คิริบาตี กำลังทวนกระแสน้ำทะเลที่กำลังกลืนประเทศ

คิริบาตี กำลังทวนกระแสน้ำทะเลที่กำลังกลืนประเทศ

ระดับทะเลที่สูงขึ้นสร้างความหวั่นวิตกว่าน้ำจะท่วม คิริบาตี ทว่าจิตวิญญาณของชาวเกาะยังเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น

ขณะนี้ โลกของเรากำลังอยู่ในภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยสหประชาชาติเตือนว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลให้น้ำแข็งที่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้น ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มขึ้นจากการณ์เป็น 2 เมตร

และถ้ายังไม่มีมีการลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ซึ่งเพิ่มจากการคาดการณ์เมื่อปี 2013 ที่ว่า สถานการณ์โลกร้อนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจะส่งผลระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นระหว่าง 52 – 98 ซม. ในปี 2100

รายงานจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ระบุว่า ปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลในมีการสูญเสียที่ดินประมาณ 1.79 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเท่ากับขนาดประเทศลิเบีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ราว 187 ล้านคน บางส่วนของกรุงลอนดอน ลอสแอนเจลิส นครรีอูดี จาเนรู รวมไปถึงเซี่ยงไฮ้ จะจมอยู่ใต้น้ำ

อย่างไรก็ตาม วิธีการบรรเทาปัญหาน้ำทะเลที่ขึ้นสูงอย่างเร่งด่วน คือการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องไปถึงหลายทศวรรษข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้ราว 5%

ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น หนึ่งในผู้ที่รับผลกระทบที่เจ็บปวดที่สุด คือชาวเกาะในคิริบาตี ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนตอนกลาง ของทวีปโอเชียเนีย

*******************************************

คิริบาตี, ระดับน้ำทะเล
บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้ากระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ที่ถมขึ้นจากทะเลข้างสนามบินบนเกาะตาระวา ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเกาะปะการังวงแหวนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของคิริบาตี พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะตาระวาสูงกว่าระดับทะเลไม่ถึง 2.5 เมตร และเสี่ยงต่อการถูกนํ้าท่วมเมื่อระดับนํ้าในมหาสมุทรสูงขึ้น

ทุกวันนี้ ชาวคิริบาตีอยู่กับความเป็นจริงของมาราวา (ชื่อเรียกเทพเจ้า “ทะเล” ของชาวคิริบาตี) ที่เพิ่มระดับขึ้น นี่คือช่วงเวลาของ บิบิตากิน คานวน โบง หรือ “ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศที่ยาวนานหลายวัน” วลีในภาษาคิริบาตีที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)  ชาวเกาะอยู่กันอย่างหวาดหวั่นและไม่มั่นใจกับวลีนี้

จะไม่ให้หวาดหวั่นได้อย่างไรเล่า ในเมื่อโลกพรํ่าบอกพวกเขาว่า ประเทศเกาะซึ่งมีพื้นที่ลุ่มตํ่าอย่างบ้านของพวกเขาจะจมนํ้าในไม่ช้า บรรดาผู้นำของพวกเขายังบอกเองว่า คิริบาตีซึ่งประกอบด้วยหมู่เกาะปะการัง 33 เกาะ ท่ามกลางความกว้างใหญ่ไพศาลของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางนี้ เป็น “หนึ่งในประเทศซึ่งเปราะบางที่สุดในบรรดาพื้นที่เปราะบางทั้งหลาย” พวกเขาทำนายด้วยว่า
เกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ (atoll) ตาระวาซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไปภายในหนึ่งชั่วอายุคน

คิริบาตี, ระดับน้ำทะเล
หลายครอบครัวจากเกาะปะการังวงแหวนอันห่างไกลของคิริบาตี อพยพโยกย้ายมาสู่ทางใต้ของเกาะตาระวาเพื่อเข้าถึงแหล่งงาน การศึกษา และการสาธารณสุข ส่งผลให้ประชากรที่นี่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 คน บ่อยครั้งครอบครัวที่มาใหม่ถูกบีบให้ไปอาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายขอบซึ่งมักเกิด นํ้าท่วมเมื่อนํ้าทะเลขึ้นสูง

แต่ชาวคิริบาตีจำนวนมากไม่ยอมรับว่า บ้านเกิดของตนกำลังกลายเป็น “ประเทศเกาะที่รอวันอันตรธาน” และพวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากยอมรับชะตากรรม พวกเขาไม่คิดว่าตนเองเป็น “ชาวเกาะที่กำลังจมนํ้า” แต่เป็นลูกหลานของนักเดินทางผู้สืบทอดประเพณีแห่งความทรหดอดทนและการเอาตัวรอดอันน่าภาคภูมิพวกเขาเชื่อว่าสวรรค์ของตนไม่มีทางเลือนหายในเร็ววัน

แต่หมู่เกาะแห่งนี้กำลังเผชิญความยากลำบากอย่างแน่นอน ทะเลทั้งกัดเซาะชายฝั่งและแทรกซึมลงสู่ดิน ทำให้นํ้าในบ่อนํ้ากลายเป็นนํ้ากร่อย ทำลายต้นไม้และพืชผล

ความอุดมสมบูรณ์ของเกาะปะการังวงแหวนอย่างตาระวาขึ้นอยู่กับชั้นนํ้าจืดบางๆที่ลอยอยู่เหนือชั้นหินอุ้มนํ้าเค็ม โดยมีนํ้าฝนคอยเติมเต็มให้ เมื่อระดับทะเลสูงขึ้น แม้ปัจจุบันจะอยู่ที่เพียงปีละไม่กี่มิลลิเมตร แต่มีแนวโน้มว่าอัตราจะเร่งเร็วขึ้น เช่นเดียวกับระดับนํ้าเค็มใต้ดิน ส่งผลให้ปริมาณนํ้าจืดลดลงอย่างน่าวิตก

คิริบาตีเหยื่อรายแรกๆที่สังเวยให้แก่นํ้าเค็มที่รุกคืบเข้ามาคือ บับไบ อาหารพิเศษอย่างหนึ่งในวัฒนธรรมคิริบาตี บับไบ เป็นเผือกขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นตามหนองบึง และอาจใช้เวลามากกว่าห้าปีถึงจะโตเต็มที่ แต่เนื่องจากพืชชนิดนี้ไม่ทนต่อนํ้าเค็มที่รุกลํ้าเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูก ทุกวันนี้ บับไบจึงไม่สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ และสุดท้ายก็อาจหายไปจากวัฒนธรรมอาหารของชาวเกาะ รัฐบาลและองค์กรให้ความช่วยเหลือกำลังช่วยชาวไร่เปลี่ยนไปปลูกพืชประเภทแป้งชนิดอื่นแทน

ชาวคิริบาตีจำนวนมากมองว่า เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมเลยที่ปัญหาสภาพภูมิอากาศซึ่งประเทศของพวกเขากำลังเผชิญอยู่ไม่ได้เกิดจากนํ้ามือของพวกเขา ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา บรรดาผู้นำประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกทั้งตำหนิ โน้มน้าว วิงวอน และพยายามเจรจาให้ประเทศตัวการใหญ่ๆที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดรู้สึกละอายต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศหมู่เกาะเป็นแค่มด ส่วนประเทศอุตสาหกรรมเป็นช้าง เตบูโรโร ตีโต อดีตประธานาธิบดีคิริบาตี ประกาศ เมื่อพูดถึงประเทศของเขาที่แทบไม่ได้สร้างภาระให้โลกด้วยการปล่อยคาร์บอนท่าทีเฉยเมยของประเทศรํ่ารวยเป็นสิ่งที่ชาวคิริบาตียากจะยอมรับได้

