“วาฬเพชฌฆาตกำลังหิวโหยเพราะล่าเหยื่อยากขึ้น
อันเป็นผลพวงจากเสียงรบกวนของเรือเดินสมุทร”
วาฬเพชฌฆาต หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ วาฬออร์กา (Orca) อาศัยคลื่นเสียงในการเลือกและล่าเหยื่อ ปัจจุบันเสียงรบกวนจากการสัญจรทางทะเลกำลังส่งผลกระทบต่อการหาอาหารของสัตว์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดนักล่าแห่งมหาสมุทร โดยเฉพาะอาหารโปรดของพวกมันอย่างปลาแซลมอน
ปัญหามลพิษทางเสียงรุนแรงขึ้นทุกปี ทีมวิจัยนานาชาติรายงานใน Global Change Biology ว่า ยามที่มีเสียงรบกวนในท้องทะเล วาฬต้องใช้เวลาหาอาหารนานขึ้นแต่กลับล่าเหยื่อได้น้อยลง วิจัยชิ้นนี้ติดตามทุกความเคลื่อนไหวและเสียงของเหล่าวาฬเพชฌฆาต (ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcinus orca) รวมถึงเสียงที่ส่งถึงวาฬกลุ่มนี้ด้วย
ผู้นิพนธ์หลัก เจนนิเฟอร์ ไบส์ซิงเงอร์ เทนเนสเซน (Jennifer Beissinger Tennessen) นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ณ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในรัฐซีแอตเทิล เผยว่าถือเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างระดับเสียงที่ส่งถึงวาฬในขณะที่มันกำลังล่าเหยื่อและระดับความสำเร็จในการล่าครั้งนั้น
ทีมวิจัยพบว่าแต่ละหน่วยเดซิเบลที่ส่งไปถึงวาฬเพิ่มโอกาสสี่เปอร์เซ็นต์ในการที่พวกมันจะออกล่าเหยื่อ แต่โอกาสที่ล่าสำเร็จกลับน้อยลง 12.5 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้วาฬตัวเมียจะใช้เวลาออกหาอาหารนานกว่า โอกาสสำเร็จก็มีเพียง 58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“ความแตกต่างระหว่างวาฬตัวเมียกับวาฬตัวผู้คือตัวเมียมักจะหยุดหาอาหารไปเลย” แซนเดอร์ วอน เบนดา-เบคแมนน์ นักวิจัยสวนศาสตร์ใต้น้ำ ณ The Netherlands Organisation for Applied Scientific Research (TNO) ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับวิจัย กล่าว “ถือเป็นข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมากครับ และผมว่ามีผลต่อแวดวงอนุรักษ์ด้วย”
เมื่อล่าเหยื่อยากขึ้น วาฬก็ได้กินน้อยลง สถานการณ์นี้ส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพ การสืบพันธุ์และการเลี้ยงดูลูกน้อยของพวกมัน
ตามติดวาฬ
วาฬเพชฌฆาตในมหาสมุทรแปซิฟิกแบ่งเป็นสามกลุ่ม หรือที่เรียกว่า อีโคไทป์ (Ecotypes) โดยแยกจากความแตกต่างทางรูปร่างและลักษณะการกินอาหาร ได้แก่ 1. วาฬปักหลัก (residents) มักกินปลาเป็นหลักและโปรดปรานปลาแซลมอนชินูก (Chinook salmon) 2. วาฬอพยพ (transients) ส่วนใหญ่จะกินสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และ 3. วาฬน้ำลึก (offshores) มักกินฉลามและปลาชนิดอื่น ๆ สำหรับวิจัยนี้ ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลของวาฬปักหลักทั้งจากทางเหนือและทางใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก จากปี พ.ศ. 2552 จนถึง พ.ศ. 2557
ทีมวิจัยใช้อุปกรณ์ Suction cup ขนาดเท่าฝ่ามือที่มาพร้อมกับไมโครโฟนใต้น้ำ ตามด้วยเครื่องบันทึกความลึก (depth recorder) และเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว (motion sensor) ในการติดตามวาฬ ว่าง่าย ๆ ก็เหมือน Fitness Tracker สำหรับวาฬนั่นเอง
การติดแท็ก (tag) หรืออุปกรณ์ติดตามบนตัววาฬไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำในช่วงที่ทะเลไม่มีคลื่นและเจ้าวาฬก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย โดยนักวิจัยจะใช้ด้ามเทเลสโคป (telescoping pole) ซึ่งสามารถขยายยาวถึง 22 ฟุต จับวาฬอย่างเบามือและทำการติดอุปกรณ์ติดตามบนตัวของพวกมัน ทีมวิจัยจะกำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อครบเวลาที่กำหนดแท็กก็จะหลุดออก และทางทีมจะไปตามเก็บแท็กเหล่านั้นเพื่อทำการบันทึกข้อมูลที่ได้
อุปกรณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่บันทึกความเคลื่อนไหวของวาฬในขณะที่พวกมันออกหาอาหารเท่านั้น แต่ยังบันทึกเสียงที่วาฬใช้ในการตามหาและไล่ล่าเหยื่อ เสียงสู้ฟัดกับเหยื่อและและเสียงเคี้ยวเหยื่อ รวมไปถึงเสียงบรรยากาศโดยรอบและเสียงจากใบจักรเรือด้วย
“เราได้สำรวจว่าระดับความสำเร็จในการล่าเหยื่อของวาฬเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน ทั้งภายใต้ภาวะที่ไม่มีเสียงรบกวนและภายใต้ภาวะที่มีเสียงรบกวน เพราะฉะนั้นเราจึงบอกได้ว่าเสียงรบกวนมีส่วนทำให้ระดับความสำเร็จลดน้อยลงจริง ๆ” เทนเนสเซนเอ่ย
เสียงรบกวนรอบข้างมักมาจากแหล่งธรรมชาติ เช่นเสียงฝนหรือเสียงแตกร้าวของน้ำแข็งขั้วโลก รวมไปถึงกิจกรรมของมนุษย์ เช่นการขนส่งสินค้าหรือการขุดเจาะน้ำมันและแก๊ส เรือเดินสมุทรส่งเสียงรบกวนมากที่สุดและระดับความถี่ของเสียงยังใกล้เคียงกับ Echolocation (การระบุตำแหน่งจากเสียงสะท้อน) ของวาฬอีกด้วย แต่จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ขนาด การรักษาสภาพและความรวดเร็วของเรือ ยิ่งเรือมีความเร็วมากเท่าไหร่เสียงจากฟองอากาศใบจักรก็ยิ่งดังขึ้นมากเท่านั้น เสียงดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Propeller Cavitation
เบนดา-เบคแมนน์ เสริมว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเสียงรบกวนจากการสัญจรทางเรือต่อประสิทธิภาพในการหาอาหารของวาฬมาก่อน แต่ในอดีตยังไม่มีการวัดผลอย่างชัดเจนและครอบคลุมนัก
วาฬตัวเมียน่าห่วงยิ่งกว่า
“ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะว่าตามประวัติที่ผ่านมา วาฬตัวเมียมีบทบาทสำคัญมากในการหาเหยื่อให้ฝูง” เทนเนสเซนอธิบาย พวกมันมีหน้าที่แบ่งอาหารและเลี้ยงดูลูกวาฬ เพราะฉะนั้นความเป็นอยู่ของวาฬตัวเมียจึงสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูจำนวนประชากรวาฬ”
“วาฬตัวเมียต้องมีสุขภาพแข็งแรงค่ะ” เธอเสริม “พวกมันไม่ควรหยุดหาอาหารเลย ปกติพวกมันต้องออกล่าและนำเหยื่อมาแบ่งให้กับวาฬตัวอื่น ๆ ในฝูง แต่ปัญหาตอนนี้คือเสียงรบกวนทางทะเลกำลังส่งผลเสียต่อการหาอาหารของพวกมัน”
ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าทำไมวาฬตัวเมียจึงไม่อยากออกล่าเหยื่อท่ามกลางเสียงเรือ แต่เทนเนสเซนคาดว่าอาจเป็นเพราะพวกมันไม่อยากห่างจากลูกวาฬมากนัก เพราะฉะนั้นหากจะต้องห่างลูก โอกาสล่าเหยื่อได้สำเร็จต้องมีมากกว่าพลังงานที่พวกมันจำเป็นต้องใช้ในการล่าเหยื่อ ถ้าการออกล่าครั้งไหนมีโอกาสสำเร็จน้อย พวกมันก็มักเลือกทำหน้าที่แม่และอยู่กับลูกวาฬแทน
การที่วาฬตัวเมียอยากทิ้งภาระหน้าที่ในการหาอาหารชั่วคราวจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ในเมื่อยังมีโอกาสในการล่าเหยื่ออีกมากมาย “พวกมันคงคิดว่า จะเปลืองพลังงานตั้งแต่ตอนนี้ไปทำไม ถ้าในอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้ามีโอกาสที่ดีกว่ารออยู่” เทนเนสเซนกล่าว
อย่างไรก็ตาม วาฬปักหลักทางตอนใต้ที่ใช้ชีวิตช่วงหน้าร้อนในแถบทะเลซาลิช (Salish Sea) แถวรัฐวอชิงตันและรัฐบริติชโคลัมเบีย ไม่สามารถใช้กลยุทธ์เดียวกันได้ เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยนี้มีความแออัดมากกว่า “บริเวณนี้เสียงดังอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพวกมันจะมัวแต่รอโอกาสหน้าไม่ได้” เทนเนสเซนเสริม
ผลที่ตามมาต่อแวดวงอนุรักษ์
รัฐบัญญัติสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (U.S. Endangered Species Act) ระบุวาฬปักหลักทางตอนใต้เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยปัจจุบันเหลือเพียง 73 หรือ 74 ตัวเท่านั้น ส่วนวาฬปักหลักทางตอนเหนือที่แม้จะมีจำนวนเหลืออยู่เยอะกว่าก็ยังคงถูกกำหนดให้เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ภายใต้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ของประเทศแคนาดา
นอกจากนี้ จำนวนประชากรอาหารโปรดของวาฬปักหลักอย่างแซลมอนก็กำลังลดน้อยลงเช่นกัน อันเป็นผลพวงจากปัญหามลพิษทางน้ำ อุณภูมิที่มากขึ้นในแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย และอุปสรรคในการวางไข่
เสียงรบกวนในพื้นที่ดังกล่าวมีความดังถึงหนึ่งร้อยเดซิเบลซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่มีผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้นนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายก็ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่าดังแค่ไหนถึงเรียกว่าดังเกินไป โดยงานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการเผยแพร่ระบุว่า 15% ของเรือที่สัญจรผ่านแหล่งที่อยู่อาศัยของวาฬปักหลักทางตอนใต้สร้างเสียงรบกวนมากที่สุดและคิดเป็นหนึ่งในสองของเสียงรบกวนจากการจราจรทางน้ำทั้งหมด
เทนเนสเซนมองว่าปัญหานี้แม้จะร้ายแรงแต่ก็แก้ไขได้ง่ายกว่าปัญหาอื่น ๆ เช่นปัญหาประชากรปลาอยู่ในภาวะย่ำแย่หรือปัญหามลพิษ เพียงแค่ต้องลดความเร็วของเรือเท่านั้น เพื่อที่เสียงจะได้เบาลงด้วย และด้วยการแนะนำจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศแคนาดาและประเทศสหรัฐอเมริกา เหล่าผู้ดำเนินการเรือสมุทรบางส่วนก็เริ่มทยอยลดความเร็วเรือลงบ้างแล้ว
Vancouver Fraser Port Authority ท่าเรือของประเทศแคนาดารายงานว่า ในปี พ.ศ. 2566 เรือจำนวน 87 เปอร์เซ็นต์ต่างพร้อมใจกันลดความเร็วและหลีกทางให้กับวาฬ ซึ่งเป็นการช่วยลดเสียงลง 4.2 เดซิเบลเมื่อเทียบกับระดับเสียงในปี พ.ศ. 2562 ที่ยังไม่มีมาตรการลดความเร็ว กลุ่มชนพื้นเมืองวอชิงตัน เหล่าท่าเรือและกลุ่มผู้มีอำนาจในท้องถิ่นต่างก็เข้าร่วมโปรแกรมอาสาลดความเร็วในหมู่น้ำของวอชิงตันที่มีชื่อว่า Quiet Sound เป็นโปรแกรมที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของวาฬเพชฌฆาต เรเชล อารอนสัน (Rachel Aronson) ผู้อำนวยการโปรแกรม Quiet Sound ณ Washington Maritime Blue เผยว่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของเรือเดินสมุทรปฏิบัติตามมาตรการของ Quiet Sound และยินยอมชะลอความเร็วของเรือลงในเขตที่วาฬเพชฌฆาตอาศัยอยู่
Quiet Sound พบว่ามาตรการชะลอความเร็วทางน้ำช่วยลดเสียงรบกวนที่อยู่ในระดับ Echolocation ของวาฬลงไป 2.8 เดซิเบล ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ตามกฎหมายรัฐวอชิงตัน เรือเดินสมุทรต้องลดความเร็วเหลือเพียง 7 นอต (knot) เมื่อเข้าใกล้วาฬเพชฌฆาตในระยะครึ่งไมล์ทะเล (nautical mile) รวมถึงจำกัดระยะห่างระหว่างเรือและวาฬ ปัจจุบันทางรัฐกำลังเพิ่มจำนวนระยะห่างขั้นต่ำเป็นหนึ่งพันหลา โดยกำหนดใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
เทคโนโลยีใบจักรเรือกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เช่นใบจักรเรือของบริษัท Sharrow Marine ที่ถูกออกแบบให้ส่งเสียงเบาลง หากโฆษณาดังกล่าวเป็นจริงก็ถือว่าเป็นข่าวดีเพราะได้ลดการใช้เสียงในการจราจรทางน้ำและในขณะเดียวกันก็ลดการใช้เชื้อเพลิงด้วย
เทนเนสเซนเสริมว่าเสียงรบกวนจากการสัญจรทางเรือเป็นปัญหาที่พบในมหาสมุทรทั่วทุกมุมโลก “ในที่สุดเราก็สามารถวัดได้ว่าเสียงรบกวนเหล่านี้มันส่งผลกระทบยังไงต่อสัตว์” เธอกล่าว “และเราก็พบว่ามีผลกระทบเยอะมากเลยทีเดียว”
เรื่อง
Michelle Martin
แปลและเรียบเรียง
พิมพ์มาดา ทองสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย