ช้างแมมมอธขนยาว นักวิทยาศาสตร์เข้าใกล้ความสำเร็จในการนำพวกมันกลับมาจากการสูญพันธุ์ไปอีกก้าว หลังสามารถ ‘สร้าง’ เซลล์ต้นแบบที่นำไปปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งเป้าหมายครั้งนี้คือสิ่งมีชีวิตยักษ์ใหญ่เมื่อหมื่นปีที่แล้ว
‘Colossal Biosciences’ บริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ประกาศว่าพวกเขาสามารถ ‘สร้าง’ และ ‘จัดการ’ เซลล์ต้นกำเนิดที่มีชื่อว่า พลูริโพเทนท์ (Pluripotent หรือ iPSCs) จากช้างเอเชียได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เซลล์นี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใกล้การสร้าง แมมมอธขนยาว เข้าไปอีกขั้น
พลูริโพเทนท์ หรือ iPSCs เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่สามารถตั้งค่าทางพันธุกรรมใหม่ เพื่อให้พัฒนาเป็นเซลล์ชนิดใดก็ได้ในร่างกาย ซึ่งหมายความว่าพวกเขาสามารถตรวจสอบความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่าง แมมมอธขนยาว ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเทียบกับช้างเอเชีย จากนั้นทำให้มันเติบโตขึ้นเป็นตัวอ่อนของแมมมอธ
สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขนยาวเหล่านี้มีชีวิตอยู่เป็นตัวสุดท้ายเมื่อหลายพันปีก่อน ซึ่งทำให้ซากสัตว์บางส่วนถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่เพียงแค่กระดูกของมันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเนื้อเยื่อ ขน และชิ้นส่วนต่าง ๆ ช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยารวบรวมข้อมูลทางพันธุกรรมของมันได้อย่างครบถ้วน (มีนักวิจัยอย่างน้อยคนหนึ่งได้กินมันด้วย)
และภายในปี 2015 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ก็ได้จัดลำดับพิมพ์เขียวทางพันธุกรรมของแมมมอธขนยาวอย่างครบถ้วน ทำให้เกิดความคิดที่ว่ามนุษย์อาจนำแมมมอธขนยาวกลับคืนมาจากการสูญพันธุ์ได้ โดยใช้เซลล์จากช้างเอเชียที่มีดีเอ็นเอ (DNA) เหมือนกันถึง 99.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่วงการด้านชีววิทยาตื่นเต้นเป็นอย่างมาก
“เซลล์เหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนการสูญพันธุ์ของเราอย่างแน่นอน” อริโอนา ไฮโซลลิ (Eriona Hysolli) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพด้านแมมมอธของ Colossal Biosciences กล่าว “นี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายแรก ๆ ของเราที่ตั้งขึ้นเพื่อให้สามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดที่มีลักษณะคล้ายเซลล์ที่เกิดจากตัวอ่อนซึ่งเรียกว่า พลูริโพเทนท์”
ไฮโซลลิ เสริมว่า ประเด็นสำคัญคือเซลล์เหล่านี้สามารถเปิดเผยกระบวนการต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลังคุณลักษณะของแมมมอธในแถบอาร์กติกได้ เช่นการสร้างขนยาว งาที่โค้ง ไขมันหนาว และกะโหลกขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ‘ฟีโนไทป์’
ไม่เพียงเท่านั้น เซลล์ iPSCs ยังได้เปิดเส้นทางใหม่ในการสร้างสเปิร์มและไข่ของช้างปัจจุบันด้วยเช่นกัน เนื่องจากช้างเอเชียเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงเรื่อยจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้การเก็บเนื้่อเยื่อของพวกมันมาทำวิจัยเป็นเรื่องยุ่งยากมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ อุปสรรคใหญ่ในการศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดและพันธุกรรมของช้างเอเชียและช้างแมมมอธขนยาวคือการดูช่วงพัฒนาการแรกของตัวอ่อน ซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมากเมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ทีมวิจัยสามารถเจาะลึกลงไปในรายละเอียดและจัดการกับยีนที่ชื่อว่า ‘TP53’ ไม่ให้ทำงาน โดยยีนตัวนี้คอยควบคุมการเติบโตของเซลล์ และป้องกันไม่ให้เซลล์แบ่งตัวเองซ้ำ ๆ
