สุดยอดภาพเขียนพาโนรามาของอุทยานแห่งชาติ

สุดยอดภาพเขียนพาโนรามาของอุทยานแห่งชาติ

สุดยอด ภาพเขียนพาโนรามา ของอุทยานแห่งชาติ

ในตู้ควบคุมสภาพอากาศแห่งหนึ่งของเมือง Charles รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย มี ภาพเขียนพาโนรามา ของอุทยานแห่งชาติที่งดงามที่สุดถูกเก็บซ่อนเอาไว้ภายใน หลีกเร้นจากสายตาของสาธารณชน ผลงานภาพเขียนพาโนรามาเหล่านี้สร้างสรรค์โดย Heinrich Berann ศิลปินชาวออสเตรีย ผู้บุกเบิกการวาดภาพทิวทัศน์ของเทือกเขา และในจำนวนผลงาน 10,000 ชิ้นที่ถูกจัดเก็บในแกลลอรี่ของกรมอุทยานแห่งชาติ ผลงานของ Berann เรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุด

“งานของเขามันมีมนต์ขลังบางอย่าง” Tom Patterson นักเขียนแผนที่อาวุโสจากกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าว เมื่อใดก็ตามที่นักท่องเที่ยวขอให้เขาพาชมแกลลอรี่ “ผมมักจะขอให้ภัณฑารักษ์โชว์งานของ Berann เสมอครับ”

ภาพเขียนพาโนรามาเหล่านี้ถูกวาดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 ในโปรแกรมการโปรโมทอุทยานแห่งชาติซึ่งได้ศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Charley Harper มาร่วมด้วย Patterson เป็นคนขอให้เขาช่วยแปลงผลงานของ Berann ออกมาเป็นไฟล์ภาพดิจิตอลความละเอียดสูงเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะแบ่งปันผลงานอันทรงคุณค่านี้ลงบนโลกออนไลน์ ทุกวันนี้มีแผนที่ และภาพเขียนมากมายกว่าพันภาพเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ และแน่นอนว่าผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี

ภาพเขียนพาโนรามา
ภาพเขียนอันงดงามของอุทยานแห่งชาติเดนาลีคือผลงานสุดท้ายของ Berann ภาพเขียนพาโนรามาภาพนี้ใช้สัดส่วนที่สูงกว่าความเป็นจริง 2 : 1 นั่นจึงทำให้ยอดเขาตรงกลางดูโดดเด่นอย่างมาก
ภาพเขียนพาโนรามา
อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนภาพนี้ถูกเขียนขึ้นในปี 1991 Berann ใช้เทคนิคหลายอย่าง ในขณะเดียวกันก็วาดรายละเอียดที่เกินจริงเพื่อความงดงามของภาพ เช่นไอของน้ำพุร้อนที่พวยพุ่ง หรือความกว้างของแกรนด์แคยอนทางทิศใต้ของทะเลสาบ

 

ภาพเขียนพาโนรามา

Berann เริ่มต้นเขียนภาพพาโนรามาของวิวทิวทัศน์ในปี 1987 อุทยานแห่งชาติ North Cascades ในรัฐวอชิงตันคือผลงานภาพแรก และสิ้นสุดผลงานด้วยภาพของอุทยานแห่งชาติเดนาลี (Denali) ในปี 1994 ก่อนที่จะเกษียณอายุ ผลงานของศิลปินชาวออสเตรเลียผู้นี้มาเข้าตากรมอุทยาน หลังผลงานของเขาได้รับการเผยแพร่ลงในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ตลอดช่วงเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1963 Berann เขียนภาพทิวทัศน์ และภาพพาโนรามาให้แก่เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกมาโดยตลอด ตั้งแต่เกาะซาบา ในทะเลแคริบเบียน ไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งบางผลงานของเขาคุณผู้อ่านสามารถชมได้ในบทความนี้

ภาพเขียนอุทยานของ Berann พิเศษตรงที่ความสมจริง ในขณะเดียวกันด้วยฝีมือของเขาก็ช่วยขับเน้นรายละเอียดอื่นๆ ให้เห็นเด่นชัดขึ้น เรียกได้ว่าผลงานหลายชิ้นให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการมองทัศนียภาพจากหน้าต่างเครื่องบิน หรือบางทีอาจจะงดงามกว่าอุทยานจริงๆ เสียด้วยซ้ำ Patterson กล่าว

ภาพเขียนพาโนรามา
รายละเอียดของหุบเขาอันสูงชันของอุทยานแห่งชาติ North Cascades ถูกบอกเล่าผ่านภาพเขียน ทว่าในความเป็นจริงภูเขาจะอยู่ชิดกันมากกว่านี้
ภาพเขียนพาโนรามา
อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี ผลงานภาพเขียนของ Berann ในปี 1989 คืออีกหนึ่งตัวอย่างในการสร้างมุมมองความลึกที่โดดเด่นราวกับกำลังมองภาพนี้จากหน้าต่างของเครื่องบิน

