โครงการ THEOS – 2 เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่
เพื่อให้ประเทศไทยได้มีระบบวางแผน ระบบการตัดสินใจ ระบบการติดตาม ระบบการวิเคราะห์ และระบบการรายงานข้อมูลสถานการณ์เชิงพื้นที่ของประเทศอย่างละเอียด ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการในทุกพื้นที่ของประเทศมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน โครงการ THEOS – 2
THEOS-2 จะสานต่อภารกิจจากดาวเทียมไทยโชตที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานในเร็วๆ นี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน หรือกล่าวได้ว่าข้อมูลจากดาวเทียมและภูมิสารสนเทศของระบบ THEOS-2 จะช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถวางนโยบายในการพัฒนาประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ THEOS-2 ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่
1. ระบบผลิต บริการภาพถ่าย และภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียมกว่า 30 ดวง
2. ระบบประยุกต์ใช้งานแผนที่และภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียมตามภารกิจของหน่วยปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้งานภูมิสารสนเทศจากดาวเทียม
4. การพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างดาวเทียมและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ รวมถึงการพัฒนาดาวเทียมเล็กที่วิศวกรดาวเทียมไทยร่วมพัฒนา และถือเป็นนวัตกรรมอวกาศสัญชาติไทย เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถและพื้นฐานของอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ในอาเซียน
Q : ความเป็นมาของโครงการ
A : ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการผลักดันเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการพัฒนาประเทศ GISTDA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องเทคโนโลยีดาวเทียม จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาประเทศด้วย และปัจจุบัน ดาวเทียมไทยโชตได้ปฏิบัติงานเกินอายุการใช้งานที่ประเมินไว้แล้ว จึงจำเป็นต้องมีดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน
เป้าหมายหลักสำคัญของโคงการ THEOS -2 เพื่อพัฒนาและต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆ และปฏิรูประบบตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่ของประเทศ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาและนำส่งดาวเทียม การพัฒนาระบบผลิตภาพถ่ายและบริการภูมิสารสนเทศ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมและบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงระบบประยุกต์การใช้งาน 6 ด้านได้แก่ ด้านน้ำ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ ด้านความมั่นคง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการจัดการเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดความต่อเนื่องจากการประยุกต์ใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
Q : การศึกษาผลกระทบก่อนเริ่มโครงการ THEOS-2
A : ก่อนเริ่มโครงการ GISTDA ได้ศึกษาผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบมาแล้ว โดยการใช้ประโยชน์จากโครงการ THEOS-2 สามารถนำมาประยุกต์ได้โดยตรง ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับนโยบายของประเทศ
โครงการ THEOS-2 เป็นการพัฒนาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำคือ ตัวดาวเทียมและการนำส่ง กลางน้ำคือ ระบบคลังข้อมูลและบริการภาพถ่าย และผลิตภัณฑ์เพิ่มค่าที่ได้จากการแปลภาพถ่ายดาวเทียม และปลายน้ำคือ ระบบประยุกต์ใช้งานของหน่วยงานตามภารกิจต่าง ๆ ของประเทศ
นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานวิจัย และสร้างนวัตกรรมรวมถึงผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมของประเทศ และจะนำไปสู่ผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจอวกาศมากขึ้น
GISTDA ได้ความต้องการของผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
1. กลุ่มผู้ใช้ที่ต้องการภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงเพื่อวางแผนบริหารจัดการด้านต่างๆ ซึ่งดาวเทียมหลักของ THEOS-2 สามารถถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 เซนติเมตรที่อยู่บนพื้นโลกได้
2. กลุ่มผู้ใช้ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอุตาสกรรมการบินและอวกาศ และมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ เป็นต้น
3. ผู้ใช้ที่ต้องการข้อมูลจากแอปพิลเคชันอันเกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2
ในโครงการ THEOS-2 ประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง และดาวเทียมเล็ก 1 ดวง สถานีควบคุมภาคพื้นดิน โรงงานประกอบดาวเทียม AIT อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แอปพลิเคชัน และระบบ Actionable Intellegence Policies หรือ AIP รวมถึงซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และทรัพยากรบุคคลที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการทำงานด้านเทคโนโลยีดาวเทียม
