ปลวกผสมพันธุ์ “38 ล้านปี” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง “อำพัน” ไขปริศนา

ปลวกผสมพันธุ์ “38 ล้านปี” ไม่เคยเปลี่ยนแปลง “อำพัน” ไขปริศนา

นักวิทยาศาสตร์จำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ปลวกผสมพันธุ์ ที่พบในอำพันฟอสซิลเมื่อ 38 ล้านปีก่อนขึ้นใหม่ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมในปัจจุบันของพวกมัน

ซาก ปลวกผสมพันธุ์ ที่พบในก้อนอำพันจากเมื่อ 38 ล้านปีที่แล้วชี้ให้เห็นว่า ฟอสซิลในอำพันสามารถให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ของสัตว์ในยุคโบราณแก่นักวิทยาศาสตร์ได้

นักวิทยาศาสตร์ต่างงุนงงเมื่อพบปลวกสายพันธุ์ Electrotermes affinis ที่สูญพันธุ์ไปแล้วคู่หนึ่งในลักษณะที่ติดอยู่ข้างกันถูกเก็บรักษาไว้ในก้อนอำพัน ท่าทางของปลวกคู่นั้นแตกต่างไปจากปลวกในปัจจุบันที่จะผสมพันธุ์โดยมีปลวกตัวหนึ่งอยู่ข้างหน้าและอีกตัวหนึ่งติดอยู่ข้างหลัง พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า “การวิ่งตามกันเป็นคู่” (Tandem running) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อสัตว์ตัวหนึ่งเดินตามหลังสัตว์อีกตัวเหมือนตู้รถไฟที่วิ่งต่อกันเป็นขบวน โดยสัตว์ที่อยู่ด้านหลังจะยึดส่วนท้องของตัวหน้าไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวหลุดออกจากกัน

ปลวกผสมพันธุ์
ก้อนอำพันฟอสซิลแบบเช่นเดียวกับที่พบในเมืองคาลินินกราดของรัสเซียนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ยากมาก เพราะมันเก็บรักษาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เมื่อหลายล้านปีก่อนเอาไว้ PHOTOGRAPHS BY ALEŠ BUČEK

จากการจำลองลักษณะการติดในอำพันของแมลงที่พบ นักกีฏวิทยาพบว่า ปลวกทั้งสองตัวผสมพันธุ์กันในลักษณะเดียวกับปลวกในปัจจุบัน เพียงแต่ถูกเรซินหรือยางของต้นไม้ไหลผ่านจนถูกคงสภาพไว้ข้างกันในตำแหน่งที่ผิดไปจากธรรมชาติ

โนบูอากิ มิซึโมโตะ (Nobuaki Mizumoto) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยออเบิร์น ซึ่งเป็นผู้นำวิจัยกล่าวว่า “การที่เราพบฟอสซิลของปลวกในอำพันก้อนนี้เป็นเรื่องที่น่าตกตะลึงไม่น้อยเลยครับ เพราะมันเป็นประตูสู่การศึกษาพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของสัตว์เมื่อหลายล้านปีก่อน”

“ผมมีความสุขมากครับที่มีคนทำงานวิจัยเรื่องนี้” โทมัส ชูว็องส์ (Thomas Chouvenc) รองศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาชุมชนจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยฉบับนี้กล่าว เขาเรียกงานวิจัยนี้ว่า “ผลงานที่ผสมผสานความรู้ทางบรรพชีวินวิทยาและนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมได้อย่างยอดเยี่ยม”

ปลวกผสมพันธุ์, ปลวก, อำพัน
ปลวกสองตัวถูกห่อหุ้มด้วยอำพันสีเหลืองทองที่ส่องประกายอยู่รอบ ๆ ซากของมัน PHOTOGRAPH BY ALEŠ BUČEK

พฤติกรรมสัตว์ในอดีตและการค้นพบในปัจจุบัน

อำพันฟอสซิลเกิดจากการที่แมลงเข้าไปติดในยางที่ต้นไม้ปล่อยออกมาเพื่อสมานบาดแผล เมื่อยางไหลลงมาตามลำต้นเรื่อย ๆ แมลงที่ติดอยู่ข้างในก็จะถูกหุ้มด้วยยางซ้ำ ๆ และตายไปพร้อมกับก้อนยางไม้ที่แข็งตัวจนกลายสภาพเป็นอำพันตามกาลเวลา แต่กว่าที่ก้อนยางไม้จะกลายเป็นอัญมณีจากธรรมชาติที่ทั้งโลกชื่นชมว่ามีสีสันสวยงามเป็นเอกลักษณ์อย่างอำพันได้นั้น ต้องใช้เวลาเกือบถึง 40,000 ปี

เมื่ออเลส บูเช็ก (Aleš Buček) หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยซึ่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการด้านแมลงที่มีเชื้อจุลินทรีย์ร่วมอาศัยจากวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศเช็ก (Czech Academy of Sciences) พบก้อนอำพันฟอสซิลจากเมืองคาลินินกราดในรัสเซียบนเว็บไซต์ของนักสะสมคนหนึ่ง เขาก็ได้ทำการติดต่อไปยังมิซึโมโตะซึ่งเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมสัตว์ผ่านฟอสซิลมาก่อน หลังปรึกษาหารือกัน บูเช็กและมิซึโมโตะก็ได้ตัดสินใจซื้ออำพันหายากก้อนนั้นอย่างรวดเร็ว

ปลวกสายพันธุ์ FORMOSAN SUBTERRANEAN TERMITE. CREDIT: SCOTT BAUER.

