เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาวอะบอริจิน เร่งปกป้องปลาฉนากฝูงสุดท้ายในออสเตรเลีย

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาวอะบอริจิน เร่งปกป้องปลาฉนากฝูงสุดท้ายในออสเตรเลีย

“แหล่งอาศัยของปลาฉนากยักษ์ ที่เคยพบในมหาสมุทรเขตร้อนทั่วโลก

ลดลงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ” 

ณ เมืองเมลเบิร์น (Melbourne) ประเทศออสเตรเลีย กลุ่มเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาวอะบอริจินและนักวิทยาศาสตร์ รวมตัวกันเพื่อออกเดินทางสู่แหล่งน้ำที่ชาวออสเตรเลียเรียกว่า “บิลลาบอง” (Billabong) ซึ่งอยู่ในเขตทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (Northern Territory) มณฑลตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย พวกเขารู้ว่าเวลาเหลือน้อยเต็มที

ท่ามกลางแสงแดดแผดเผาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 รอบ “บิลลาบอง” แห่งนี้เกลื่อนไปด้วยซากแห้งกรังของปลาฉนาก เพราะการที่น้ำเหือดหายอย่างรวดเร็วนั้นสามารถคร่าชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ได้ในเวลาเพียงไม่กี่วัน

ปีเตอร์ ไคน์ (Peter Kyne) และเหล่านักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ จับลูกปลาฉนากโดยใช้มือเปล่าสลับกับอวน จากนั้นทำการบันทึกเพศของแต่ละตัว ก่อนจะฝังไมโครชิพใต้ผิวหนังของพวกมัน ตลอดระยะเวลาสองวัน ทีมงานช่วยชีวิตลูกปลาฉนากได้ทั้งหมด 19 ตัว เป้าหมายถัดไปคือการปล่อยลูกปลาฉนากเหล่านี้ลงสู่แม่น้ำเดลีย์ (Daly River)

“เราฟันธงไม่ได้ครับว่าในบรรดาลูกปลาฉนาก 19 ตัว จะมีกี่ตัวที่รอดชีวิต แต่อย่างน้อยในตอนนี้พวกมันก็มีโอกาสต่อสู้เพื่อความอยู่รอด” ไคน์ นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ แห่ง Charles Darwin University มหาวิทยาลัยในเมืองดาร์วิน (Darwin) เมืองหลวงของนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี กล่าว

พื้นที่ขนาด 520,400 ตารางไมล์นี้เป็นที่รู้จักในนาม เอาต์แบกค์ (Outback) ของประเทศออสเตรเลีย เอาต์แบกค์เป็นเขตทะเลทรายที่อยู่ห่างไกลและมีแม่น้ำสายสำคัญหลายสายไหลผ่าน เช่นแม่น้ำเดลีย์  

“ลูกปลาฉนากเหล่านี้ไม่มีทางรอดหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ” ไคน์เผย “ต่อให้มีแค่ไม่กี่ตัวที่อยู่รอดจนถึงวัยเจริญพันธุ์ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้”

ปลาฉนากยักษ์ (Largetooth sawfish) ใต้แม่น้ำในอุทยานแห่งชาติคาคาดู (Kakadu National Park) แห่งนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (Northern Territory) ประเทศออสเตรเลีย ภาพถ่ายโดย Yves Lefevre, Biosphoto/Minden Pictures

ปลาฉนากยักษ์ (Largetooth sawfish) เป็นปลาขนาดใหญ่ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มปลากระเบน พวกมันมีจมูกยาวคล้ายเลื่อยและมีฟันแหลมคมที่ใช้สำหรับแล่เหยื่อ เช่น ปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง (Crustaceans) ปลาฉนากที่โตเต็มวัยมีขนาดยาวถึง 21 ฟุต ตัวเมียจะมีลูกเฉลี่ย 7 ตัวต่อปี สัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยปลาฉนากที่ยังไม่โตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในน้ำจืดเป็นเวลาประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นจึงจะกลับสู่มหาสมุทร

ในอดีต แหล่งอาศัยของปลาฉนากยักษ์กระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรเขตร้อนทั่วโลก แต่ด้วยปัญหาการสูญเสียถิ่นที่อาศัย (habitat loss) และการประมงเกินขนาด (overfishing) ทำให้พื้นที่ลดลงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2553 ปลาฉนากอีกสี่สายพันธุ์ก็อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตเช่นกัน โดยพื้นที่อาศัยของพวกมันลดลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์

ชุมชน Malak Malak เป็นชนพื้นเมืองอะบอริจิน ซึ่งในอดีตคือกลุ่มผู้ครอบครองที่ดินรอบ ๆ แม่น้ำเดลีย์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาว Malak Malak ได้ร่วมมือกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสำรวจและทำการเคลื่อนย้ายปลาฉนากที่หลงเหลืออยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ปัจจุบันทีมงานเคลื่อนย้ายปลาฉนากกลับสู่แม่น้ำเดลีย์ได้ทั้งหมด 115 ตัว

