ไม่ว่าชะตาท้ายสุดของหมู่เกาะมัลดีฟส์จะเป็นอย่างไร วิถีชีวิตของ ชาวมัลดีฟส์ จะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
หมู่เกาะปะการังนับพันร้อยเรียงท่ามกลางทะเลอินเดีย ต้นปาล์มเรียงรายบนหาดทรายสีขาว หลายหาดเป็นที่ตั้งของวิลล่ารีสอร์ทและท่าเรือไม้ยื่นเรียงรายลงสู่น้ำทะเล ในน้ำทะเลใสมักเป็นที่พบเห็นปลาโลมาและปลาน้อยอื่นๆ เวียนว่ายอยู่เสมอ หมู่เกาะปะการังหรืออะทอลล์ (atoll) จำนวน 26 หมู่เกาะนี้เป็นที่รู้จักในนามของ “ประเทศมัลดีฟส์” นักท่องเที่ยวอาจรู้จักหมู่เกาะนี้สำหรับรีสอร์ทพักร้อนบนชายหาด แต่ภาพลักษณ์นั้นอาจถูกบดบังเมื่อมัลดีฟส์ อาจกลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ต้องจมหายไปใต้น้ำทะเล
“ความแตกต่างระหว่าง 1.5 และ 2 องศาเซลเซียสก็เป็นจุดจบของมัลดีฟส์ได้” เป็นคำกล่าวของประธานาธิบดีอีบราฮิม โมฮัมเหม็ด โซลีห์ในประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสกอตแลนด์เมื่อปีที่ผ่านมา และเป็นเพียงหนึ่งในหลายสัญญาณเรียกร้องของ ชาวมัลดีฟส์ ให้เหล่าผู้นำโลกจริงจังกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีมัลดีฟส์โมฮาเหม็ด นาชีดเคยจัดการประชุมคณะรัฐมนครีใต้ท้องทะเลและเคยเสนอแผนอพยพ ชาวมัลดีฟส์ ไปยังออสเตรเลียมาแล้ว
การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรับมือกับวิกฤตของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น รัฐบาลมัลดีฟส์ใช้เงินจำนวนมหาศาลในการก่อสร้างเกาะเทียมยกระดับซึ่งเป็นที่อาศัยให้กับประชากรมัลดีฟส์ได้ราว 555,000 คน และมีบริษัทออกแบบชาวดัตช์วางแผนสร้างบ้านบนทุ่นลอยน้ำในบริเวณรอบเมืองหลวงของมัลดีฟส์อีกด้วย
วิกฤตที่ชาวมัลดีฟส์กำลังเผชิญอาจไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาระดับประเทศหรือเพียงภูมิภาค แต่เป็นสัญญาณเตือนให้กับทั้งโลกต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ คุณธอยบา สาอีดห์ (Thoiba Saeedh) นักมานุษยวิทยากังวลถึงวิถีชีวิตชาวมัลดีฟส์ที่ผ่านการหล่อหลอมมากว่าสองพันปีอาจสูญหายไปในภาวะการปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤตนี้ หากเป็นเช่นนั้น ชาวมัลดีฟส์อาจสูญเสียอัตลักษณ์และความเป็นตัวตนของพวกเขาก่อนที่จะสูญเสียบ้านเกิดของพวกเขาเสียอีก
เกาะปะการังที่ก่อตัวในยุคก่อนประวัติศาสตร์
หมู่เกาะมัลดีฟส์มีจุดกำเนิดตั้งแต่ก่อนไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ เริ่มจากการที่เปลือกโลกแผ่นอินเดียค่อยๆ เคลื่อนตัวขึ้นทางเหนือจนเกิดรอยแยกบนเปลือกโลกซึ่งถูกขึ้นแทรกโดยยอดภูเขาไฟ เมื่อเวลาผ่านไปยอดภูเขาไฟเหล่านี้ค่อยๆถูกกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะปะการัง ในปัจจุบันทั้งประเทศมีพื้นที่ทางบกอยู่เพียงแค่ 300 ตารางกิโลเมตร มีเพียงไม่กี่เกาะที่มีขนาดใหญ่กว่า 760 ไร่
