อยากนอนหลับใช่ไหม ลองอ่านเรื่องนี้สิ
เกือบทุกค่ำคืนในชีวิต เราต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอันน่าแปลกประหลาด
สมองมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและจุดประสงค์อย่างลึกซึ้งเพื่อทำให้สติของเราหลุดลอยไป ชั่วขณะหนึ่งที่เราตกอยู่ในสภาวะเป็นอัมพาตเกือบทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม ดวงตาของเรามีการขยับอย่างรวดเร็วเป็นช่วงๆ อยู่หลังเปลือกตาที่ปิดสนิทราวกับกำลังมองเห็น และแม้ในตอนที่เงียบสงัด กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ในหูชั้นกลางก็มีการขยับราวกับกำลังได้ยิน การกระตุ้นทางเพศจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งในชายและหญิง บางครั้งเราเชื่อว่าเราบินได้ เราเข้าใกล้เขตแดนมรณะ เราหลับ
ราว 350 ปีก่อนคริสตกาล อาริสโตเติลเขียนความเรียงเรื่อง “ว่าด้วยการนอนหลับและนอนไม่หลับ” ตั้งข้อสงสัยว่า เรากำลังทำอะไรและเพราะเหตุใด หลังจากนั้นอีก 2,300 ปียังไม่มีใครให้คำตอบที่ดีได้ กระทั่งปี 1924 จิตแพทย์ชาวเยอรมัน ฮันส์ แบร์เกอร์ ประดิษฐ์เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกกิจกรรมไฟฟ้าในสมองขึ้น การศึกษาเรื่องการนอนหลับจึงเปลี่ยนจากเรื่องเชิงปรัชญาไปสู่วิทยาศาสตร์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับการนอนหลับ ต่างมุ่งเน้นไปที่ความสำคัญต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายของเรา รูปแบบการหลับและการตื่นของเราเป็นลักษณะสำคัญทางชีววิทยาของมนุษย์ เป็นการปรับตัวของชีวิตบนดาวเคราะห์ที่หมุนวนไม่รู้จบ รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี 2017 เป็นของนักวิทยาศาสตร์สามคน ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ค้นพบว่า นาฬิกาโมเลกุลภายในเซลล์มีเป้าหมายช่วยให้เราใช้ชีวิตสอดคล้องกับดวงอาทิตย์ การวิจัยเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า หากจังหวะรอบวัน (circadian rhythm) เสียหาย เราจะมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อมมากขึ้น
กระนั้น ความไม่สมดุลระหว่างวิถีการดำเนินชีวิตกับวงจรของดวงอาทิตย์กลับแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว “ดูเหมือนว่าตอนนี้เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในการทดลองที่ทำกันทั่วโลกถึงผลกระทบด้านลบของการอดนอน” โรเบิร์ต สติกโกลด์ ผู้อำนวยการศูนย์การนอนหลับและการรับรู้ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าว ทุกวันนี้ ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยนอนหลับน้อยกว่าคืนละเจ็ดชั่วโมง น้อยกว่าเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนราวสองชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่หลายของหลอดไฟฟ้า ตามมาด้วยโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และสมาร์ตโฟน ในสังคมที่มีแสงไฟสว่างจ้าอยู่ตลอดเวลา เรามักคิดว่าการนอนเป็นศัตรู ทอมัส เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ บอกว่า “การนอนเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นนิสัยเลวร้าย” เขาเชื่อว่าเราควรจะยุติการนอนหลับให้ได้ในที่สุด
ทุกวันนี้ การนอนเต็มอิ่มตอนกลางคืนฟังดูเป็นเรื่องหายากและโบราณพอๆ กับจดหมายที่เขียนด้วยลายมือ ดูเหมือนเราจะใช้ทางลัดในการต่อสู้กับการนอนไม่หลับด้วยยานอนหลับ ดื่มกาแฟเพื่อขับไล่ความง่วง ไม่ใส่ใจกับการเดินทางอันสลับซับซ้อนที่ออกแบบมาให้เราเผชิญทุกค่ำคืน ในคืนที่หลับสนิท เราจะโคจรผ่านรอบการหลับระยะต่างๆ สี่ถึงห้ารอบ ซึ่งมีคุณภาพและจุดประสงค์แตกต่างกัน
จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันกว่า 80 ล้านคนมีภาวะอดนอนเรื้อรัง นั่นหมายความว่าพวกเขานอนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นคือคืนละไม่ต่ำกว่าเจ็ดชั่วโมง ความอ่อนล้าเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุยานยนต์ปีละกว่าหนึ่งล้านครั้ง เช่นเดียวกับตัวเลขจำนวนไม่น้อยของความผิดพลาดทางการแพทย์
