เสือโคร่งสีทอง ความงามจากยีนส์ด้อย ที่มีเพียงไม่กี่ตัวในโลก

เสือโคร่งสีทอง ความงามจากยีนส์ด้อย ที่มีเพียงไม่กี่ตัวในโลก

“เสือโคร่งสีทองนั้นดูสวยงามและน่ารักในสวนสัตว์

แต่หากมันปรากฏตัวขึ้นในธรรมชาติแล้ว

ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่น่ายินดีนักสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้” 

ท่ามกลางกระแสฮือฮาในอินเตอร์ของ ‘น้องเอวา’ เสือโคร่งสีทองสุดน่ารักของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่ได้รับความรักจากผู้คนมากมาย หน้าตาสุดน่าเอ็นดูนี้ได้ชนะใจใครหลายคนจนตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะมีแต่รูปของ ‘น้องเอวา’ สุดน่ารักอยู่เต็มไปหมด

สำหรับ เอวา ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยมนุษย์นั้นน่าจะไร้ซึ่งปัญหาใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องอาหารและสุขภาพที่น่าจะได้รับการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ แต่หากเสือโคร่งสีทองตัวหนึ่งปรากฏขึ้นในป่า ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่านั่นเป็นสัญญาณน่ากังวลและไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีสักเท่าไหร่ และเหตุการณ์ครั้งนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา

“เมื่อผมพาแขกจากออสเตรเลียไปเที่ยวซาฟารี ผมเห็นเสือโคร่งสีทองตัวผู้เต็มวัยตัวนี้ในเวลาประมาณ 15.30 – 16.00 น.” เการาฟ รัมนารายานัน (Gaurav Ramnarayanan) ช่างภาพสัตว์ป่าและผู้นำเที่ยวในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกา รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย กล่าว “ตอนแรกมันอยู่ห่างออกไปประมาณ 800 เมตร จากนั้นมันก็เดินเข้าหารถซาฟารีซึ่งใกล้ถึง 80 เมตร โดยเคลื่อนตัวไปตามทางของมันเอง” 

รัมนารายานัน เชื่อว่ามีเสือโคร่งขนสีทองมากว่า 1 ตัวอยู่ในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกา (Kaziranga National Park) ซึ่งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเสือโคร่งเหล่านี้เป็นตัวเดียวกันหรือคนละตัว เนื่องจากมีการบันทึกภาพและข้อมูลรายละเอียดไว้น้อยมาก (บางรายงานระบุว่ามี 4 ตัว) 

แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่ได้พบกับสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษและหาได้ยากยิ่ง ทว่ามันก็มาพร้อมกับความน่าเศร้าใจด้วยเช่นกันที่ได้พบ โดยนักวิทยาศาสตร์เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่าเสือโคร่งสีทองนั้นเป็น ‘แมวใหญ่ที่มียีนด้อย’ 

การกลายพันธุ์ 

เสือโคร่งสีทองนั้นไม่ใช่ทั้งสปีชีส์ใหม่หรือสายพันธุ์ย่อย แต่กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกสายพันธุ์ของเสือ โดยมีลักษณะเด่นคือสีขนสีขาวสะอาดที่ถูกขีดด้วยสีทองอ่อน ๆ และเติมด้วยลายทางสีแดงแทนที่จะเป็นสีดำเหมือนเสือโคร่งทั่วไป 

โดยมีสาเหตุหลักมาจาก ‘พันธุกรรม’ เป็นปัจจัยหลักและปัจจัยเดียว ในตอนแรกมันเกิดจากการกลายพันธุ์ในยีนที่เรียกว่า ‘ยีนอะกูติ’ (Agouti genes) ซึ่งทำให้การผลิตเม็ดสีเหลืองอมแดงของเสือเจือจางลงในระหว่างการเจริญเติบโตของขน และนั่นทำให้เสือสีขาวตอนแรกเริ่มที่แทบจะมองไม่เห็นลายทางของมัน

