ผีเสื้อจักรพรรดิ ถูกเพิ่มในบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ การปลูกและย้าย ต้นสน Oyamel Fir ในป่าสนศักดิ์สิทธิ์ Abies religiosa เพื่อสร้างเส้นทางอพยพไปบนภูเขาแห่งใหม่คือทางรอดของพวกมัน
ฝูงผีเสื้อจักรพรรดิ (Monarch butterfly) สปีชีส์ (Danaus plexippus) ที่ผ่านมาสามารถพบได้ทั่วไปในทวีปอเมริกาเหนือ พวกมันจะเกาะพักอยู่เต็มบนต้นไม้ในเขตอนุรักษ์บนภูเขาทุกๆ ฤดูใบไม้ร่วง การอพยพมาถึงของพวกมันมักจะตรงกับวันแห่งความตาย (Dia de los Muertos) วันหยุดที่ฉลองกันทั่วประเทศเม็กซิโก (โดยเฉพาะในภาคกลางและใต้) ซึ่งเชื่อกันว่าผีเสื้อเหล่านี้เป็นตัวแทนของวิญญาณของบรรพบุรุษที่กลับมาหาครอบครัวในรอบปี
ทว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ผีเสื้อจักรพรรดิกำลังเดินหน้าเข้าสู่สถานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN เปิดเผยว่า ผีเสื้อจักรพรรดิเสี่ยงสูญพันธุ์จากภัยคุกคามของการสูญเสียถิ่นที่อยู่ จากการใช้สารกำจัดศัตรูพืชหรือสารกำจัดวัชพืช และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งผีเสื้อจักรพรรดิชอบอาศัยอยู่ตามป่าสน โดยเฉพาะ ต้นสน Oyamel Fir (Abies religiosa) ในเม็กซิโก รวมถึงป่าที่มีต้นยูคาลิปตัส ต้นสนมอนเทอเรย์ ต้นไซเปรสมอนเทอเรย์ในแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากป่าเหล่านี้คือที่หลบภัยหนาวของพวกมัน
ทั้งนี้ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นป่าในเม็กซิโกและแคลิฟอร์เนียก็ได้รับผลกระทบ ต้นไม้เจริญเติบโตได้ยากหรือช้าลง บางส่วนยืนต้นตาย นอกจากนี้ยังถูกมนุษย์แผ้วถางเพื่อการเกษตร รวมถึงการใช้สารเคมีต่างๆ และความรุนแรงของไฟป่าก็มีผลทำให้จำนวนของต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาศัยของฝูงผีเสื้อลดลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับประชากรของผีเสื้อจักรพรรดิจึงลดลงกว่า 22-71% ซึ่งประชากรผีเสื้อฝั่งตะวันตกของเทือกเขาร็อกกีในแคลิฟอร์เนียช่วงฤดูหนาวได้ลดลงมากถึง 99.9% จนกลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด โดยประชากรผีเสื้อ 10 ล้านตัวในปี ค.ศ.1980 ปัจจุบันเหลือเพียง 1,914 ตัวเท่านั้น ขณะที่ประชากรฝั่งตะวันออกที่จะอพยพไปยังเม็กซิโกในฤดูหนาวก็ลดลงกว่า 84% จึงสร้างความวิตกกังวลให้นักอนุรักษ์ผีเสื้อทั่วโลกอย่างมาก
การอพยพต้นไม้เพื่อช่วยเหลือฝูงผีเสื้อจักรพรรดิ
หากไม่ทำอะไรเลย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำลายที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูหนาวของฝูงผีเสื้อจักรพรรดิภายในปี 2090 และอาจนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ของพวกมันในที่สุด ซึ่งการย้ายต้นสนของนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ในเม็กซิโกมีเป้าหมายที่ต้องการจะสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่ผีเสื้อจักรพรรดิสามารถเรียกว่าบ้านได้
ในปี 2021 Cuauhtémoc Sáenz-Romero นักชีววิทยาและทีมงานของเขาพบที่หลบภัยหนาวแห่งใหม่ของฝูงผีเสื้อราชินี ในบริเวณเนินใกล้ภูเขาไฟทางตอนกลางของประเทศเม็กซิโก พวกเขาต้องเดินทางขึ้นไปปลูกกล้าไม้ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นจัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเส้นทางอพยพของผีเสื้อจักรพรรดิ
อนึ่ง ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี ผีเสื้อจักรพรรดิ หลายล้านตัวจะเดินทางออกจากพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา สถานที่ที่มันเติบโตมาในช่วงฤดูร้อน เพื่อมุ่งหน้าลงสู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเม็กซิโก รวมเป็นระยะทางกว่า 3,000 ไมล์ หรือกว่า 4,800 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการหนีอากาศหนาวจัดมาสู่เขตที่อบอุ่นกว่าในอเมริกาตอนกลาง โดยเป็นหนึ่งในการอพยพที่ยาวไกลและสุดทรหด กินระยะเวลานานประมาณ 8 สัปดาห์
