บรรพบรุษโบราณของแมงมุมมีหาง
เมื่อ 100 ล้านปีก่อน เจ้าสัตว์ตัวจิ๋วแปดขากำลังคลืบคลานผ่านผืนป่าดงดิบที่ปัจจุบันกลายมาเป็นพื้นที่ของประเทศเมียนมา ด้วยความยาวเพียงไม่ถึงนิ้ว เจ้าแมงมุมโบราณตัวนี้มีอวัยวะหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับแมงมุมสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของขา อวัยวะที่ใช้ในการพ่นใย แต่สิ่งที่ทำให้มันพิเศษก็คือ หางยาวที่เต็มไปด้วยเส้นขน
เชื่อกันว่าแมงมุมโบราณนี้อาศัยอยู่ตามเปลือกไม้ ในช่วงกลางยุคครีเทเชียส แต่แล้วยางของต้นไม้ก็เกิดไหลท่วมตัวมันเข้า ส่งผลให้ซากศพของมันถูกเก็บรักษาไว้ในอำพันนานเป็นเวลาหลายล้านปี จนในที่สุดอำพันก้อนดังกล่าวก็มาอยู่ในมือของ Paul Selden นักบรรพชีวินวิทยา ผู้รายงานเกี่ยวกับการค้นพบแมงมุมโบราณนี้ลงในวารสาร Ecology & Evolution เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ว่าแต่ทำไมญาติอันเก่าแก่ของแมงมุมรุ่นใหม่ถึงต้องมีหางด้วย แล้วมันเข้าไปอยู่ในอำพันได้อย่างไร และทุกวันนี้ยังมีแมงมุมลักษณะนี้หลงเหลืออยู่หรือไม่?
บรรพบรุษจากยุคโบราณ
ฟอสซิลในอำพัน 4 ชิ้นได้มาจากเหมืองทางตอนเหนือของเมียนมา เจ้าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวยังไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่ามันคือแมงมุม “Chimerarachne yingi” ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของมันได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ลูกผสมในตำนาน ไคเมร่า เนื่องจากมันมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดอยู่ในตัว
สิ่งมีชีวิตโบราณผู้เป็นบรรพบรุษของแมงมุมสมัยใหม่นี้ดูละม้ายคล้ายคลึงกับแมงมุมปัจจุบันในวงศ์ Liphistiidae ซึ่งปัจจุบันมีถิ่นอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, จีน และญี่ปุ่น แมงมุมในวงศ์นี้มีจำนวนมากถึง 100 สายพันธุ์ โดยเป็นแมงมุมขนาดกลาง
คุณกลัวแมงมุมหรือคุณเรียนรู้ว่าต้องกลัวแมงมุม?
เจ้าแมงมุมโบราณตัวนี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับแมงมุมสมัยใหม่ ลักษณะที่ว่าเช่น เขี้ยว, หนวดที่ใช้รับความรู้สึก รวมไปถึงขาทั้งสี่ข้างที่ใช้ในการเดิน พวกมันสามารถพ่นใยออกมาจากด้านหลังลำตัวได้ โดยที่ขณะนี้เองนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าพวกมันมีใยไว้สำหรับใช้ทำอะไร ในแมงมุมสมัยใหม่ใยของพวกมันนอกจากใช้สำหรับดักจับเหยื่อแล้ว ยังใช้นำทางกลับสู่รังอีกด้วย ส่วนสำหรับฟอสซิลแมงมุมโบราณตัวนี้ นักวิทยาศาสตร์คิดว่าใยของมันอาจมีไว้สำหรับห่อหุ้มไข่