ผลจากการทำประมงอย่างหนักตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนฉลามและปลากระเบนลดลงครึ่งหนึ่ง

ผลจากการทำประมงอย่างหนักตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนฉลามและปลากระเบนลดลงครึ่งหนึ่ง

“หากต้องการให้ทะเลอุดมสมบูรณ์ ต้องอนุรักษ์ไม่ใช่กอบโกย”

ฉลามและกระเบนนั้นเป็นกลุ่มปลากระดูกอ่อนที่มีความหลากหลายอย่างมาก แต่สิ่งมีชีวิตโบราณในกลุ่มนี้มากกว่า 1,199 สายพันธุ์กำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากมันจะถูก ‘ตัดครีบ’ เพื่อนำไปขายแล้ว ฉลามและกระเบนก็ได้รับผลกระทบจากอีกอย่างหนึ่งคือการประมงที่มากเกินไป 

การทำประมงของมนุษย์ที่ลากอวนแล้วเอาทุกอย่างขึ้นไป ทำให้ฉลามและกระเบนถูกจับโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้พวกมันตาย นอกจากนี้ยังทำให้อาหารของพวกมันลดลงไปจำนวนมาก รวมถึงทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยเสื่อมโทรมลง ท้ายที่สุดแล้วทะเลก็ไร้ซึ่งชีวิต 

“นอกเหนือไปจากการจับโดยเจตนาและการถูกจับโดยไม่ตั้งใจแล้ว ภัยคุกคามต่อฉลามยังรุนแรงขึ้นจากการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่อาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและมลพิษ” ศาสตราจารย์คอลิน ซิมป์เฟนดอร์เฟอร์ (Colin Simpfendorfer) จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ในออสเตรเลีย กล่าว

“ผลลัพธ์ก็คือปัจจุบันมีปลากระดูกอ่อนมากกว่า 1 ใน 3 ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” และการลดลงของสัตว์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำทั้งหมด 

ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Science เผยให้เห็นว่าการประมงที่มากเกินไปทำให้ประชากรปลากลุ่มคอนดริกไทอิส (Chondrichthyes) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปลากระดูกอ่อน ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่ปี 1970 และการทำประมงที่มากเกินไปทั้งใกล้และไกลชายฝั่งในทะเลลึก ก็อาจทำให้ระบบนิเวศสูญเสียได้ถึงร้อยละ 22 จากทั้งหมด

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ชี้ให้เห็นว่าการประมงที่มากเกินไป ซึ่งก็คือมีการจับปลามากเกินไปจนไม่มีปลาเหลืออยู่เพียงพอที่จะเพาะพันธุ์และรักษาจำนวนให้ยั่งยืนได้ นั้นเป็นเหตุผลทำให้สิ่งมีชีวิตจำนวนมากอยู่ในความเสี่ยง 

แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการประมงที่มากเกินไปนี้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และทำให้พื้นที่ประมงทั่วโลกราว 1 ใน 3 ถูกกดดันจนเกินขีดจำกัดทางชีวภาพ และไม่เพียงแต่ในทะเลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ทีมวิจัยยังระบุว่าปลาในน้ำจืดอย่างแม่น้ำ ปากแม่นำ และน่านน้ำชายฝั่งเองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน 

แม้จะมีแนวโน้มที่น่าเศร้าเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์ก็ยังเน้นย้ำว่ายังมีทางแก้ไข นั่นคือการพัฒนาพื้นที่ในเชิงบวกและการอนุรักษ์ฉลามกับกระเบน เพื่อควบคุมการประมงที่มากเกินไปให้สัตว์น้ำมีพื้นที่ปลอดภัยและโอกาสในการเจริญเติบโต 

ตามรายงานที่เผยแพร่เมื่อปี 2023 ที่ทำโดยนักวิทยาศาสตร์นานาชาติร่วมมือกับเนชั่นเนล จีโอกราฟฟิก เผยให้เห็นว่า การสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลในอุทยานแห่งชาติที่ชื่อว่า รีวิลเลจเจโด(Revillagegedo) ของประเทศเม็กซิโก ทำให้ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับความคิดเห็นที่โต้แย้งไว้ก่อนหน้าว่าการจัดตั้งเขตคุ้มครองจะทำให้จับปลาได้น้อยลงร้อยละ 20 

“เราสามารถมีปลาของเรา(ในเขตอนุรักษ์ และมีพวกมันไว้กินได้ด้วยเช่นกัน” เอนริก ซาลา (Enric Sala) นักนิเวศวิทยาของเนชั่นเเนล จีโอกราฟฟิก บอกในรายงานดังกล่าว 

ดังนั้นทีมวิจัยจึงเน้นย้ำว่าทุกประเทศสามารถช่วยให้ฉลามและกระเบนอยู่รอดได้อย่างง่าย ๆ ด้วยการควบคุมการประมง อนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่ง และหยุดการกอบโกยจากมหาสมุทร จากนั้นมหาสมุทรจะตอบแทนเราเอง

“การวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางแก้ไข” ศาสตราจารย์ซิมป์เฟนดอร์เฟอร์ กล่าว “ประเทศต่าง ๆ สามารถลดความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ได้โดยลดแรงกดดันในการทำประมงให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน พร้อมกับควบคุมการประมงและยกเลิกการกระทำที่เป็นอันตราย” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.science.org

https://www.sciencedaily.com

https://www.euronews.com

https://www.science.org


อ่านเพิ่มเติม : นักวิทยาศาสตร์ชี้แมลงวันมีความเปราะบาง

ต่ออุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงมากกว่าผึ้ง

Recommend