ประมาณหนึ่งในสามของชั่วชีวิตคนเราจะได้รับการวินิจฉัยว่า มีความผิดปกติของการนอนหลับอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีตั้งแต่โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลุ่มอาการขากระตุก ไปจนถึงภาวะที่แปลกและพบได้ยากมากขึ้น
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ภาวะอัมพาตขณะหลับหรืออาการผีอำ ซึ่งคุณจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สองถึงสามนาทีหลังตื่นจากความฝัน เป็นที่มาของเรื่องราวการถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวมากมาย ภาวะง่วงเกินหรือการหลับเฉียบพลันที่ควบคุมไม่ได้ มักถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ทางด้านบวกอย่างรุนแรง เช่น การฟังเรื่องตลก ถูกจั๊กจี้ หรือชิมอาหารรสอร่อย คนที่เป็นกลุ่มอาการไคลน์-เลวิน (Kleine-Levin syndrome) จะหลับเกือบตลอดเวลานานหนึ่งหรือสองสัปดาห์ทุกสองถึงสามปี แล้วพวกเขาจะกลับสู่วงจรการรู้สึกตัวตามปกติโดยแทบไม่เห็นผลข้างเคียงใดๆ เลย
โรคนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกว่ามาก โรคนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันร้อยละสี่กินยานอนหลับในช่วงเวลาหนึ่งเดือน คนนอนไม่หลับโดยทั่วไปใช้เวลานานกว่าจะหลับ ตื่นกลางดึกเป็นเวลานาน หรือทั้งสองอย่าง ถ้าการหลับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พบได้ทุกหนแห่ง ทำไมหลายคนจึงมีปัญหากับการหลับ ต้องโทษวิวัฒนาการ โทษโลกสมัยใหม่ หรือโทษความไม่พอดีระหว่างทั้งสองอย่าง
วิวัฒนาการมอบการหลับที่ปรับเปลี่ยนเวลาได้และพร้อมที่จะหยุดชะงักลงได้เสมอแก่เรา เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดังนั้นการหลับจึงยอมหลีกทางให้สิ่งที่มีความสำคัญกว่า สมองมีระบบยกเลิกที่จัดการกับการนอนได้ในทุกระยะ ซึ่งปลุกให้เราตื่นเมื่อสมองรับรู้ภาวะฉุกเฉิน เช่น เสียงเด็กร้องไห้ เสียงพูด หรือเสียงฝีเท้าของนักล่าที่เข้ามาใกล้
ปัญหาคือในโลกยุคใหม่ ระบบการปลุกตามสัญชาตญาณเก่าแก่ของเราถูกกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอด้วยสถานการณ์ที่ไม่เป็นอันตราย อย่างความกังวลก่อนสอบ ความกลุ้มใจเรื่องปัญหาการเงิน และหากคุณภูมิใจในตัวเองว่าเป็นคนหลับง่ายไม่ว่าอยู่ ที่ไหน คุณควรจะเลิกดีใจได้แล้ว เพราะนั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คุณมีปัญหาการอดนอนเฉียบพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอายุต่ำกว่า 40 ปี
ส่วนแรกของสมองที่เริ่มรวนเมื่อเรานอนไม่พอ คือเปลือกสมองกลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของการตัดสินใจและการแก้ปัญหา คนที่นอนไม่พอจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย และไม่มีเหตุผลมากขึ้น “หน้าที่ทางการเรียนรู้ทุกด้านดูจะได้รับผลกระทบบางอย่างจากการอดนอนค่ะ” คีอารา ซิเรลลี นักประสาทวิทยาศาสตร์จากสถาบันการนอนหลับและความรู้สึกตัวแห่งวิสคอนซิน บอก
ใครก็ตามที่นอนน้อยกว่าคืนละหกชั่วโมงเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า โรคจิต และโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น การอดนอนยังสัมพันธ์โดยตรงกับโรคอ้วน กล่าวคือเมื่อนอนไม่พอ ร่างกายจะผลิตเกรลินหรือฮอร์โมนหิวออกมามากเกินไป ทำให้เรากินมากกว่าที่ต้องการ การอดนอนส่งผลกระทบทั่วทั้งร่างกาย
พลังของการงีบหลับ (power nap) ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยาก็เช่นกัน “การหลับไม่ใช่เรื่องใหญ่เรื่องเดียวโดดๆ” เจฟฟรีย์ เอลเลนโบเกน นักวิทยาศาสตร์ด้านการหลับจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ผู้ดูแลโครงการการหลับที่มีคุณภาพ กล่าวและเสริมว่า “การหลับคือเรื่องราวนับพันที่แตกต่างกัน คุณอาจนึกอยากจัดการกับปัญหาการหลับด้วยยาหรือเครื่องมือต่างๆ แต่เรายังไม่เข้าใจกลไกการหลับดีพอที่จะเสี่ยงจัดการกับองค์ประกอบต่างๆ ด้วยวิธีผิวเผินเช่นนั้น”
เรื่อง ไมเคิล ฟิงเกิล
ภาพถ่าย มักนุส เวนน์มัน
อ่านเพิ่มเติม