กิ้งก่าคาเมเลี่ยน ราชาพรางกาย ลิ้นว่องไวปานสายฟ้า

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน ราชาพรางกาย ลิ้นว่องไวปานสายฟ้า

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน สื่อสารด้วยการเปลี่ยนสีสันบนเรือนร่างล่าเหยื่อด้วยลิ้นที่ว่องไวปานสายฟ้า และใช้ชีวิตอยู่ในถิ่นอาศัยที่ถูกคุกคามมากที่สุดบางแห่งของโลก

โลกคงมีสัตว์อีกเพียงไม่กี่ชนิดที่เทียบรัศมี กิ้งก่าคาเมเลี่ยน ได้ในแง่ของความสามารถทางสรีระอันน่าอัศจรรย์ ตั้งแต่ลิ้นที่ยาวกว่าลำตัวพุ่งออกไปตวัดจับแมลงได้ในชั่วเสี้ยววินาที สายตาที่มองเห็นได้ชัดแจ๋วราวกับกล้องส่องทางไกลหมุนได้รอบทิศทาง เท้าที่มีนิ้วเท้าแยกออกเป็นสองชุดทำหน้าที่ยึดจับได้แน่นหนา เขาที่ยื่นออกมาจากคิ้วและจมูก ไปจนถึงแผงคอที่สวยงามราวกับผ้าลูกไม้

จากคุณลักษณะพิสดารทั้งหลายแหล่ของกิ้งก่าคาเมเลียน สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดและเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่โบรํ่าโบราณคือ ผิวหนังที่เปลี่ยนสีสันได้ ดังความเชื่อที่ว่า กิ้งก่าคาเมเลียนสามารถเปลี่ยนสีผิวหนังไปตามสิ่งที่มันจับต้องหรือสัมผัส แม้การเปลี่ยนสีในบางครั้งจะช่วยให้พวกมันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมก็จริง แต่สีผิวหนังที่เปลี่ยนไปแท้จริงแล้วเป็นปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาเพื่อการสื่อสารเสียส่วนใหญ่ กิ้งก่าคาเมเลียนเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่าชนิดเดียวที่ใช้สีสันแทนภาษาและการแสดงออกเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆที่กระทบมัน ทั้งการเกี้ยวพาราสี การแข่งขัน และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม

อย่างน้อยนี่คือความเชื่อในปัจจุบัน คริสโตเฟอร์ แอนเดอร์สัน นักชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งก่าคาเมเลียน ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ บอกว่า “แม้กิ้งก่าคาเมเลียนจะเป็นที่สนใจมานานหลายร้อยปี แต่ปัจจุบันยังคงมีปริศนามากมายเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ เรายังคงพยายามทำความเข้าใจกลไกการทำงานของมันอยู่ครับ” ตั้งแต่การตวัดลิ้นออกไปอย่างรวดเร็วไปจนถึงฟิสิกส์ของการเปลี่ยนสีผิวหนัง

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
“ที่ใดมีแสง ที่นั่นกิ้งก่าคาเมเลียนจะเปลี่ยนสี” เพอร์ซี บีช เชลลี กวี เขียนไว้ เขายังพูดถูกในแง่วิทยาศาสตร์ นั่นคือ ผลึกสะท้อนแสงในเซลล์ผิวหนังช่วยให้กิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เหล่านี้มีสีสันหลากหลายอย่างที่เห็น

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเรื่องสำคัญบางประการเกี่ยวกับลักษณะทางสรีรวิทยาของกิ้งก่าคาเมเลียน

หลังจากเฝ้าสังเกตกิ้งก่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในสถานเพาะเลี้ยง ขณะที่อนาคตของพวกมันในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เมื่อสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ หรือไอยูซีเอ็น เผยแพร่บัญชีแดง (Red List) ฉบับใหม่เกี่ยวกับสถานะเชิงอนุรักษ์ของกิ้งก่าคาเมเลียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อนชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจัดว่าถูกคุกคามหรือใกล้ถูกคุกคาม แอนเดอร์สันเป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องกิ้งก่าคาเมเลียนของไอยูซีเอ็นเช่นเดียวกับคริสตัล ทอลลี นักชีววิทยาผู้ได้รับทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ทอลลีเดินทางไปค้นคว้าวิจัยทางตอนใต้ของแอฟริกาและบันทึกการค้นพบกิ้งก่าคาเมเลียนชนิดใหม่ ๆ รวมถึงแหล่งอาศัยที่กำลังหดหายไป

