จากนั้นในปี 1967 นักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งชื่อ เอส. บี. มิสรา สังเกตเห็นแผ่นหินโคลนซึ่งมีฟอสซิลอยู่เต็มไปหมดที่แหลมมิสเทเคนในนิวฟันด์แลนด์ ชีวิตโบราณบางรูปแบบที่พบบนแผ่นหินนั้นดูเหมือน “แมงกะพรุน” จากรัฐเซาท์ออสเตรเลีย บางส่วนคล้ายใบเฟิน แต่ฟอสซิลจำนวนมากกลับไม่เหมือนสิ่งใดที่รู้จักกันในวงการวิทยาศาสตร์เลย ฟอสซิลที่แหลมมิสเทเคนมีอายุย้อนไปถึง 570 ล้านปี นี่คือหลักฐานของรูปแบบชีวิตขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนทางชีววิทยาชุดแรกบนโลก
ถึงตอนนี้ เรารู้จักชีวิตจากยุคอีดีแอคารันที่แตกต่างกันมากกว่า 50 รูปแบบจากแหล่งขุดค้นเกือบ 40 แห่งบนทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์กติกา
หลักฐานฟอสซิลแสดงว่า อีดีแอคารันเกือบทุกรูปแบบไม่มีปาก พวกมันไม่มีลำไส้ ไม่มีทวารหนัก ปราศจากหัว ดวงตา และหาง บางครั้งเราพบปุ่มหรือแผ่นตรงปลายด้านหนึ่งซึ่งปัจจุบันเรียกว่าส่วนแปะยึด สำหรับยึดเกาะกับก้นทะเลเพื่อให้ส่วนที่เหมือนใบเฟินโบกสะบัดในน้ำ
ถ้าพวกมันกินอาหารไม่ได้ มิหนำซ้ำยังสังเคราะห์แสงไม่ได้ แล้วอีดีแอคารันหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีไหน สมมุติฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเชื่อว่า อีดีแอคารันส่วนใหญ่ยังชีพด้วยออสโมโทรฟี (osmotrophy) ซึ่งเป็นคำศัพท์หรูหราของกระบวนการพื้นฐานอย่างมาก นั่นคือการรับสารอาหารที่ละลายแล้วด้วยวิธีออสโมซิส หรือการดูดซึมผ่านเยื่อชั้นนอก วิธีนี้อาจจะดีพอในโลกอันเรียบง่าย ณ ช่วงเวลาที่เรียบง่าย นักวิทยาศาสตร์บางคนสนใจอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจของอีดีแอคารันหลายรูปแบบ นั่นคือโครงสร้างอันละเอียดของพวกมัน หากมองเผินๆพวกมันดูคล้ายผ้าที่ต่อกัน แต่ถ้าพิจารณาดูใกล้ๆจะเห็นโครงสร้างแบบเศษส่วน หรือรูปแบบเหมือนกันที่เรียงตัวซ้ำๆกันโดยมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ รูปแบบใบเฟินขนาดใหญ่ประกอบขึ้นจากใบเฟินขนาดเล็ก ส่วนใบเฟินขนาดเล็กก็ประกอบขึ้นจากใบเฟินขนาดเล็กยิ่งกว่า ทั้งหมดมีรูปร่างเหมือนกันยกเว้นขนาด รูปร่างพื้นฐานเรียงตัวซ้ำกันสามหรือสี่ขนาด โครงสร้างแบบเศษส่วนอาจช่วยอธิบายว่า เพราะเหตุใดพวกมันจึงสามารถเติบโตจนมีขนาดใหญ่ได้ โครงสร้างแบบนี้ให้ความแข็งแกร่ง ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวหน้า และอาจเป็นทางลัดทางพันธุกรรม เพราะสูตรง่ายๆ ในจีโนมอาจกำหนดให้สร้างกลุ่มรูปร่างแบบใบเฟินเล็กๆขึ้นมา ก่อนจะทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนมีขนาดใหญ่ขึ้น
โครงสร้างแบบเศษส่วนนี้ยังปรากฏในสัตว์คล้ายงูที่มาร์ก ลาฟลาม และผมพบในหินสีเทาอมม่วงที่แหลมมิสเทเคน และในอีดีแอคารันอื่นๆอีกหลายรูปแบบซึ่งเรียกรวมกันว่า แรนจีโอมอร์ฟ (rangeomorph) ตามชื่อตัวอย่างรูปแบบหนึ่งจากแอฟริกาตะวันตกที่เรียกว่า แรนเจีย (Rangea)
ระหว่างที่เราสำรวจชั้นหินในนิวฟันด์แลนด์ ลาฟลามชี้ให้ผมดูแรนจีโอมอร์ฟอีกมากมายที่ดูไม่เตะตานักจากระยะสามเมตร แต่กลับน่าขนลุกเมื่อเพ่งมองในระยะใกล้ นี่คือ บีโอทูคิส มิสเทเคนซิส (Beothukis mistakensis) ใบเฟินรูปใบพายที่ได้ชื่อตามแหล่งค้นพบ ส่วนตรงนั้นคือ แฟรกโตฟูซัส (Fractofusus) รูปร่างคล้ายกระสวยแบบปลายเรียว พวกมันแผ่ราบอยู่ตามก้นทะเล
แม้แรนจีโอมอร์ฟเหล่านี้จะครองระบบนิเวศทะเลลึกที่แหลมมิสเทเคนอยู่หลายล้านปี และเฟื่องฟูอยู่ในน่านน้ำที่ตื้นกว่าในที่อื่นๆ แต่พวกมันกลับสาบสูญไปโดยปราศจากลูกหลาน เมื่อยุคแคมเบรียนเปิดฉากขึ้นราว 541 ล้านปีที่แล้ว หรือหลังจากนั้นไม่นาน ก็แทบไม่ปรากฏฟอสซิลของอีดีแอคารันอีกเลย
เรื่อง เดวิด ควาเมน
ภาพถ่าย เดวิด ลิตต์ชวาเกอร์