อย่างไรก็ตามด้วยความพิเศษของเกาะปะการังซึ่งขยายและหดตัวอยู่บ่อยๆ บวกกับสันทรายที่ก่อตัวตามคลื่นทะเลทำให้ตัวเลขพื้นที่เหล่านี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อัตลักษณ์ของชาวมัลดีฟส์มีรากลึกอยู่บนพื้นฐานในความเป็นหนึ่งเดียวกันของเกาะและน้ำทะเล “เมื่อฉันพูดถึงเกาะ ฉันหมายถึงทะเลด้วยเหมือนกัน สำหรับเราแล้วสองสิ่งนั้นไม่ได้แยกออกจากกัน” คุณซาอีดห์กล่าว
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าประเทศมัลดีฟส์จะจมใต้น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นภายในศตวรรษนี้ เมืองหลวงมาเลของมัลดีฟส์รวมถึงเกาะส่วนใหญ่ของประเทศมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1 เมตร การก่อสร้างเกาะเทียม “ฮูลูมาเล“ ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 จะมีการยกระดับขึ้นเป็น 2 เมตร ทรายนับล้านๆตันถูกขุดลอกเพื่อนำมาถมในทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่ง (lagoon) เพื่อแปรสภาพที่ดินเป็นเกาะเทียมนี้ขนาดราว 2,500 ไร่ โดยคุณอิสเมล ชาน ราชีด (Ismail Shan Rasheed) นักวางกลยุทธ์ของบริษัท Hulhumalé Development กล่าวว่าเกาะเทียมนี้จะเป็นที่อาศัยได้ถึง“สองในสาม”ของประชากรในประเทศ
การก่อสร้างและพัฒนาบนเกาะฮูลูมาเลยังคงดำเนินการอยู่ ซึ่งระยะแรกของโครงการดำเนินการเสร็จและพร้อมเป็นที่อยู่อาศัยให้กับชาวมัลดีฟส์แล้ว ตัวคุณราชีดย้ายมาอาศัยบนเกาะเมื่อปี พ.ศ. 2556 ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างคับแคบในอพาร์ทเม้นท์บนเกาะมาเลซึ่งไม่มีพื้นที่ให้ลูกๆ ของเขาวิ่งเล่นและลูกสาวคนเล็กที่เป็นโรคหอบหืดก็ต้องทนอยู่กับมลพิษการจราจรในเมืองมาเล
คุณไอชา มูซา (Aishah Moosa) พร้อมน้องสาวและหลานๆ ของเธอย้ายเข้ามาอาศัยบนเกาะในย่านตึก 16 ตึก ตึกละ 24 ชั้นซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ล่าสุดของโครงการก่อสร้างเกาะเทียมระยะที่ 2 บริเวณรอบๆยังคงล้อมรอบไปด้วยเนินกรวด ลานจอดรถที่ยังสร้างไม่เสร็จและกองขยะต่างๆ สำหรับคุณมูซา การใช้ชีวิตบนตึกไม่สามารถแทนที่การใช้ชีวิตอยู่บนหมู่เกาะปะการังได้ “เราไม่ชินกับการอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง เราอยากใช้ชีวิตอยู่บนเกาะปะการังแต่มันไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีสถานศึกษา เราต้องมาอาศัยอยู่ในตึกนี้เพราะเราไม่มีตัวเลือก” คุณมูซากล่าว
แม้การก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์แต่เกาะฮูลูมาเลก็มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทั้งถนน โรงเรียน ตึกอพาร์ทเม้นต์ โรงพยาบาลและมีสะพานเชื่อมระหว่างเกาะไปยังเมืองมาเล ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเมืองมาเลเป็นจำลองเมืองหนึ่งในเกมอย่าง SimCity
ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง
แม้สถานการณ์ในประเทศจะดูน่ากังวลแต่ปัญหาต่างๆ รวมถึงระดับน้ำทะเลกลับไม่ใช่หัวข้อสนทนาในประจำวันของชาวมัลดีฟส์เลยแม้แต่น้อย พวกเขาปล่อยให้มันเป็นหน้าที่ของนักเคลื่อนไหวและนักการเมืองต่างๆ ด้วยความที่มัลดีฟส์เป็นประเทศมุสลิม ชาวมัลดีฟส์หลายคนเชื่อว่าอนาคตนั้นจะเป็นสิ่งที่อัลลอฮ์กำหนดเอง
ภัยพิบัติทางทะเลอย่างสึนามิในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งคร่าชีวิตของผู้คนไปกว่า 100 ชีวิตทำให้ชาวมัลดีฟส์เข้าใจและตระหนักถึงความอันตรายของทะเลอยู่เสมอ
“เราพัฒนา แล้วก็ตู้ม!” คุณ Fayyaz Ibrahim ในช่วงวัยห้าสิบปีเล่าถึงช่วงที่รถบนถนนยังบางตาและเขาต้องพาครอบครัวย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำในช่วงปี พ.ศ. 2517 ในปัจจุบัน รายได้จากการท่องเที่ยวทำให้เมืองมาเลกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีผู้คนแออัดที่สุดในโลกโดยมีผู้อาศัยถึง 193,000 คน ถนนในเมืองเต็มไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์ ตึกสูงติดเครื่องระบายอากาศล้อมรอบด้วยอุปกรณ์นั่งร้าน คอนกรีตจากสิ่งปลูกสร้างขยายพื้นที่ลงทะเล เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลขนาดยักษ์ที่ผลิตไฟฟ้าในเมือง ระบบอุตสาหกรรมแยกน้ำออกจากเกลือทำน้ำประปา เรือบรรทุกขยะไปทิ้งบนเกาะบริเวณรอบ เตตระพอด (Tetrapod) รายรอบเป็นแนวกั้นน้ำ และโครงสร้างอื่นๆในเมืองอีกมากมายทั้งหมดอยู่ในเมืองมาเลซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่น้อยกว่าหนึ่งตารางกิโลเมตร อย่างไรก็ตามชาวมัลดีฟส์ยังมีปัญหาการว่างงานอัตราสูงถึงร้อยละ 15 ซึ่งชาวเมืองหวังว่าการศึกษาที่มีคุณภาพและการจ้างงานที่มาพร้อมกับฮูลูมาเลหรือเมืองแห่งความหวัง (City of Hope) จะช่วยบรรเทาปัญหาในประเทศได้
ความเข้าใจในความไม่แน่นอนของชาวมัลดีฟส์
การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นทุกที่ในมัลดีฟส์ วิถีชีวิตดั้งเดิมจากการย้ายถิ่นฐานจากเกาะไปสู่เกาะเพื่อหางาน แหล่งอาหาร แหล่งการค้าและที่อยู่ใหม่กำลังถูกละทิ้งไป เกาะเฟลิดูทางตอนใต้ของเกาะมาเลกำลังเผชิญกับน้ำทะเลระดับสูงขึ้นเหมือนเกาะอื่นๆ คุณ Abdul Shakoor Ibrahim ชายอายุ 72 ผู้เกษียณจากงานรับราชการในมาเลแล้วย้ายกลับมายังเกาะเฟลิดูบ้านเกิดของเขากล่าวโทษว่าการท่าเรือบนเกาะปิดกั้นการไหลตามธรรมชาติของคลื่นทะเลทำให้ทรายกองอยู่ที่ที่ไม่ควรจะเป็น คุณสาอีดห์กังวลกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตต่างๆ ที่ชาวมัลดีฟส์กำลังเผชิญ
อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่าชาวมัลดีฟส์ทุกคนเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของชีวิตบนเกาะของพวกเขาเป็นอย่างดี “เราอยู่ร่วมกับทะเล สิ่งมีชีวิตในทะเลรวมถึงความเสี่ยงและอันตรายต่างๆ ของมันด้วย แต่ความคิดที่ว่าหมู่เกาะจะคงอยู่ไปตลอดนั้นมันขัดแย้งกับธรรมชาติ”
ภาพ MARCO ZORZANELLO
แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย