อ า จ า ร ย์ ใ ห ญ่ ผู้ เ ป็ น อ ม ต ะ
เรื่อง เคที นิวแมน
ภาพถ่าย ลินน์ จอห์นสัน
ซูซาน พอตเตอร์ บริจาคร่างของเธอให้กับวิทยาศาสตร์
ศพของเธอถูกแช่แข็ง ตัดเป็นแผ่น 27,000 ครั้ง และบันทึกภาพไว้
ผลลัพธ์ที่ได้คือร่าง อาจารย์ใหญ่ เสมือนจริงที่สามารถพูดคุย
กับนักศึกษาแพทย์ได้แม้เสียชีวิตไปแล้ว
ซูซาน พอตเตอร์ รู้รายละเอียดน่าขนลุกทุกขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นกับร่างของเธอหลังไร้ลมหายใจ ตลอด 15 ปีสุดท้ายของชีวิต พอตเตอร์พกบัตรประจำตัวที่มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ายินยอมมอบร่างกายข้าพเจ้าให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับผู้บริจาครายอื่นๆ ใน “โครงการวิซิเบิลฮิวแมน” (Visible Human Project)… โดยศพจะต้องได้รับมอบภายในกรอบเวลา 4 ชั่วโมง”
พอตเตอร์รู้เรื่องเหล่านี้ เพราะเธอเคยไปเยี่ยมชมห้องซึ่งศพของเธอจะถูกนำไปส่ง ได้เห็นเครื่องจักรที่จะใช้เฉือนเนื้อเยื่อของเธอเป็นแผ่นๆ บางเท่ากระดาษ เพื่อบันทึกภาพไว้ รวมทั้งได้ฟังวิก สปิตเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการจำลองร่างกายมนุษย์ (Center for Human Simulation) ที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์แอนส์ชูตส์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด บรรยายถึงกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนเธอเสียชีวิต
เมื่อพอตเตอร์เสียชีวิตจากภาวะปอดบวมตอน 05:15 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 2015 ขณะอายุ 87 ปี ร่างของเธอวัดความยาวได้ 1.55 เมตรจากศีรษะถึงส้นเท้า ถูกนำเข้าตู้แช่แข็ง และรักษาไว้ในสภาพแช่แข็งทั้งตัวที่อุณหภูมิลบ 26 องศาเซลเซียส
ราวสองปีต่อมา สปิตเซอร์กับผู้ช่วยคนหนึ่งใช้เลื่อยชนิดมีหูจับสองข้างตัดศพแช่แข็งของพอตเตอร์ออกเป็นสี่ส่วน อันเป็นขั้นตอนเบื้องต้นของกระบวนการต่อเนื่องที่จะกินเวลาหลายปี โดยท้ายที่สุด สปิตเซอร์จะชุบชีวิตและจัดเรียงโครงสร้างร่างกายของพอตเตอร์เข้าด้วยกันใหม่ เพื่อให้เป็นเสมือนร่างอวตารหรืออาจารย์ใหญ่ในรูปดิจิทัล ที่สามารถพูดคุยกับนักศึกษาแพทย์ได้ และช่วยให้พวกเข้าใจว่า ลักษณะทางสรีรวิทยาของเธอเป็นอย่างไรเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
ทุกวันนี้ นักศึกษาใช้เวลาในห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์น้อยลง เพราะมีวิทยาการใหม่ๆ มากขึ้น เช่น พันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลที่ดึงเวลาไปจากพวกเขา อาจารย์ใหญ่ร่างหนึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ โรงเรียนแพทย์ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อศพก็จริง แต่ต้องจ่ายให้กับการขนส่ง การดอง และการเก็บรักษา
