แรงบันดาลใจจาก “Bird Box” คนตาบอดได้ยินเสียงชัดกว่าจริงหรือ?

แรงบันดาลใจจาก “Bird Box” คนตาบอดได้ยินเสียงชัดกว่าจริงหรือ?

ภาพจากภาพยนตร์ Bird Box ขอบคุณภาพจาก Netflix

แรงบันดาลใจจาก “Bird Box” คนตาบอด ได้ยินเสียงชัดกว่าจริงหรือ?

“อย่ามอง ถ้ายังไม่อยากตาย!” คำโปรยโปรโมทภาพยนตร์ “Bird Box” ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ Netflix ที่ดึงดูดใจผู้พบเห็นมากทีเดียว ลองจินตนาการถึงโลกที่การมองเห็นต้องแลกด้วยชีวิต เมื่อบางสิ่งบางอย่างรุกรานเข้ายึดครองเมือง ใครที่จ้องมอง “พวกมัน” จะพากันคลุ้มคลั่ง และลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดกลัวให้แก่ทุกคน พวกเขาป้องกันตัวด้วยการขังตนเองอยู่ในบ้าน และเลือกที่จะปิดตาเพื่อความปลอดภัย นี่คือเรื่องย่อของ Bird Box ที่จะสร้างความลุ้นระทึกในขณะเดียวกันก็สร้างความอึดอัดให้แก่ผู้ชม เมื่อประสาทสัมผัสสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตกลายเป็นสิ่งต้องห้าม หากจะเอาชีวิตรอดนอกบ้านคุณต้องละทิ้งมัน และใช้ชีวิตเยี่ยง คนตาบอด

เงื่อนไขของสถานการณ์ทำให้เสียงกลายมาเป็นสิ่งสำคัญ จากตัวอย่างของภาพยนตร์ ตัวละครหลักต้องเดินทางข้ามป่าและแม่น้ำไปยังสถานที่ปลอดภัย โดยปิดตาไว้ตลอดเวลา และใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด คุณผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนตาบอดหูดีกว่าคนทั่วไป” ธรรมชาติชดเชยสิ่งที่ขาดได้จริงหรือ? และความหมายของคำว่า “หูดี” คืออะไรกันแน่?

(ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Bird Box ได้ที่นี่)

 

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “สมอง”

เรารับรู้เสียงที่เกิดขึ้นผ่านการสั่นไหวของเยื่อแก้วหูที่ส่งต่อมายัง “เซลล์ขน” อวัยวะที่ทำหน้าที่รับการสั่นสะเทือนของเสียง เซลล์ขนอยู่ในอวัยวะคอร์ติ (Organ of Corti) อวัยวะรับรู้เสียงที่อยู่ภายในหูชั้นในของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การทำงานของเซลล์ขนร่วมมือกับเยื่อบุเทคโทเรียล (tectorial membrane) ซึ่งจะขยับขึ้นลงในขณะที่มีเสียง และจะเป็นตัวกระตุ้นเซลล์ขนให้รับรู้ว่ามีเสียงเกิดขึ้น ตลอดจนทำงานร่วมกับกระแสประสาทรอบๆ เพื่อส่งข้อมูลคลื่นไฟฟ้าเข้าสู่สมอง และแปลงผลการสั่นสะเทือนนั้นๆ ออกมา ประสิทธิภาพในการฟังเสียงของคนๆ หนึ่งขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเซลล์ขนเหล่านี้ หากได้รับความเสียหายเซลล์ขนจะไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ในผู้พิการทางสายตาเองหูของพวกเขาไม่ได้มีเซลล์ขนที่แตกต่างจากคนทั่วไป ดังนั้นแล้วหากพิจารณาจากสภาพร่างกาย คนตาบอดไม่ได้มีความสามารถในการได้ยินเสียงชัดกว่าคนตาปกติแต่อย่างใด

(กว่าเสียงจะเดินทางจากแหล่งกำเนิดมาถึงสมองต้องผ่านอะไรบ้าง?)