มีการประเมินกันว่าเสือขาวจะเกิดขึ้นราว 1 ใน 10,000 ตัว แต่สำหรับเสือโคร่งสีทองนั้นหาได้ยากยิ่งกว่านั้น เนื่องจากต้องมีการแปรปรวนของยีนในระดับที่มากกว่าเดิม โดยขนสีเหลืองของเสือถูกควบคุมโดยยืนอะกูติชุดหนึ่ง และลายสีดำก็ถูกควบคุมโดยยีนลายเสือและอัลลีของพวกมันเอง“ยีนอะกูติทำปฏิกิริยากับเซลล์เม็ดเลือดสีเพื่อสร้างสีจากสีเหลืองเป็นสีแดงหรือสีน้ำตาลเป็นสีดำ ปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดแถบสีอ่อนและสีเข้มที่แตกต่างกันในขนของสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นกับเสือโคร่งตัวเมียของเราเช่นกัน” ราบินดรา ชาร์มา (Rabindra Sharma) เจ้าหน้าที่วิจัยของคาซิรังกา กล่าวถึงเสือโคร่งสีทองอีกตัวที่ชื่อ คาซิ 106F ในอุทยาน

ยีนด้อย

แต่ปัญหาคือยีนเหล่านี้เป็นยีนด้อย หากใครที่ได้เรียนพันธุศาสตร์มาจะเข้าใจได้ถึงปัญหาเหล่านี้ทันที ยีนด้อยหมายความว่า ยีนเหล่านี้จะแสดงออกมาเป็นลักษณะภายนอก(ในที่นี้คือสีขนผิดปกติ)ได้ก็ต่อเมื่อพวกมันมาจับคู่กันเองเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น (เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น) ยีน A (เอใหญ่) คือขนสีน้ำตาลปกติของสี ขณะที่ a (เอเล็ก) เป็นขนสีขาวของเสือ โดย A ถือเป็นยีนเด่นซึ่งมักจะเขียนด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวใหญ่และทำงาน ‘เหนือ’ กว่ายีนด้อย a ที่เขียนด้วยอักษรตัวเล็ก

ซึ่งหมายความว่าเมื่อทั้งสองมาจับคู่กันเพื่อทำให้เกิดการแสดงออกของยีน (ยีนมักจะทำงานร่วมเป็นคู่หรือมากกว่านั้น) ก็จะได้ผลดังนี้ AA = ขนสีปกติของเสือ, Aa = ขนสีปกติเช่นเดิม แต่ aa = สีขนผิดปกติ โดยการที่ aa จะมารวมได้นั้นมีโอกาสค่อนข้างน้อย เนื่องจากต้องการพ่อและแม่ที่มี a เหมือนกันทั้งคู่ 

ดังนั้นหากพ่อเป็น Aa และแม่เป็น Aa จึงจะมีโอกาสเกิดลูกที่เป็น aa ได้ แต่พ่อและแม่ที่เป็น Aa นั้นเอา a มาจากที่ใด? นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้มี a อยู่ในยีนพูลมากที่สุดคือ ‘การผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน’ ทำให้ยีนด้อยมีโอกาสปรากฏมากขึ้น

“วิธีเดียวกันที่มันจะแสดงออกมาได้คือการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกัน หรือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเท่านั้น” อุมา รามากฤษณัน (Uma Ramakrishnan) ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาจากศูนย์วิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งชาติของอินเดีย กล่าว “ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อยีนหายากกลายมาเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นโดยบังเอิญ”

ในธรรมชาตินั้นดูจะเป็นเรื่องยากมากสำหรับสีขนที่ผิดปกติ แต่เสือที่เลี้ยงดูโดยมนุษย์นั้นเกิดได้ง่ายกว่านั้นมาก ศาสตราจารย์ รามากฤษณัน กล่าวว่าลวดลายที่ผิดปกติเหล่านี้อาจสามารถสืบย้อนกลับไปถึงการคัดเลือกให้ผสมพันธุ์กับเสือขาวตัวแรก ๆ ที่เลี้ยงในกรง

