สถานการณ์ ไฟป่า ของประเทศไทยในช่วงฤดูแล้งได้สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศในป่าเป็นวงกว้าง โดยเหตุการณ์ไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี รัฐบาลและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และชาวบ้าน ได้พยายามลดความเสียหายและจำนวนการเกิดไฟป่าให้ลดน้อยลง โดยออกข้อบังคับ แนวทางการป้องกันไฟ รวมถึงขอความร่วมมือจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่
ตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาประยุกต์ใช้ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) ที่สนับสนุนข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้ประกอบการตัดสินใจ
การติดตามสถานการณ์ไฟป่าจากเทคโนโลยีดาวเทียมเป็นการประเมินสถานการณ์จาก “จุดความร้อน” (Hotspot) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ดาวเทียมจะส่งภาพถ่ายที่มีคลื่นสีแตกต่างกันตามอุณหภูมิบนพื้นโลก และมีระบบประมวลผลที่สามารถชี้ชัดได้ว่าจุดใดมีความร้อนสูง และจะใช้ข้อมูลส่วนนั้นสำหรับการรายงานการเกิดไฟป่า
ที่ผ่านมา การปฏิบัติการในพื้นที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้นำในระดับจังหวัดและระดับชุมชน ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2562 แนวโน้มการเกิดจุดความร้อนกลับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งเรื่องของสภาพภูมิอากาศ หรือเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น อนุสรณ์ รังสิพานิช รักษาการนักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษ จากจิสด้า กล่าวและเสริมว่า ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา จิสด้าได้สนับสนุนข้อมูลการเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ประสบเหตุไฟป่า โดยชุดข้อมูลประกอบไปด้วย ข้อมูลพื้นที่ถูกเผาไหม้จริง ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และแผนที่หมอกควัน
นอกจากนี้ จิสด้ายังได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมกับทางจังหวัดโดยไปประจำที่ WarRoom ไฟป่าทั้ง 9 จังหวัด เพื่อช่วยจัดทำแผนที่ รายงาน และติดต่อประสานงานเกี่ยวกับไฟป่า หมอกควัน โดยประยุกต์ข้อมูลให้เหมาะสมตรงความต้องการของแต่ละจังหวัด
ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า ไฟป่าเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1. เกิดจากธรรมชาติ ไฟป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีหลายสาเหตุ เช่นฟ้าผ่า กิ่งไม้เสียดสีกัน ภูเขาไฟระเบิด ก้อนหินกระทบกัน แสงแดดตกกระทบผลึกหิน แสงแดดส่องผ่านหยดน้ำ ปฏิกิริยาเคมีในดินป่าพรุ การลุกไหม้ในตัวเองของสิ่งมีชีวิต (Spontaneous Combustion) แต่สาเหตุที่สำคัญคือ ฟ้าผ่า นับเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟป่าในประเทศเขตอบอุ่น เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พบว่า เหตุการณ์ไฟป่ากว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากฟ้าผ่า
2. สาเหตุจากมนุษย์ ไฟป่าที่เกิดในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อนส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ สำหรับประเทศไทยจากการเก็บสถิติไฟป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528-2542 ซึ่งมีสถิติไฟป่าทั้งสิ้น 73,630 ครั้ง พบว่าเกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติคือฟ้าผ่าเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น คือเกิดที่ภูกระดึง จังหวัดเลย ที่ห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ท่าแซะ จังหวัดชุมพร และที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา แห่งละหนึ่งครั้ง ดังนั้นจึงถือได้ว่าไฟป่าในประเทศไทยทั้งหมดเกิดจากการกระทำของมนุษย์ โดยมีสาเหตุต่างๆ กันไป เช่น
เก็บหาของป่า เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่ามากที่สุด การเก็บหาของป่าส่วนใหญ่ได้แก่ ไข่มดแดง เห็ด ใบตองตึง ไม้ไผ่ น้ำผึ้ง ผักหวาน และไม้ฟืน การจุดไฟส่วนใหญ่เพื่อให้พื้นป่าโล่ง เดินสะดวก หรือให้แสงสว่างในระหว่างการเดินทางผ่านป่าในเวลากลางคืน หรือจุดเพื่อกระตุ้นการงอกของเห็ด หรือกระตุ้นการแตกใบใหม่ของผักหวานและใบตองตึง หรือจุดเพื่อไล่ตัวมดแดงออกจากรัง รมควันไล่ผึ้ง หรือไล่แมลงต่างๆ ในขณะที่อยู่ในป่า
เผาไร่ เป็นสาเหตุที่สำคัญรองลงมา การเผาไร่ก็เพื่อกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชที่เหลืออยู่ภายหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบต่อไป ทั้งนี้โดยปราศจากการทำแนวกันไฟและปราศจากการควบคุม ไฟจึงลามเข้าป่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ความประมาท เกิดจากการเข้าไปพักแรมในป่า ก่อกองไฟแล้วลืมดับ หรือทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นป่า เป็นต้น
ล่าสัตว์ โดยใช้วิธีไล่เหล่า คือจุดไฟไล่ให้สัตว์หนีออกจากที่ซ่อน หรือจุดไฟเพื่อให้แมลงบินหนีไฟ นกชนิดต่างๆ จะบินมากินแมลง แล้วดักยิงนกอีกทอดหนึ่ง หรือจุดไฟเผาทุ่งหญ้า เพื่อให้หญ้าใหม่แตกระบัด ล่อให้สัตว์ชนิดต่างๆ เช่น กระทิง กวาง กระต่าย มากินหญ้า แล้วดักรอยิงสัตว์นั้นๆ
เลี้ยงปศุสัตว์ ประชาชนที่เลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ มักลักลอบจุดไฟเผาป่าให้โล่งมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเพื่อเป็นแหล่งอาหารสัตว์
จากภาพถ่ายดาวเทียมในปี 2562 พบว่า สถานการณ์ไฟป่าไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ยังพบจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์ สปป ลาว และกัมพูชา ผลกระทบจากไฟป่าไม่เพียงแต่ส่งผลในพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่ควันไฟที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ราบ โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทยที่ชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะ โดยควันจากไฟป่าได้ปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง และเป็นหนึ่งในสาเหตุของ PM10 ที่เป็นมลพิษทางอากาศ
การนำข้อมูลทางภูมิสารสนเทศและภาพถ่ายดาวเทียมมาประยุกต์ใช้กับภัยพิบัติในประเทศ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถวางแผนและประเมินสถานการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคแห่งข้อมูลเช่นทุกวันนี้ ทุกภาคส่วนล้วนต้องอาศัยการอ้างอิงข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการปฏิบัติงานอย่างสูงสุด
ติดตามข้อมูลสถานการณ์ไฟป่ารายวัน ได้ที่ www.fire.gistda.or.th
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อ่านเพิ่มเติม: เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน