ท่องเที่ยวไปในย่านอันเป็นเอกลักษณ์ของนครเยรูซาเลม

ท่องเที่ยวไปในย่านอันเป็นเอกลักษณ์ของนครเยรูซาเลม

ท่องเที่ยวไปในย่านอันเป็นเอกลักษณ์ของ นครเยรูซาเลม

ในฐานะของเมืองที่โด่งดังและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอิสราเอล นครเยรูซาเลม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสถานที่นี้เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา แม้ว่ามีไม่กี่จุดของเมืองที่ใช้เป็นสถานที่แสดงถึงสีสันและวัฒนธรรม มาร่วมเดินเท้าไปตามทางรถไฟด้านในด้านหนึ่ง เพื่อค้นหาและเติมเต็มเรื่องราวของเมือง

รถไฟเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่ช่วยพาบรรดานักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยจากย่านอื่นๆ และเขตชานเมืองให้เดินทางไปมาหาสู่กันได้ โดยหลีกเลี่ยงการจราจรอันคับคั่งบนถนนสายหลักของเมืองที่มีชื่อว่าถนนหมายเลย 1 เขตชานเมืองที่ว่านี้ยกตัวอย่างเช่นศูนย์ Yad Veshem ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสุสาน Mount Herzl สุดสายของทางรถไฟที่ประตูเมืองเก่า ทางไปสู่ค่าย Shu’afat ค่ายผู้อพยพของชาวปาเลสไตน์ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของนครเยรูซาเลม

ภาพของผู้คนที่เดินทางเข้ามาในเมืองเต็มไปด้วยความหลากหลาย ผู้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว, ชาวอาหรับและยิว, คนเคร่งศาสนาและคนทั่วไป เดินเท้าเข้าสู่ขบวนรถไฟในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผู้โดยสารข้างในพยายามที่จะออกมา Balagan คำแสลงในภาษาฮีบรูมีความหมายถึงสถานการณ์อันวุ่นวาย ซึ่งเป็นคำที่สำคัญมากที่คุณต้องรู้เมื่ออยู่ในประเทศนี้ และในบางครั้งคำๆ นี้ก็มีความหมายว่าการพูดน้อยเกินไป

นครเยรูซาเลม
รถไฟสิ้นสุดที่ด้านนอกของประตูดามัสกัส นักท่องเที่ยวต้องเดินเท้าไปยังตะวันออกเพื่อเข้าไปยังย่านอาหรับเอง หรือเดินเท้าไปทางตะวันตกเพื่อเยี่ยมชมย่านของยิวออร์โธดอกซ์

หักเลี้ยวเส้นทางของคุณไปสู่ประตู เมื่อขบวนรถไฟเข้าใกล้สถานีประตูดามัสกัส ปี 2017 คือปีครบรอบ 50 ปี นับตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลและจอร์แดนเกิดขึ้นในปี 1967 ผลของสงครามส่งให้อิสราเอลได้ดินแดนเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกที่ซึ่งชายแดนดังกล่าวอยู่ในบริเวณนี้นี่เอง

มุ่งหน้าไปต่อทางทิศตะวันตก สู่ย่านอันเก่าแก่และเคร่งศาสนามากที่สุด ย่าน Mea She’arim (ในพระคัมภีร์มีความหมายว่า “ร้อยส่วน”) ก่อตั้งขึ้นในปี 1874 ย่าน Mea She’arim ถือเป็นชุมชนแรกที่ก่อตั้งขึ้นนอกกำแพง เมืองเก่า ภายในย่านนี้ บรรดาชาวยิวนิกายออร์โธดอกซ์ ที่เคร่งศาสนาจะแต่งกายด้วยเสื้อโค้ตสีดำ ผู้หญิงแต่งกายด้วยชุดยาวสีเข้มและคลุมศีรษะแบบสมัยใหม่ เดินต่อไปผ่านตรอกซอกซอยที่จะพาคุณย้อนเวลาไปชมบ้านเรือนของชาวยิวจากโปแลนด์ ภาษาหลักของย่านนี้คือภาษายิดดิช เสื้อผ้าของผู้คนในย่านนี้ดูเหมาะกับภูมิอากาศหนาวเย็น มากกว่าอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน อย่างไรก็ตามอินเตอร์เน็ต, โทรทัศน์ หรือสมาร์ทโฟนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนที่อาศัยอยู่ยังที่นี่ ป้ายสัญลักษณ์ถูกปรากฏในภาษาฮีบรูและอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ นักท่องเที่ยวที่มายังที่นี่ควรให้ความเคารพชุมชนและแต่งกายสุภาพ หากใครที่ไม่ทำตามคุณอาจโดนใครสักคนตะโกนใส่ได้

นครเยรูซาเลม
ชาวมุสลิมจำนวนมากเดินผ่านประตูดามัสกัส หลังสิ้นสุดการละหมาดประจำวันศุกร์ ในช่วงเดือนรอมฎอน

ชำเลืองเมียงมองเข้าไปในหนึ่งในจำนวนที่ไม่มีสิ้นสุดของโรงเรียนศาสนาที่นี่ แวบเข้าร้านอาหารเยอรมันลองชิม Sweet Kugel สักชิ้น (อาหารดั้งเดิมของชาวยิวอัชเคนาซิที่ทำจากมันฝรั่งหรือเส้น) หรือลองชิม Cholent สักชาม (สตูแบบชาวยิว) จากนั้นอย่าลืมแวะชิมเบเกอร์รี่สักร้าน จากจำนวนหลายร้านในย่านดังกล่าว ห้ามพลาดคุกกี้แบบชาวยิวที่มีชื่อว่า Rugelach จากนั้นถามทางไปยังตลาดเล็กๆ ที่อยู่กลางย่าน เพราะระหว่างทางเดินแคบๆ นั้น เต็มไปด้วยร้านค้า, หนังสือสวดมนต์ และเครืองประดับอีกมากมายให้เลือกซื้อ