เสือเหล่านั้นไม่ได้เลือกคู่ครองเองแต่ถูกมนุษย์จับคู่ให้โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างลูกหลานที่มีสีขนขาว และบางครั้งก็ได้สีทองออกมา อาจจะเพื่อความสวยงาม ความพึงพอใจ หรือเพื่อเหตุผลทางธุรกิจ แต่เสือเหล่านั้นมักจะถูกผสมพันธุ์กับวงศ์ญาติเดียวกันทั้งใกล้และไกลอยู่บ่อยครั้ง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเสือขาว(หรือแม้แต่เสือโคร่งสีทอง)จึงเทียบไม่พบในธรรมชาติเลย แต่ในสถานที่กักขังกลับมีเสือขาวอยู่มากกว่า 200 ตัวทั่วโลก และคาดกันว่าน่าจะมีเสือโคร่งสีทองในกรงราว 50-100 ตัวทั่วโลกเช่นเดียวกัน

แม้จะยังไม่มีการศึกษาที่ระบุว่ายีนด้อยและการผสมพันธุ์ในสายเลือดเดียวกันนี้จะสร้างปัญหาต่อสุขภาพของเสือมากน้อยเพียงใด แต่เราสามารถศึกษาตัวอย่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ ลูกที่เกิดจากครอบครัวเดียวกันมักมีลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ออกมาเช่น ใบหน้าแบนหรือตาเหล่ และที่สำคัญคือมีความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง

อีกหนึ่งปัญหาที่น่ากังวล 

ไม่เพียงเท่านั้นการพบเสือโคร่งสีทองในป่ายังทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ กลุ่มประชากรของเสือ เนื่องจากหมายความว่าพวกมันมีการผสมพันธุ์กันในสายเลือดเดียวกันมากขึ้น และสิ่งที่ผลักดันให้พวกมันต้องผสมพันธุ์กันเองก็เป็นเพราะว่า ประชากรเสือถูกแยกออกจากกันมากขึ้น 

โดยเฉพาะในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกาที่เป็นบ้านของกลุ่มเสือที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแห่งนี้กำลังถูกคุกคามจากตัวเมืองที่ขยายอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้มีถนนหรือสิ่งก่อสร้างขวางเส้นทางหากินของเสือ ทำให้ประชากรที่สามารถไปไหนมาไหนได้ กลับต้องเจอกับ ‘เสือหน้าเดิม ๆ’ 

“ยีนด้อยปรากฏขึ้นเนื่องจากการผสมพันธุ์ในสายพันธุ์เดียวกันของประชากรที่กระจัดกระจาย” ชาร์มา ระบุ

หรือกล่าวอย่างง่าย ๆ เสือเหล่านั้นถูกแยกออกจากกันเป็นเกาะ ๆ โดยไม่มีการเชื่อมโยงกับเสือเกาะอื่น ๆ ท้ายที่สุดเสือเหล่านั้นจำเป็นที่จะต้องผสมพันธุ์กันเอง การศึกษาโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งชาติและมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ชี้ให้เห็นว่า เสือโคร่งในอินเดียในปัจจุบันสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมไปแล้วถึง 93%

ดังนั้นแม้เสือโคร่งสีทองในสถานที่กักขังอาจเป็นเรื่องที่น่ารักน่าเอ็นดู แต่สำหรับเสือโคร่งสีทองในธรรมชาตินั้นคือเรื่องที่น่าเป็นห่วง และการพบเห็นพวกมันก็ช่วยให้เราตระหนักได้ว่าความหายากเหล่านี้ต้องได้รับการปกป้องมากแค่ไหน รัมนารายานัน หวังว่าภาพเสือโคร่งสีทองจะทำให้ผู้คนนึกถึงเรื่องเหล่านี้ และช่วยกันดูแลสัตว์ป่าให้ดีขึ้นได้

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov

https://www.newindianexpress.com

https://www.thehindu.com

https://www.nationalgeographic.com

https://www.kaziranga-national-park.com

https://www.sciencedirect.com

https://edition.cnn.com


อ่านเพิ่มเติม : เสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าในระบบนิเวศ ที่กำลังพยายามฟื้นคืนประชากรตามธรรมชาติ

Recommend