แต่ต้นสนบนภูเขาในเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อจักรพรรดิเผชิญกับภัยธรรมชาติ จึงมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ พวกมันไม่สามารถอพยพไปที่อื่นได้ เมื่ออพยพมาถึง ผีเสื้อหลากล้านตัวจึงตายลง เพราะต้นสนมีไม่เพียงพอต่อการพักพิง และด้วยอากาศในพื้นที่เดิมที่ไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของต้นสนอีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์จึงต้องช่วยให้ต้นไม้เหล่านี้ย้ายไปยังถิ่นฐานใหม่
“เรากำลังทำสิ่งที่แตกต่างออกไป” Sáenz-Romero นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Universidad Michoacana de San Nicolás de Hidalgo ในรัฐ Michoacán กล่าว “หากเราไม่ทำแบบนี้ ต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อจะตายหมด”
ภายในปี 2090 ที่อยู่อาศัยในป่าของเขตรักษาพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในความสูงประมาณ 11,000 ฟุต หรือ 3,500 เมตร จะเสื่อมสภาพลงจนผีเสื้อไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ในฤดูหนาว พวกเขาตั้งเป้าย้ายต้นไม้เหล่านี้ไปยังภูเขาใกล้เคียง อาทิ ภูเขาไฟ Nevado de Toluca ซึ่งเป็นแคมเปญการย้ายถิ่นเพื่อช่วยเหลือผีเสื้อ ที่ Sáenz-Romero และทีมของเขาให้ข้อมูลไว้ในวารสาร Frontiers in Forests and Global Change
ดังนั้น เพื่อให้กล้าไม้สนบนภูเขาไฟ Nevado de Toluca มีโอกาสรอดชีวิตสูงสุด ทีมงานของ Sáenz-Romero ได้ปลูกต้นกล้าไว้ใต้ต้นไม้พยาบาล ซึ่งเป็นพุ่มไม้ที่จะช่วยปกป้องต้นสน โดยเป็นเทคนิคคล้ายกับที่ทำในฟาร์มเพาะกล้าต้นสนที่รัฐ Michoacán ของเม็กซิโก
ป่าสนความหวังแห่งอนาคต
ป่ามีการเคลื่อนที่ตามธรรมชาติโดยฝีมือของมนุษย์นี้จะเปลี่ยนแปลงอนาคตไปในหลายทิศทาง ในเม็กซิโกต้นสนกำลังค่อยๆ อพยพขึ้นไปบนภูเขาแห่งใหม่ แต่ก็ยังคงช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อ
โครงการนี้เริ่มต้นในปี 2017 เมื่อ Sáenz-Romero และทีมงานของเขาเก็บเมล็ดพันธุ์จากต้นสนในเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อราชินีที่ระดับความสูงต่างๆ เป็นเวลา 2 ปี เพื่อนำมาเพาะเลี้ยง ต้นสนได้เติบโตในโรงเรือนที่มีร่มเงา และอีก 1 ปีในฟาร์มเพาะกล้าที่ระดับความสูงประมาณ 9,800 ฟุต (3,000 เมตรเหนือระดับนํ้าทะเล) เพื่อช่วยให้มันปรับตัวเข้ากับระดับความสูง ก่อนย้ายไปยังภูเขาไฟ Nevado de Toluca
ต่อมาในปี 2021 พวกเขาทำงานร่วมกับชุมชนพื้นเมืองในท้องถิ่นด้วยการปลูกกล้าไม้พยาบาลเพิ่มเติมเพื่อปกป้องพวกมันจากสภาพอากาศที่รุนแรงบนเนินเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูเขาไฟ ซึ่งพวกเขามุ่งเน้นไปที่ระดับความสูงที่แตกต่างกันในช่วงความสูง 11,000 ถึง 13,000 ฟุต (3,400 ถึง 4,000 เมตร)
ในปี 2023 หกปีหลังจากการปลูกเมล็ดพันธุ์ ทีมงานพบว่าในระดับความสูงสองจุดที่ 11,800 ฟุตและ 12,400 ฟุต กล้าไม้สนเกือบ 70% รอดชีวิตได้ แม้จะอยู่ในระดับความสูงที่สูงมากกว่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อก็ตาม แน่นอนว่ามีต้นกล้าบางส่วนที่ตายไป แต่อัตราการรอดชีวิตของต้นสนที่ค่อนข้างสูงก็เป็นสัญญาณที่ดี
“การทดลองนี้มีความสำคัญอย่างมาก” Sally Aitken ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้และการอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย กล่าวถึงการย้ายต้นสนในเม็กซิโก หลังจากที่เขาเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองย้ายต้นสนไวท์บาร์คที่ใกล้สูญพันธุ์ในแคนาดาไปยังทิศเหนือเพื่อปกป้องพันธุ์ไม้ไม่ให้สูญพันธุ์ จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและโรคต่างๆ เช่น โรคราในเปลือกต้นสนไวท์พายน์
กระนั้น การย้ายถิ่นของต้นไม้ก็มีข้อควรกังวลเช่นกัน เพราะต้นสนไม่เคยเติบโตในระดับความสูงนี้บนเนินเขาของภูเขาไฟมาก่อน การย้ายชนิดพันธุ์อาจมีผลกระทบทางนิเวศวิทยาที่ไม่คาดคิดต่อพืชสายพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศนั้นๆ คำถามคือการย้ายถิ่นเพื่อช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงเส้นทางอพยพของผีเสื้อ จะเป็นผลดีต่อระบบนิเวศของป่าบริเวณรอบๆ ได้ด้วยหรือไม่
เพื่อฟื้นฟูต้นสนจากเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อราชินี กล้าไม้บางส่วนถูกเพาะเลี้ยงในฟาร์มเพาะกล้า ก่อนจะถูกย้ายขึ้นไปในบนภูเขา และถูกปลูกในพื้นที่ที่ใช้สำหรับการปลูกป่าทดแทน โดยความพยายามในการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยของฝูงผีเสื้อมีความสำคัญพอๆ กับการขยายพื้นที่ที่อยู่อาศัยใหม่ของพวกมัน ซึ่ง Sáenz-Romero ระบุว่า พวกเขาต้องทำงานเชิงรุกกันมากขึ้น
ผีเสื้อจักรพรรดิกำลังเปลี่ยนแปลงเส้นทางอพยพ
คำถามที่น่าสนใจอยู่ที่ ฝูงผีเสื้อจักรพรรดิ หรือ ผีเสื้อราชินี จะสามารถหาป่าต้นสน Oyamel Fir แห่งใหม่พบหรือไม่ งานวิจัยเปิดเผยให้เห็นว่า ปัจจุบันที่อยู่อาศัยในฤดูหนาวของผีเสื้อราชินีที่เม็กซิโกอาจจะไม่เหมาะสมในอนาคต จากความร้อนและความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยผีเสื้อบางกลุ่มเริ่มอพยพไปที่อื่นแทนแล้ว ซึ่งฤดูหนาวปีที่ผ่านมา ผีเสื้อจักรพรรดิมีลดจำนวนลงเกือบ 60% ในพื้นที่เม็กซิโก
สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ นักอนุรักษ์พบว่าฝูงผีเสื้อจักรพรรดิที่ใหญ่ที่สุดย้ายไปอาศัยในพื้นที่ที่ห่างออกไปหลายไมล์จากเขตรักษาพันธุ์เดิม โดยพวกมันไปพักอาศัยอยู่ในป่า San Antonio Albarranes ซึ่งอยู่ใกล้กับภูเขาไฟ Nevado de Toluca และการสร้างอาณาจักรใหม่ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ฝูงผีเสื้อก็กำลังมองหาสถานที่ใหม่เพื่ออาศัยในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน
ผีเสื้อกำลังมองหาบ้านหลังใหม่ที่เย็นกว่า เพราะที่อยู่อาศัยเดิมเริ่มอุ่นขึ้น Sáenz-Romero เคยทำการวิจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในอดีตและอนาคตของที่พื้นที่ดังกล่าว โดยในภูเขาไฟ Nevado de Toluca อุณหภูมิที่ระดับความสูง 11,100 ฟุต จะต่ำกว่าที่ระดับเดียวกันในเขตรักษาพันธุ์ผีเสื้อราชินี 1 องศาเซลเซียส
“หากการอพยพของผีเสื้อไปยังส่วนนี้ของโลกยังคงดำเนินต่อไป ทั้งต้นไม้และผีเสื้อราชินีก็จะต้องย้ายถิ่นไปพร้อมๆ กัน” Karen Oberhauser นักชีววิทยาจาก University of Wisconsin-Madison ซึ่งศึกษานิเวศวิทยาของผีจักรพรรดิกล่าว
Karen Oberhauser ระบุต่อว่า “การย้ายถิ่นต้นสนเพื่อช่วยเหลือผีเสื้อคือเป็นทางออกที่เป็นไปได้ แต่ยังคงต้องติดตามดูว่ามันจะได้ผลหรือไม่ เพียงใด น่าเสียดายที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนโลก ก่อให้เกิดการทดลองครั้งใหญ่ที่มีตัวเลือกเพียงวิธีเดียว ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีเท่าไหร่”
ด้าน Sáenz-Romero หวังว่าการศึกษาครั้งใหม่นี้จะทำให้นักอนุรักษ์และเจ้าหน้าภาครัฐของเม็กซิโกเชื่อและตระหนักว่า การย้ายถิ่นต้นไม้สามารถสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีศักยภาพต่อเหล่าผีเสื้อจักรพรรดิในช่วงฤดูหนาว ซึ่งต้นสนใหม่เหล่านี้เป็นเพียงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญด้านระบบนิเวศ
“การรักษาที่อยู่อาศัยปัจจุบันของผีเสื้อมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เราจึงจำเป็นต้องปลูกต้นไม้สนพันธุ์นี้อีกหลายพันต้น” Sáenz-Romero กล่าวปิดท้ายอย่างมีความหวัง
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ภาพโดย Jaime Rojo
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com