เราสามารถโคลนนิ่ง สัตว์สูญพันธุ์ ได้ แต่เราจะทำหรือไม่ และทำเพื่ออะไร

เราสามารถโคลนนิ่ง สัตว์สูญพันธุ์ ได้ แต่เราจะทำหรือไม่ และทำเพื่ออะไร

การทำให้ สัตว์สูญพันธุ์ ไปแล้วกลับมาท่องโลกอีกครั้งไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป แต่เป็นความคิดที่ดีจริงหรือ

วันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2003 ทีมนักวิทยาศาสตร์สเปนและฝรั่งเศส ย้อนเวลาหาอดีตด้วยการคืนชีวิตให้สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วตัวหนึ่ง เพียงเพื่อเฝ้าดูมันสูญพันธุ์ไปอีกครั้ง

สัตว์ที่พวกเขาคืนชีพให้คือแพะป่าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า บูคาร์โด (bucardo) หรือไอเบกซ์พันธุ์พิเรนีส (Pyrenean ibex)  บูคาร์โด (Capra pyrenaica pyrenaica) เป็นสัตว์รูปร่างใหญ่โต  สง่างาม  นํ้าหนักตัวอาจมากถึง 99 กิโลกรัม  และมีเขาโง้งยาวอ่อนช้อย  เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่พวกมันอาศัย  ปีนป่ายหน้าผา  แทะเล็มกิ่งไม้ใบไม้  และเผชิญอากาศหนาวรุนแรงบนที่สูงของเทือกเขาพิเรนีส  ซึ่งเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับสเปน

จากนั้นปืนก็เข้ามา  นักล่าทำให้ประชากรบูคาร์โดลดจำนวนลงตลอดหลายร้อยปี  พอถึงปี 1989  นักวิทยาศาสตร์ชาวสเปนสำรวจและสรุปว่า  มีแพะป่าชนิดนี้หลงเหลืออยู่ราวสิบกว่าตัว  สิบปีให้หลังเหลือบูคาร์โดอยู่ เพียงตัวเดียว  เป็นเพศเมียที่ได้ชื่อเล่นว่า “ซีเลีย”  ทีมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติออร์เดซาและมอนเตเปร์ดีโดภายใต้การนำของนายสัตวแพทย์  อัลแบร์โต  เฟร์นันเดซอาเรียส ดักจับซีเลียมาใส่ปลอกคอวิทยุ  แล้วปล่อยกลับเข้าป่า  เก้าเดือนต่อมา  ซีเลียก็ตาย  พร้อมๆ กับที่บูคาร์โดได้สถานะสัตว์ที่สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ

ทว่าเซลล์ของซีเลียยังมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยเก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการหลายแห่งในเมืองซาราโกซาและกรุงมาดริด สองสามปีต่อมา  ทีมนักสรีรวิทยาระบบสืบพันธุ์นำโดย โคเซ  โฟลช์ ฉีดนิวเคลียสที่ได้จากเซลล์เหล่านั้นเข้าสู่ไข่ของแพะที่สกัดดีเอ็นเอออกหมด  แล้วนำไข่ไปฝังในตัวแม่แพะอุ้มบุญ  หลังจากฝังไข่ทั้งสิ้น 57 ครั้ง  มีแม่แพะเพียงเจ็ดตัวเท่านั้นที่ตั้งท้อง  ในจำนวนนี้หกตัวแท้งลูก แต่แม่แพะตัวหนึ่งซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างไอเบกซ์สเปนกับแพะบ้านตั้งท้องตัวโคลนของซีเลียจนครบกำหนดคลอด

โฟลช์และเพื่อนร่วมงานผ่าตัดทำคลอดให้ลูกบูคาร์โดเพศเมีย  นํ้าหนัก 2 กิโลกรัม  ขณะที่เฟร์นันเดซ-อาเรียสอุ้มบูคาร์โดแรกเกิดไว้ในอ้อมแขน  เขาสังเกตว่ามันกระเสือกกระสนดิ้นรนหายใจจนลิ้นจุกปาก  แม้พวกเขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้มันหายใจ  แต่อีกเพียง 10 นาทีต่อมา โคลนของซีเลียก็ขาดใจตาย  การผ่าพิสูจน์ในเวลาต่อมาเผยว่าปอดข้างหนึ่งของมันมีกลีบปอดส่วนเกินขนาดใหญ่งอกออกมาและมีลักษณะแข็งเหมือนตับ  โดยไม่มีเซลล์ที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนก๊าซอย่างที่เนื้อเยื่อปอดควรจะมี

สัตว์สูญพันธุ์
บูคาร์โด Capra (pyrenaica pyrenaica) บูคาร์โดหรือไอเบกซ์พันธุ์พิเรนีสอาศัยอยู่บนที่สูงของเทือกเขาพิเรนีส กระทั่งสูญพันธุ์ไปเมื่อปี 2000 สามปีต่อมา นักวิจัยพยายามโคลนซีเลียซึ่งเป็นบูคาร์โด ตัวสุดท้าย (บน) ลูกที่โคลนได้สิ้นลมหลังลืมตาดูโลกเพียงไม่กี่นาที ตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์, รัฐบาลแคว้นอารากอน, ประเทศสเปน

