เดินทางขึ้นสู่ดินแดน “เกือบ” เหนือสุดของโลก
ประสบการณ์สัมผัส ทะเลอาร์กติก ครั้งแรกในชีวิต
สถานที่หนึ่งที่เราไปไม่ถึง แต่ขอไปให้ใกล้ที่สุดก็ยังดี… ประโยคนี้คือสิ่งที่เราคุยกันในกลุ่มเพื่อนในวันที่เราตัดสินใจเดินทางไปหมู่บ้านเทอริเบอกา (Teriberka Village) หมู่บ้านชาวประมงที่ตอนนี้แทบไม่มีเรือประมงเข้าเทียบท่า สุดเขตแดนตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย ที่นี่มีอ่าวชิดติดกับคาบสมุทรโคลา (Kola) ชายฝั่งทะเลบาเรนท์ (Barents Sea) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขอบ ทะเลอาร์กติก ไปอีกเพียงหนึ่งร้อยกิโลเมตรเราจะถึงขั้วโลกเหนือ… เชื่อว่าอีกหลายคนฝันถึงการไปเยือนขั้วโลกเหนือ ที่เทอริเบอกาให้ความรู้สึกหนึ่งย้ำเตือนเราว่า… อีกนิดเดียวเท่านั้น
การเดินทางไปหมู่บ้านชายขอบติดคาบสมุทรอาร์กติกสร้างความตื่นเต้นให้ไม่น้อย การได้ไปยืนริมทะเลที่มีลมทะเลซัดน้ำแข็งเข้าฝั่งตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องที่หาชมได้ที่ชายหาดทั่ว ๆ ไป แต่ความน่าสนใจระหว่างทางก็ดึงดูดนักเดินทางไม่แพ้กัน นั่นคือ เราต้องผ่านป่าสนที่ถือว่าเป็นปอดของยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก รู้จักในชื่อไทกา (Taiga)
การเดินทางผ่านไทกาใช้เวลานาน ป่าสนในฤดูหนาวที่ปกคลุมไปด้วยหิมะให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่สุดสายตา ยิ่งเมื่อได้รับข้อมูลของป่าสนแห่งนี้ยิ่งรู้สึกว่าการเดินทางไปหมู่บ้านเทอริเบอกาคุ้มค่าและน่าค้นหามากกว่าตอนที่ตัดสินใจมาเยือน ไทกาในฤดูหนาวจัดเป็นป่าสนที่ขาวโพลน ต้นสนใบร่วงจนเหลือแต่กิ่งไม่น่าเชื่อว่าที่นี่คือปอดของยุโรป
พอได้ยินคำว่าปอดของยุโรปเชื่อว่าหลายคนอยากสูดอากาศให้เต็มปอด ถนนเส้นนี้นอกจากป่าสนขนาดใหญ่ที่ให้ออกซิเจน (Oxygen) มากมาย ในช่วงฤดูหนาวรถยนต์ก็ไม่พลุกพล่าน ระยะทางสองร้อยกว่ากิโลเมตรจากเมืองมูร์มันสค์ (Murmansk) ซึ่งเป็นเมืองที่เรานั่งเครื่องบินมาลง เราสวนกับรถยนต์ที่นับคันได้
ในเดือนที่เราเดินทางไปถึงคือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่หนาวจัด ทุกลมหายใจที่ไม่ได้ผ่านหมวกคลุมหน้าหรือระบบปรับอากาศ มันเย็นเยือกจนปวดศีรษะจริงๆ ครั้งแรกก็อยากสูดอากาศแต่พอลงจากรถยนต์ได้ไม่ถึงห้านาทีก็ต้องรีบกลับขึ้นมาเพราะอากาศที่หนาวจนยะเยือกถึงถึงกระดูก
ตลอดเส้นทางจะเห็นทัศนียภาพห่มด้วยสีขาวสุดลูกหูลูกตา บ้านเรือนของคนที่นี่จึงมักทาสีสดใส เอาไว้เพื่อตัดกับสีของหิมะ และช่วยบรรเทาให้จิตไม่หม่นหมองไปกับฟ้าหลัว วันหิมะตก หรือแม้กระทั่งในช่วงเดือน Polar night หรือเดือนที่ไม่มีแสงอาทิตย์เลย
มูรมันสค์เป็นเมืองที่อยู่เหนือสุดในบรรดา 5 ละติจูดหลักของโลกจึงมีปรากฏการณ์พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าทุกปี บางปีชาวมูร์มันสค์บอกว่าต้องอยู่กับ Polar night เกือบสองเดือน จึงไม่แปลกที่ชาวรัสเซียจะชอบทะเลไทยที่มีแสงแดดจ้าเกือบตลอดทั้งปีเหมือนที่เราซึ่งอยู่ในประเทศที่อุดมด้วยแสงอาทิตย์จะคิดถึงฟ้าหลัว หม่นมัว ความหนาวเย็น และหิมะขาวโพลนมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด
นอกจากป่าสน ระหว่างทางเรายังต้องผ่านทุ่งทุนดรา (Tundra) ในทางภูมิศาสตร์ เมืองมูร์มันสค์ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแนวเปลือกโลกบอลติกชีวล์ (Baltic Shield) คือบริเวณที่เป็นหินเปลือกโลกเก่าแก่ที่สุด
จริง ๆ แล้วพื้นที่นี้จัดอยู่ในเขตที่ราบใหญ่ตอนกลางกินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ตั้งแต่ยุโรปจนถึงรัสเซีย เป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ แต่บริเวณทุ่งทุนดราในเมืองมูร์มันสค์กลับเป็นพื้นที่ทำการเกษตรไม่ได้ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ ฝนตกน้อยมากหรือไม่ตกเลยที่นี่จึงถูกเรียกว่าทุนดรา ตั้งชื่อตามชาวซามี (Sami) ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรโคล่าและสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) มีความหมายว่าพื้นที่ไร้ประโยชน์ ที่นี่เราจึงไม่เห็นพื้นที่ทำเกษตรหรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ใดๆ นอกจากทุ่งหิมะสีขาว เสาไฟฟ้า และเสาสัญญาณโทรศัพท์เรียงราย
อย่างไรก็ตาม ทุ่งทุนดราก็ไม่ใช่ดินแดนไร้ซึ่งชีวิตเสียทีเดียว ในฤดูร้อนที่มีระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมทุ่งทุนดราแห่งนี้จะมีมอส ไลเคน ตะไคร่น้ำ และเบอร์รี่ป่า เจริญอยู่บนพื้นที่เป็นช่วงสั้นๆ ก่อนจะหลับใหลใต้หิมะยาวนานถึง 8 เดือน แต่ถ้าเจาะลงไปที่ใต้ดินถึงแม้จะเป็นฤดูร้อน ในชั้นใต้ดินยังอัดแน่นไปด้วยน้ำแข็ง นับเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่พืชเล็กๆ สามารถเติบโตได้หลังหิมะละลาย
ผ่านจากทุ่งทุนดราก็ถึงปลายทางของเราคือหมู่บ้านชาวประมงเก่าเทอริเบอก้า จริงๆจะว่าหมู่บ้านชาวประมงเก่าก็อาจไม่ถึงขนาดนั้นเพราะเทอริเบอกาถูกสร้างเป็นท่าเรือขนส่ง ทำประมงในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงศตวรรษที่ 20 ในตอนหลังท่าเรือขนส่งถูกย้ายไปมูร์มันสค์เพราะการขนส่งสะดวกกว่า คนงาน ชาวประมงที่เทอริเบอกาจึงต้องย้ายไปมูร์มันสค์ทำให้เทอริเบอกาเหลือประชากรอยู่ไม่กี่ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ความเจริญเมื่อครั้งเป็นเมืองท่าปรากฏเป็นที่อยู่อาศัย ตึกรามที่ตอนนี้แทบไม่มีผู้อาศัย
ที่เทอริเบอกาเรากำลังมุ่งหน้าสู่พิกัด N69.20508 E35.06737o น้ำตกแบตเทอเร (Baterey waterfall) ซึ่งถือเป็นพิกัดไกลมากจากมูร์มันสค์และเป็นแผ่นดินใกล้ขั้วโลกเหนือ เราต้องเปลี่ยนยานพาหนะจากยนต์เป็นสโนว์โมบิล (Snowmobile) ช่วงที่ไปเจอพายุหิมะกระหน่ำ เกร็ดหิมะเล็กๆ พัดใส่หน้าจนลืมตาไม่ขึ้นแต่ในเมื่อเราดั้นด้นมาถึงที่นี่ก็ต้องไปให้สุดจนกว่าจะไปไม่ได้ เมื่อไปถึงบริเวณน้ำตก สภาพอากาศทำให้จินตนาการถึงน้ำตกไม่ออกเลย แต่ที่แน่ๆ เลยจากอ่าวตรงนี้ไปที่สุดสายตาที่ไหนสักแห่งที่นั่นคือขั้วโลกเหนือ ให้ความหนาวพัดกระหน่ำขนาดไหนมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องยอม รูปที่ถ่ายออกมาเลยดำทะมึนเพราะหิมะและลมที่ซัดเข้าฝั่งตลอดเวลา
