สหรัฐฯ กับการปกป้อง สายใยเปราะบางแห่งสรรพชีวิต ที่ได้ผลจริง

สหรัฐฯ กับการปกป้อง สายใยเปราะบางแห่งสรรพชีวิต ที่ได้ผลจริง

ในสหรัฐฯ รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ปกป้องสัตว์ป่าที่ตกอยู่ในอันตรายมานาน 50 ปีแล้ว  ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมดได้รับอานิสงส์ไปด้วย  

หากถามนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โจเอล ซาร์โทรี เรื่องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคามชนิดต่างๆ เกือบ 700 ชนิดที่เขาถ่ายภาพไว้ เขาจะพูดถึงหอยกาบน้ำจืดทันที “เครื่องกรองน้ำมีชีวิต” เหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มชนิดพันธุ์ที่เสี่ยง ต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก “นั่นควรทำให้ผู้คนตกใจครับ เพราะเราจำเป็นต้องอาศัยน้ำเพื่อมีชีวิตรอด” ซาร์โทรี กล่าว “ชะตากรรมของพวกเราแยกไม่ออกจากของพวกมันครับ”

ร้อยละ 75 ของชนิดหอยกาบน้ำจืดในสหรัฐฯ ได้รับความคุ้มครองภายใต้รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species Act: ESA) กฎหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าให้การคุ้มครองครอบคลุมสิ่งมีชีวิตมากที่สุดฉบับหนึ่งในโลกนี้ ช่วยนกอินทรีหัวขาวและหมีกริซลีให้พ้นจากขอบเหวของการสูญพันธุ์ไว้ได้ และยังส่งผลกระทบกว้างไกลออกไปอย่างมาก กล่าวคือการคุ้มครองสิ่งมีชีวิตกว่า 2,300 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์และถูกคุกคาม กฎหมายฉบับนี้ยังค้ำจุนระบบนิเวศที่สิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้อาศัยอยู่ “ปกป้องป่าผืนนั้นให้แมวหรือหมีหายาก เท่ากับว่าเรากำลังรักษาชีวิตทั้งหมดที่อยู่ในป่า ผืนนั้นครับ” ซาร์โทรีกล่าว ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สิ่งมีชีวิตกว่า 50 ชนิดในบัญชีของกฎหมายฉบับนี้ฟื้นตัวเต็มที่ ร้อยละ 99 รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะรู้ว่า มีสิ่งมีชีวิตอีกมากมายแค่ไหนที่ได้อานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้

ซาร์โทรีถ่ายภาพสัตว์ไปแล้วกว่า 15,000 ชนิดในโครงการโฟโตอาร์ก (Photo Ark) ทุกครั้งที่ยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ เขาทำให้เราระลึกว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ “ผมมักคิดว่าการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหมือนการตรวจดูหมุดทุกตัวบนปีกเครื่องบินให้แน่ใจว่ายังยึดแน่นอยู่ครับ” เขาบอกและเสริมว่า “ถ้าเราเสียหมุดไปหนึ่งหรือสองตัว มันอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการบินข้ามมหาสมุทรของเรา แต่ถ้าเริ่มเสียหมุดไปหลายสิบตัว เราจะกระวนกระวายใจ แล้วมองหาร่มชูชีพ แต่โลกไม่มีร่มชูชีพนั่นหรอก มันเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่เรามีครับ”

ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์

นกกระสาพันธุ์อเมริกัน (Mycteria americana) ถ่ายภาพที่สวนสัตว์เซดจ์วิกเคาน์ตี เมืองวิชิตอ รัฐแคนซัส
อัลลิเกเตอร์พันธุ์อเมริกัน (Alligator mississippiensis) ที่สวนสัตว์แคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี

หลังสูญเสียถิ่นอาศัย นกกระสาพันธุ์อเมริกันได้รับความคุ้มครองภายใต้รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์เมื่อปี 1984 ไม่กี่ปีต่อมา อัลลิเกเตอร์พันธุ์อเมริกันซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อบึงเอเวอร์เกลดส์ในรัฐฟลอริดา ก็ถูกถอดจากบัญชีเพราะประชากร ฟื้นตัวขึ้น สัตว์ซึ่งถูกถ่ายภาพแยกกันสองชนิดนี้มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันและกัน กล่าวคือ อัลลิเกเตอร์หากินในป่าน้ำท่วมที่นกกระสาทำรัง ช่วยป้องกันสัตว์ผู้ล่า เช่น แรกคูน ไม่ให้เข้าใกล้ไข่ บางครั้งอัลลิเกเตอร์ได้กินลูกนกกระสาที่ตกจากรัง เป็นการตอบแทน

ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์

หอยกาบน้ำจืด (Cyprogenia stegaria) จากแม่น้ำคลินช์ รัฐเทนเนสซี
ปลาดาร์เตอร์สีส้ม (Percina aurantiaca) คอนเซอร์เนฟิชเชอรีส์ น็อกซ์วีลล์ รัฐเทนเนสซี
ปลาดาร์เตอร์โรอาโนก (Percina roanoka) ศูนย์อนุรักษ์สัตว์น้ำ เมืองแมเรียน รัฐเวอร์จีเนีย

หอยกาบพัดน้ำจืดพึ่งพาปลาดาร์เตอร์ รวมถึงปลาดาร์เตอร์สีส้มและปลาดาร์เตอร์โรอาโนก เพื่อความอยู่รอด โดยตัวอ่อน ของหอยกาบจะเกาะบนตัวปลาเหล่านี้นานหลายสัปดาห์เพื่อดูดสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการ หอยกาบน้ำจืดเต็มวัยตัวเดียวสามารถทำความสะอาดน้ำได้มากถึง 55 ลิตรต่อวัน ทำให้แม่น้ำลำธารสะอาด ดีต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่พึ่งพาสายน้ำนั้น มลพิษทางน้ำและถิ่นอาศัยที่ถูกแบ่งแยกจนกระจัดกระจาย ทำให้หอยกาบลดจำนวนลงมากจนเกือบสูญพันธุ์

ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม  

เต่าทะเลทรายแคลิฟอร์เนีย (Gopherus agassizii agassizii) ศูนย์วิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส
ตุ๊กแกลายแถบพันธุ์ตะวันตก (Coleonyx variegatus variegatus) ของสะสมส่วนบุคคล
หนูดงทะเลทราย (Neotoma lepida) ศูนย์วิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย
งูหางกระดิ่งทะเลทรายโมฮาวี (Crotalus scutulatus scutulatus) เรปไทล์การ์เดนส์ แรพิดซิตี รัฐเซาท์ดาโกตา
กระต่ายหางขาวทะเลทราย (Sylvilagus audubonii audubonii) เขตอนุรักษ์สัตว์ป่าแซนวาคีนริเวอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

เกือบเก้าเดือนต่อปี เต่าทะเลทรายแคลิฟอร์เนียแสวงหาสถานที่หลบร้อนหนาวในอุโมงค์ที่อาจยาวถึง 9 เมตรใต้พื้นดิน อันแห้งผากในทะเลทรายโมฮาวี สัตว์เลื้อยคลานอายุยืนที่ขึ้นบัญชีว่าถูกคุกคามตั้งแต่ปี 1990 ชนิดนี้ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง พวกมันขุดโพรงจำนวนมากถึงปีละ 25 โพรง และแบ่งปันโพรงกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตั้งแต่ตุ๊กแก ถึงกระต่ายหางขาว ประชากรเต่าทะเลทรายที่เผชิญภัยคุกคามจากการขยายตัวของเขตเมือง ลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากจำนวนเต่าเต็มวัยมากมายต่อตารางกิโลเมตร เหลือเพียงไม่กี่ตัว

ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์

หนูชายหาดเซนต์แอนดรูว์ (Peromyscus polionotus peninsularis) กรมสัตว์ป่าและปลาสหรัฐฯ เมืองปานามาซิตี รัฐฟลอริดา
นกเค้าหงอนใหญ่ (Bubo virginianus virginianus) ศูนย์สัตว์ป่าแห่งเทกซัส
ปูลม (Ocypode quadrata) ศูนย์ปฏิบัติการตัวอย่างสัตว์ทะเลในอ่าว รัฐฟลอริดา
งูจมูกหมูพันธุ์ตะวันออก (Heterodon platirhinos) สวนสัตว์ฮิวสตัน

เนินทรายครอบคลุมพื้นที่ราว 10 ตารางกิโลเมตรบนชายฝั่งด้านอ่าวเม็กซิโกของรัฐฟลอริดา เป็นถิ่นอาศัยของหนูใกล้ สูญพันธุ์หลายชนิด รวมถึงหนูชายหาดเซนต์แอนดรูว์ สัตว์ใบหูใหญ่เหล่านี้มีลำตัวยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตร และถูกคุกคาม จากแรงกดดันมากมาย เช่น พายุเฮอร์ริเคน แสงไฟของมนุษย์ และสัตว์ผู้ล่ารุกราน การคุ้มครองหนูชายหาดเท่ากับช่วยรักษา แหล่งอาหารสำคัญของนกเค้า งู ปูลม และสัตว์พื้นถิ่นอื่นๆ

ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์

เฟอร์เร็ตตีนดำ (Mustela nigripes) ศูนย์อนุรักษ์เฟอร์เร็ตตีนดำ รัฐโคโลราโด
ซาลาแมนเดอร์เสือลายแถบ (Ambystoma mavortium) สวนสัตว์โอคลาโฮมาซิตี
นกเค้าโพรงพันธุ์ตะวันตก (Athene cunicularia hypugaea) สันนิบาตอนุรักษ์นกนักล่า รัฐเนแบรสกา
แพรีด็อกหางดำ (Cynomys ludovicianus) สวนสัตว์เซดจ์วิกเคาน์ตี

ช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า โครงการรณรงค์ของรัฐบาลกลางมุ่งกำจัดแพรรีด็อก ซึ่งถูกมองว่าเป็นศัตรูพืชผลทางเกษตร ไปจากร้อยละ 96 จากถิ่นอาศัยในอดีต การหายไปของพวกมันก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ กล่าวคือหากไม่มีแพรรีด็อกช่วยขุดโพรง นกเค้าโพรง ซาลาแมนเดอร์ และสัตว์อื่นอีกหลายชนิดจะขาดที่พักพิงที่พึ่งพาได้ ส่วนเฟอร์เร็ตตีนดำก็สูญเสียแหล่งอาหารหลักและเกือบสูญพันธุ์ การขึ้นบัญชีในรัฐบัญญัติชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์และโครงการขยายพันธุ์ในสถานเพาะเลี้ยง ที่ประสบความสำเร็จทำให้เฟอร์เร็ตฟื้นตัว

เรื่อง นาตาชา เดลี

ภาพถ่าย โจเอล ซาร์โทรี

 แปล ปณต ไกรโรจนานันท์

Recommend