นครเยรูซาเลม
ตำรวจอิสราเอลควบคุมความสงบเรียบร้อยระหว่างที่ชาวมุสลิมเดินทางไปละหมาดยังมัสยิด

ข้ามทางรถไฟที่ทอดยาวตามถนนหมายเลขหนึ่ง มุ่งหน้าไปทางตะวันออกแล้วคุณจะพบกับบรรยากาศที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงประตูดามัสกัส หนึ่งในจุดเชื่อมต่อเข้าสู่เมืองเก่า เดินข้ามสะพานที่อยู่เหนือตลาดอันจอแจและเต็มไปด้วยสีสัน ปกติแล้วนักท่องเที่ยวจะผ่านประตูไปอย่างรวดเร็วเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เขตเมืองเก่า แต่ลองหยุดที่นอกประตูและมองออกไปจะช่วยให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าชาวอาหรับและชาวยิวนั้นอาศัยอยู่กันอย่างไร อย่าลืมแวะไปชิมฮัมมัสที่รสชาติดีที่สุดในโลกที่ร้านอาหาร Ikermawi (ร้านนี้จะปิดเมื่อฮัมมัสถูกขายหมดในช่วงบ่าย) เดินตามกลิ่นและควันไปคุณจะพบกับชายฉกรรจ์ยืนขายเคบับอยู่รอบๆ พวกเขาขายขนมปังพิตาในราคา 10 เชเขล (หรือน้อยกว่า 3 ดอลล่าร์สหรัฐ) สำหรับของหวานมาเพิ่มแคลอรี่ของคุณด้วยบาคลาวาพิตาชิโอ ของหวานสไตล์อาหรับที่ราดด้วยน้ำเชื่อมเหนียว

นครเยรูซาเลม
คนอบขนมปังอวดขนมปังชาลลา (Challah) ขนมปังพิเศษสำหรับวันสะบาโต

ในวันศุกร์ย่านนี้จะเนืองแน่นไปด้วยชาวมุสลิมที่มุ่งหน้าไปยังมัสยิด Al Aqsa เพื่อละหมาด คุณจะเห็นตำรวจจำนวนมากออกมาคุม วันเสาร์เป็นวันที่มีตลาดนัด แม้กระทั่งชาวยิวเองก็มาจับจ่ายซื้อของยังที่นี่ เนื่องจากในเมืองร้านค้าส่วนใหญ่จะปิดกันหมดเพราะวันเสาร์ถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิว ในฐานะวันสะบาโต

เป็นเวลา 50 ปีแล้ว นับตั้งแต่นักการเมืองอิสราเอลกำหนดวัน “Reunification” ให้แก่นครเยรูซาเลม การเดินทางมาเยี่ยมชมยังสถานที่จริงเป็นอะไรที่ซับซ้อนและน่าสนใจ แม้ว่าพรมแดนจริงๆ ของตะวันออกและตะวันตกจะหายไปนานแล้ว แต่การแบ่งแยกยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน มีประสบการณ์แปลกใหม่ที่คุณหาไม่ได้จากในเมืองที่ย่าน Mea She’arim และแถวประตูดามัสกัส แต่น่าเศร้าที่ผู้คนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ที่นั่นไม่นิยมข้ามทางรถไฟเพื่อไปมาหาสู่กันเท่าไหร่นัก

นครเยรูซาเลม
ผู้คนนับพันรอเข้าประตูดามัสกัสเพื่อไปละหมาดยังมัสยิด Al-Aqsa สถานที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่สำคัญลำดับที่ 3 ในศาสนาอิสลาม
นครเยรูซาเลม
ตำรวจอิสราเอลเล่นกับเด็กน้อยชาวปาเลสไตน์ ที่ประตูดามัสกัส
นครเยรูซาเลม
โปสเตอร์สร้างความแตกแยกถูกติดอยู่บนกำแพงในย่าน Mea She’arim ของนครเยรูซาเลม
นครเยรูซาเลม
ในโบสถ์ของชาวยิวนิกายออร์โธดอกซ์ บรรดาชายชาวยิวแต่งกายพร้อมสำหรับการสวดมนต์
นครเยรูซาเลม
ห้องสมุดและที่สวดมนต์กลางแจ้ง ในย่าน Mea She’arim
นครเยรูซาเลม
ชาวปาเลสไตน์บรรจุถั่วพิต้าสำหรับการทำฟาราเฟลและสลัด ใกล้ประตูดามัสกัส
นครเยรูซาเลม
สี่แยกอันพลุกพล่านของเขต Mea She’arim
นครเยรูซาเลม
ผู้อยู่อาศัยในย่าน Mea She’arim มีกฏระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวด บางครั้งพวกเขาจะตะโกนใส่นักท่องเที่ยวที่แต่งกายไม่สุภาพ
นครเยรูซาเลม
ภาพถ่ายของแรบไบในศาสนายิววางขายอยู่ตามท้องถนนในย่าน Mea She’arim
นครเยรูซาเลม
หญิงชาวคริสต์สัมผัสกำแพงของถนน Via Dolorosa ถนนที่พระเยซูแบกกางเขนไปยังแดนประหาร ในเขตเมืองเก่า ของนครเยรูซาเลม

โดย ยูริ เบราว์

ภาพถ่ายโดย ยอเรย์ ลิเบอมัน

อ่านเพิ่มเติม : สวนสวรรค์เหนือแมนแฮตตันไปเที่ยวเกาหลีเหนือกัน! พักในโรงแรมสุดหรูพร้อมเล่นสกีหิมะ

Recommend