A B C… ภาพถ่ายดาวเทียม เหล่านี้มีครบทุกตัวอักษร
มันเริ่มต้นด้วยกลุ่มควันที่ลอยตัวคล้ายตัวอักษร V เมื่อมองดูจาก ภาพถ่ายดาวเทียม ของนาซ่า จากนั้นตัวอักษรอื่นๆ ก็ตามมาและถูกเขียนขึ้นจากธรรมชาติอันหลากหลายเช่นธารน้ำแข็ง, พายุ, ทะเลสาบ และหลุมอุกกาบาต
เป็นเวลาหลายปีที่ อดัม วอยแลนด์ นักวิทยาศาสตร์จากนาซ่าพยายามมองหาและรวบรวมตัวอักษรที่เกิดขึ้นจากธรรมชาตินี้ ตัวเขารวบรวมภาพถ่ายจากดาวเทียมนับพันภาพเป็นแกลอรี่ และเมื่อเร็วๆ นี้ เขาเพิ่งจะกลับมารวบรวมตัวอักษรใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาเลือกที่จะเก็บเฉพาะตัวพิมพ์ใหญ่ เพื่อรวมเป็นหนังสือสำหรับเด็กในชื่อ ABC’s from Space
กระบวนการค้นหาตัวอักษรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเลื่อนภาพถ่ายดาวเทียมหรือแผนที่ของกูเกิลไปมา บางครั้งเขาใช้เวลาจนดึกดื่นและตลอดการทำงานที่ผ่านมา วอนแลนด์ค้นพบว่าตัวอักษรเหล่านี้มักซ่อนตัวอยู่เฉพาะจุด ยกตัวอย่างเช่น ฟยอร์ด, ธารน้ำแข็ง และทะเลน้ำแข็งมักเป็นสถานที่ที่ดีสำหรับการมองหาตัวอักษร A, X, E และ W
ตัวอักษรที่หายากที่สุดคือตัวไหน? “แน่นอนว่าต้องเป็น R ครับ” วอยแลนด์กล่าว “ปรากฏการณ์ธรรมชาติจะไม่วางเส้นโค้งและเส้นทแยงมุมออกมาจากจุดนั้นให้เรา”
ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่การตามล่าตัวอักษรก็คุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อดาวเทียมสามารถจับภาพของกลุ่มเมฆและควันที่กำลังลอยตัวอยู่ในรูปร่างที่พอดิบพอดี “สำหรับตัว H กระแสลมได้พัดกระจายไอเสียของเรือเดินสมุทรออกจนเกิดเป็นรูปร่างและผิวสัมผัสที่น่าทึ่งมาก” เขากล่าว
บางตัวอักษรก็เกิดจากความไม่ธรรมดา เช่นตัวอักษร O ที่เกิดขึ้นจาก ดวงตาซาฮาร่า ในประเทศมอริเตเนีย ซึ่งสร้างความสับสนให้แก่นักธรณีวิทยาอย่างมาก บางคนเชื่อว่าวงกลมอันสมบูรณ์แบบนี้เกิดขึ้นจากอุกกาบาตที่พุ่งชนโลก บ้างเชื่อว่าวงกลมนี้คือส่วนที่เหลือของภูเขาไฟในอดีต และในปัจจุบันมีทฤษฎีเชื่อกันว่าเกิดจากการกัดเซาะทางธรณีวิทยา
สำหรับตัว G ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ Nat Geo เกิดขึ้นจากตาของพายุหมุนเขตร้อน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปี 2014 หลายตัวอักษรที่ถูกรวบรวมเอาไว้เป็นภาพถ่ายผสมสีเท็จ เช่นภาพนี้ เนื่องจากภาพเหล่านี้เป็นความยาวคลื่นแสงที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ใช้คลื่นแสงเหล่านี้ในการศึกษาข้อมูลหลายอย่าง เช่นการเปลี่ยนแปลงของพืชที่จะกลายเป็นสีแดง เมื่อถูกฉายด้วยแสงอินฟาเรด
นอกจากนั้นแสงอินฟาเรดยังช่วยให้สามารถแยะแยะวัตถุออกจากกันได้ เช่น หิมะ (จะกลายเป็นสีส้ม), น้ำแข็ง (สีแดง)และเมฆ (สีพีช) เนื่องจากหากมองจากภาพถ่ายดาวเทียมจริงๆ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสีขาวทั้งหมดซึ่งทำให้ยากต่อการเก็บข้อมูล สำหรับภาพอินฟาเรดของพายุดักลาส มวลเมฆที่มีผลึกน้ำแข็งภายในกลายเป็นสีส้ม ในขณะที่เมฆที่ภายในเต็มไปด้วยน้ำนั้นจะเป็นสีขาว ซึ่งภาพถ่ายผสมสีเท็จเหล่านี้นอกจากประโยชน์ด้านข้อมูลแล้ว ข้อดีอีกข้อก็คือพวกมันมีความงดงามแปลกตา
หากผู้อ่านต้องการทราบข้อมูลของสิ่งที่อยู่ในภาพ เนื้อหาด้านหลังของหนังสือจะช่วยอธิบาย นอกจากนั้นยังมีแผนที่ระบุจุดที่ตัวอักษรต่างๆ ถูกค้นพบบนโลก ซึ่งวอยแลนด์คาดหวังว่าหนังสือ ABCs from space ของเขาจะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับโลกใบนี้ให้แก่เด็กๆ มากยิ่งขึ้น “ผมว่ามันเจ๋งมากถ้านี่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครลุกขึ้นมาตามล่าหา ABC พร้อมกับเด็กๆ ของเขา” เขากล่าว
แม้ว่าตัวเขาจะติดตามตัวอักษรเหล่านี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่วอยแลนด์พร้อมที่จะทำต่อ สำหรับภาพปกของบทความนี้อ่านได้ว่า “NAT GEO” ซึ่งวอยแลนด์เลือกมาให้เราเป็นพิเศษ “คิดดูว่ามันเจ๋งแค่ไหนที่ตัวอักษรเหล่านี้ถูกสะกดขึ้นจากความร้อนของลาวา”