คิริบาตี
กระสอบทรายช่วยป้องกันนํ้าทะเลได้น้อยมาก ที่เตไมกู หมู่บ้านสุ่มเสี่ยงแห่งหนึ่งบนเกาะตาระวาใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คลื่นซัดกำแพงนี้ทลายลงและไหลบ่าเข้าไปในแผ่นดิน ทิ้งบ้านช่องที่ถูกนํ้าท่วมดินเค็ม และบ่อนํ้าปนเปื้อนไว้เบื้องหลัง

ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมแพร่ไปทั่วหมู่เกาะปะการังวงแหวนที่สุ่มเสี่ยงจากระดับทะเลสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่ คิริบาตี มัลดีฟส์ หมู่เกาะมาร์แชลล์ โตเกเลา และตูวาลู อดีตนายกรัฐมนตรีของตูวาลูคนหนึ่งชื่อ เซาฟาตู โซปัวกา ถึงกับเปรียบเทียบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็น “รูปแบบการก่อการร้ายที่แทรกซึม บ่อนทำลายเราอย่างช้าๆ”

ถึงกระนั้น ชาวคิริบาตีบางคนกลับไม่ยอมรับโวหารว่า ด้วยการตกเป็นเหยื่อและนัยที่ว่า ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกไร้อำนาจต่อรองใดๆ

“เราไม่ใช่เหยื่อครับ” โตกา ราโกบู ซึ่งทำงานให้บริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งบนเกาะตาระวาบอกผม “เราทำอะไรได้เหมือนกัน เราจะไม่ยอมเป็นผู้พ่ายแพ้หรอกครับ”

คิริบาตี
เรือประมงอับปางลำหนึ่งกลายเป็นที่กระโดดนํ้าของเด็กๆบนเกาะตาระวา ผู้เติบโตขึ้นท่ามกลางภาพและสรรพเสียงแห่งมหาสมุทร เด็กรุ่นนี้รวมทั้งรุ่นต่อๆ ไปจะเผชิญความท้าทายอันยากยิ่งที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากระดับทะเลสูงขึ้น มีภาวะเป็นกรดมากขึ้น และอุ่นขึ้น

แต่คุณจะตำหนิบรรดานักการเมือง รวมถึงอาโนเต ตอง ประธานาธิบดีคิริบาตี ว่าเล่นบทบาทผู้ตกเป็นเบี้ยล่างของ โลกกระนั้นหรือ ในเมื่อการพูดถึงหมู่เกาะที่กำลังจมนํ้าและผู้ลี้ภัยทางสภาพภูมิอากาศ (climate refugee) ทำให้คิริบาตีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ช่างภาพและนักหนังสือพิมพ์เดินทางมายังตาระวาเพื่อรายงานจาก “แนวหน้าของวิกฤติการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

เรื่องราวความยากลำบากที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้ความเห็นใจและเงินช่วยเหลือหลั่งไหลมายังคิริบาตีและบรรดาเกาะใกล้เคียง แต่หากคุณได้ยินได้ฟังเรื่องมหันตภัยทางสิ่งแวดล้อมบ่อยมากพอ คุณอาจคิดว่าไม่น่าจะมีทางเลือกอื่นอีกนอกจากต้องอพยพออกไป

ขณะนี้มีการพูดถึงการย้ายถิ่นกันมาก เราควรจะอยู่หรือไม่ หรือควรจะไปเสีย เราจะถูกบีบบังคับให้ย้ายถิ่นหรือไม่ ถ้าต้องย้าย จะไปที่ใด ไม่มีประเทศไหนเปิดประตูต้อนรับผู้ลี้ภัยทางสภาพภูมิอากาศหรอก

คำถามเหล่านี้ล้วนสร้างความเจ็บปวดให้พวกเขา เพราะเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในภาษาคิริบาตี คำว่า “แผ่นดิน” กับ “ผู้คน” เป็นคำเดียวกัน หากแผ่นดินของคุณหายไป แล้วคุณคือใครกันเล่า

