แมลงสาบ ครองโลก นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และพบว่าพวกมันมีอยู่เต็มไปหมดตั้งแต่อาณาจักรอิสลามจนถึงยุโรปสมัยใหม่ แทบไม่มีที่ใดที่ไม่มี แมลงสาบ รวมถึงห้องครัวของคุณในตอนนี้ สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้อย่างไร? งานวิจัยใหม่อาจมีคำตอบ
หากคุณเคยลุกขึ้นมาหาขนมกินตอนเที่ยงคืนแล้วพบกับแมลงตัวสีน้ำตาลแวววาววิ่งพล่านไปตามพื้น แสดงว่าคุณได้รู้จักกับแมลงสาบสายพันธุ์ ‘แมลงสาบเยอรมัน’ (German cockroach) แล้ว มันเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่แพร่หลายที่สุดในโลก
ถึงแม้ว่าจะมีชื่อเป็น ‘เยอรมัน’ แต่แมลงสาบชนิดนี้ก็อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลก ยกเว้นแอนตาร์กติกา (ขั้วโลกใต้) ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าแมลงสาบเยอรมันที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ‘Blattella germanica’ นั้นเป็นกลุ่มของแมลงสาบที่มีมากกว่า 4,600 สายพันธุ์บนโลก
ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจ เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว สัตว์เหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักในยุโรปเลย จนกระทั่ง คาร์ล ลินเนียส นักชีววิทยาชาวสวีเดนได้บรรยายถึงมันเป็นครั้งแรกในปี 1767 ทำให้หลายคนรู้ความจริงที่ว่าพวกมันมีญาติสนิทอยู่ที่นั่น และสัตว์ชนิดนี้ก็ไม่ได้มีอยู่ในป่าตามธรรมชาติของยุโรปด้วย
แล้วแขกไม่ได้รับเชิญที่มีคนชื่นชอบน้อยที่สุด กลายเป็นศัตรูของคนทั่วโลกไปได้อย่างไร? นักวิทยาศาสตร์กล่าวไว้ในการศึกษาล่าสุดว่า คำตอบนั้นอยู่ในพันธุกรรมของพวกมัน
ด้วยการวิเคราะห์เครื่องหมายทั่วทั้งจีโนม (พันธุกรรมทั้งหมด) ของแมลงสาบกว่า 281 ตัวจาก 17 ประเทศใน 6 ทวีป เพื่อวัดสัดส่วนว่าสัตว์เหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเพียงใด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้เห็นการเพิ่มขึ้นและการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของแมลงสาบเยอรมันเป็นครั้งแรก
สัญญาณทั้งหมดชี้ไปที่สายพันธุ์ที่วิวัฒนาการมาจากแมลงสาบเอเชีย (Blattella asahinai) เมื่อประมาณ 2,100 ปีที่แล้วในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคืออินเดียและเมียนมา
มันบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า เจ้าแมลงสีน้ำตาลแวววาวนี้ได้ละทิ้งธรรมชาติ แล้วเข้ามาใช้ชีวิตกับมนุษย์โดยสมบูรณ์ สำหรับแมลงสาบเยอรมันนั้นดูเหมือนจะมาถึงตะวันออกกลางเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่แล้ว อาจเป็นเพราะการค้าขายและการเคลื่อนย้ายทางการทหารที่เพิ่มขึ้นใน ‘รัฐอิสลามอุมัยยะฮ์’ (Islamic Umayyad) หรือ รัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ (Abbasid caliphates) ซึ่งเป็นจักรวรรดิที่ครั้งหนึ่งเคยแผ่ขยายตั้งแต่แอฟริกาเหนือไปจนถึงเอเชียตะวันตก
จากนั้นแมลงสาบเยอรมันก็ได้มีการก้าวกระโดดทางภูมิศาสตร์อีกครั้งประมาณ 390 ปีที่แล้ว เมื่อกิจกรรมในยุคล่าอาณานิคมเข้าสู่สภาวะเร่งตัวขึ้น จึงมีการปรับปรุงเส้นทางการจนส่งเพื่อค้าขายของยุโรป ทำให้แมลงสาบก็เดินทางไปส่วนต่าง ๆ ของโลก และการมาถึงของเครื่องทำความร้อนในครัวเรือน ก็ช่วยให้แมลงชนิดนี้สามารถอยู่รอดได้ในความหนาวเย็น
เพื่อให้ชัดเจน การเคลื่อนไหวและการอพยพทั้งหมดนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก “ผู้คน” โดยไม่รู้ตัว กล่าวอีกนัย เป็นเราเองที่พาพวกมันไปทั่วโลก
“แมลงสาบเยอรมันบินไม่ได้ด้วยซ้ำ” เซียน ถัง (Qian Tang) นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและผู้เขียนหลักของการศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม กล่าว “พวกมันลงไปในเรือของมนุษย์”
