ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) คือ คำจำกัดความของการมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิดบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงอยู่ของพืช สัตว์ แบคทีเรีย เชื้อรา หรือมนุษย์ ต่างล้วนอาศัยอยู่ในถิ่นฐานเฉพาะของตนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ดำเนินชีวิตอยู่ภายในระบบนิเวศที่มีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย จากการสะสม ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตลอดจนถึงการวิวัฒนาการ เพื่อความอยู่รอดตลอดระยะเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา ทำให้การคงอยู่ของความแตกต่างในสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์และความหลากหลายภายในชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น กลายเป็นองค์ประกอบและพื้นฐานสำคัญของธรรมชาติและระบบนิเวศของโลก
ความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถจำแนกออกเป็น 3 ระดับ คือ
ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversity) หมายถึง ความแปรผันทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นภายในประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน เป็นความแตกต่างของสารพันธุกรรมภายในสิ่งมีชีวิตแต่ละชีวิตที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษผ่านทางหน่วยพันธุกรรมหรือ “ยีน” (Gene) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ ลักษณะเด่น หรือความแตกต่างขึ้นภายในประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ๆ เช่น การมีสีสันและลวดลายที่หลากหลายของหอยทาก “โกลฟว์ สเนล” (Grove Snail) รวมถึงการมีสีของเส้นผม สีของผิวหนัง และสีของนัยน์ตาแตกต่างกันออกไปในประชากรของมนุษย์
ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ (Species Diversity) หมายถึง ความแปรผันทางชนิดพันธุ์ (Species) ที่เกิดขึ้นในระดับกลุ่มของสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ผ่านการสะสมและการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน ซึ่งความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ถือเป็นผลจากกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural Selection) ที่ทำให้เกิดทั้งการสูญพันธุ์และการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลก
ความหลากหลายทางระบบนิเวศ (Ecological Diversity) หมายถึง การดำรงอยู่ของระบบนิเวศแต่ละประเภทบนโลก ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystems) และระบบนิเวศในน้ำ (Aquatic Ecosystems) เช่น ป่าดงดิบ ทุ่งหญ้า ป่าชายเลน ทะเลสาบ หรือ ชายหาดและแนวปะการัง ตลอดจนระบบนิเวศเมือง (Urban Ecosystems) ที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งความหลากหลายทางระบบนิเวศนั้น เป็นผลจากความแตกต่างทางสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ของโลก อีกทั้ง ยังนับเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดเอกลักษณ์และลักษณะเด่นของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ซึ่งภายในระบบนิเวศแต่ละประเภท ล้วนมีสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไปอาศัยอยู่
โลก จึงประกอบขึ้นจากระบบนิเวศอันหลากหลายกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ความหลากหลายทางพันธุกรรม ความหลากหลายทางชนิดพันธุ์และความหลากหลายทางระบบนิเวศ จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่ก่อให้เกิดสมดุลของโลก
ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและสถานการณ์ปัจจุบัน
ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกในทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้โลกจะเผชิญกับความแห้งแล้ง ความหนาวเย็น หรือโรคระบาด ความหลากหลายทางชีวภาพถือเป็นเครื่องการันตีความอยู่รอดของทุกชีวิต อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญของระบบนิเวศที่ให้กำเนิด “นิเวศบริการ” (Ecological Services) ซึ่งสร้างทรัพยากรและคุณประโยชน์มากมายต่อทุกชีวิต
แต่ในปัจจุบันนี้ ทุกๆ ปี มีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ราว 10,000 ชนิดทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอัตราที่รวดเร็วเกิดกว่าการสูญพันธุ์ในยุคก่อนที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นหลายร้อยเท่า แม้ว่าการสูญพันธุ์จะเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่การอัตราการสูญเสียที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของประชากรและการพัฒนาของสังคมเมืองที่นำไปสู่การทำลายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ การรุกรานเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงปลดปล่อยของเสียและมลพิษ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโลกครั้งยิ่งใหญ่
นอกเหนือจากการสูญพันธุ์ไปของสิ่งมีชีวิตบางชนิด การเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศเป็นผลกระทบที่ไม่อาจลีกเลี่ยงเช่นเดียวกัน ซึ่งหากสถานการณ์ในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไปโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ สิ่งมีชีวิตกว่าร้อยละ 20 ชนิดทั่วโลกอาจจะสูญเสียพันธุ์ไปอย่างถาวรภายในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspot) ที่มีชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Endangered Species) และมี “สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น” (Endemic Species) อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น
ถึงแม้พื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพเหล่านี้ จะคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.3 ของพื้นผิวโลกทั้งหมด แต่กว่าร้อยละ 44 ของพืชพรรณในโลกล้วนดำรงอยู่ในพื้นที่เฉพาะเหล่านี้ ซึ่งในอีกความหมายหนึ่ง คือพืชเหล่านี้เป็นชนิดพันธุ์ที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น สิ่งมีชีวิตบนเกาะนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยกว่าร้อยละ 90 ของชนิดพันธุ์แมลงและกว่าร้อยละ 80 ของชนิดพันธุ์พืชที่มีท่อลำเลียง (Vascular Plants) ล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นที่ไม่ปรากฏบนส่วนไหนของโลกใบนี้อีกแล้ว และการสูญเสียสิ่งมีชีวิตบนเกาะแห่งนี้ หมายถึงการสูญพันธุ์จากโลกไปอย่างถาวร
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
National Geographic Society – https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/biodiversity/
National Geographic – https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/05/ipbes-un-biodiversity-report-warns-one-million-species-at-risk/
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร – https://www.seub.or.th/bloging/
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) – https://www.scimath.org/lesson-biology/item/6989-biodiversity-6989
Conservation International – https://www.conservation.org/priorities/biodiversity-hotspots