เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ น้ำมันปาล์ม

เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ น้ำมันปาล์ม

เรื่องจริงที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับ น้ำมันปาล์ม

ในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของกาบอง ผืนป่าดึกดำบรรพ์แผ่ยาวหลายร้อยกิโลเมตร ฉันก้าวจากเรือลำแคบๆขึ้นบนตลิ่งแม่น้ำอึงกูนีเยกับคนงานสองสามคนของโอลัม บริษัทธุรกิจการเกษตรซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่จากสิงคโปร์ เราเดินตามรอยช้างเข้าไปในป่า ผ่านต้นไม้โบราณสูงตระหง่าน เมื่อเดินลึกเข้าไป เราพบมะม่วงป่า เมล็ดโคลา เปลือกไม้ที่มีกลิ่นเหมือนกระเทียม ในที่โล่งกลางป่าอาบแสงอาทิตย์เราเห็นปลากระโดดอยู่ในแอ่งน้ำ ต้นไม้รอบลานโล่งนั้นมีริ้วรอยขูดขีดจากงาช้าง

ที่นี่ไม่ใช่อุทยานหรือป่าสงวน หากเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนปาล์มน้ำมันมุยลาของบริษัทโอลัม ถ้าอยู่ในอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย สองผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก คนตัดไม้และรถแทรกเตอร์อาจกำลังแผ้วถางป่าให้กลายเป็นสวนปาล์มน้ำมันที่มีต้นปาล์มเรียงรายเป็นทิวแถว

ปาล์มน้ำมันซึ่งมีผลสีแดงทะลายยักษ์อยู่ใต้โคนใบระเกะระกะ คือพืชผลสำคัญเก่าแก่ชนิดหนึ่ง หลายพันปีมาแล้วที่มนุษย์ต้มและทุบผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันปรุงอาหาร เผาเปลือกหุ้มเนื้อในเมล็ดเพื่อให้พลังงานความร้อน และนำใบไปจักสานทำสิ่งต่างๆ ตั้งแต่หลังคาบ้านไปจนถึงตะกร้า อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา การใช้น้ำมันปาล์มพุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากประโยชน์สารพัดและเนื้อสัมผัสแบบครีมของน้ำมัน อีกส่วนหนึ่งมาจากการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันซึ่งใช้พื้นที่แค่ครึ่งหนึ่งของพืชผลอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง เพื่อผลิตน้ำมันปริมาณเท่ากัน

น้ำมันปาล์ม
ผืนป่ากว้างใหญ่ไพศาลในอินโดนีเซียและมาเลเซียถูกแผ้วถางเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน สวนปาล์มน้ำมันที่เห็นนี้อยู่ในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย (ภาพถ่าย: ฟรานส์ แลนทิง, NAT GEO IMAGE COLLECTION)

ปัจจุบัน น้ำมันปาล์มคือน้ำมันพืชที่ใช้กันมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็นหนึ่งในสามของการบริโภคน้ำมันพืชทั่วโลก โดยเป็นน้ำมันปรุงอาหารหลักในหลายประเทศ น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสินค้าสารพัด ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงน้ำมันไบโอดีเซลที่เชื่อกันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ความต้องการน้ำมันปาล์มทั่วโลกยังคงสูงขึ้น อินเดียบริโภคน้ำมันปาล์มมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของโลก ตามมาด้วยอินโดนีเซีย สหภาพยุโรป และจีน ส่วนสหรัฐฯรั้งอันดับแปด ในปี 2018 คาดว่าการบริโภคน้ำมันปาล์มของโลกจะสูงถึง 65.5 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำมันปาล์มราว 9 กิโลกรัมต่อคน

การตอบสนองความต้องการดังกล่าวส่งผลเสียใหญ่หลวง นับตั้งแต่ปี 1973 ป่าดิบชื้น 41,000 ตารางกิโลเมตรในบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียถือครองร่วมกัน ถูกแผ้วถางเพื่อทำไม้ เผา และไถปราบเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน คิดเป็นหนึ่งในห้าของการตัดไม้ทำลายป่าบนเกาะบอร์เนียวตั้งแต่ปี 1973 และร้อยละ 47 ตั้งแต่ปี 2000

การตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดนั้นส่งผลกระทบหนักหนาสาหัสต่อสัตว์ป่า อุรังอุตังเกาะบอร์เนียวซึ่งอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งล้มตายไปเกือบ 150,000 ตัวระหว่างปี 1999 ถึง 2015 และถึงแม้สาเหตุหลักจะเป็นการตัดไม้และการล่าสัตว์ แต่น้ำมันปาล์มก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งยังเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซียเกือบครึ่งหนึ่งมาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินอื่นๆ ตลอดจนมลพิษทางอากาศขั้นรุนแรง

ผู้คนที่อาศัยในที่ดินทำสวนปาล์มยังทนทุกข์กับปัญหาอื่นๆ การละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้แรงงานเด็ก และการบังคับขับไล่คือปัญหาที่มีรายงานชัดเจน บางครั้งบริษัทน้ำมันปาล์มหลายแห่งบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียใช้แทรกเตอร์ไถหมู่บ้านชนพื้นเมืองราบเป็นหน้ากลองทั้งหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านไร้ที่อยู่อาศัยและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล

น้ำใมันปาล์ม
รถบรรทุกลำเลียงผลปาล์มน้ำมันที่เก็บด้วยมือไปส่งโรงงานสกัดบนแผ่นดินใหญ่ของมาเลเซีย ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้ำมันต่อพื้นที่สูงกว่าพืชน้ำมันอื่นๆ แต่ความต้องการน้ำมันพืชยอดนิยมชนิดนี้ของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางและการสูญเสียสัตว์ป่าในอินโดนีเซียและมาเลเซีย สองประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด

การทำลายระบบนิเวศเพื่อประโยชน์ระยะสั้นเช่นนั้น คือสิ่งที่ประเทศกาบองพยายามหลีกเลี่ยง สวนสวรรค์ที่ฉันไปเยือนจะไม่ถูกทำลาย โอลัมปกป้องป่าผืนนั้นไว้ตามข้อตกลงเพื่อแลกกับการที่รัฐบาลยอมให้บริษัทปลูกปาล์มน้ำมันที่อื่นใดก็ได้ในที่ดินสัมปทาน

“สิ่งที่เราพยายามทำในกาบอง คือการหาวิธีพัฒนาใหม่ที่ไม่ต้องตัดต้นไม้ทั้งป่าทิ้ง แต่รักษาสมดุลระหว่างสวนปาล์มน้ำมัน การเกษตร และการอนุรักษ์ป่าไว้ได้ครับ” ลี ไวต์ นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ อธิบดีกรมอุทยานของกาบอง บอก เมื่อประเทศที่มีประชากรไม่ถึงสองล้านคนเริ่มทำการเกษตรระดับอุตสาหกรรม รัฐบาลก็ใช้การประเมินทางวิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินว่าผืนป่าอันกว้างใหญ่ส่วนใดมีคุณค่าเชิงอนุรักษ์สูง และส่วนใดอาจเปิดพื้นที่ให้ปลูกปาล์มน้ำมันได้

ปาล์มน้ำมันจะอยู่ต่อไปในแอฟริกา เช่นเดียวกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศผู้ผลิตพึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ การคว่ำบาตรน้ำมันปาล์มจึงไม่ใช่มาตรการที่ฉลาดนัก เพราะพืชน้ำมันทางเลือกอื่นๆอาจใช้ที่ดินมากกว่าเสียอีก มิหนำซ้ำยังอาจไร้ประโยชน์อีกด้วย เนื่องจากน้ำมันปาล์มแพร่หลายอย่างกว้างขวางและมักแปรรูปเป็นส่วนประกอบอื่นๆ เช่น โซเดียมลอริลซัลเฟตและกรดสเตียริกซึ่งผู้บริโภคมักไม่รู้ที่มา การจะหักดิบจากการบริโภคน้ำมันปาล์มจึงเป็นเรื่องยาก วิธีเดียวที่ทำได้คือทำให้การเพาะปลูกและการผลิตส่งผลกระทบเลวร้ายน้อยที่สุด

อินโดนีเซียและมาเลเซียคือศูนย์กลางของน้ำมันปาล์มในปัจจุบัน แต่ต้นปาล์มน้ำมัน (Elaeis guineensis) ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของเอเชีย หากมาจากแอฟริกากลางและตะวันตก ตลอดศตวรรษที่สิบเก้า พ่อค้าชาวอังกฤษนำเข้าน้ำมันปาล์มจากแอฟริกาเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่สบู่ไปจนถึงเนยเทียมและเทียนไข เมื่อนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีแยกกลีเซอรีนออกจากน้ำมัน การใช้ประโยชน์ก็ทวีคูณขึ้น โดยขยายไปสู่เภสัชภัณฑ์ต่างๆ ฟิล์มถ่ายภาพ น้ำหอม และแม้กระทั่งระเบิด

พอย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบ ปาล์มน้ำมันถูกส่งขึ้นเรือไปอินโดนีเซีย และการทำสวนปาล์มเชิงพาณิชย์ก็เปิดฉากขึ้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 สวนปาล์มน้ำมันครอบคลุมพื้นที่เพียง 1,000 ตารางกิโลเมตร แต่ในช่วงราวห้าสิบปีต่อจากนั้น ความก้าวหน้าทางการเกษตร เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชที่ต้านทานจุลชีพก่อโรคทั่วไป และการใช้ด้วงงวงปาล์มน้ำมันถ่ายเรณู ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและการลงทุนในธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันก็เฟื่องฟูขึ้น