ทว่าสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีกว่าคือ การระบุแหล่งที่มาของเสียง และเบื้องหลังของความสามารถนี้คือ “สมอง” ภายในสมองของเรามีพื้นที่ที่ใช้สำหรับประมวลข้อมูลการรับรู้ต่างๆ โดยเฉพาะ เช่น เปลือกสมองส่วนการมองเห็น (Visual Cortex) ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากสายตา หรือเปลือกสมองส่วนการได้ยิน (Auditory Cortex) ที่ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลจากหู หากการรับรู้ส่วนใดบกพร่อง หรือขาดหาย นักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองสามารถทำสิ่งที่น่าทึ่งได้ นั่นคือจัดระเบียบการทำงานเสียใหม่

ในผู้พิการทางสายตา เมื่อเปลือกสมองส่วนการมองเห็นไม่ได้รับข้อมูลเป็นเวลานาน สมองมีความยืดหยุ่นที่จะจัดระเบียบการทำงานส่วนนั้นใหม่ให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถนำไปใช้รับประสาทสัมผัสอื่นๆ ได้ นั่นหมายความว่าแม้พวกเขาจะตาบอด แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือพื้นที่ในสมองที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทางเสียง กลิ่น รส และการสัมผัส

ทั้งนี้ประสิทธิภาพของการจัดระเบียบใหม่นี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่บุคคลนั้นๆ สูญเสียประสาทสัมผัสการมองเห็น แน่นอนว่าสมองของเรามีความสามารถในการปรับตัวตลอดเวลา แต่หากบุคคลนั้นๆ ต้องเผชิญกับความพิการทางสายตาตั้งแต่เด็ก การจัดระเบียบการทำงานใหม่ของสมองจะมีประสิทธิภาพมากกว่าผู้ที่พิการทางสายตาในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากในวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่สมองกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนที่ตาบอดตั้งแต่อายุน้อยๆ จึงมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการรับรู้ประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ดีกว่าคนที่ตาบอดเมื่ออายุมากแล้ว

คนตาบอด
แผนที่แสดงตำแหน่งของสมองที่ทำหน้าที่รับประสาทสัมผัส ตลอดจนทักษะอื่นๆ
ขอบคุณภาพจาก http://www.basicknowledge101.com/subjects/brain.html

งานวิจัยโดยสถาบัน Schepens Eye Research ในรัฐแมสซาชูเซตส์ โดยดอกเตอร์ Lotfi Merabet ผู้อำนวยการด้านความยืดหยุ่นทางการมองเห็น (Visual Neuroplasticity) ชี้ว่าสมองของมนุษย์สามารถเชื่อมโครงข่ายประสาทใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ในการศึกษาทีมวิจัยสแกนสมองของผู้ที่พิการทางสายตาแต่กำเนิด หรือพิการทางการมองเห็นตั้งแต่ก่อนอายุได้ 3 ขวบ เปรียบเทียบกับคนทั่วไป พวกเขาพบความเปลี่ยนแปลงในสมองของผู้พิการ ไม่เพียงแค่ส่วนเยื่อหุ้มสมองบริเวณท้ายทอยที่ทำหน้าที่รับรู้การมองเห็นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความทรงจำ, การใช้ภาษา และประสาทสัมผัสอื่นๆ ด้วย ผลการศึกษานี้เผยแพร่ลงในวารสาร Plos One เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2017

“คุณขับรถไปที่ไหนสักแห่ง และพบว่าทางนั้นไม่สามารถผ่านไปได้ คุณตัดสินใจขับรถอ้อมแทนเพื่อไปให้ถึงยังจุดหมาย สิ่งนี้คล้ายคลึงกับสมองของมนุษย์ที่พัฒนาปรับตัว และสร้างโครงข่ายใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนที่ไม่ได้ใช้งานก็จะถูกลดบทบาทความสำคัญลง”