ในขั้นแรก ทีมวิจัยซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ 4 คนนำก้อนอำพันไปตรวจด้วยเครื่อง Micro CT เพื่อจำแนกสายพันธุ์และเพศของปลวกทั้ง 2 ตัว จนสามารถสรุปจากฟอสซิลที่พบในอำพันได้ว่า ปลวกตัวเมียเกาะยึดส่วนท้องของปลวกตัวผู้เอาไว้

จากนั้น บรรดานักวิทยาศาสตร์ได้นำปลวกสายพันธุ์ Formosan subterranean ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในไต้หวันและทางตอนใต้ของจีนที่จับคู่ผสมพันธุ์กันแล้วจำนวนหนึ่ง ไปเดินบนพื้นผิวเหนียวเหนอะหนะที่สร้างเลียนแบบยางไม้ เพื่อจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 38 ล้านปีที่แล้วในห้องทดลอง

ในระหว่างการทดลอง มีปลวกหลายตัวหนีออกจากแผ่นกับดักที่เหนียวเหมือนกาวของทีมวิจัย อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่า สำหรับคู่ที่ติดอยู่ในแผ่น ปลวกที่วิ่งต่อกันจะชะลอการเคลื่อนที่โดยสัญชาตญาณเพื่อพยายามหาทางหนี “การที่ปลวกไม่ปล่อยคู่ของมันเพื่อหนีเอาตัวรอด อาจจะเป็นเพราะพวกมันพยายามจะอยู่ใกล้กันเผื่อจะสามารถทำรังและเริ่มวางไข่ได้ครับ” ชูว็องส์กล่าวเสริม

ทว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองกลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว คู่ของปลวกที่ติดอยู่ในแผ่นกับดักจะเดินไปรอบ ๆ จนท้ายที่สุดตัวของมันก็ติดอยู่ข้างคู่ในตำแหน่งเดียวกับฟอสซิลปลวกที่พบในก้อนอำพัน

ปลวกสายพันธุ์ Formosan subterranean เพศผู้และเพศเมียแสดงพฤติกรรมวิ่งตามกันเป็นคู่ในระหว่างที่จับคู่ผสมพันธุ์ PHOTOGRAPH BY ALEŠ BUČEK

ฟอสซิลหายากในตำนาน

ผลของงานวิจัยฉบับนี้ชี้ว่า ทั้งปลวกที่สูญพันธุ์ไปแล้วและปลวกในปัจจุบันมีพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ในลักษณะเดียวกันมาตลอด 38 ล้านปี

“ผมประทับใจทั้งการค้นพบ ทั้งการวิเคราะห์ที่น่าสนใจพร้อมหลักฐานการทดลองที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า อำพันฟอสซิลชิ้นนี้เก็บรักษาข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ของปลวกเมื่อหลายล้านปีก่อนเอาไว้ครับ สำหรับผม ฟอสซิลเป็นอะไรที่พบได้ทั่วไป แต่พฤติกรรมของสัตว์ที่ถูกบันทึกและเก็บรักษาเอาไว้หลายล้านปีในก้อนอำพันนั้นเป็นอะไรที่จะไม่พบได้ง่าย ๆ ครับ” ชูว็องส์อธิบายเสริมทางอีเมล

สำหรับมิซึโมโตะ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นสิ่งที่เพิ่มโอกาสให้นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาต่าง ๆ ได้ติดต่อสื่อสารและร่วมงานกัน เขาอธิบายว่า “ผมคิดว่ายังมีช่องว่างในการสื่อสารระหว่างนักวิจัยที่ศึกษาฟอสซิลกับนักวิจัยที่ศึกษาด้านสัตว์และแมลงอยู่ครับ” พร้อมส่งท้ายว่า เขาหวังว่าการร่วมงานกันระหว่างนักวิจัยทั้ง 2 กลุ่มที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่ผ่านมาจะช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ได้มากขึ้น

เรื่อง ลิซ แลงลีย์

แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ


อ่านเพิ่มเติม อำพัน ที่สวยงาม เก็บรักษาซากฟอสซิลไว้ภายในได้อย่างไร

อำพัน
อำพัน

Recommend