หากลองไล่ดูรายชื่อสัตว์สูญพันธุ์  ตั้งแต่นกโดโด และนกอ็อกใหญ่  เสือแทสเมเนียหรือไทลาซีน  โลมาแม่นํ้าแยงซีเกียง  เรื่อยไปจนถึงนกพิราบแพสเซนเจอร์  และนกหัวขวานใหญ่  บูคาร์โดเป็นเพียงหนึ่งในสัตว์หลายชนิด ที่มนุษย์คุกคามจนสูญพันธุ์  บางครั้งเกิดจากความจงใจด้วยซํ้า  ในเมื่อทุกวันนี้เรามีสัตว์อีกมากมายหลายชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์เต็มที  ในไม่ช้าบูคาร์โดคงมีเพื่อนตามมาอีกโขยงใหญ่  เฟร์นันเดซ-อาเรียสเป็นส่วนหนึ่งของนักวิจัยกลุ่มเล็กๆ ผู้กระตือรือร้นและเชื่อว่า  การโคลนจะช่วยพลิกสถานการณ์หรือแนวโน้มนี้ได้

แนวคิดเรื่องการนำชนิดพันธุ์ที่สาบสูญให้กลับมาท่องโลกอีกครั้ง  หรือที่บางคนใช้ศัพท์เทคนิคว่า de-extinction อยู่กํ้ากึ่งระหว่างโลกแห่งความจริงกับนิยายวิทยาศาสตร์มานานกว่า 20 ปี  นับตั้งแต่ไมเคิล  ไครช์ตัน  นักเขียนนวนิยาย  คืนชีวิตให้ไดโนเสาร์กลับมาโลดแล่นบนพื้นพิภพในนวนิยายที่ต่อมากลายเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดชื่อเดียวกัน คือ จูแรสซิกพาร์ก (Jurassic Park)  จึงอาจกล่าวได้ว่าตัวโคลนของซีเลียเข้าใกล้ความจริงของการชุบชีวิตสัตว์สูญพันธุ์มากที่สุด  จากนั้นมา  เฟร์นันเดซ-อาเรียสก็เฝ้ารอเวลาที่มนุษย์อาจมีขีดความสามารถมากพอในการนำสัตว์ที่ตนเองทำให้สูญพันธุ์กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

เขาบอกผมว่า “เรามาถึงจุดนั้นแล้วละครับ”

ผมพบเฟร์นันเดซ-อาเรียสเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ระหว่างการประชุมวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นการภายใน ณ สำนักงานใหญ่ของสมาคมเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักพันธุศาสตร์  นักชีววิทยาสัตว์ป่า  นักอนุรักษ์  และนักจริยศาสตร์  มารวมตัวกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญ  เรื่องนี้ทำได้จริงหรือไม่ และสมควรแล้วหรือ  พวกเขาลุกขึ้นรายงานความก้าวหน้าอันน่าทึ่งในศาสตร์ที่ตนเชี่ยวชาญ  ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่ง สเต็มเซลล์  การค้นพบและกอบกู้ดีเอ็นเอโบราณ  หรือการประกอบจีโนมที่สาบสูญขึ้นใหม่  ขณะที่การประชุม เดินหน้าไป  ทุกคนตื่นเต้นขึ้นทุกขณะ  และเห็นพ้องต้องกันว่า  การคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว

รอส  แมกฟี  ภัณฑารักษ์แผนกวิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกันในนิวยอร์กยอมรับว่า  “วิทยาการรุดหน้าไปไกลและเร็วเกินกว่าใครจะคาดคิด  สิ่งที่เราต้องขบคิดกันอย่างจริงๆ จังๆ ตอนนี้ก็คือ ทำไมเราถึงต้องคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญต่างหากครับ”

ในความเป็นจริง (แน่นอนว่าแตกต่างจากจินตนาการแนวแฟนตาซีที่หลายคนคุ้นเคย  เช่น  จากภาพยนตร์เรื่อง จูแรสซิกพาร์ก)  ชนิดพันธุ์สาบสูญที่เราพอจะหวังได้ว่าสามารถนำกลับคืนมามีเพียงพวกที่สูญพันธุ์ไปในช่วงไม่กี่หมื่นปีที่ผ่านมา  และต้องเหลือซากซึ่งมีเซลล์ที่ไม่แตกสลาย  หรืออย่างน้อยที่สุดต้องมีดีเอ็นเอดึกดำบรรพ์มากพอให้ประกอบจีโนมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ขึ้นมาใหม่ได้

เมื่อพิจารณาอัตราการเน่าเปื่อยผุพังตามธรรมชาติ  เราไม่อาจคาดหวังที่จะกู้จีโนมสมบูรณ์ของ ไทรันโนซอรัส  เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex)  ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อนขึ้นมาใหม่ได้  ชนิดพันธุ์ที่อาจกอบกู้ให้กลับมาได้ในทางทฤษฎีต่างอันตรธานไปสิ้นเมื่อมนุษย์ผงาดขึ้นครองโลกอย่างรวดเร็ว  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา  มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดพันธุ์เดียวที่กวาดล้างชนิดพันธุ์อื่นๆ  ไม่ว่าจะโดยการล่า  การทำลายถิ่นอาศัย หรือการแพร่โรคร้าย  นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าเราควรนำพวกมันกลับคืนสู่โลกอีกครั้ง