การยับยั้งการทำงานของยีนตัวนี้ช่วยให้พวกเขาได้เซลล์ที่ยังไม่พัฒนาไปเป็นสิ่งใดและพร้อมแบ่งตัวได้ตามต้องการ “สิ่งหนึ่งที่เราต้องเอาชนะสำหรับเซลล์ช้างก็คือพวกมันมียีน TP53 อยู่ทั่วไป” ไฮโซลลิ กล่าว “เราต้องระงับเส้นทางนี้ด้วยสองวิธีเพื่อให้ได้ iPSC เหล่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย”
หากนักวิจัยประสบความสำเร็จในการสร้างเอ็มบริโอของแมมมอธขนยาว พวกเขาจะดำเนินการลำดับถัดไปซึ่งเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ยากนั่นคือ การฝังตัวอ่อนลงไปในช้างตัวแทนเพื่อให้ตั้งท้อง โดยจะกินเวลากว่า 22 เดือน “การตั้งท้องของช้างนั้นยาวนานและซับซ้อนมาก ดังนั้นการทำความเข้าใจด้านชีววิทยา และพัฒนาการด้านชีวศาสตร์ของช้างจึงมีความสำคัญมาก” ไฮโซลลิ กล่าว
แต่พวกเขาเน้นย้ำว่ายังมีงานข้างหน้าที่ต้องทำอีกมา และความท้าทายจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าที่ดำเนินไป เพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่แข็งแรงและเป็นแมมมอธขนยาวจริง ๆ แมทธิว คอบบ์ (Matthew Cobb) นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กล่าวว่า ถึงแม้จะผ่านอุปสรรคเหล่านี้มาได้ แต่ก็ไม่มีการรับประกันว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย
และที่สำคัญ ‘ถ้า’ มีแมมมอธขนยาวเกิดขึ้นมาจริง ๆ พวกมันจะเรียนรู้และมีพฤติกรรมเหมือนแมมมอธจริง ๆ ได้อย่างไรเนื่องจากสิ่งมีชีวิตนี้มักเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่นซึ่งสูญพันธู์ไปกันหมดแล้ว เช่นเดียวกับช้างยุคปัจจุบันที่เป็นสัตว์สังคมโดยผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง พวกมันถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งของน้ำ อาหาร และทักษะการเอาตัวรอดจากรุ่นใหญ่ไปสู่รุ่นเล็ก พร้อมกับดูแลกันและกัน
“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกส่วนใหญ่มักมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อน” คอบบ์ กล่าว “พวกเขาไม่มีผู้อาวุโสคอยเลี้ยงดูและสอนพวกเขา พวก
เขาไม่มีทางที่จะเรียนรู้เป็นแมมมอธได้เลย”
อีกหนึ่งประเด็นที่มักถูกนำมาโต้แย้งอยู่เสมอนั่นคือปัจจัยด้านสภาพอากาศ แมมมอธขนยาวนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในเขตหนาวเย็น แต่ในโลกที่ร้อนขึ้นเช่นทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าหากเรานำพวกมันกลับมาได้จริง และเราอาจทำให้พวกมันหายไปอีกครั้ง
“ฉันอยากเห็นแมมมอธที่มีชีวิต” โทริ เฮอร์ริดจ์ (Tori Herridge) นักบรรพชีวินวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านช้างโบราณ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ กล่าว “ฉันอยากมีไทม์แมชชีนที่สามารถย้อนกลับไปยุคน้ำแข็งได้จริง ๆ และได้เห็นฝูงแมมมอธในภูมิประเทศที่พวกมันวิวัฒนาการมา”
“แต่ทั้งหมดก็ได้ผ่านไปแล้ว”
บางทีทั้งหมดอาจไม่ใช่คำถามที่ว่า ‘เราจะทำได้ไหม?’ แต่เป็น ‘เราควรจะทำหรือไม่?’ (ในการนำแมมมอธขนยาวกลับมา)
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
.
https://www.nature.com/articles/d41586-024-00670-z
https://www.livescience.com/animals/extinct-species/woolly-mammoth-de-extinction-inches-closer-after-elephant-stem-cell-breakthrough
https://www.iflscience.com/we-just-got-one-step-closer-to-seeing-a-live-mammoth-by-2028-73258
https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2024/03/06/scientists-say-theyre-step-closer-reviving-mammoths-what-could-go-wrong/