ในจำนวนชนิดพันธุ์กิ้งก่าคาเมเลียนที่รู้จักกันกว่า 200 ชนิด ราวร้อยละ 40 พบบนเกาะมาดากัสการ์ นอกนั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา และมากกว่าร้อยละ 20 ของชนิดพันธุ์ที่รู้จักกันได้รับการระบุชนิดในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้เอง

แอนเดอร์สันบอกว่า คุณลักษณะแปลกประหลาดหลายอย่างของกิ้งก่าคาเมเลียน “ทำให้นักธรรมชาติวิทยาพิศวงอยู่เสมอ” เนื่องจากตัวอย่างกิ้งก่ามักตายลงระหว่างทางขณะขนส่งจากมาดากัสการ์หรือแอฟริกาไปยังห้องปฏิบัติการในประเทศตะวันตก นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินนํ้าสะเทินบกยุคแรก ๆ จึงได้แต่คาดเดาว่า กิ้งก่าคาเมเลียนเป็น ๆ มีพฤติกรรมและดำรงชีวิตอย่างไร

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
กิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์วัยเยาว์พรางตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้มากเท่าไร มันก็จะปลอดภัยจากสัตว์นักล่ามากเท่านั้น กิ้งก่าคาเมเลียนชนิดนี้เป็นสัตว์ประจำถิ่นของมาดากัสการ์และภาคพื้นทวีปแอฟริกา
กิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เพศผู้สองตัวเผชิญหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างขับสีสันเพื่อข่มขวัญอีกฝ่าย ถ้าไม่มีตัวใดยอมถอย การเผชิญหน้าอาจนำไปสู่การส่งเสียงขู่ฟอดๆ การกอดรัดฟัดเหวี่ยง และกัดกัน

แอนเดอร์สันศึกษาการล่าเหยื่อของกิ้งก่าคาเมเลียนอย่างละเอียด โดยใช้กล้องที่จับภาพได้ถึง 3,000 เฟรมต่อวินาที เขาถ่ายทำฉากการกินจิ้งหรีดนาน 0.56 วินาทีของกิ้งก่าคาเมเลียนและตัดต่อเป็นวิดีโอความยาว 28 วินาทีที่แสดงให้เห็นกลไกการพุ่งและตวัดลิ้นของมัน

สิ่งที่อยู่ภายในกระเปาะคอของกิ้งก่า คือกระดูกลิ้นที่ล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อคอลลาเจนยืดหดได้อยู่ภายในท่อกล้ามเนื้อกระตุ้นการบีบตัว เมื่อกิ้งก่าเห็นแมลงเป้าหมาย มันจะแลบลิ้นออกมา กล้ามเนื้อจะหดตัวและบีบรัดเนื้อเยื่อจนลิ้นพุ่งออกไปราวติดสปริง ส่วนปลายลิ้นมีรูปร่างคล้ายยางดูดกระจกทำหน้าที่จับเหยื่อ พอลิ้นตวัดกลับเข้าปากกิ้งก่าก็ได้ลิ้มรสเหยื่ออันโอชะ แอนเดอร์สันเสริมว่า นักวิทยาศาสตร์ยังมีอะไรต้องเรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับกลไกการพุ่งลิ้นของกิ้งก่าคาเมเลียน

ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนสีผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนเพิ่มพูนขึ้นตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน และก้าวหน้าไปอย่างมากเมื่อต้นปีนี้หลังการตีพิมพ์งานวิจัยของไมเคิล มิลินโควิตช์ นักวิทยาศาสตร์เคยเชื่อกันมานานแล้วว่า กิ้งก่าคาเมเลียนเปลี่ยนสีเมื่อสารสีในผิวหนังแพร่กระจาย ไปตามเซลล์ที่เชื่อมต่อกันเหมือนเส้นเลือด แต่มิลินโควิตช์ ซึ่งเป็นนักพันธุศาสตร์เชิงวิวัฒนาการและนักชีวฟิสิกส์ แย้งว่า ทฤษฎีนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะกิ้งก่าคาเมเลียนสีเขียว จำนวนมากไม่มีสารสีในผิวหนังที่เป็นสีเขียวเลย