ไมเคิล  อาร์เชอร์  นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์  บอกว่า  “ถ้าพูดถึงชนิดพันธุ์ที่เราทำให้สูญสิ้นไป  ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องนำพวกมันกลับมาครับ” บางคนอาจค้านว่า  การชุบชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่ไม่มีอยู่แล้วไม่ต่างอะไรจากการทำตัวเป็นพระเจ้า  แต่อาร์เชอร์แย้งว่า “ผมว่าเราทำตัวเป็นพระเจ้าตอนที่เราล้างเผ่าพันธุ์พวกมันมากกว่าครับ”

สัตว์สูญพันธุ์
นกพิราบแพสเซนเจอร์ (Ectopistes migratorius) นกชนิดนี้หลายพันล้านตัวเคยบินเต็มท้องฟ้าทางตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ มาร์ทา นกพิราบแพสเซนเจอร์ตัวสุดท้าย (บน) ตายที่สวนสัตว์ซินซินแนติเมื่อปี 1914 ปัจจุบัน
นักพันธุศาสตร์เชื่อว่า พวกเขาสามารถนำ พวกมันกลับมาโบยบินได้อีกครั้ง ตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์, Smithsonian Institution’s National Museum of Natural History, กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่เห็นด้วยกับการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญออกมาสนับสนุนว่า  การทำเช่นนั้นก่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ  เป็นต้นว่า  ยาแผนปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่สามารถปรุงขึ้นได้หากปราศจากสารตั้งต้น  แต่ต้องสกัดจากสารประกอบตามธรรมชาติที่พบในพืชป่าหลายชนิดซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน  ขณะที่สัตว์ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วบางชนิดมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของมัน  เช่น  ย้อนหลังไปเมื่อ 12,000 ปีก่อน ไซบีเรียเคยเป็นบ้านของแมมมอทและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ ที่กินหญ้าเป็นอาหาร  สภาพภูมิประเทศในตอนนั้นไม่ใช่เขตทุนดราที่ดกดื่นไปด้วยมอสส์  หากเป็นทุ่งหญ้าสเตปป์เขียวขจี  เซียร์เกย์  ซิมอฟ  นักนิเวศวิทยาชาวรัสเซีย  เคยโต้แย้งมานานแล้วว่า  นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แมมมอทและสัตว์กินพืชมากมายหลายชนิดช่วยรักษาสภาพทุ่งหญ้าไว้ด้วยการเหยียบยํ่าหรือขุดคุ้ยให้ดินร่วนซุยและบำรุงด้วยมูลของพวกมัน  เมื่อสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไป มอสส์ก็เข้าปกคลุมและเปลี่ยนทุ่งหญ้าให้กลายสภาพเป็นเขตทุนดราที่ขาดความอุดมสมบูรณ์

เมื่อไม่นานมานี้  ซิมอฟได้ทดลองนำม้า  วัวป่ามัสก์- อ็อกซ์  และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อื่นๆ กลับสู่ภูมิภาคหนึ่งของไซบีเรียที่เขาเรียกว่า อุทยานไพลสโตซีน และคงยินดีไม่น้อย  ถ้าได้แมมมอทขนยาวตระเวนหากินอยู่ที่นี่ด้วย  เขาบอกว่า  “ก็คงมีแต่รุ่นหลานของผมกระมังที่จะได้เห็น  แมมมอทขยายพันธุ์ช้าเหลือเกิน  ต้องอดใจรอกันหน่อยครับ”

ย้อนหลังไปเมื่อสิบปีก่อน  ตอนที่เฟร์นันเดซอาเรียสพยายามโคลนบูคาร์โดเป็นครั้งแรก แกะดอลลี (1996-2003) ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกที่ได้รับการโคลนเพิ่งลืมตาดูโลกมาได้เจ็ดปีในยุคแรกๆนั้น  นักวิทยาศาสตร์จะโคลนสัตว์ด้วยการนำดีเอ็นเอของมันออกมาจากเซลล์ใดเซลล์หนึ่ง  แล้วใส่เข้าไปในไข่สักใบที่เอาสารพันธุกรรมออกแล้ว  การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าทำให้ไข่เริ่มแบ่งเซลล์  หลังจากนั้น  นักวิทยาศาสตร์จะนำเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนที่กำลังเติบโตฝังในตัวแม่อุ้มบุญ  การตั้งท้องส่วนใหญ่เหล่านั้นประสบความล้มเหลว  และตัวอ่อนเพียงน้อยนิดที่คลอดออกมาก็มักรุมเร้าไปด้วยปัญหาสุขภาพ

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา  นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการโคลนสัตว์มากขึ้น  เทคโนโลยีที่เคยมีความเสี่ยงสูงกลายมาเป็นวิทยาการที่ทำกันจนเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้  นักวิจัยยังพัฒนาความสามารถในการกระตุ้นเซลล์สัตว์ตัวเต็มวัยให้กลับไปสู่สภาพของเซลล์ตัวอ่อนและสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ประเภทใดก็ได้  รวมทั้งไข่หรือสเปิร์ม  จากนั้นยังสามารถปรับเปลี่ยนไข่ดังกล่าวให้พัฒนาเป็นตัวอ่อนที่สมบูรณ์ในที่สุด