แต่มันไม่ใช่แค่เพราะ ‘โชคช่วย’ เท่านั้นที่ทำให้แมลงสาบประสบความสำเร็จ
แต่กลับเป็นความสามารถที่ไม่มีใครเทียบได้ของสายพันธุ์นี้ในการปรับตัวและพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามทำความเข้าใจอยู่ในปัจจุบัน ด้วยความหวังที่ว่าสักวันหนึ่ง เราอาจจะได้เรียนรู้วิธีหยุดการเคลื่อนทัพของแมลงสาบทั่วโลก
สะท้อนภาพแมลงสาบ
เพื่อให้เข้าใจว่าแมลงสาบเยอรมันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใดในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือวางพวกมันไว้เคียงข้างกันกับแมลงสาบเอเชีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีความใกล้ชิดมากที่สุด
แม้ว่าทั้งสองสายพันธุ์จะเกือบเหมือนกัน แต่พวกมันก็ไม่ได้ทำพฤติกรรมคล้ายกัน
แมลงสาบเอเชียนั้นมักจะบินเข้าหาแหล่งกำเนิดแสง ในขณะที่แมลงสาบเยอรมันจะรีบหนีไป โชว-ยาง ลี (Chow-Yang Lee) นักกีฏวิทยาในเมือง จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า ถ้าคุณโยนทั้ง 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในอากาศ แมลงสาบเอเชียจะกางปีก ขณะที่แมลงสาบเยอรมันจะตกลงชนกับพื้นอย่างรวดเร็ว
“เราสงสัยมานานแล้วว่าแมลงสาบเอเชียเป็นบรรพบุรุษของแมลงสาบเยอรมันจริง ๆ รึเปล่า และการศึกษานี้ก็ได้ตอกย้ำให้เห็น” ลี ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย กล่าว “มันน่าตื่นเต้นมาก
การศึกษายังเผยให้เห็นว่าพันธุศาสตร์ของแมลงสาบเยอรมันได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์
ตัวอย่างเช่น แมลงสาบเยอรมันในสิงคโปร์และออสเตรเลียนั้น จริง ๆ แล้วมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกพี่ลูกน้องของมันในสหรัฐอเมริกามากกว่าแมลงสาบเยอรมันในที่อื่น ๆ อย่างอินโดนีเซียที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพราะในอดีต สหรัฐฯ มีการค้ากับสิงคโปร์และออสเตรเลียมากกว่าอินโดนีเซีย
“มันเป็นตัวอย่างที่สวยงามของความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมของมนุษย์ การค้าขาย สงคราม การล่าอาณานิคม และการแพร่กระจายของสัตว์รบกวนในท้องถิ่นที่ได้รับการปรับตัวมาอย่างดี” โคบี ชาล (Coby Schal) นักกีฏวิทยาในเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงสาบแห่งมหาวิทยาลัยของรัฐนอร์ทแคโรไลนา กล่าว
ก็ต้องให้เกียรติกันบ้าง
แมลงสาบเยอรมันสามารถเอาชนะแมลงอื่น ๆ ได้ในทุกที่ที่พวกมันไป เหตุผลหนึ่งที่ทำให้แมลงสาบชนิดนี้ประสบความสำเร็จคืออัตราการสืบพันธุ์ที่เร็วกว่าแมลงสาบสายพันธุ์อื่น ๆ ส่วนใหญ่ ซึ่งช่วยให้สัตว์พัฒนาความต้านทานยาฆ่าแมลงได้อย่างรวดเร็ว
งานก่อนหน้านี้โดยห้องทดลองของ ชาล เผยให้เห็นว่า หลังจากล่อแมลงสาบมากินยาพิษที่ชุ่มไปด้วยกลูโคสมานานหลายปี ประชากรที่รอดชีวิตก็ได้ให้กำนิดแมลงสาบสายพันธุ์ใหม่ที่ปฏิเสธขนมหวานนี้โดยสิ้นเชิง
“เป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงเลย” ลี กล่าว “กลูโคสเป็นเชื้อเพลิงการเผาผลาญที่สำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด”
ลี กล่าวเสริมว่า บางครั้งเขาและเพื่อนร่วมงานกำลังพัฒนาสารประกอบเพื่อป้องกันแมลงสาบตัวใหม่ ซึ่งยังไม่ได้เปิดตัวในเชิงพาณิชย์ แต่เมื่อทำการทดสอบกับแมลงสาบในห้องทดลอง สัตว์เหล่านั้นก็มีความต้านทานอยู่แล้วด้วยซ้ำ
และเมื่อรวมกับความมหัศจรรย์ของการคมนาคมสมัยใหม่ ทำให้เขาแทบไม่มีความหวังเลยที่มนุษย์จะหาทางเอาชนะแมลงสาบได้ในเร็ว ๆ นี้
“ถ้าคุณขอให้ผมบอกชื่อสายพันธุ์หรือสิ่งมีชีวิตที่ผมให้ความเคารพมากที่สุด ก็อาจเป็นแมลงสาบเยอรมัน” ลี กล่าว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.pnas.org/doi/full/10.1073/pnas.2401185121
https://www.nationalgeographic.com/animals/article/german-cockroaches-genetics-history-world