มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียง 22 ชนิดที่สืบพันธุ์แล้วตาย 15 ชนิดในจำนวนนั้นคือ แอนทีไคนัส
สำหรับสัตว์ในสกุล แอนทีไคนัส (Antechinus) แล้ว ชีวิตนั้นช่างแสนสั้นและการสืบพันธุ์ก็เป็นเรื่องสำคัญ หลังลืมตาดูโลกได้หกเดือน สัตว์มีถุงหน้าท้องกินเนื้อขนาดเล็กชนิดนี้จะโตเต็มวัย อีกห้าเดือนต่อมา นํ้าหนักตัวของพวกมันจะเพิ่มขึ้น และจะไปลดเอาตอนจับคู่ผสมพันธุ์ แอนดรูว์ เบเกอร์ นักวิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอธิบาย จากนั้นสัตว์ชนิดนี้จะเข้าสู่ “ช่วงเวลาหนึ่งถึงสามสัปดาห์ที่พวกมันจะผสมพันธุ์กันตลอดเวลา” และการผสมพันธุ์ครั้งเดียวอาจใช้เวลานานถึง 14 ชั่วโมง จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ทั้งสองเพศรู้สึกเครียดเอามาก ๆ” เบเกอร์ตั้งข้อสังเกต
เมื่อรู้สึกเครียด แอนทีไคนัส จะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล นอกจากนั้น แอนทีไคนัส เพศผู้ “ยังหลั่งฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนจากการพยายามจีบสาวอีกด้วย” เบเกอร์บอก และฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนนี่เองที่ทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลไหลทะลักในเวลาที่ควรจะหยุดทำงาน เมื่อฮอร์โมนคอร์ติซอลขึ้นถึงระดับที่เป็นพิษ ระบบภูมิคุ้มกันและระบบอื่น ๆในร่างกายของเพศผู้จะล้มเหลว ทำให้มันตายเมื่อมีอายุได้เพียงหนึ่งปี ประชากรของ แอนทีไคนัสจึงลดลงครึ่งหนึ่ง จนกว่าเพศเมียจะให้กำเนิดลูกน้อยขนาดเท่าลูกอมครอกละ 4 ถึง 14 ตัวในแต่ละปี
—แพทริเซีย เอดมันด์ส
ถิ่นอาศัย/ถิ่นกระจายพันธุ์
พื้นที่ป่าและทุ่งหญ้าในออสเตรเลีย
สถานะการอนุรักษ์
แอนทีไคนัส หนึ่งในห้าชนิดอยู่ในสถานะถูกคุกคาม แอนทีไคนัสหางดำ ซึ่งเพิ่งค้นพบและอาจมีอยู่เพียง 500 ตัว จัดอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ข้อมูลน่าสนใจ
แอนทีไคนัส มีนํ้าหนักตั้งแต่ 14 ถึง 482 กรัม ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์