วิทยาการอันน่าทึ่งนี้ทำให้ความคิดในการนำชนิดพันธุ์ที่สาบสูญกลับมาท่องโลกอีกครั้งกลายเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิมมาก  นักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจพูดคุยเรื่องการคืนชีวิตให้แมมมอทมาหลายสิบปีแล้ว  ความสำเร็จครั้งแรกและครั้งเดียวของพวกเขาจนถึงวันนี้คือการค้นพบซากแมมมอทสภาพดีในเขตทุนดราของไซบีเรีย  ปัจจุบัน  นักวิจัยที่มูลนิธิเพื่อการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพซูอัม (Sooam Biotech Research Foundation) ในกรุงโซล  ประเทศเกาหลีใต้  ซึ่งมีเทคโนโลยีโคลนนิ่งใหม่ๆ  ได้จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านแมมมอทจากมหาวิทยาลัยนอร์ท-อีสเทิร์น เฟเดอรัลในเมืองยาคุสตค์ของไซบีเรีย  เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา พวกเขาเดินทางขึ้นไปตามแม่นํ้ายานา  และใช้หัวฉีดนํ้าแรงดันสูงเจาะอุโมงค์เข้าไปในหน้าผานํ้าแข็งริมแม่นํ้าใน อุโมงค์แห่งหนึ่ง  พวกเขาพบเนื้อเยื่อของแมมมอทหลายชิ้น รวมทั้งไขกระดูก  เส้นขน  หนัง  และไขมัน  ปัจจุบัน ตัวอย่างเนื้อเยื่อดังกล่าวเก็บรักษาอยู่ที่กรุงโซล  และอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์ของซูอัม

สัตว์สูญพันธุ์, เสือแทสเมเนีย
ไทลาซีน Thylacinus cynocephalus แม้จะมีหน้าตาเหมือนสุนัขจิ้งจอก และมีอีกชื่อหนึ่งว่า เสือแทสเมเนีย แต่แท้จริงแล้ว ไทลาซีน (thylacine) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง และเป็นญาติของจิงโจ้ กับโคอาลา พวกมันถูกล่าจนสูญพันธุ์ไปในช่วงทศวรรษ 1930 ตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์, Amarican Museum of Natural History, นิวยอร์ก

อินซุง  ฮวัง  จากซูอัม  ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการสำรวจแม่นํ้ายานา  เล่าว่า  “สถานการณ์ดีที่สุดที่เราคาดหวังคือ การค้นพบเซลล์ที่ใช้การได้  หรือเซลล์ที่ยังมีชีวิตอยู่ครับ” หากนักวิจัยของซูอัมพบเซลล์ที่ว่านี้  พวกเขาอาจกระตุ้นมันจนได้เซลล์เพิ่มขึ้นอีกนับล้านเซลล์  ตั้งโปรแกรมให้เซลล์กลายเป็นตัวอ่อน  ก่อนจะนำไปฝังในแม่ช้างอุ้มบุญ  ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดของแมมมอท  นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคลางแคลงใจว่า เซลล์ที่มีชีวิตจะสามารถอยู่รอดภายใต้สภาพอากาศหนาวจัดของเขตทุนดราอันโล่งกว้างได้หรือ  ทว่าฮวังและทีมงานมีแผนสำรองคือ  การสกัดหานิวเคลียสสภาพสมบูรณ์จากเซลล์ของแมมมอท ซึ่งน่าจะมีโอกาสในการเก็บรักษาและคงสภาพได้ดีกว่าตัวเซลล์เสียอีก

อย่างไรก็ตาม  การโคลนแมมมอทจากนิวเคลียสที่สมบูรณ์เป็นเรื่องยุ่งยากกว่ามาก  เพราะนักวิจัยของซูอัมต้องถ่ายนิวเคลียสไปยังไข่ของช้างที่สกัดนิวเคลียสออกแล้ว  ขั้นตอนดังกล่าวทำให้ต้องดูดไข่จากแม่ช้าง ซึ่งเป็นภารกิจที่ยังไม่เคยมีใครทำสำเร็จมาก่อน  ถ้าดีเอ็นเอในนิวเคลียสของเซลล์แมมมอทอยู่ในสภาพสมบูรณ์พอที่จะควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆ ภายในไข่ได้  ไข่ก็อาจเริ่มแบ่งตัวและกลายเป็นตัวอ่อนของแมมมอท  จากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังต้องเผชิญกับงานยากในการย้ายฝากตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกของแม่ช้างอุ้มบุญ  แล้วยังต้องตามมาด้วยความอดทนเป็นเลิศ  เพราะแม้ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน  พวกเขาก็ยังต้องรออีกเกือบสองปีจึงจะรู้ว่า  แม่ช้างจะตกลูกเป็นแมมมอทที่แข็งแรงดีหรือไม่  กระนั้นฮวังก็บอกว่า  “สิ่งที่ผมยํ้าอยู่เสมอคือ  ถ้าไม่ลงมือทำแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นไปไม่ได้”