ใช้เวลาอยู่ที่น้ำตกแบตเทอเรไม่นานเพราะกลัวว่าพายุจะพัดกระหน่ำจนปลิวออกทะเลไปไกล สถานที่ถัดมาก็ถือว่าไกลสุดสำหรับเราผู้มาเยือนคือหาดไข่มังกร (Stone beach) ที่ในฤดูหนาวจะจมอยู่ใต้กองหิมะ เป็นชายหาดที่มีหิมะปกคลุมจนขาวโพลน ที่นี่แม้หิมะจะซัดกระหน่ำรุนแรงแต่น่ากลัวน้อยกว่าที่น้ำตก เพราะอย่างมากก็พัดเราตกทะเลไป ไม่ใช่พัดเราตกเหวเช่นที่น้ำตกแบตเทอเร
ถึงอากาศจะหนาวติดลบเกือบลบสามสิบองศาแต่ทัศนียภาพลึกลับชวนหลงใหลก็ทำให้ใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงในการดื่มด่ำบรรยากาศ ท้ายสุดอากาศปวดร้าวที่มือจากอากาศหนาวกัดกร่อน ทำให้ต้องกลับมาตั้งหลักที่ร้านอาหารแห่งเดียวของเทอริเบอกา ชื่อ Teriberskiy beach recreation center เชื่อว่า ในช่วงที่เมืองนี้ยังเป็นเมืองท่า ปลาจากทะเลบาเรนท์ต้องมาขึ้นฝั่งที่นี่มากมาย แต่ในศตวรรษนี้ ร้านอาหารร้านเดียวของที่นี่จึงมีเมนูอาหารน้อย อีกทั้งในช่วงฤดูหนาวจัดการขนวัตถุดิบมาจากเมืองมูร์มันสค์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การได้เข้ามาพักจิบชาร้อน และอาหารไม่กี่อย่างเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับนักเดินทางแล้ว
ที่นี่เองที่เราจะใกล้ชิดชายหาดมากที่สุด เรียกว่า Teriberka beach เลยก็ว่าได้ ในฤดูหนาวจัดนอกจากหิมะขาวโพลนแล้ว ชายหาดแห่งนี้ยังมีก้อนน้ำแข็งซัดเข้าหาดมาตกค้างที่ชายหาดแทบจะตลอดเวลา ถึงแม้จะเป็นความน่าอัศจรรย์แต่ในช่วงหนาวจัดการที่มีน้ำแข็งมากมายซัดเข้าฝั่งก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าน้ำแข็งเหล่านี้หลุดมาจากอาร์กติกหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นภาวะโลกร้อนก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ถึงแม้อากาศจะหนาวจนลมหายใจแสบไปหมดเราก็อยากให้หนาวกว่านี้อีกถ้าบรรดาก้อนน้ำแข็งเหล่านั้นจะอยู่ในที่ๆ ควรอยู่ไม่ใช่ซัดเข้าหาดและรอละลายเมื่อย่างเข้าเดือนมีนาคม
ค่ำคืนของเทอริเบอร์กากำลังมาเยือน อากาศที่หนาวเหน็บติดลบถึงสามสิบองศาเย็นลงมากกว่าเดิม ค่ำคืนของเทอริเบอกาเงียบสงบ เสียงคลื่นยังซัดเข้าฝั่งพร้อมกับน้ำแข็งตลอดเวลา การได้มาเยือนดินแดนสุดท้ายของมนุษย์ที่ใช้อาศัยตั้งบ้านเรือน และทำกินได้ ก่อนที่บ่ายหน้าสู่ดินแดนแห่งขั้วโลกเหนือบ้านของหมีขาว ให้ความรู้สึกถึงธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ และความพรั่นพรึงในทีที่มนุษย์อย่างเราต้องเกรงกลัว ยามอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่เทอริเบอกาเรากำลังยืนมมองทะเลคลั่งเพื่อเป็นพยานว่าอาร์กติกกำลังเปลี่ยนไป
เรื่องและภาพถ่าย แก้ว การะบุหนิง
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ธงมนต์ จิตวิญญาณแห่งดินแดนหิมาลัย
ชมภาพขั้วโลกเหนือผ่านภาพถ่ายได้ที่ https://www.nationalgeographic.com/adventure/activities/polar-exploration/eric-larson-north-pole-book/