แอรอน กรีน (Aaron Green) เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาว Malak Malak ผู้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้มาตั้งแต่ต้น เผยว่า “ความสุขของพวกเราคือการได้ช่วยเพิ่มจำนวนประชากรปลาฉนาก และอนุรักษ์พวกมันไว้นานพอที่คนรุ่นหลังจะมีโอกาสได้เห็นด้วยตาของตัวเองครับ”

ยอมเดิมพัน

ฝนกระหน่ำในเดือนพฤศจิกายนส่งผลให้แม่น้ำในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเอ่อล้นเข้าบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งช่วยขยายพื้นที่หาอาหารของปลาฉนากและสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ เมื่อระดับน้ำลดลงในเดือนกรกฎาคม น้ำที่ล้นเข้าบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงก็จะไหลผ่านลำคลองเล็ก ๆ กลับสู่แม่น้ำสายหลัก เปิดทางให้ปลาฉนากส่วนใหญ่กลับคืนสู่แม่น้ำสายหลักได้ แต่โชคร้ายที่บางตัวยังคงติดแหง็กอยู่ที่เดิม

ไคน์เผยว่า “ปลาฉนากจะเคลื่อนย้ายไปยังที่ราบน้ำท่วมถึงตามธรรมชาติ เพราะบริเวณนั้นมีอาหารมากมาย ถือเป็นสวรรค์ของพวกมันเลยครับ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนการเสี่ยงโชค เพราะหากแหล่งน้ำเกิดแห้งเหือดขึ้นมาในขณะที่พวกมันยังติดแหง็กอยู่ในนั้น พวกมันก็ตายสถานเดียว”

แหล่งอาศัยของปลาฉนากลดลงอย่างมากในศตวรรษที่ผ่านมา ชีวิตของปลาฉนากทุกตัวจึงมีคุณค่ามหาศาล แต่การฟื้นฟูประชากรของพวกมันนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนอกจากแม่น้ำเดลีย์จะเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีแล้ว ยังเต็มไปด้วยสัตว์อันตรายอย่างจระเข้น้ำเค็มและฉลามหัวบาตร อีกหนึ่งอุปสรรคก็คือ ยานพาหนะของกลุ่มเจ้าหน้าที่อาจติดหล่มในเส้นทางทุรกันดาร และความร้อนในฤดูแล้งก็อาจแผดเผารุนแรงจนเกินไป

Northen Land Council องค์กรที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชาวอะบอริจินผู้อาศัยอยู่ทางตอนบนของนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ได้ว่าจ้างกลุ่มเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจาก 14 ชุมชนให้ดูแลที่ดินและทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลออสเตรเลีย

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลจัดการที่ดิน จำนวน 7 คน มาจาก 3 ชุมชนเล็ก ๆ ที่ปักหลักอยู่บริเวณริมแม่น้ำห่างจากเมืองดาร์วินไปทางใต้ราว 3 ชั่วโมง ในภูมิภาคนี้มีประชากรประมาณ 500 คน โดยชุมชน Nauiyu Nambiyu เป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุด มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 350 คน ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พื้นที่ลาดตระเวนของพวกเขาครอบคลุมเกือบ 75,000 เอเคอร์เลยทีเดียว

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล แต่โดยทั่วไปแล้ว พวกเขาจะลาดตระเวนตามแม่น้ำเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดกิจกรรมประมง เพาะพันธ์และปล่อยแมลงควบคุมวัชพืช พร้อมทั้งคอยช่วยเหลือตำรวจในการกู้ภัยนักตกปลา ผู้ใช้เรือ หรือลูกสุนัขที่อาจพลัดตกและติดแหง็กอยู่กลางแม่น้ำ

ชีวิตบนผืนน้ำ

เหตุผลที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาว Malak Malak รู้ลึกเกี่ยวกับที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นเพราะพวกเขามีประสบการณ์ตรงจากการใช้ชีวิตบริเวณริมแม่น้ำ อีกทั้งยังได้ออกเดินทางไปตกปลาตามชุมชนต่าง ๆ ที่ปักหลักอยู่ทั้งทางตอนบนและตอนล่างของแม่น้ำอีกด้วย

“สำหรับชาวอะบอริจิน บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงก็เปรียบเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะมีอาหารอยู่ทุกที่ คุณแค่ต้องรู้ว่ากำลังมองหาอะไร” กรีนกล่าว พร้อมเสริมว่าชาว Malak Malak ไม่กินปลาฉนากเพราะพวกเขาถือว่าปลาชนิดนี้มีความสำคัญทางวัฒนธรรม

ในช่วงที่ฤดูแล้งทวีความรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะกางเต็นท์ใกล้กับแหล่งน้ำและคอยเฝ้าสังเกตปลาฉนาก เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม พวกเขาจะติดต่อไคน์เพื่อจัดตั้งภารกิจช่วยชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ โดยในปี พ.ศ. 2567 มีการเชิญชวนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากชุมชน Kenbi และ Bulgul มาร่วมเรียนรู้แนวทางในการฟื้นฟูประชากรปลาฉนาก เพื่อที่พวกเขาจะสามารถนำไปปฏิบัติกับปลาฉนากที่อาศัยอยู่ในบริเวณอื่น ๆ ของแม่น้ำเดลีย์ได้