เมื่อปี 1813  ขณะล่องแม่นํ้าโอไฮโอจากฮาร์เดนส์- เบิร์กมุ่งหน้าสู่ลุยส์วิลล์  จอห์น  เจมส์  ออดูบอน เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าทึ่งที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต นั่นคือฝูงนกพิราบแพสเซนเจอร์ (Ectopistes migratorius) ที่แผ่ไปทั่วท้องฟ้า  เขาบันทึกไว้ว่า  “ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยนกพิราบ  แสงยามเที่ยงวันถูกบดบังราวกับเกิดคราส มูลนกร่วงหล่นเป็นหย่อมๆ ราวหิมะโปรยปราย  และเสียงกระพือปีกที่ต่อเนื่องยาวนานสะกดผมให้ตกอยู่ในภวังค์”

เมื่อออดูบอนไปถึงลุยส์วิลล์ก่อนตะวันตกดิน ฝูงนกยังคงบินผ่านไม่ขาดสาย  และต่อเนื่องไปอีกสามวัน

ในเวลานั้นคงเป็นเรื่องยากเกินคาดคิดว่า  สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาลจะมีโอกาสสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้  กระนั้นเมื่อจวนสิ้นศตวรรษที่สิบเก้า  ประชากรนกพิราบแพสเซนเจอร์กลับลดลงอย่างน่าวิตก  ผืนป่าที่พวกมันพึ่งพิงร่อยหรอลง  และจำนวนนกก็ลดลงมากจากการล่าอย่างต่อเนื่อง  พอถึงปี 1900  นกพิราบแพสเซนเจอร์ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นตัวสุดท้ายในธรรมชาติถูกยิงโดยเด็กชายคนหนึ่งที่ใช้ปืนอัดลม  อีก 14 ปีต่อมา  หรือหนึ่งศตวรรษกับหนึ่งปีหลังจากออดูบอนตกตะลึงพรึงเพริดกับนกจำนวนมหาศาล นกพิราบแพสเซนเจอร์ตัวสุดท้ายในสถานเพาะเลี้ยงซึ่งเป็นเพศเมียชื่อว่า มาร์ทา ก็ตายลงในสวนสัตว์ซินซินแนติ

ล่าสุดเมื่อสองปีก่อน  สจวร์ต  แบรนด์  นักเขียนและนักอนุรักษ์ธรรมชาติ  กับไรอัน  เฟแลน  ภรรยา  ผู้ก่อตั้งบริษัททดสอบพันธุกรรมชื่อ ดีเอ็นเอไดเร็กต์  เริ่มครุ่นคิดถึงความเป็นไปได้ในการนำนกพิราบป่าชนิดนี้กลับมาโบยบินอีกครั้ง  ระหว่างร่วมโต๊ะอาหารมื้อคํ่ากับจอร์จ  เชิร์ช นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งดีเอ็นเอ

แมมมอท
Mammuthus primigenius แมมมอทขนยาวถอยร่นสู่ไซบีเรียตะวันออกในช่วงปลายสมัยนํ้าแข็งเมื่อราว 10,000 ปีก่อน ก่อนจะสูญพันธุ์ไปในที่สุด สัตว์ดาวเด่นตามพิพิธภัณฑ์ชนิดนี้เป็นเป้าหมายหนึ่ง ของการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญ การโคลนแมมมอทต้องอาศัยแม่ช้างช่วยอุ้มบุญ

เชิร์ชรู้ว่าวิธีโคลนอย่างที่ใช้กันอยู่ทั่วไปคงใช้ไม่ได้  และคงไม่มีตัวอย่างนกพิราบแพสเซนเจอร์ตัวไหนในพิพิธภัณฑ์ที่มีจีโนมใช้งานได้สภาพสมบูรณ์ (รวมถึงมาร์ทาซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา  สถาบันสมิทโซเนียน)  ทว่าตัวอย่างที่เก็บรักษาไว้มีชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ  และเมื่อนำชิ้นส่วนเหล่านี้มาปะติดปะต่อกัน  นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถอ่านอักษรในจีโนมของนกพิราบแพสเซนเจอร์ได้ราว 1,000 ล้านตัวแล้ว  เชิร์ชเองยังไม่สามารถสังเคราะห์หรือสร้างจีโนมของสัตว์ชนิดหนึ่งได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จากข้อมูลพื้นฐานที่สุดเหล่านี้  แต่เขาได้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถสร้างชิ้นส่วนดีเอ็นเอในลำดับใดๆที่ต้องการ  ทำให้ในทางทฤษฎีเขาสามารถผลิตยีนที่มีลักษณะสืบสายพันธุ์ของนกพิราบแพสเซนเจอร์อย่างเช่น  หางที่ยาว  แล้วตัดต่อเข้ากับจีโนมของสเต็มเซลล์จากนกพิราบป่า

