่าว
ถึงเวลาแล้ว
โซมจีกล่าวว่า ในบางแง่ก็ไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์ต่างยึดติดกับอาวุธของสัตว์ เพราะท้ายที่สุดแล้วการที่โครงสร้างต่าง ๆ เหล่านี้พัฒนาขึ้นมาก็เพื่อดึงดูดความสนใจ เช่น ร่างกายของกวางมูส หรือกวางเอลค์ จะเกิดภาวะกระดูกพรุนชั่วคราวในแต่ละปี เนื่องจากพวกมันต้องแบ่งสารอาหารจากโครงกระดูกของมันเองเพื่อไปสร้างเป็นเขากวาง
“มันเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่น่าทึ่งมาก มันแปลก และก็แปลกจริง ๆ” โซมจีกล่าวถึงการเจริญเติบโตและการสูญเสียของเขขากวาง “แต่ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกละเลยไปคือสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเมียก็น่าทึ่งมากเช่นกัน”
ตัวอย่างเช่น เพศเมียเปลี่ยนแคลเซียม ฟอสฟอรัส และสารอาหารอื่น ๆ จำนวนมากออกจากร่างกายเพื่อสร้างลูกหลานทั้งหมดภายในมดลูก และแน่นอนว่าเนื้อเยื่อใด ๆ ที่สร้างเขากวาง นอ หรืองา ต่างล้วนถูกสร้างขึ้นครั้งแรกจากตัวเมียเหล่านั้น
ในส่วนของโลเปซ เธอชี้ให้เห็นว่าวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การต่อสู้ระหว่างเพศชายเพื่อทำความเข้าใจการคัดเลือกเพศที่เกิดขึ้นภายในสายพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้ว มันก็นำไปสู่เรื่องราวที่แพร่หลายซึ่งมีมาอย่างยาวนานว่า ตัวผู้ที่ตัวใหญ่ที่สุดและติดอาวุธหนักที่สุดจะได้ตัวเมียมา
“แต่อาจเป็นได้ว่าเราไม่ได้ทดสอบด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่า [ตัวเมีย] มีการตัดสินใจบางอย่างกับตัวผู้ที่พวกเขาลงเอยด้วยการผสมพันธุ์” โลเปซกล่าว (ในบริบทนี้โลเปซกล่าวถึงตัวเมียอาจไม่ได้สนใจแค่เขาของตัวผู้เท่านั้น อาจมีอะไรอย่างอื่นที่ยังไม่รู้)
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/premium/article/female-male-animals-brain-brawn-evolution