พืชใบเลี้ยงเดี่ยว สามารถจัดจำแนกได้จากหลายลักษณะ ทั้งลักษณะกายภาพภายนอก ลักษณะของท่อลำเลียง และระบบราก
ในการจัดหมวดหมู่พืช เกณฑ์ที่ใช้สามารถแสดงถึงสายสัมพันธ์ของพืชได้อย่างใกล้ชิดที่สุด คือ การจำแนกตามระบบสืบพันธุ์ ทำให้พืชพรรณทั้งหลาย สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ พืชมีดอกและพืชไม่มีดอก โดยในกลุ่มพืชมีดอกนั้น ยังสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่
นิยามของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Monocotyledon หรือ Liliopsida) คือ พืชที่มีใบเลี้ยงเพียงใบเดียว เมื่อเมล็ดพันธุ์เริ่มงอก มีการเจริญเติบโตของลำต้นส่วนใหญ่อยู่ใต้พื้นดิน มีระบบรากเป็นรากฝอย ซึ่งเมื่อพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ตามบริเวณลำต้นจะเกิดข้อและปล้องขึ้นชัดเจน โดยที่ภายในลำต้นจะมีกลุ่มเนื้อเยื่อลำเลียงกระจัดกระจายอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบ จึงทำให้พืชใบเลี้ยงเดี่ยวไม่มีการเจริญเติบโตออกทางด้านข้าง ไม่มีกิ่งก้านสาขาเหมือนพืชยืนต้นขนาดใหญ่ทั้งหลาย
พืชใบเลี้ยงเดี่ยวส่วนใหญ่ จึงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้น (ราว 1 ปี) มีลักษณะใบเรียวยาวและตั้งตรง โดยมีเส้นใบเรียงตัวกันในแนวขนาน และมีจำนวนใบเรียงตัวกันเป็นเลขคี่หรือใบเดี่ยว ส่วนของกลีบดอกจะมีจำนวน 3 กลีบ หรือเท่าทวีคูณของ 3 ขึ้นไป
ตัวอย่างพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่สำคัญ
พืชใบเลี้ยงเดี่ยวบนโลกมีมากถึง 67,000 ชนิด โดยมีพืชในตระกูลกล้วยไม้ (Orchidaceae) มากเป็นลำดับที่หนึ่งราว 20,000 ถึง 25,000 ชนิด รองลงมาเป็นพืชตระกูลหญ้า (Poaceae หรือ Gramineae) ที่มีจำนวนมากกว่า 9,000 ชนิด ซึ่งโดยทั่วไป เราอาจไม่คาดคิดว่าพืชในตระกูลหญ้านั้น เป็นพืชมีดอก แต่ในความเป็นจริงแล้ว พืชเหล่านี้มีดอกเล็กๆ เมื่อถึงระยะสืบพันธุ์ นอกจากนี้ พืชตระกูลหญ้ายังเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงและพืชผลิตผลหลักในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพดและอ้อย
นอกจากนี้ ยังมีพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในตระกูลหน่อไม้ฝรั่ง (Asparagaceae) ที่มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ราว 5,000 ชนิด เป็นกลุ่มพืชมีดอกที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด เช่น แดฟโฟดิล (Daffodil) และดอกบัว รวมไปถึงว่านหางจระเข้ หัวหอม หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียมและสับปะรด นอกเหนือจากพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในตระกูลหลักแล้ว ยังมีพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในตระกูลอื่นอีกมากมาย เช่น ธูปฤๅษี กก ปาล์ม และกล้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพืชมีดอกในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยวร่วมกันทั้งหมด
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
ทรูปลูกปัญญา – https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/63521/-scibio-sci-
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม – http://www.genedu.msu.ac.th/course/2558/0033003-ch3.pdf
http://www.biologyreference.com/Mo-Nu/Monocots.html
https://www.backyardnature.net/monodico.htm
https://www.hunker.com/12000111/types-of-monocot-flowers
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