สเต็มเซลล์ของนกพิราบป่าที่มีจีโนมซึ่งผ่านการตัดแต่งนี้สามารถกลายสภาพเป็นเซลล์สืบพันธุ์  ซึ่งเป็นเซลล์ตั้งต้นของไข่และสเปิร์ม  จากนั้นจึงฉีดเซลล์เหล่านี้เข้าสู่ไข่ของนกพิราบป่า  ลูกนกที่ฟักจากไข่เหล่านี้อาจมีหน้าตาเหมือนพิราบป่าทั่วไป  แต่จะมีไข่หรือสเปิร์มที่เต็มไปด้วยดีเอ็นเอตัดต่อ  เมื่อลูกนกเหล่านี้โตเต็มวัยและจับคู่ผสมพันธุ์ไข่ของพวกมันจะให้กำเนิดลูกนกพิราบที่มีลักษณะสืบสายพันธุ์เฉพาะของนกพิราบแพสเซนเจอร์  นกในชั่วรุ่นนี้สามารถนำมาผสมข้ามสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ  เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์คัดเลือกนกที่มีลักษณะใกล้เคียงกับชนิดพันธุ์ที่สาบสูญมากขึ้นเรื่อยๆ

ในทางทฤษฎี  เทคนิคหรือวิธีการปรับแต่งจีโนมของเชิร์ชสามารถประยุกต์ใช้กับสัตว์ทุกชนิดพันธุ์ที่ญาติใกล้ชิด ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน  และมีจีโนมที่สามารถนำมาปรับแต่งหรือจัดโครงสร้างใหม่ได้  ที่ผ่านมา  นักวิทยาศาสตร์มีเทคโนโลยีซึ่งสามารถรังสรรค์ยีนเกือบทั้งหมดที่ต้องใช้ในการสร้างแมมมอทขึ้นมาใหม่แล้วกระบวนการต่อไปคือการใส่และตัดแต่งยีนเหล่านี้เข้าสู่สเต็มเซลล์ของช้าง

แม้การชุบชีวิตแมมมอทและนกพิราบแพสเซนเจอร์ จะไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป  แต่ความเป็นจริงยังอยู่อีกห่างไกล  ทว่าสำหรับชนิดพันธุ์ที่สาบสูญอีกชนิดหนึ่ง  กรอบเวลาที่ใช้อาจสั้นกว่ามาก  อันที่จริง อย่างน้อยก็พอมีโอกาสที่เราอาจได้เห็นพวกมันกลับมาท่องโลกอีกครั้ง  ก่อนที่สารคดีเรื่องนี้จะได้รับการตีพิมพ์ด้วยซํ้า

สัตว์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือความหลงใหลของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียนำโดยไมเคิล  อาร์เชอร์  ซึ่งขนานนามความพยายามของพวกตนในครั้งนี้ว่า โครงการลาซารัส (Lazarus Project)  เพื่อป้องกันกระแสความคาดหวังซึ่งมักเกิดกับโครงการที่มีเป้าหมายอันทะเยอทะยาน อาร์เชอร์และเพื่อนร่วมทีมจึงปิดปากเงียบ  จนกว่าโครงการจะมีผลสัมฤทธิ์เบื้องต้นพอให้เปิดเผยได้

“จูแรสซิกพาร์ก”แห่งไซบีเรีย เราจะทำอย่างไรกับแมมมอทหากโคลนพวกมันได้สำเร็จ เซียร์เกย์ ซิมอฟ นักชีววิทยามีคำตอบ เขาเสนอว่า ควรปล่อยพวกมันให้ใช้ชีวิตอย่างเสรีในอุทยานไพลสโตซีน (Pleistocene Park) ที่เขาสร้างขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียเมื่อปี 1996 ซิมอฟเชื่อว่า แมมมอทและสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อื่นๆในสมัยนํ้าแข็งช่วยรักษาทุ่งหญ้าสเตปป์ที่หล่อเลี้ยงพวกมัน กล่าวคือ พวกมันอาศัยกินหญ้า แต่ขณะเดียวกันก็ถ่ายมูลเป็นปุ๋ยและพลิกหน้าดินด้วยกีบ ปัจจุบัน ม้าไบซัน และสัตว์กินพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งเขานำมาปล่อยที่นี่ กำลังพลิกโฉมทุ่งทุนดรา
ที่เคยมีแต่มอสส์ปกคลุม ห้กลับคืนสู่ทุ่งหญ้าที่อาจกลายเป็นบ้านของแมมมอทในอนาคต

ช่วงเวลานั้นมาถึงแล้ว  เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา อาร์เชอร์และเพื่อนร่วมทีมเปิดเผยว่า  พวกเขากำลังพยายามคืนชีพให้กบออสเตรเลียสองชนิดพันธุ์ใกล้เคียง  ก่อนหน้าที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปในช่วงกลางทศวรรษ 1980  กบทั้งสองชนิดมีวิธีการสืบพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์และน่าทึ่งเหมือนกัน  กล่าวคือ  กบเพศเมียจะวางไข่เป็นแพเพื่อให้เพศผู้ปล่อยนํ้าเชื้อมาผสม  จากนั้นเพศเมียจะกลืนไข่ทั้งหมดเข้าไป  ฮอร์โมนตัวหนึ่งในไข่ทำให้กบเพศเมียหยุดสร้างกรดในกระเพาะอาหาร  ผลที่ตามมาคือกระเพาะอาหารของมันทำหน้าที่ประหนึ่งมดลูก  สองสามสัปดาห์ต่อมา กบเพศเมียก็เปิดปากและสำรอกลูกกบที่พัฒนาเต็มที่แล้วออกมา