วันหนึ่ง ในห้องบรรยายที่วิทยาลัยแพทยศาสตร์ ฉันดูสปิตเซอร์สาธิตโปรแกรมการผ่าชำแหละอาจารย์ใหญ่ที่เขาออกแบบ เพียงกวาดเมาส์ปราดเดียว เขาก็ลบระบบกล้ามเนื้อหายวับไป เผยให้เห็นเฉพาะโครงกระดูก จากนั้นก็ให้ดูภาคตัดขวางของส่วนต้นขาซึ่งดูเหมือนเนื้อสะโพกสดดิบชิ้นหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น เขาแยกเฉพาะโครงสร้างระบบหมุนเวียนโลหิตออกมา เลื่อนเมาส์ไปวางไว้เหนือหัวใจ หมุนให้มองเห็นได้จากหลายมุมแล้วประกอบร่างอาจารย์ใหญ่ผู้นั้นกลับขึ้นมาใหม่ในสภาพครบถ้วนทั้งร่างเหมือนเดิม
ซูซาน คริสตินา วิตส์เชล คือชื่อของเธอเมื่อลืมตาดูโลกในวันที่ 25 ธันวาคม ปี 1927 ในเมืองไลพ์ซิก ประเทศเยอรมนี เธออพยพไปอยู่นิวยอร์กหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนได้เจอกับสปิตเซอร์ พอตเตอร์ซึ่งขณะนั้นอายุ 73 ปี ปรากฏตัวเป็นที่พบเห็นบ่อยๆ บริเวณโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคโลราโดตลอดหลายปี ในฐานะนักกิจกรรมเรียกร้องสิทธิผู้พิการ เธอแจ้งความประสงค์อยากเป็นอาจารย์ใหญ่ในโครงการวิซิเบิลฮิวแมน
สปิตเซอร์ต้องการถ่ายวิดีโอเธอไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยบันทึกภาพขณะที่เธอพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต สุขภาพ และประวัติทางการแพทย์ คุณสมบัติทางพยาธิวิทยาของคุณไม่น่าสนใจพอสำหรับโครงการ สปิตเซอร์บอกกับพอตเตอร์ แต่ถ้าผมถ่ายคุณตอนพูดคุยกับนักศึกษาแพทย์เอาไว้ ตอนที่พวกเขาดูแผ่นเนื้อเยื่อจากร่างกายคุณอยู่ คุณก็จะสามารถเล่าเรื่องกระดูกสันหลังของคุณให้พวกเขาฟังไปด้วย ทำไมคุณถึงไม่อยากผ่าตัด ความเจ็บปวดแบบไหนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด ชีวิตแบบไหนที่คุณมีหลังการผ่าตัด มันจะน่าทึ่งมากเลยครับ
“นักศึกษาจะได้เห็นร่างกายของเธอไปพร้อมๆ กับได้ฟังเรื่องราวของเธอครับ” เขาอธิบายและเสริมว่า ภาพวิดีโอกับเสียงของเธอจะช่วยให้เธอดูเหมือนจริงยิ่งขึ้น และเติมองค์ประกอบทางอารมณ์ให้กับนักศึกษา แทนที่จะเป็นอาจารย์ใหญ่นิรนาม “วิซิเบิลฮิวแมน” ผู้นี้จะสามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าทางการแพทย์ที่แผ่ซ่านด้วยความทรงจำถึงความคับข้องใจ ความเจ็บปวด และความผิดหวัง เช่นเดียวกับวิซิเบิลฮิวแมนทั้งสองร่างก่อนหน้านี้ ภาพทั้งหมดของพอตเตอร์จะอยู่ในอินเตอร์เน็ต สามารถเข้าดูได้จากทุกหนแห่ง และทุกเวลา