ดังนั้นมิลินโควิตช์กับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเจนีวา จึงเริ่ม ”ศึกษาทั้งในเชิงฟิสิกส์และชีววิทยาไปพร้อม ๆ กัน„ ภายใต้ชั้นเซลล์ผิวหนังที่มีสารสี พวกเขาพบเซลล์ผิวหนัง อีกชั้นหนึ่งที่ประกอบด้วยผลึกขนาดนาโน (nanoscale) เรียงตัวกันเป็นโครงข่ายรูปสามเหลี่ยม

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
กิ้งก่าคาเมเลียนบนเกาะมาดากัสการ์มีตั้งแต่ตัวเล็กจิ๋วอย่าง Brookesia micra ที่มีลำตัวยาวไม่ถึงสามเซนติเมตร และตัวใหญ่อย่างกิ้งก่ายักษ์สายพันธุ์อุสตาเลตที่มีลำตัวยาว 68.5 เซนติเมตร เช่นตัวที่เห็นท่ามกลางต้นเบาบับในภาพนี้
กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
แมลงชะตาขาดไม่รอดพ้นเงื้อมมือของกิ้งก่าคาเมเลียนสกุล Calumma ที่ออกหากิน สายตาที่เฉียบคมช่วยให้มันตวัดลิ้นยาวเหยียดพุ่งไปยังเป้าหมายได้ราวกับจับวาง

เมื่อนำตัวอย่างผิวหนังของกิ้งก่าคาเมเลียนไปทดสอบ ภายใต้แรงดันและสารเคมี นักวิจัยกลุ่มนี้พบว่า ผลึก เหล่านี้สามารถ “ปรับแต่ง” เพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างผลึก ได้ตามต้องการ ซึ่งจะส่งผลต่อสีของแสงที่สะท้อนจาก โครงข่ายผลึกรูปสามเหลี่ยม เมื่อระยะห่างระหว่างผลึก เพิ่มขึ้น สีที่สะท้อนออกมาจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จากสีฟ้า เป็นเขียว จากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นส้มและแดง เป็นเหมือนภาพคาไลโดสโคปซึ่งมักพบเห็นได้ใน กิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เวลาเปลี่ยนจากอารมณ์สงบไปสู่ ความรู้สึกตื่นเต้น หรือความรู้สึกเสน่หา

นิก เฮนน์ ได้กิ้งก่าคาเมเลียนตัวแรกมาตอนเขาอายุได้เจ็ดขวบ ยี่สิบปีต่อมา เขากลายเป็นนักสะสมและ เพาะพันธุ์กิ้งก่าเป็นงานอดิเรก เฮนน์เลี้ยงกิ้งก่าคาเมเลียน ไว้ร่วม 200 ตัวในชั้นใต้ดินของบ้านในรัฐเพนซิลเวเนีย กรงลวดตาข่ายเรียงกันเป็นแถว ภายในมีต้นไม้ให้ ปีนป่ายและพื้นทรายให้กิ้งก่าเพศเมียได้วางไข่ หลอดไฟ และหัวฉีดละอองนํ้าช่วยจำลองสภาพความเป็นอยู่ใน ธรรมชาติของกิ้งก่า เฮนน์ป้องกันไม่ให้กิ้งก่าคาเมเลียนข่มขู่ หรือรบกวนกันด้วยการจัดวางเพศเมียไว้ในจุดที่พวกมันมอง ไม่เห็นเพศผู้ ส่วนเพศผู้ก็อยู่ในจุดที่มองไม่เห็นเพศเมียหรือ เพศผู้ที่เป็นคู่ปรับกัน

เอมเบอร์เป็นลูกกิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เพศผู้พันธุ์ ที่เรียกกันว่า กิ้งก่าท่อนแดง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นในเขต อัมบีโลบทางตอนเหนือของเกาะมาดากัสการ์ ลำตัวของมัน มีแถบสีแดงเขียวพาดสลับกันลักษณะคล้ายลวดลายบนตัว ม้าลาย และมีแถบสีฟ้านํ้าทะเลพาดตามแนวยาวทั้งสอง ข้างของลำตัว

เฮนน์ยื่นไม้ที่เอมเบอร์เกาะอยู่เข้าไปตรงมุมใกล้กับกรง ของโบลต์ ซึ่งเป็นกิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เพศผู้โตเต็มวัย และเป็นกิ้งก่าตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาที่เฮนน์เลี้ยงไว้ พอ เฮนน์เปิดประตูกรงและโบลต์เห็นเอมเบอร์ ปฏิกิริยา ตอบสนองก็เกิดขึ้นทันที เพียงชั่วพริบตาที่โบลต์คืบคลาน เข้ามาสองสามเซนติเมตร แถบสีเขียวบนตัวมันก็เปลี่ยนเป็น สีเหลืองสด เบ้าตา คอ และหนามแหลมบนหลังเปลี่ยนจาก สีเขียวเป็นสีแสด ส่วนเจ้าเอมเบอร์ก็มีสีแดงสดขึ้น แต่การ ประชันกันครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า โบลต์เจิดจรัสกว่ามาก ขณะ ย่างกรายใกล้เข้ามาอีก โบลต์ก็อ้าปากกว้างจนเห็นเหงือก สีเหลืองเข้มเพื่อข่มขวัญอีกฝ่ายมากขึ้นไปอีก

หลังจากกิ้งก่าคาเมเลียนแพนเทอร์เพศผู้คู่นี้ต่อสู้แย่งชิงเพศเมียกัน ตัวที่ชนะยังคงขับสีสันฉูดฉาดอันเป็นสัญญาณพร้อมสู้ ขณะที่อีกตัวเปลี่ยนเป็นสีเข้มที่บ่งบอกว่ายอมแพ้

เฮนน์ชักไม้กลับและนำเอมเบอร์กลับคืนกรง เขาบอกว่า ถ้าไม่ทำอย่างนั้น โบลต์อาจเล่นงานหรือกัดเอมเบอร์ และ ถ้าเป็นเช่นนั้น เอมเบอร์คงต้องเปลี่ยนสีผิวเป็นสีนํ้าตาล แน่ ๆ เพื่อสื่อว่ามันยอมศิโรราบแก่โบลต์

แม้ว่ากิ้งก่าคาเมเลียนทุกชนิดจะเปลี่ยนสีได้ แต่ หลายชนิดไม่สามารถเปลี่ยนสีได้ฉูดฉาดพอที่จะดึงดูดความ สนใจของผู้พบเห็น อย่างไรก็ตาม กิ้งก่าคาเมเลียนเกือบทุก ชนิดมีเทคนิคอีกอย่างในการข่มขวัญอีกฝ่าย นั่นคือพวกมัน ทำให้ตัวเองดูใหญ่ขึ้นด้วยการบีบลำตัวให้ลีบเข้าแต่สูงขึ้นโดย อาศัยการผายซี่โครงที่เชื่อมต่อกันเป็นรูปตัววีเพื่อยกกระดูก สันหลังให้สูงขึ้น นอกจากนี้ พวกมันยังสามารถทำให้ลำตัว ดูใหญ่ขึ้นอีกด้วยการขดหางเข้ามาให้แน่น แล้วใช้กลไกใน ลิ้นดันให้คอขยายใหญ่

ในบรรดากิ้งก่าคาเมเลียนเพศเมียที่เฮนน์เลี้ยงไว้ มีอยู่ ตัวหนึ่งชื่อ เคที เพอร์รี ซึ่งมีสีชมพูออกส้มเพราะมันพร้อม จะจับคู่ผสมพันธุ์ กรงของมันอยู่ติดกับกรงของกิ้งก่าเพศ เมียอีกตัวที่ชื่อ พีนัต ซึ่งมีสีชมพูผสมแถบสีเข้ม บ่งบอก ว่ามันผ่านการผสมพันธุ์แล้ว และกำลังตั้งท้อง ถ้าเคทีมี เพศผู้เข้ามาเกี้ยวพาราสีและทำให้มันประทับใจได้จากการ เปลี่ยนสี ชูคอ และส่ายไปมา เคทีก็อาจยอมให้เพศผู้ ตัวนั้นขึ้นขี่หลัง แต่ถ้าเพศผู้ตัวเดียวกันนี้เข้าหาพีนัต ฝ่ายหลังจะเปลี่ยนเป็นสีคลํ้าเข้มที่มีจุดสีสดใสผสมอยู่ด้วย พร้อมกับอ้าปากกว้างเพื่อข่มขู่ และถ้าฝ่ายชายยังตื๊อไม่เลิก พีนัตจะขู่เสียงฟอด ๆ หรือพยายามกัด

