เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยดับไฟป่าในเวลากลางคืน ด้วยการกวาดใบไม้สร้างเป็นแนวกันไฟ


ไฟในป่าเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นเถ้าปลิวละล่องไปตามลมและหอบลอยขึ้นสู่ที่สูง นี่คือภาพของปัญหา หมอกควัน ในภาคเหนือที่เรื้อรังมานานหลายปี สาเหตุเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากนํ้ามือคน

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย จิตรภณ ไข่คำ
ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2558

เกือบสิบปีมาแล้วที่ชาวบ้านนาก้า ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เกือบทั้งหมู่บ้านผันตัวมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พวกเขาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท เช่นเดียวกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และแปรสภาพสันเขาสลับซับซ้อนให้กลายเป็นทุ่งข้าวโพดเขียวชอุ่มในฤดูฝน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตองแก่ยามเข้าสู่ฤดูหนาวพร้อมรอเก็บเกี่ยว

ย้อนหลังไปสัก 30 ปีก่อนหน้านี้ ชาวบ้านนาก้ายังพึ่งพาการเก็บของป่า ปลูกข้าวและพืชไร่หลากหลายอย่างอิสระ ไม่มีใครคุยกันเรื่องโฉนดที่ดินหรือเอกสารทำกินใด ๆ บรรพบุรุษของพวกเขาฝากชีวิตไว้กับผืนป่าและธรรมชาติ ครั้นเข้าสู่ยุคของการพัฒนา หนุ่มสาวที่นี่พากันไปขายแรงงานยังต่างเมืองไม่ต่างจากชนบทอีกหลายแห่ง ระหว่างนั้นใน พ.ศ. 2536 ทางการประกาศให้ป่า (ป่าเพื่อการเศรษฐกิจ โซน E) ในละแวกหมู่บ้านแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตร แรงงานเหล่านั้นจึงกลับมาแผ้วถางป่าเป็นพื้นที่ทำกินลึกเข้าไปในป่าสงวนอีกหลายโซน และไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอง

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, ไฟป่าภาคเหนือ, นักท่องเที่ยวจีน, เชียงใหม่
นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ สวมหน้ากากอนามัยตามคำแนะนำของทางการ เพื่อป้องกันภัยจากหมอกควันที่เกินค่ามาตรฐาน

แม้จะมีลำห้วยไหลผ่าน แต่เนินเขาแถบนี้ก็ร้อนแล้ง ชาวบ้านบ่นว่าพวกเขาไม่สามารถสูบนํ้าจากแหล่งนํ้าขึ้นที่สูงได้ ดังนั้นหลังจากลองผิดลองถูกมาหลายฤดูกาล ชาวบ้านจึงตัดสินใจฝากอนาคตไว้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกอย่างแพร่หลาย ข้าวโพดทนแล้งและดูแลง่าย อีกทั้งชาวบ้านยังเบาใจว่า หากทางการยึดที่ดินทำกินคืน พวกเขาจะขาดทุนน้อยกว่าการปลูกไม้ยืนต้น “ปัญหาคือพวกเขาไม่มีที่ทำกินครับ” เสนอ ตินะอินทร์ ผู้เป็นทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยาบหัวนา และขวัญใจของชาวบ้านนาก้า บอก “ไม่มีใครกล้าเสี่ยงปลูกไม้ยืนต้นครับ เพราะมีแต่ที่ป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขืนโดนยึดก็หมดตัว” เขาเสริม

วิธีการทำไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูงของชาวบ้านเป็นภัยรุนแรง เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง ชาวบ้านจะกำจัดซากตอซังข้าวโพดที่เหลือจากฤดูกาลก่อนด้วยการเผา เพลิงผลาญตอและซังข้าวโพดลุกลามอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่ชั่วโมงเนินเขาทั้งลูกก็กลายเป็นเถ้าถ่านสีดำ ส่งควันไฟสีเทาลอยขึ้นสู่อากาศไปรวมกับควันไฟจากหมู่บ้านอื่น ๆ รวมตัวเป็นหมอกควันกลุ่มใหญ่ปกคลุมทั่วทั้งอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และจังหวัดข้างเคียง

หมอกควัน, ไฟป่า, หมอกควันภาคเหนือ, หมอกควันเชียงใหม่, ไฟป่า, ไฟป่าภาคเหนือ
วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างจังหวัดเชียงใหม่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

ชาวไร่ข้าวโพดมือเพลิงคนหนึ่ง (สงวนชื่อ) บอกว่า “ที่ต้องเผาเพราะเราจะขึ้นไปไถกลบบนดอยชันขนาดนั้นได้ยังไง ไม่มีทางเลยครับ” เขาหมายถึงไร่ข้าวโพดบนสันเขาสูงชัน และบอกว่าทุกครั้งที่เผาไร่ เขาจะทำแนวกันไฟเพื่อจำกัดวงไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น “แต่ถ้าลามเข้าป่า ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยครับ ถือว่าถางไปในตัว” เขาว่าพลางขำ

ทว่าเรื่องของหมอกควันที่ฟุ้งกระจายไม่ใช่เรื่องขำเลย ฝุ่นละอองในอากาศเป็นตัวการก่อโรคทางเดินหายใจนานาชนิด วนเวียนเป็นปัญหาซํ้าซากของภาคเหนือทุกปี “ชาวบ้านรู้ดีว่า พวกเขาเป็นต้นเหตุของหมอกควัน” เสนอบอก แต่ยิ่งข้าวโพดราคาดี ชาวบ้านก็ยิ่งต้องเผา “เหมือนพวกเขาไม่มีทางเลือกครับ”

(อ่านต่อหน้า 2)

Recommend