เมื่อเกิดปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย และภัยแล้ง ผู้คนมักยึดโยงสาเหตุไปยังปรากฏการณ์ เอลนีโญและลานีญา เหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศเพียงหนึ่งปัจจัย ทำให้เกิดภัยธรรมชาติทั้งหมด ได้หรือไม่?
เอลนีโญและลานีญา ( (El Niño and La Niña) เป็นปรากฏการณ์สุดขั้วตรงข้ามของวัฏจักรการหมุนเวียนกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Ocean) ที่เรียกว่า “El Niño – Southern Oscillation” หรือ “เอนโซ” (ENSO) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศโลก
ดังนั้น เมื่อกระแสลมเกิดการเปลี่ยนทิศบวกกับกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเปลี่ยนแปลง จึงก่อให้เกิดปรากฏการณ์สภาวะอากาศแปรปรวนฉับพลันที่เรียกว่า “เอลนีโญ” และ “ลานีญา”
นอกเหนือจากความผันแปรตามฤดูกาลปกติ เอนโซยังเป็นหนึ่งในปัจจัยควา.มแปรปรวนของสภาพอากาศในแต่ละปี โดยส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญในหลายภูมิภาคทั่วโลก
ในปีปกติ ลมสินค้าผลักกระแสน้ำอุ่น และปริมาณน้ำฝน จากตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังอินโดนีเซีย ในทางกลับกัน ช่วงที่เกิดเอลนีโญ ลมสินค้าจะอ่อนแรงลง และสามารถพัดย้อนกลับทิศทางได้ โดยผลักฝนไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน นี่คือเหตุผลที่คนในอินโดนีเซียและออสเตรเลียมักเชื่อมโยงเอลนีโญกับภัยแล้ง ในขณะที่ผู้คนในเปรูเชื่อมโยงเอลนีโญกับน้ำท่วม
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคม เช่น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ไฟป่า และการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วม รายงานทางสาธารณสุขยังพบว่าสภาวะเอลนีโญเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคที่เกดจากพาหะบางชนิด เช่น มาลาเรีย
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปรากฎการณ์เอลนีโญ
นับตั้งแต่ค้นพบปรากฎการณ์นี้ ผู้คนพยายามทำความเข้าใจและอธิบายเอนโซ โดยสรุปผลกระทบหรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ ผู้คนอาจมีแนวความคิดบางอย่างเกี่ยวกับเอลนีโญที่ไม่เป็นความจริงเสมอไป เหล่านี้คือความเข้าใจผิดที่มักยึดโยงถึงปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา
ความเข้าใจผิดข้อที่หนึ่ง : เอลนีโญก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบทั้งหมด
ไฟป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภัยแล้งในออสเตรเลียตะวันออก และอุทกภัยในเปรู มักเกิดขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์เอลนีโญ การรายงานข่าวของสื่อส่วนใหญ่เกี่ยวกับเอลนีโญมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบเชิงลบ
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เอลนีโญยังเกี่ยวข้องกับความถี่ของพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกลดลง อุณหภูมิอุ่นขึ้นในฤดูหนาวทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาเหนือ ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อเครื่องปรับอากาศลดลง
นอกจากนี้ ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนอันอุดมสมบูรณ์ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล อาร์เจนตินาตอนกลาง และอุรุกวัย ส่งผลให้ผลผลิตทางเกษตรในช่วงฤดูร้อนสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
ความเข้าใจผิดข้อที่สอง : เอลนีโญทำให้เกิดภัยพิบัติมากกว่าช่วงเวลาปกติ
แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้เกิดอุทกภัยและภัยแล้งในบางพื้นที แต่ในระหว่างการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ใช้โอกาสนี้สำหรับการเก็บข้อมูลวิจัย และสร้างรูปแบบจำลองเกิดภัยธรรมชาติในอนาคต เพื่อวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ
ความเข้าใจผิดข้อที่สาม : เอลนีโญและลานีญาส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลก
อันที่จริง เอลนีโญและลานีญาส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเพียงร้อยละ 25 ของพื้นผิวโลกในทุกฤดูกาล และน้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่บนดินในช่วงเวลาที่สภาวะเอนโซกำลังเกิดขึ้น
ความเข้าใจผิดข้อที่สี่ : เราควรกังวลช่วงเอลนีโญมากกว่าช่วงที่เกิดลานีญา
เงื่อนไขแต่ละชุดมาพร้อมกับคุณสมบัติและความเสี่ยงที่แตกต่างกัน โดยทั่วไป เอลนีโญเกี่ยวโยงกับความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้นในเขตร้อน ในขณะที่ ลานีญาส่งผลให้มีแนวโน้มเกิดความแห้งแล้งในพื้นที่ละติจูดตอนกลาง
ความเข้าใจผิดข้อที่ห้า : เอลนีโญและลานีญามีบทบาทโดยตรงต่อการเกิดพายุ และเหตุการณ์ด้านสภาพอากาศอื่นๆ
เราไม่สามารถชี้ชัดไปที่สภาอากาศที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงเวลาที่เกิดเอลนีโญหรือลานีญา เช่นเดียวกับที่เราไม่สามารถบ่งชี้ว่าพายุเฮอริเคนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเกิดเอนโซมักส่งผลต่อความถี่หรือความแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศ สิ่งที่เราพูดได้จากบันทึกสภาพภูมิอากาศก็คือ ตลอดฤดูกาลที่มีสภาพอากาศเอลนีโญหรือลานีญา บางภูมิภาคมีปริมาณน้ำฝนมากหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
ความเข้าใจผิดข้อที่หก : เอลนีโญและลานีญาเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะโลกร้อน
เอลนีโญและลานีญาเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิอากาศของโลก และอาจเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นมาหลายล้านปีแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอาจส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของเอนโซ แต่การวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate
https://ggweather.com/enso/enso_myths.htm
https://ccafs.cgiar.org/fr/node/49066