กระบวนการเปลี่ยนแปลงในสมองเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับรู้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ทดแทนการมองเห็นของผู้พิการทางสายตายังรวมถึง “การกำหนดที่ตั้งวัตถุด้วยเสียงสะท้อน” (Echolocation) เราสามารถเรียกความสามารถนี้ว่าเป็นคุณสมบัติ “หูดีแบบคนตาบอด” ได้ไม่ผิดนัก หากฝึกฝนสม่ำเสมอผู้พิการบางคนสามารถส่งเสียงเคาะไม้เท้า กระทืบเท้า หรือใช้ลิ้นดีดเพดานปาก เพื่อรอฟังเสียงสะท้อนกลับมาว่าวัตถุนั้นๆ อยู่ในตำแหน่งใด ตลอดจนมีขนาดประมาณเท่าไหร่ หลักการเดียวกันกับการใช้คลื่นเสียงโซนาร์ของวาฬและโลมาใต้น้ำ หรือการส่งเสียงสะท้อนของค้างคาวที่ต้องบินท่ามกลางความมืดมิด ซึ่งเทคนิคนี้คนธรรมดาที่มีดวงตาปกติดีก็สามารถฝึกฝนได้เช่นกัน

“ไม่ใช่แค่เสียงเท่านั้น ประสาทสัมผัสอื่นๆ ของผู้พิการทางสายตาล้วนไวกว่าคนทั่วไป เช่น กลิ่นที่โชยมาตามลมประกอบกับเสียงรอบตัวอาจช่วยให้พวกเขาสามารถวาดแผนที่ขึ้นในสมองได้ว่าบรรยากาศรอบตัวเป็นอย่างไร”

(Daniel Kish คือผู้พิการทางสายตาแต่กำเนิด ตัวเขาใช้เทคนิค Echolocation ในการดำรงชีวิต แม้แต่ปั่นจักรยานหรือปีนเขาก็สามารถทำได้)

ถ้าเช่นนั้นในฐานะคนตาดี เรามีอะไรที่เหนือกว่าคนตาบอดบ้างหากไม่นับรวมการมองเห็น? คำตอบคือโอกาสและการเข้าถึง ความพิการทางการมองเห็นส่งผลให้ความสนใจ และทักษะความสามารถของบุคคลนั้นๆ แคบลงไปมาก นั่นทำให้โอกาสต่างๆ ลดน้อยลงไปด้วย อัตราการว่างงานของผู้พิการทางสายตาสูงถึงร้อยละ 70 ต้องขอบคุณความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ช่วยอ่านข้อความให้ผู้พิการฟัง ตลอดจนความแม่นยำของแผนที่และจีพีเอสที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตนเองได้ และอื่นๆ อีกมากมาย ทว่าทุกวันนี้ยังมีผู้พิการทางสายตาจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา และตลาดแรงงาน ทั้งๆ ที่มีความรู้ และสามารถทำประโยชน์ต่อองค์กรได้

ด้านผู้พิการเอง ทัศนคติต่อชีวิต และการฝึกฝนความสามารถเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อสมองของมนุษย์มหัศจรรย์ในการปรับตัวเพื่ออยู่รอดเช่นนี้ หากไม่ได้แสดงศักยภาพของตนออกมาคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะผู้พิการเองไม่ใช่ภาระของสังคม หากคือบุคคลหนึ่งที่มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าใคร

(เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Echolocation ได้ผ่านวิดีโอนี้)

 

อ่านเพิ่มเติม

นักวิทยาศาสตร์พบแบบแผนสมองของผู้คิดฆ่าตัวตาย

 

แหล่งข้อมูล

Do blind people have better hearing?

Why Other Senses May Be Heightened in Blind People

Does Losing One Sense Improve the Others?

Supersensors: How the loss of one sense impacts the others

หู อวัยวะมหัศจรรย์

โลกของคนตาบอด

CBR Forum: ‘อาชีพ’ ทำให้คนพิการใช้ชีวิตอิสระได้อย่างไร

 

Recommend