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชาว Malak Malak และชาว Kenbi จับปลาฉนาก ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ภาพถ่ายโดย Thor Jensen

ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและนักวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดการค้นพบข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับพันธุกรรมของปลาฉนากยักษ์ รวมถึงการค้นพบว่าแม่น้ำแต่ละสายในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรปลาฉนากหลากหลายสายพันธุ์ ไคน์วางแผนรวบรวมข้อมูลปริมาณน้ำฝนและสถิติการอพยพปลาฉนาก เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่าเหตุใดลูกปลาฉนากจึงติดอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งอาจช่วยให้สามารถคาดการณ์ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าช่วยเหลือได้แม่นยำยิ่งขึ้น

บาร์บารา เวอริงเกอร์ (Barbara Wueringer) นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำแห่งองค์กร Sharks and Rays Australia กล่าวถึงปลาฉนากว่า “ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้อยู่อีกมากมาย” แม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจนี้ แต่เธอก็ให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังได้ศึกษาเกี่ยวกับปลาฉนากพื้นเมืองทั้ง 4 สายพันธุ์ของออสเตรเลีย

เวอริงเกอร์เสริมว่า “หากคุณตกปลาฉนากจากแม่น้ำสายใดสายหนึ่งจนหมด ผลที่จะตามมาก็คือต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถฟื้นฟูประชากรของพวกมันได้ เพราะปลาฉนากผูกติดกับแม่น้ำที่พวกมันอาศัยอยู่มาก ๆ ค่ะ”

เมื่ออยู่ในมหาสมุทร ปลาฉนากที่โตเต็มวัยจะมีโอกาสติดแหจับปลาได้ง่ายเพราะปากแหลมอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน ชาวประมงส่วนใหญ่จึงมักจับพวกมันได้โดยไม่ตั้งใจ แต่ก็มีชาวประมงบางส่วนที่มุ่งจับปลาฉนากเพื่อเอาครีบและจะงอยปากฟันเลื่อยของพวกมันไปขายในราคาสูง

การจับปลาฉนากถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายในออสเตรเลียและประเทศอื่น ๆ อีก 18 ประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงเป็นสิ่งถูกกฎหมายในบางภูมิภาคของทวีปแอฟริกาตะวันออก อเมริกาใต้ อเมริกากลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภัยคุกคามใหม่กำลังก่อตัว

ภัยคุกคามใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้าใกล้ปลาฉนากในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีก็คือ การปลูกฝ้าย

รายงานปี พ.ศ. 2565 จาก Territory Rivers: Keep ‘Em Flowing พันธมิตรขององค์กรไม่แสวงผลกำไรในออสเตรเลีย ระบุว่า สถานีเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมได้ผุดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค และมีแนวโน้มว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการปลูกฝ้ายในพื้นที่กว่า 120,000 เอเคอร์

เคิร์สตี โฮวีย์ (Kirsty Howey) ผู้อำนวยการบริหาร Environment Centre NT องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี เผยว่า โดยเฉลี่ยแล้ว การปลูกฝ้ายต้องใช้น้ำเกือบ 2 สระแข่งโอลิมปิกต่อหนึ่งเอเคอร์ เกษตรกรจึงพยายามสูบน้ำจากแม่น้ำเดลีย์และพื้นที่ลุ่มน้ำโดยรอบเพื่อตอบสนองความต้องการนี้

“แผนที่จะเปลี่ยนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารของเอเชียใต้ได้รับการผลักดันอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงมีการเร่งถางป่าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่นี้” โฮวีย์กล่าว

งานวิจัยของ CSIRO หน่วยงานวิทยาศาสตร์หลักของออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและการปนเปื้อนระบบนิเวศในน้ำด้วยยาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืช

โฆษกของ Australian Department of Climate Change, Energy, the Environment and Water หน่วยงานรัฐบาลออสเตรเลีย เผยในคำแถลงต่อเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกว่า การจัดการน้ำนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละรัฐและดินแดน และทางหน่วยงานกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเพื่อตรวจสอบว่าการทำลายพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายหรือไม่

ในขณะเดียวกัน ชาวอะบอริจินที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำและต้องพึ่งพาลำน้ำในการบริโภคและการขนส่ง ต่างก็เกิดความกังวลว่าอุตสาหกรรมฝ้ายจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาและสัตว์ป่าในพื้นที่อย่างไร แน่นอนว่ารวมถึงปลาฉนากด้วย

กรีนทิ้งท้ายไว้ว่า “การทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำเดลีย์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศของเราเท่านั้น แต่รวมไปถึงสัตว์ที่อพยพมาจากส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย เช่น นกที่อพยพมาจากไซบีเรีย จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพวกมันบินมาถึงที่นี่แล้วพบว่าน้ำหายไปหมดแล้ว?”

เรื่อง Justin Meneguzzi

แปลและเรียบเรียง

พิมพ์มาดา ทองสุข

โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : ชุมชนริมแม่น้ำคันทักช่วยปกป้องตะโขงอินเดีย

ให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ได้อย่างไร

 

Recommend