ข้อสัญญาที่พอตเตอร์ตกลงไว้กับบุรุษที่จะสไลซ์เธอเป็นแผ่นๆ จำนวน 27,000 แผ่น เติมความหมายให้กับช่วงบั้นปลายชีวิตเธออย่างไร้ข้อกังขา ตอนแรกฉันเชื่อว่า เธอคงเสียชีวิตภายในหนึ่งปี เพราะมีปัญหาทางสุขภาพหลายอย่างรุมเร้าอยู่ แต่เธอยังอยู่รอดมาได้อีกหนึ่งทศวรรษ
การร่วมมือกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์และผู้บริจาคคู่นี้ดำเนินถึงบทสุดท้ายในวันศุกร์ที่ 7 เมษายน ปี 2017 สองปีหลังเธอเสียชีวิต สปิตเซอร์กับนักศึกษาจำนวนหนึ่งจึงมายืนรวมกันอยู่ในห้องเอ็นจี 004 ห้องซึ่งเมื่อ 17 ปีก่อน พอตเตอร์เคยมาเยี่ยมชมพร้อมความคาดหมายถึงชั่วขณะนี้
สปิตเซอร์วางท่อนลำตัวซึ่งถูกห่อหุ้มอยู่ในก้อนโพลีไวนิลแอลกอฮอล์สีฟ้าไว้บนโต๊ะสแตนเลสในห้องแช่เย็น ใบมีดเหล็กคาร์ไบด์ขนาดเท่าจานข้าว เริ่มตัดลงในเนื้อเยื่อทีละชั้น บางเท่าเส้นผม 63 ไมครอนไปเรื่อยๆ ทุกครั้งหลังใบมีดเฉือนลงไป กล้องดิจิทัลตัวหนึ่งจะบันทึกภาพพื้นผิวของร่างท่อนดังกล่าว สุดท้ายร่างของซูซาน พอตเตอร์ ก็เหลือเพียงผุยผง
ตอนนี้ เมื่อสปิตเซอร์มองดูพอตเตอร์ในภาคแผ่นเนื้อเยื่อดิจิทัลบนจอภาพ เขาเอ่ยปากว่า เขาเห็นความเจ็บปวดของเธอแล้ว จากหลอดเลือดแดงบิดขดทรมาน สกรูว์โลหะที่ยึดกระดูกคอที่หักให้เสถียร ไตที่มีรูปร่างผิดปกติอย่างน่าประหลาด และข้อต่ออักเสบจุดต่างๆ ที่เป็นเสมือนแผนที่แสดงการเสื่อมสลายที่ไม่อาจหยุดยั้งได้สู่วัยชรา
ส่วนการชุบชีวิตพอตเตอร์ขึ้นมาใหม่ หรือทำให้เธอมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้ ข้อนี้สปิตเซอร์บอกว่า เป็นความพยายามที่ต้องใช้เวลาอีกนานปี “ผมคาดหวังว่า เธอจะพูดคุยกับคุณได้เหมือนสิริ [ในไอโฟน] น่ะครับ” เขาบอก
******************************************
เบื้องหลังสารคดีเรื่องนี้
“อาจารย์ใหญ่ผู้เป็นอมตะ” เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในระยะเวลากว่า 16 ปี เมื่อปี 2002 วิก สปิตเซอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการจำลองร่างกายมนุษย์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์แอนส์ชูตส์ มหาวิทยาโคโลราโด ติดต่อมาที่บรรณาธิการภาพ เคิร์ก มัตชเลอร์ เพื่อเสนอให้นิตยสารของเราติดตามทำเรื่องโครงการของเขา ซึ่งเป็นเรื่องของผู้บริจาคร่างเพศหญิงผู้หนึ่งซึ่งขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่ และจะถูกแช่แข็ง ตัดเป็นชิ้นหลังเสียชีวิตเพื่อสร้างเป็นอาจารย์ใหญ่ในรูปดิจิทัล สำหรับใช้ในการศึกษาทางการแพทย์ ช่างภาพ ลินน์ จอห์นสัน เริ่มติดตามโครงการนี้ในปีถัดมา และตัดสินใจบันทึกเรื่องราวของพอตเตอร์ไว้เป็นภาพขาวดำ หลังเสียชีวิต ร่างอวตารในรูปดิจิทัลของเธอจะปรากฏเป็นภาพสี ผู้เขียนเรื่อง เคที นิวแมน เข้าร่วมทีมสารคดีเรื่องนี้ในปี 2004
อ่านเพิ่มเติม