กระบวนการสืบพันธุ์อันน่าทึ่งนี้เป็นที่มาของชื่อสามัญของกบสองชนิดนี้ว่า  กบอุ้มท้อง (gastric brooding frog)  ทั้งชนิดพันธุ์ถิ่นเหนือ (Rheobatrachus vitellinus) และชนิดพันธุ์ถิ่นใต้ (Rheobatrachus silus)

แต่ไม่นานหลังจากนักวิจัยเริ่มศึกษากบสองชนิดนี้  พวกมันก็สูญพันธุ์ไป  แอนดรูว์  เฟรนช์  ผู้เชี่ยวชาญด้านการโคลนจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและสมาชิกโครงการลาซารัส  บอกว่า “พวกมันยังอยู่ดีๆ อยู่เลย แต่พอนักวิทยาศาสตร์กลับมาดู  พวกมันกลับหายหน้าไปหมด”

เพื่อนำกบเหล่านี้กลับมาอีกครั้ง  นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคนิคการโคลนอันลํ้าสมัยในการฉีดนิวเคลียสของกบอุ้มท้องเข้าสู่ไข่ของกบหนองออสเตรเลียและกบลายที่ผ่านการสกัดเอาสารพันธุกรรมออกไปแล้ว

อาร์เชอร์เผยว่า  “อันที่จริง  ตอนนี้เรามีตัวอ่อนของกบชนิดนี้แล้วครับ  เรามาได้ไกลพอดูเชียวละ”  นักวิทยาศาสตร์ในโครงการลาซารัสมั่นใจว่า  ตอนนี้พวกเขาต้องการเพียงไข่คุณภาพดีจำนวนมากขึ้นเพื่อให้งานรุดหน้า  เฟรนช์ บอกว่า “เรามาถึงจุดที่เป็นแค่เรื่องของจำนวนแล้วละครับ” เขาหมายถึงจำนวนกบอุ้มท้องที่สามารถโคลนและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ความแปลกที่ไม่มีใครเหมือนด้านการสืบพันธุ์ของกบอุ้มท้องทำให้เราเห็นคุณค่ายามเมื่อมันสูญพันธุ์ไป  แต่เราควรนำพวกมันกลับมา จริงๆ หรือ  โลกจะรุ่มรวยขึ้นอย่างมากกระนั้นหรือ  หากมีกบเพศเมียที่เลี้ยงลูกน้อยในกระเพาะอาหาร  เฟรนช์ โต้แย้งด้วยการชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม  เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการสืบพันธุ์ที่ได้จากกบเหล่านี้ แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคน  การคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญเป็นเพียงสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจของเราไปจากภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ  เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (mass extinction)

จอห์น  วีนส์  นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยสโตนีบรุกในนิวยอร์ก  ชี้ว่า  “ในเมื่อเรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องชนิดพันธุ์และถิ่นอาศัยซึ่งถูกคุกคาม ทำไมต้องลงทุนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับการ ‘ชุบชีวิต’ ชนิดพันธุ์เพียงหยิบมือด้วย  ทั้งๆ ที่ยังมีอีกหลายล้านชนิดรอให้เราค้นพบ  ศึกษา  และปกป้อง”

ผู้สนับสนุนการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญแก้ต่างว่า  เทคโนโลยีการโคลนและการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อนำชนิดพันธุ์ที่สาบสูญกลับคืนมา  อาจช่วยอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่สุ่มเสี่ยงได้เช่นกัน  โดยเฉพาะพวกที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ง่ายในสถานเพาะเลี้ยง  และแม้ว่าเทคโนโลยีชีวภาพที่ลํ้าสมัยอาจมีราคาแพงมากในช่วงแรก  แต่ก็มีหนทางที่จะถูกลงได้อย่างรวดเร็ว  จอร์จ  เชิร์ช เสริมว่า “บางคนอาจเคยคิดว่า  วัคซีนโปลิโอเป็นสิ่งดึงความสนใจไปจากการพัฒนาปอดเหล็ก [เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางปอดจากโปลิโอ]  ยากนะครับที่จะบอกล่วงหน้าว่า  อะไรเป็นสิ่งไม่จำเป็นและอะไรเป็นทางออก”

แต่แม้เชิร์ชและเพื่อนร่วมงานอาจสามารถนำลักษณะสืบสายพันธุ์ทุกอย่างอันเป็นเอกลักษณ์ของนกพิราบแพสเซนเจอร์ไปไว้ในนกพิราบป่า  คำถามคือสิ่งมีชีวิตที่ได้จะเป็นนกพิราบแพสเซนเจอร์อย่างแท้จริง  หรือเป็นเพียงผลผลิตจากความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์  ถ้าอาร์เชอร์ และเฟรนช์สร้างกบอุ้มท้องขึ้นมาได้จริงสักตัวหนึ่ง  นั่นหมายความว่า  พวกเขาได้นำชนิดพันธุ์ที่สาบสูญกลับมาสู่โลกได้แล้วจริงหรือ  คำถามต่อไปคือ  เราควรเก็บประชากรกบเหล่านั้นไว้ในห้องปฏิบัติการหรือสวนสัตว์ที่ผู้คนสามารถมาศึกษา  หรือควรปล่อยพวกมันคืนสู่ธรรมชาติ  เพื่อให้เป็นการคืนชีวิตแก่ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญอย่างแท้จริง

