ชิมแปนซี เลือกกินสมองลูกลิงก่อนส่วนอื่น
ชิมแปนซี กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติ Gombe ของแทนซาเนีย สถานที่เดียวกับที่เจน กูดดอลด์ เริ่มต้นศึกษาพวกมันในปี 1960 กำลังไล่ล่าลิงโคโรบัสแดงที่มีขนาดเล็กกว่า ความวุ่นวายเกิดขึ้นและตามมาด้วยเสียงกรีดร้องของชิมแปนซี เมื่อเหยื่อของพวกมันตกลงต้นไม้ตาย ภาพทั้งหมดถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวิดีโอ
Ian Gilby นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัฐอริโซนา ผู้นำในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ตัวเขาคุ้นเคยกับลิงชิมแปนซีในอุทยาน Gombe ดีและขณะนี้กำลังเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีที่พวกมันแบ่งปันเนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ให้กันและกัน
หลังดูวิดีโอย้อนหลัง ตัวเขาสังเกตเห็นว่าชิมแปนซีจะเลือกกินส่วนหัวของลูกลิงหรือลิงวัยรุ่นก่อนเหยื่อที่โตเต็มวัย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดคำถามตามมาซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของมนุษย์: ทำไมเอปส์ถึงชอบที่จะเลือกกินส่วนใดส่วนหนึ่งก่อน?
อาหารเพื่อสุขภาพ
Gilby คิดว่าคำตอบเกี่ยวข้องกับโภชนาการ “เรามักจะพูดว่าเนื้อก็คือเนื้อ แต่จริงๆ แล้วในแต่ละส่วนก็ให้สารอาหารที่แตกต่างกันไป” ผลการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร International Journal of Primatology “ซากของเหยื่อทั้งหมดมีคุณค่าทางสารอาหาร แต่สมองคือส่วนที่มีคุณค่ามากที่สุด” สมองประกอบด้วยไขมันและกรดไขมันปริมาณมากซึ่งช่วยพัฒนาระบบประสาท
และด้วยกะโหลกของลิงวัยเยาว์ที่แตกได้ง่ายกว่ากะโหลกของลิงตัวเต็มวัย ทำให้พวกมันเลือกที่จะไม่เสียเวลากับเหยื่อที่โตแล้ว ตรงกันข้ามหากเป็นเหยื่อโตเต็มวัย ชิมแปนซีจะมองหาอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่มีสารอาหารมากเช่นกันอย่าง ตับ
“นี่อาจเป็นการศึกษาเชิงปริมาณครั้งแรกของวิธีที่ชิมแปนซีกินเหยื่อ” Jill Pruetz นักมานุษยวิทยาสาขาชีววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านวานาโยเฉพาะ จากมหาวิทยาลัยเทกซัสกล่าว
(ลิงกังญี่ปุ่นรู้วิธีคลายเครียดด้วยการแช่น้ำร้อน)
โภชนาการ VS วัฒนธรรม
Pruetz เคยเห็นพฤติกรรมคล้ายคลึงกันนี้ในการศึกษาชิมแปนซีที่เซเนกัล ในตอนนั้นเธอกำลังศึกษาการล่าเหยื่อของลิมแปนซีในโครงการ Fongoli Savanna และพบว่าชิมแปนซีเลือกที่จะกินส่วนหัวของเหยื่อเป็นสิ่งแรก
นอกจากนั้นยังมีการถกเถียงในประเด็นที่ว่า เหตุใดเอปเหล่านี้จึงออกล่า ทั้งๆ ที่เนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหารหลักของพวกมัน ด้าน Pruetz เสริมว่าชิมแปนซีเหล่านี้น่าจะกำลังมองหาสารอาหารเพิ่มเติม แต่สำหรับลิงในพื้นที่อื่นๆ เธอไม่สามารถยืนยันได้
ยกตัวอย่างเช่น ชิมแปนซีบางชนิดกินไข่ ในขณะที่ชิมแปนซีอื่นๆ ไม่กิน ส่วนที่โครงการ Fongoli เมื่อชิมแปนซีล่าลิงบาบูนได้แล้ว พวกมันจะเอาส่วนหัวกลับไปในขณะที่ส่วนลำไส้กลับถูกทิ้งเอาไว้ ซึ่งเธอสงสัยว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นมากกว่ากลยุทธ์ในการกิน แต่เป็นวัฒนธรรมที่เรียนรู้ต่อๆ กันมา
เนื้อขับเคลื่อนวิวัฒนาการ?
ไม่ว่าเหตุผลเบื้องหลังของพฤติกรรมนี้จะเป็นอะไรก็ตาม การศึกษาพฤติกรรมการเลือกกินของเอปนี้อาจฉายข้อมูลบางอย่างที่สะท้อนถึงการเอาตัวรอดของบรรพบุรุษมนุษย์ซึ่งวิวัฒนาการอย่างก้าวกระโดดเมื่อกินเนื้อสัตว์มากขึ้น โดย Gilby เชื่อว่าความต้องการไขมันในร่างกายน่าจะเป็นแรงจูงใจ
“หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการทำความเข้าใจบรรพบุรุษของเราก็คือการเอาชิมแปนซีเหล่านี้เป็นโมเดลศึกษา” Pruetz กล่าว “การได้เห็นวิธีการล่าของชิมแปนซีเหล่านี้ ช่วยให้เราคาดเดาได้ว่าพฤติกรรมการล่าของมนุษย์ในช่วงเริ่มต้นจะเป็นอย่างไร”
เรื่อง Shauna Steigerwald
อ่านเพิ่มเติม