การเกิดขึ้นของ ทะเลทราย ผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ และ ภาวะโลกร้อน

การเกิดขึ้นของ ทะเลทราย ผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ และ ภาวะโลกร้อน

การกลายสภาพเป็น ทะเลทราย นับเป็นอีกหนึ่งผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ (Hydrological Cycle) ภาวะโลกร้อน (Globla Warming) และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมในปัจจุบัน

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) คือ สภาวะเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่แห้งแล้ง จากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกหรือผลจากการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ การกลายสภาพเป็นทะเลทรายยังหมายถึงสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งสูญเสียความชุ่มชื้นเพราะการขาดน้ำเป็นเวลานาน จนส่งผลให้ดินเกิดการแตกระแหง เสื่อมสภาพลง และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของสภาพภูมิอากาศโดยรอบและพืชพรรณต่าง ๆ ที่ปกคลุมอยู่ในพื้นที่

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย

การกลายสภาพเป็นทะเลทรายจึงนับเป็นอีกหนึ่งผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ (Hydrological Cycle) ภาวะโลกร้อน (Globla Warming) และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสมในปัจจุบัน

ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวะการกลายสภาพเป็นทะเลทราย

  • สภาพภูมิอากาศ : โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝน การคายน้ำ และอุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อภาวะการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ทั้งการสูญเสียความชื้นในดิน (Soil Moisture) การสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลาย (Soil Erosion) หรือแม้แต่การสูญเสียแร่ธาตุในดินที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมในท้ายที่สุด (Soil Degradation)
  • ความเสื่อมโทรมของดินตามธรรมชาติ : การชะล้างพังทลายของดินและการผุพังจากกระแสลมและคลื่นน้ำ (Weathering) ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียคุณสมบัติของดินในด้านต่าง ๆ ทั้งในทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ
  • การกระทำของมนุษย์ : มีกิจกรรมมากมายที่ถูกดำเนินไปอย่างไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียสมดุลภายในระบบนิเวศ ความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพภูมิอากาศขนาดย่อม (Micro-Climate) ในพื้นที่ เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรหรือเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมีในปริมาณมาก และการเร่งสร้างผลผลิตโดยปราศจากการบำรุงรักษาดินอย่างเหมาะสมล้วนนำไปสู่การสูญเสียธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดิน และกลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกลายสภาพเป็นทะเลทรายในแต่ละพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น

สถานการณ์การกลายสภาพเป็นทะเลทรายของโลกและผลกระทบ

ปัจจุบันมีประชากรราว 1 พันล้านคนทั่วโลกที่ประสบกับภัยพิบัติจากความแห้งแล้งและได้รับผลกระทบจากการกลายสภาพเป็นทะเลทรายที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ (กว่า 100 ประเทศ) โดยเฉพาะในแทบแอฟริกาและเอเชียที่มีประชากรส่วนใหญ่พึ่งพาหาเลี้ยงชีพจากการทำเกษตรกรรม

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย

ถึงแม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของดินจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ตามสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศของโลก แต่สาเหตุหลักที่นำไปสู่ปัญหาดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนมาจากการบริหารจัดการน้ำและที่ดินอย่างไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การผันน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรเกินควรในอุซเบกิสถานและคาซัคสถานที่ส่งผลให้ทะเลอารัล (Aral Sea) ซึ่งเป็นทะเลปิดที่มีพื้นที่กว่า 68,000 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำลดลงจนกระทั่งเหลือทิ้งไว้เพียงทะเลน้ำเค็มขนาดเล็กที่คร่าชีวิตพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตโดยรอบเกือบทั้งหมด รวมไปถึงหมู่บ้านชาวประมงที่เหลือทิ้งไว้เพียงเศษซากปรักหักพัง

หรือการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วในเขตพื้นที่ซาเฮล (Sahel Region) ของแอฟริกา ซึ่งเป็นเขตรอยต่อที่แบ่งเขตทะเลทรายซาฮาราทางทิศเหนือและทุ่งหญ้าสะวันนาทางทิศใต้ มีทั้งการแย่งชิงผลผลิตทางการเกษตร การเก็บเกี่ยวเพื่อการเลี้ยงสัตว์ที่เกินควร (Overgrazing) การทำเกษตรกรรมผิดกฎหมายและการแผ้วถางที่ดินเพื่ออยู่อาศัยจนพื้นที่ดังกล่าวกำลังกลายสภาพเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย
ทะเลอารัล (Aral Sea)

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อยในปัจจุบันยังส่งผลและเร่งให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าสู่การกลายสภาพเป็นทะเลทรายรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 2 องศาเซลเซียส สามารถนำไปสู่การสูญเสียน้ำและภาวะแห้งแล้งมากถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด และเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทรายความสามารถของดินในการสร้างผลผลิตและอาหาร เพื่อรองรับประชากรมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศจะเกิดความไม่เพียงพออีกต่อไป ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกยังไม่รับรู้หรือตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เลย

การกลายสภาพเป็นทะเลทราย
ทะเลสาบชาดที่กำลังหายไป (Lake Chad)

 

ในปัจจุบัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นในหลายประเทศอาจยังไม่เข้าสู่ขั้นภาวะวิกฤตที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอย่างรุนแรง แต่การกลายสภาพเป็นทะเลทรายและความแห้งแล้งอาจเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าเดิมในแต่ละปีและอาจทวีความรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต หากป่าไม้บนโลกยังคงถูกตัดโค่นทำลาย หรือผู้คนส่วนใหญ่ยังมีการบริหารจัดการน้ำและใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม การเสื่อมโทรมและขาดความอุดมสมบูรณ์ของดินจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดความแปรปรวนต่อทั้งสภาพอากาศและวงจรต่าง ๆ ในระบบนิเวศที่จะนำโลกและสังคมของเราเข้าสู่ภาวะความอดอยาก โรคระบาด และปัญหาทางสุขภาพอนามัยอีกมากมาย

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย


อ้างอิง

National Geographic – https://www.nationalgeographic.com/environment/habitats/desertification/

สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – http://www.eric.chula.ac.th/ej/v16y2555/no2/article5.pdf

Earth Observatory – https://earthobservatory.nasa.gov/features/Desertification/desertification2.php

Encyclopaedia Britannica – https://www.britannica.com/science/desertification/Rain-fed-croplands


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ฝนหิมะ (Sleet)

Recommend