สจวร์ต  พิมม์  นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก  ให้ทรรศนะว่า ”ประวัติศาสตร์ของการปล่อยสัตว์ต่างๆ กลับคืนสู่ธรรมชาติหลังสูญพันธุ์ไปแล้วเต็มไปด้วยความยุ่งยาก”  ตัวอย่างหนึ่งคือความพยายามในการเพิ่มประชากรโอริกซ์พันธุ์อาหรับในธรรมชาติ  หลังจากปล่อยพวกมันสู่ถิ่นอาศัยแห่งหนึ่งทางตอนกลางของประเทศโอมานเมื่อปี 1982 เกือบทั้งหมดถูกพวกลักลอบล่าสัตว์สังหาร

การล่าหาใช่ภัยคุกคามเพียงประการเดียว  โลมาแม่นํ้าแยงซีเกียงสูญพันธุ์ไปเพราะมลภาวะและแรงกดดันอื่นๆ จากประชากรมนุษย์ในลุ่มนํ้าแยงซีเกียง  ทุกวันนี้ สถานการณ์ในพื้นที่แถบนั้นยังยํ่าแย่ไม่ต่างไปจากเดิม  ขณะที่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกกบกำลังถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยโรคเชื้อราไคทริดซึ่งมีมนุษย์เป็นพาหะ  หากวันใดวันหนึ่ง นักชีววิทยาในออสเตรเลียปล่อยกบอุ้มท้องลงสู่ลำธารในภูเขาที่เคยเป็นแหล่งอาศัย  พวกมันก็อาจสูญพันธุ์ไปอีกครั้งในเวลาอันรวดเร็ว

เกลนน์  ออลเบรกต์  นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อกในออสเตรเลีย  บอกว่า  “หากปราศจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้สัตว์สูญพันธุ์ที่เรานำกลับคืนมาได้อยู่อาศัย  สิ่งที่เราลงทุนลงแรงไปทั้งหมดก็เปล่าประโยชน์  แล้วไหนจะเม็ดเงินอีกมหาศาล”

แม้การคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญจะสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติ  คำถามก็ยังไม่หมดสิ้น  นกพิราบแพสเซนเจอร์อาจพบว่า  ผืนป่าที่ได้รับการฟื้นฟูทางตะวันออกของสหรัฐฯเป็นบ้านที่พร้อมสรรพ  แต่นั่นจะไม่เท่ากับเป็นการนำสิ่งมีชีวิตที่ผ่านการตัดแต่งทางพันธุกรรมเข้าสู่สิ่งแวดล้อมหรอกหรือ  นกพิราบแพสเซนเจอร์เหล่านี้จะเป็นแหล่งของไวรัสที่อาจล้างเผ่าพันธุ์นกชนิดอื่นหรือเปล่า  ผู้คนในเมืองต่างๆ จะรู้สึกอย่างไรกับนกพิราบสายพันธุ์ใหม่ที่มาเยี่ยมถึงประตูบ้าน  แล้วทำให้ถนนหนทางเปรอะเปื้อนไปด้วยมูลนกสีขาวราวหิมะ

ผู้สนับสนุนการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญขบคิดคำถามเหล่านี้อยู่  และส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาต้องได้รับการแก้ไข  ก่อนที่โครงการใหญ่ๆ จะเดินหน้าต่อไป  แฮงก์  กรีลี  นักชีวจริยศาสตร์ชั้นนำจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแสดงความสนใจที่จะศึกษาประเด็นทางจริยธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  แต่สำหรับกรีลีและคนอีกจำนวนมาก ความจริงที่ว่าวิทยาศาสตร์ได้พัฒนามาถึงจุดที่เราสามารถทำให้ภารกิจอันน่าตื่นตะลึงนี้กลายเป็นจริงได้  เป็นเหตุผลหนักแน่นเพียงพอที่จะสนับสนุนการคืนชีวิตให้ชนิดพันธุ์ที่สาบสูญ  มากกว่าที่จะปฏิเสธหรือประณามแนวคิดนี้

กรีลีบอกผมว่า “สาเหตุที่ผมสนใจเรื่องนี้ก็คือ  นี่เป็นแนวคิดที่เจ๋งจริงๆ ครับ  เยี่ยมสุดๆ ไปเลย  ถ้าได้เห็นเสือเขี้ยวดาบตัวจริงสักตัว”

เรื่อง คาร์ล ซิมเมอร์
ภาพถ่าย รอบบ์ เคนดริก

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2556


อ่านเพิ่มเติม เหตุใด ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ไปจากโลก – ที่มาอาจไม่ใช่เพียงแค่อุกกาบาตชนโลกเท่านั้น

Recommend