คิริบาตี, ป่าชายเลน
ป่าชายเลนไม่อาจหยุดยั้งมหาสมุทรที่รุกลํ้าเข้ามาได้ก็จริง แต่ลำต้นและรากของต้นไม้ที่โตเต็มที่ช่วยลดการกัดเซาะ และยับยั้งคลื่นพายุซัดฝั่ง มีการนำต้นอ่อนมาปลูกไว้ใกล้สนามบินของตาระวาเพื่อเสริมความแข็งแรงให้ชายฝั่งของลากูน

บางครั้งเราอาจได้ยินคำพูดทำนองคาดหมายว่า คนหนุ่มสาวจะออกจากคิริบาตี ส่วนคนเฒ่าคนแก่เลือกจะอยู่ต่อ แต่หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยกลับเลือกใช้ชีวิตเรียบง่ายบนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษ มากกว่าที่จะไปแสวงหาความรํ่ารวยในต่างบ้านต่างเมือง มันนีเอ ริเคียอัว คุณแม่ยังสาวซึ่งทำงานในกระทรวงสิ่งแวดล้อมของคิริบาตี บอกผมว่า เธออยากทำงานให้ผู้คนของเธอมากกว่าจะไปทำงาน
ให้ประเทศอื่น แม้พ่อของเธอจะหว่านล้อมให้เธอย้ายไปอยู่ใน “ที่ที่สูงกว่านี้”

“ใจหนึ่งฉันก็อยากไปนะคะ” เธอยอมรับ แต่ “คิริบาตีเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับลูกๆของฉัน แม้จะมีภัยคุกคามน่ากลัวพวกนั้นก็ตาม”

เพื่อปกป้องบ้านหลังนี้จากมหาสมุทรที่หิวโหย ชาวเกาะบางคนเริ่มปลูกป่าชายเลน โครงข่ายที่สานกันของระบบรากและลำต้นจะดักจับตะกอนและช่วยบรรเทาความรุนแรงของคลื่นกัดเซาะ แทบไม่มีอะไรอื่นอีกแล้วที่ชาวเกาะจะทำได้เพื่อยึดผืนแผ่นดินของพวกเขาไว้ นอกจากสร้างกำแพงกันคลื่นขึ้นใหม่เมื่อคลื่นโถมทำลายมันลง

ผมคิดว่าป่าชายเลนอาจเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสำหรับประเทศนี้ เพราะเป็นผืนป่าที่หยัดยืนต้านทานพายุและยึดผืนดินไว้ สัญลักษณ์ในปัจจุบันที่ประดับอยู่บนธงชาติของคิริบาตีก็เป็นสิ่งเตือนใจที่ดีเช่นกัน นั่นคือ เอย์เตย์ หรือนกโจรสลัด แต่นกโจรสลัดจะต้องบินตามฝูงปลาที่เป็นอาหาร ถ้าปลาจากไปตลอดกาล เราจะยังเห็นหางแฉกของนกโจรสลัดตัดกับท้องฟ้าของคิริบาตีอีกหรือไม่

แคลร์ อันเตเรีย ผู้ปลูกป่าชายเลนคนหนึ่งซึ่งทำงานในโครงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation program) ของรัฐบาลคิริบาตี บอกว่า ผู้คนที่นี่ต้องสำนึกถึงบทบาทของตนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้บทบาทนั้นจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม และพยายามหาทางแก้ไข “ถึงเราจะมีส่วนก่อปัญหาเพียงน้อยนิดแต่เราก็มีส่วนอยู่ดีไม่ใช่หรือ” เธอบอก

เรื่อง: เคนเนดี วอร์น
ภาพถ่าย: กาดิร์ ฟัน โลเเฮวเซิน


อ่านเพิ่มเติม ผู้คนราว 143 ล้านคนจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากสภาพภูมิอากาศ

Recommend