Berann ใส่ใจทุกยอดของขุนเขา ทว่ายังคงต้องพึ่งพาจินตนาการของตัวศิลปินเองเพื่อสร้างภาพอันสวยงาม ยกตัวอย่างเช่น อุทยานโยเซมิตี (Yosemite) นั้นในความเป็นจริงกว้างกว่าในภาพเขียน ซึ่งการก่อตัวของหิน น้ำตก และสิ่งก่อสร้างโดยมนุษย์ไม่อาจอยู่รวมกันในภาพเดียวได้ หรือบางครั้งศิลปินก็วาดหุบเขาในรายละเอียดที่งดงามเกินจริง สูงกว่าความเป็นจริง หรือมีน้ำตกที่ยาวกว่าความจริงบ้าง

การใช้สีในภาพของ Berann คืออีกหนึ่งความโดดเด่นที่ไม่อาจมองข้าม “มันมหัศจรรย์มาก เมื่อคุณลองมองภาพใกล้ๆ จะเห็นเลยว่าภาพเขียนนี้มันช่างเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสัน, แจ่มใส และงดงามอย่างประหลาด” Patterson กล่าว “และบางครั้งสีสันเหล่านั้นก็ถูกผสมกลมกลืนกันจนออกมาเป็นสีตามธรรมชาติ”

อีกหนึ่งลายเซ็นของเขาก็คือก้อนเมฆในผลงาน ซึ่ง Patterson ระบุว่าเงาสะท้อนของเมฆในภาพอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน และ Yosemite นั้นช่างสมจริงอย่งเหลือเชื่อ ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกได้ว่าภูเขาเหล่านั้นสูงชันมากแค่ไหน

ภาพเขียนพาโนรามา
แผนที่ของหมู่เกาะลีเวิร์ด และเส้นทางล่องเรือ ผลงานของ Berann ที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1966

“ดูผิวน้ำที่สะท้อนแสงอาทิตย์สิครับ” Patterson ชี้ไปยังทะเลสาบ Ross ของอุทยานแห่งชาติ North Cascades “Berann รู้ดีว่าน้ำนั้นพิเศษแค่ไหน และเขาใส่ใจกับรายละเอียดของแหล่งน้ำมากจริงๆ” ซึ่งนอกเหนือจากเงาสะท้อนบนผิวน้ำแล้ว เงาที่เกิดขึ้นกับขุนเขาเองก็ยิ่งขับเน้นให้ภาพเขียนของเขาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคเหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลต่อบรรดานักเขียนแผนที่ในปัจจุบัน

และบัดนี้ผลงานของ Berann พร้อมแล้วที่จะกลับมาผงาดอีกครั้ง แต่คราวนี้มันต่างออกไปตรงที่ครั้งนี้มันเผยแพร่ในโลกออนไลน์

เรื่อง Betsy Mason

ภาพเขียนพาโนรามา
แผนที่ของพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1969 โดยร่วมงานกับ Marie Tharp และ Bruce Heezen นักธรณีวิทยาผู้ใช้เสียงสะท้อนในการหาระดับความลึกของพื้นมหาสมุทร และด้วยความเชี่ยวชาญของ Berann เขาได้เปลี่ยนข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นพื้นขรุขระสมจริงของมหาสมุทร
ภาพเขียนพาโนรามา
Delta Project โครงการหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปกป้องชายฝั่งของเนเธอร์แลนด์จากการกัดเซาะของทะเลเหนือ ตีพิมพ์ในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน ปี 1968 โดยเขื่อนสามแห่งความยาวรวม 435 ไมล์ที่สร้างขึ้นได้ก่อให้เกิดทะเลสาบแห่งใหม่
ภาพเขียนพาโนรามา
เทือกเขาหิมาลัยความยาว 525 ไมล์ในเนปาล เผยแพร่ลงในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1971 แสดงให้เห็นถึงพรมแดนระหว่างที่ราบสูง และพื้นที่เขียวชอุ่มด้านล่าง กว่าจะได้ภาพเขียนนี้มา ต้องใช้ข้อมูลจากแผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศที่ระดับความสูง 14,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล โดยยานอะพอลโล 7 ที่โคจรรอบโลก
ภาพเขียนพาโนรามา
ภาพเขียนของภูเขาบล็องในยุโรป จากนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกันยายน ปี 1965 ส่วนหนึ่งของสารคดีเกี่ยวกับอุโมงค์ไฮเวย์ความยาว 7.2 ไมล์ ที่ยาวที่สุดในโลกเวลานั้น ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงปารีส และกรุงโรม
ภาพเขียนพาโนรามา
ภาพเขียนของเทือกเขาหิมาลัย เผยแพร่ลงในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1966 ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากภาพถ่ายของนักปีนเขา และการบินวนรอบเทือกเขาของ Berann เองในเที่ยวบินเหมาลำ เพื่อเก็บรายละเอียด และใช้เวลากว่า 600 ชั่วโมงในการเขียนภาพ ซึ่งตัวเขาเองถือว่าเป็นผลงานสุดยอดตลอดการทำงาน 25 ปี ของการเขียนภาพพาโนรามาที่ผ่านมา

 

อ่านเพิ่มเติม

อุทยานแห่งชาติเมื่อครั้งวันวาน

Recommend