Q : ความคิดเห็นจากระดับนโยบาย
A : นางสาวระวีวรรณ นุชประมูล ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นมีความเห็นจากมิตินโยบายคือ โครงการ THEOS-2 เป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติในช่วงนั้น จึงมีข้อคิดเห็นว่าควรเป็นโครงการของประเทศ เพื่อสานต่อภารกิจจากดาวเทียมไทยโชตที่หมดอายุการใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศ อย่างต่อเนื่องในทุกด้าน
หน่วยงานระดับนโยบายอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีความสำคัญมากคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งโครงการ THEOS-2 ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาความเหมาะสม ความคุ้มค่า และประโยชน์ที่ครอบคลุมในเชิงพัฒนา โดยคณะกรรมบริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้คำแนะนำต่างๆ และพิจารณากันอย่างหนัก และเสนอข้อคิดเห็นสำคัญๆ ดังนี้
1. การใช้ประโยชน์ให้ต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุม สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง
2. พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ
3. สร้างการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน ให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าชิ้นส่วนเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น
หลังจากนั้น เมื่อโครงการได้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว ทางคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบกับความคิดเห็นของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ไปใช้ประโยชน์
กระบวนทั้งหมดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อปีเดือนมีนาคมปี 2560 จากนั้น GISTDA จึงได้ดำเนินกระบวนการจัดจ้างผู้ผลิต โดยมีผู้ประกอบเสนอพิจารณาเข้ามา 5 บริษัท และคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างได้เห็นชอบพิจารณาเลือกบริษัท AIRBUS เพื่อผลิตดาวเทียม THEOS-2 รวมทั้งเป็นบริษัทที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรไทย คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือกด้วยเหตุผลด้านความเหมาะสม คุ้มราคา และความเป็นมืออาชีพในธุรกิจการบินอากาศ และการบินอวกาศ รวมถึงเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
Q : การสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ
A : ดร.เชาวลิต ศิลปทอง ที่ปรึกษาของ GISTDA กล่าวว่า โครงการ THEOS-2 ได้เริ่มดำเนินการมาก่อนที่ พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จะบังคับใช้ ดังนั้น การกำหนดวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้างจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร GISTDA ซึ่งคณะกรรมการบริหารก็ได้ให้ความเห็นชอบต่อ Instructions To Bidders หรือ ITB ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้มีการประกาศและจัดประชุมเพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามแก่ผู้ซื้อซองทุกรายไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560
เนื่องจาก โครงการ THEOS-2 เป็นโครงการพัฒนาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในหลายด้าน และไม่ได้มีเป็นแบบสำเร็จรูปในท้องตลาด แต่ต้องพัฒนาและบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ที่มีความเฉพาะสำหรับประเทศไทย GISTDA จึงได้ใช้แนวทางการจัดหาโดยวิธีประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Competitive Bidding: ICB) ซึ่งเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนจากทุกประเทศที่มีศักยภาพสามารถเข้าแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม GISTDA มีเจตนารมณ์ในการทำงานตามหลักความโปร่งใส จึงได้เลือกสมัครเข้าโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นนโยบายภาคสมัครใจของรัฐบาล เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ภายใต้ข้อตกลงคุณธรรมได้สอบถามและขอข้อมูลของโครงการฯ ในแง่มุมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง GISTDA ไม่เคยเพิกเฉย และได้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริงในทุกประเด็น รวมทั้งให้ความร่วมมือทุกครั้งในการมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแก่คณะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก เนื่องจากอาจจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
นับตั้งแต่การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 GISTDA ก็เริ่มเป็นที่กล่าวถึงเกี่ยวกับการใช้งบประมาณโครงการฯ ซึ่ง GISTDA ขอชี้แจงว่า โครงการฯ ได้รับการอนมุติตั้งแต่ปี 2018 ก่อนเหตุการณ์ระบาดใหญ่ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้ ซึ่งงบประมาณในโครงการฯ ได้ถูกจัดสรรโดยเป็นไปตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการ
Q : ความคืบหน้าของโครงการ THEOS-2
A : ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักโครงการ THEOS-2 กล่าวว่า ปัจจุบัน การดำเนินโครงการ THEOS-2 มีความคืบหน้าไปมาก ตอนนี้สำเร็จไปกว่าร้อยละ 80 ของแผนงานที่วางไว้แล้ว
โดยการดำเนินงานของระบบ THEOS-2 นั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การพัฒนาแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศจากภาพถ่ายดาวเทียม และส่วนที่สองคือการสร้างดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมหลัก 1 ดวง ผลิตโดยบริษัท AIRBUS และดาวเทียมเล็กอีก 1 ดวง โดยขณะนี้ ดาวเทียมหลักอยู่ระหว่างการประกอบและทดสอบดาวเทียมให้เรียบร้อย และในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เริ่มตรวจสอบความพร้อมของดาวเทียมเพื่อการนำส่งไปปฏิบัติการบนอวกาศ
สำหรับดาวเทียมเล็ก ขณะนี้อยู่ในขั้นของการตรวจสอบระบบก่อนนำไปทดสอบด้านสภาวะแวดล้อมในการทำงานจริง (Environment Test) ซึ่งเมื่อทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว ดาวเทียมเล็กจะถูกส่งมาทดสอบเพิ่มเติมที่อาคารประกอบทดสอบดาวเทียม หรืออาคาร AIT อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
Q : การทำงานของวิศวกรดาวเทียมไทยในต่างประเทศ
A : ดาวเทียมเล็กจะเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทยที่มีมาตรฐานในระดับ industrial grade ที่สร้างโดยทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยกว่า 20 คน ซึ่งได้ร่วมออกแบบกับทางบริษัท Surrey Satellite Technology Ltd. สหราชอาณาจักร และสร้างตัวดาวเทียมที่มีขนาดประมาณ 100-110 กิโลกรัม โดยมีบริษัทเอกชนสัญชาติไทย ที่ผลิตอุปกรณ์การบิน ได้เข้ามามีบทบาทการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมด้วย โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ
สิ่งสำคัญที่ทีมวิศวกรดาวเทียมของไทยได้รับในครั้งนี้ก็คือ เทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางด้านอวกาศจากองค์กรต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และมีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อนำกลับมาถ่ายทอดในประเทศ ซึ่งเป็นการ training for the trainer ในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อเสริมสร้างกำลังคนไว้รองรับการพัฒนาด้านอวกาศ ทำให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านอวกาศได้เอง โดยใช้บุคลากรไทยและองค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นเองโดยคนไทย
นอกจากภารกิจของดาวเทียมเล็กในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศข้างต้นแล้ว ดาวเทียมเล็กดวงนี้ยังทำหน้าที่เสริมการบันทึกภาพบนพื้นผิวโลกให้กับดาวเทียมดวงต่างๆ ที่ GISTDA ให้บริการ เป็นการเพิ่มฐานข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ ดาวเทียมดังกล่าวจะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศภายในปี 2022 และจะมีอายุการใช้งานอย่างน้อย 3 ปี
Q : ประเทศจะได้อะไรจากโครงการ THEOS-2
A : ดร.พรเทพ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของโครงการ THEOS-2 คือ
1. ประเทศไทยจะได้ใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยีดาวเทียมอย่างต่อเนื่องที่จะเป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการวางแผนพัฒนาประเทศ
2. ระหว่างการพัฒนาและสร้างดาวเทียมฯ ประเทศไทยได้ส่งบุคลากรเข้าร่วมเรียนรู้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดาวเทียม เราจึงได้บุคลากรที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นในการทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ นอกจากนี้ยังมีบริษัทไทยที่เข้าร่วมการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมดวงเล็กในโครงการฯ
3. หลังจากการปล่อยดาวเทียมไปประจำการบนอวกาศแล้ว ประเทศไทยจะมีข้อมูลภูมิสารสนเทศ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงนโยบายของประเทศ และการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเชิงพื้นที่
4. ในปัจจุบัน เรื่องของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงถึงประชาชนทุกคน ดังนั้น โครงการ THEOS-2 จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
และในวันนี้ ดาวเทียมไทยโชตเริ่มอ่อนแรง จึงทำให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของไทย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นที่เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์จากทุกภาคส่วน การพัฒนาบุคลากรในประเทศ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในหลากหลายด้าน และสอดรับกับนโยบาย BCG economy เพื่อประโยชน์ทั้งหมด เป็นของชาติและประชาชน
สัมภาษณ์และเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ภาพถ่าย GISTDA
ติดตามความคืบหน้าของโครงการ THEOS-2 ได้ที่ gista.or.th
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : การกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Geographic Coordinate System)