แผ่นดินไหวใหญ่โมร็อกโก บ้านเรือนเสียหายยับ – เสียชีวิตมากกว่า 2,000 – อะไรอยู่เบื้องหลังภัยพิบัติครั้งนี้?

แผ่นดินไหวใหญ่โมร็อกโก บ้านเรือนเสียหายยับ – เสียชีวิตมากกว่า 2,000 – อะไรอยู่เบื้องหลังภัยพิบัติครั้งนี้?

แผ่นดินไหวใหญ่โมร็อกโก ที่เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา (เวลาท้องถิ่น) รายงานล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2,000 ราย และบาดเจ็บอีกหลายพันคน กลายเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงสุดในรอบศตวรรษของพื้นที่นี้

แผ่นดินไหวมีความรุนแรงระดับ 6.8 โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในเทือกเขาไฮแอตลาสห่างจากเมืองมาร์ราเกชไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 72 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรับรู้ไปไกลถึงคาซาบลังกา

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันรุนแรงขนาดนี้?

อันที่จริงแล้วแผ่นดินไหวนั้นเกิดขึ้นทุกวัน วันละหลายพันครั้ง เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่อยู่ในรูปแบบแรงสั่นสะเทือนที่เล็กมากจนมนุษย์ไม่รู้สึก

แต่หลายครั้งก็มักจะสร้างความเสียหายได้ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและความลึกของมัน

แผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ไหน? ประมาณร้อยละ 80 ของแผ่นดินไหวทั่วโลกเกิดขึ้นที่บริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิกที่รู้จักกันในชื่อ ‘วงแหวนแห่งไฟ’ (Ring of Fire) เนื่องจากมีรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่น และมีภูเขาไฟจำนวนมากที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้

ทว่า แผ่นดินไหวโมร็อกโกนั้นเกิดจากรอยเลื่อน 2 แผ่นที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับวงแหวนแห่งไฟ นั่นคือแผ่นเปลือกโลกแอฟริกา (Africa Plate) และแผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Urasian Plate) ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ

รายงานจากหน่วยสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริการะบุว่า แผ่นดินในแถบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ กระนั้น ไม่มีครั้งไหนเลยที่มีขนาดสูงกว่าระดับ 6 นับตั้งแต่ปี 1900

เมื่อแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว มันจะสะสมความเครียดระหว่างรอยแผ่นต่าง ๆ จนท้ายที่สุดมันจะปล่อยออกมาในครั้งเดียว

เป็นไปได้ว่าแผ่นดินไหวที่โมร็อกโกเกิดจากการสะสมความเครียดมาอย่างยาวนาน จนสร้างคลื่นแผ่นดินไหวสะเทือนไกลได้หลายร้อยกิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง

แผ่นดินเลื่อนแบบไหนได้บ้าง? มีรูปแบบมากมายที่เกิดขึ้นได้ แต่นักวิทยาศาสตร์มักแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ

คือ 1. รอยเลื่อนตามแนวมุมเท (Dip-Slip Fault) ซึ่งแบ่งได้อีกเป็น รอยเลื่อนปกติ (Normal Fault) และรอยเลื่อนย้อน (Reverse Fault) ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ของชั้นหิน แต่ทั้งสองจะเลื่อนไปเป็นแนวทะแยงมุม

2.รอยเลื่อนตามแนวระดับ (Strike-Slip Fault) เป็นรอยเลื่อนที่ชั้นหินทั้งสองเคลื่อนผ่านกันในแนวระนาบ

และ 3. รอยเลื่อนตามแนวเฉียง (Oblique-Slip Fault) เป็นรอยเลื่อนที่ชั้นหินเคลื่อน 2 แนวคือทั้งมุมเทและแนวระนาบพร้อม ๆ กัน

ยังไม่มีรายงานว่าแผ่นดินไหวโมร็อกโกเป็นรูปแบบไหน แต่ทั้งหมดต่างก็สามารถสร้างความเสียหายได้

การจัดอันดับขนาดของแผ่นดินไหวและความเสียหาย แม้ตัวเลขในครั้งนี้คือ 6.8 จะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนและรับรู้ถึงความรุนแรงของมันได้คร่าว ๆ แต่มันก็ไม่ได้บอกถึงความเสียหายที่แท้จริง

โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาคือขนาด 9.5 เมื่อปี 1960 ซึ่งเกิดขึ้นวัลดิเวียทางตอนใต้ของชิลี ครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 1,655 ราย

แต่ในครั้งนี้ ที่มีขนาด 6.8 แต่กลับทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 2,000 ราย สิ่งที่ทำให้มีคนเสียชีวิตมีจำนวนต่างกันคือปัจจัยด้านจำนวนประชากรและอาคารบ้านเรือน

ในโมร็อกโกนี้ แผ่นดินไหวโจมตีศูนย์กลางของประเทศซึ่งมีคนอาศัยอยู่กว่า 840,000 คน ไม่เพียงเท่านั้น อาคารต่าง ๆ ก็ไม่แข็งแรงเพียงพอ ชาวเมืองหลายคนระบุว่า พื้นที่บางแห่งถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จึงเกิดจากอาคารที่พังทลาย โคลนถล่ม ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือสึนามิ ซึ่งเป็นผลโดยอ้อมจากแผ่นดินไหว

ความเสียหายเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการวางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน การให้ความรู้ และการก่อสร้างอาคารที่ยืดหยุ่นแทนที่จะพังทลายลงภายใต้ความเครียดจากแผ่นดินไหว

ภาพ: แฟ้มภาพเหตุแผ่นดินไหวที่อิตาลี ปี 2016 via national geographic website

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/environment/article/earthquakes

https://edition.cnn.com/2023/09/09/africa/morocco-earthquake-what-we-know-intl/index.html

อ่านเพิ่มเติม แผ่นดินไหว ความรู้เบื้องต้นที่คนไทยควรตระหนักและเตรียมตัว

Recommend