กิ้งก่าคาเมเลี่ยน
วงจรชีวิตของกิ้งก่าคาเมเลียนลาบอร์ดส์กินเวลาราวหนึ่งปี ขณะที่กิ้งก่าคาเมเลียนบางชนิดอาจอยู่ได้นานกว่าสิบปีในสถานเพาะเลี้ยง แต่ในธรรมชาติอายุขัยของพวกมันอาจน้อยกว่านั้นมากกว่าครึ่ง

กิ้งก่าคาเมเลียนทั้งสองเพศเป็นพวกหลายผัวหลายเมีย และส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ แต่บางชนิดออกลูกเป็นตัวโดยมีถุงนํ้าใส ๆ ห่อหุ้มคล้ายดักแด้ พวกมันไม่เลี้ยงลูก ฉะนั้นตัวอ่อนจึงต้องยืนด้วยลำแข้งของตัวเองตั้งแต่แรกเกิดหรือฟักเป็นตัว เพื่อหลบเลี่ยงจากนกและงูที่ล่าพวกมันเป็นอาหาร กิ้งก่าคาเมเลียนวิวัฒน์วิธีซ่อนตัวหลายอย่างขึ้นมา พวกมันเกือบทุกชนิดอาศัยอยู่บนต้นไม้ เวลาหดตัวให้เล็กลง พวกมันจะลีบเล็กเสียจนพรางตัวอยู่อีกด้านของกิ่งไม้ได้ ทอลลีบอกว่า ในทางกลับกัน หากกิ้งก่าคาเมเลียนพวกที่อาศัยอยู่บนดินมองเห็นสัตว์นักล่า บางชนิดจะ ”พรางตัวเป็นใบไม้„ ด้วยการบิดตัวให้หงิกงอเหมือนใบไม้แห้งยับย่นบนพื้นป่า

กิ้งก่าคาเมเลียนพรางตัวจากภัยคุกคามบางชนิดได้ แต่ไม่อาจเอาตัวรอดจากการทำเกษตรด้วยวิธีแผ้วถางป่า ซึ่งทำลายถิ่นอาศัยของพวกมัน ไอยูซีเอ็นกำหนดให้กิ้งก่าคาเมเลียน 9 ชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง 37 ชนิดจัดว่าใกล้สูญพันธุ์ 20 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ และ 35 ชนิดใกล้ถูกคุกคาม ทอลลีและคณะค้นพบกิ้งก่าคาเมเลียนสายพันธุ์ใหม่ 11 ชนิดนับตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมาในแอฟริกาใต้ โมซัมบิก แทนซาเนีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เวลาที่ผลการวิเคราะห์พันธุกรรมยืนยันว่า กิ้งก่า คาเมเลียนที่พบเป็นชนิดใหม่ ทอลลีบอกว่า ”รู้สึกเหมือนเรากำลังทำบางสิ่งสำเร็จ และผลงานนั้นจะคงอยู่ตลอดไปค่ะ”

กระนั้นเธอก็เสริมว่า “ขณะที่ใจหนึ่งเราคิดว่า ว้าว! เยี่ยมไปเลย แต่อีกใจหนึ่งกลับรู้สึกแย่ เมื่อนึกถึงภาพกิ้งก่าคาเมเลียนตัวเล็ก ๆ พวกนี้เกาะกิ่งไม้ไว้แน่นตอนที่คนกำลังโค่นป่า”

นํ้าเสียงเธอสั่นเครือขณะบรรยายภาพเหล่านี้ “ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าไม่พบพวกมันแต่แรก เราคงไม่ต้องมานั่งกังวลกันแบบนี้ เพราะถ้าคนยังไม่หยุดตัดไม้ทำลายป่าในไม่ช้าพวกมันจะสูญพันธุ์ไปแน่ ๆ”

เรื่อง แพทริเชีย เอดมันด์ส
ภาพถ่าย คริสเตียน ซีกเลอร์

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2558


อ่านเพิ่มเติม กิ้งก่าคาเมเลี่ยน ไม่ได้เปลี่ยนสีเพื่อพรางตัวอย่างเดียว

Recommend