ชาวมายาเลี้ยงหมาแมวขายเพื่อบูชายัญตั้งแต่ก่อนคริสตกาล
ฟันและกระดูกจากแหล่งโบราณคดีมายาอายุ 3 พันปีในกัวเตมาลา มีหลักฐานยุคแรกในทวีปอเมริกาเกี่ยวกับการค้าและการจัดการสัตว์ การค้นพบดังกล่าวเปิดเผยว่าพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชายัญสัตว์ที่ถูกจับมาอาจมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของสังคมมายา
ในหลายภูมิภาค การเลี้ยงสัตว์มีบทบาทสำคัญในการเลี้ยงดูเมืองและสังคม เช่น วัฒนธรรมยุโรปและเอเชียเริ่มเลี้ยงสัตว์อย่างหมูเป็นอาหารมายาวนานถึง 9 พันปี
แต่ในเมโสอเมริกาโบราณไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อหลักฐานแสดงให้เห็นว่ากลุ่มต่างๆ เช่นชาวมายาเพาะปลูกพืชแต่เลี้ยงสัตว์น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นหมาและไก่งวง สังคมมายาพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งที่ปราศจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มาพร้อมกับการจัดการสัตว์
จากงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences นักวิจัยตรวจสอบกระดูกและฟันที่ขุดค้นได้จากเมืองซีบัลในกัวเตมาลา แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีหลักฐานชิ้นแรกๆ ของพิธีกรรมชาวมายา ทีมวิจัยพบกระดูกกับฟันของสุนัขและแมวรอบตลาดกลางของเมือง ซึ่งมีอายุย้อนไปถึง 700-350 ปีก่อนคริสตศักราช
ทีมนักวิจัยทดสอบซากเพื่อกำหนดสัดส่วนของไอโซโทปหลากหลายแบบที่มีอยู่ ระดับคาร์บอนไอโซโทปที่สูงกว่าแสดงว่าสัตว์เหล่านี้กินข้าวโพดที่คนปลูกปริมาณมากในระหว่างช่วงชีวิตของพวกมัน ในขณะที่ระดับคาร์บอนไอโซโทปที่ต่ำกว่าแสดงว่าสัตว์กินพืชป่า การวิเคราะห์เปิดเผยว่าซากสุนัขทั้งหมดที่มีระดับคาร์บอนไอโซโทปสูง ถูกเลี้ยงด้วยข้าวโพดเป็นหลัก ส่วนซากของแมวใหญ่ตัวหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจากัวร์ ก็กินอาหารชนิดเดียวกัน ส่วนแมวอื่นๆ ที่พบหลังจากขุดค้นเพิ่มเติมที่ซีบัล พบว่ากินสัตว์ในป่าใกล้เคียงเป็นอาหาร
จากการตรวจสอบเอกลักษณ์จากไอโซโทปพบว่าซากสัตว์ 44 จาก 46 ชุดเป็นของสัตว์ที่เกิดในท้องถิ่น ในขณะที่สุนัขอีกสองตัวมาจากภูเขาแถบที่แห้งแล้งที่ไกลจากตอนใต้ของที่ราบต่ำของซีบัล สุนัขตัวหนึ่งที่มาจากที่อื่นกับแมวใหญ่ถูกฝังในหลุมใต้ตึกในศูนย์พิธีกรรมของซีบัลราว 400 ปีก่อนคริสตศักราช
ผลการศึกษาพบว่าสัตว์เหล่านี้ถูกใช้ในพิธีกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างที่ซีบัลกำลังกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองของภูมิภาค ในขณะที่ชาวมายาไม่ได้ใช้สัตว์ต่างๆ ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญของการทำเกษตร แต่การทำการค้าและเลี้ยงสัตว์เพื่อประกอบพิธีก็ทำให้เศรษฐกิจและการเมืองเจริญได้ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอารยธรรมมายาด้วย
“ในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป การจัดการสัตว์มักเกิดควบคู่กับการพัฒนาของเมือง” แอชรีย์ ชาร์ป นักโบราณคดีจากสถาบันวิจัยเขตร้อนสมิทโซเนียน ผู้ร่วมวิจัยกล่าว “แต่ในทวีปอเมริกา คนมักเลี้ยงสัตว์เพื่อบูชายัญในพิธีกรรม ความเจริญของเมืองไม่จำเป็นต้องมาจากการทำปศุสัตว์เท่านั้น”
ภาพถ่าย สจวร์ต เบย, ALAMY
อ่านเพิ่มเติม