น้ำมันปาล์ม
น้ำมันปาล์มคืออาหารหลักเก่าแก่ในแอฟริกาตะวันตก เดิมทีเป็นการบริโภคในครัวเรือนมากกว่าอุตสาหกรรม ในประเทศเบนิน น้ำมันปาล์มส่วนใหญ่ยังคงผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนโดยพวกผู้หญิง ซึ่งจะนำผลปาล์มไปต้มและทุบ เพื่อสกัดน้ำมันออกจากเนื้อเยื่อในเมล็ด ผู้หญิงในภาพกำลังแยกเส้นใยและเปลือกออกจากส่วนผสมน้ำมันซึ่งจะนำไป ต้มอีกครั้งเพื่อให้น้ำมันใสขึ้น

“ปาล์มน้ำมันจะอยู่ต่อไปในแอฟริกา เช่นเดียวกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้… ประเทศผู้ผลิตพึ่งพารายได้จากพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ การคว่ำบาตรน้ำมันปาล์มจึงไม่ใช่มาตรการที่ฉลาดนัก วิธีเดียวที่ทำได้คือทำให้การเพาะปลูกและการผลิตส่งผลกระทบเลวร้ายน้อยที่สุด”

กระนั้น สามในสี่ของเกาะบอร์เนียวก็ยังเป็นป่าดิบชื้นเขียวชอุ่มในทศวรรษ 1970 แต่เมื่อความต้องการน้ำมันปาล์มของโลกสูงขึ้น บริษัทที่แข่งกันผลิตน้ำมันปาล์มก็เผาและแผ้วถางป่าเหล่านั้น  ความกังวลทางสุขภาพเรื่องไขมันทรานส์ก็มีส่วนสนับสนุน เพราะน้ำมันปาล์มใช้แทนไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่นเดียวกับความต้องการไบโอดีเซลที่พุ่งสูงขึ้น พอถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ความเฟื่องฟูก็ถึงขีดสุด พื้นที่พรุและป่าในที่ลุ่มหลายพันตารางกิโลเมตรบนเกาะบอร์เนียวกลายสภาพเป็นสวนปาล์มน้ำมัน

ถึงตอนนั้น เสียงเรียกร้องกดดันจากกลุ่มอนุรักษ์ระหว่างประเทศที่มีต่อปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเริ่มดังขึ้นแล้ว และกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (WWF) ก็จับมือกับผู้ผลิตและผู้ซื้อน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดบางรายเพื่อสร้างมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากขึ้น สวนปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานขององค์กรสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน หรืออาร์เอสพีโอ (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO)  ไม่สามารถแผ้วถาง “ป่าปฐมภูมิหรือพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญ (เช่น ชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์) หรือระบบนิเวศที่เปราะบางได้” พวกเขาต้องดำเนินมาตรการเพื่อลดการกัดเซาะหน้าดินให้น้อยที่สุด ปกป้องแหล่งน้ำ จ่ายค่าแรงขั้นต่ำ และได้รับ “ความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นล่วงหน้าโดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระและการได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนรอบด้าน”

น้ำมันปาล์ม
รถขุดดินตักทะลายปาล์มวางบนสายพานเพื่อลำเลียงเข้าเครื่องอบไอน้ำ การผลิตน้ำมันปาล์มในเอเชียใช้เครื่องจักรมากกว่าแอฟริกาอย่างมาก โรงสกัดในรัฐเประของมาเลเซียแห่งนี้หีบผลปาล์มได้ 40 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะให้น้ำมันปาล์มดิบสองตัน โดยเดินเครื่องวันละ 24 ชั่วโมง

ทุกวันนี้ อาร์เอสพีโอรับรองน้ำมันปาล์มราวหนึ่งในห้าของโลก ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายที่ต้องใช้น้ำมันปาล์ม เช่น ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ พรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล ให้คำมั่นว่า จะปรับห่วงโซ่อุปทานมาใช้น้ำมันปาล์มจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากอาร์เอสพีโอเท่านั้นในช่วงไม่กี่ปีนับจากนี้ นับเป็นก้าวกระโดดก้าวใหญ่ไปสู่อนาคต แต่แค่นั้นยังไม่พอ

สิ่งสำคัญที่ยังขาดหายไปเป็นส่วนใหญ่ คือการแทรกแซงจากรัฐบาลในประเทศผู้ผลิต “พวกเราในแวดวงอนุรักษ์มองโลกในแง่ดีเกินไปมากที่หลงคิดว่า วิธีแก้ปัญหาที่อาศัยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวจะแก้ปัญหานี้ได้” จอห์น บูแคนัน ผู้ดำเนินโครงการตลาดเกษตรและอาหารยั่งยืนขององค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ บอกและเสริมว่า “ถ้ารัฐบาลไม่ร่วมมือ ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ หรือไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” ป่าดิบชื้นก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ดี

เรื่อง ฮิลลารี รอสเนอร์

ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์ และ ปาสกาล แมตร์

 


อ่านเพิ่มเติม

ไขมันทรานส์ วายร้ายที่แฝงอยู่ในอาหาร

https://ngthai.com/science/12516/learning-about-trans-fat/

Recommend