World Update: พบฟันลึกลับที่อาจเป็นหลักฐานแรกของมนุษย์ เดนิโซวาน

World Update: พบฟันลึกลับที่อาจเป็นหลักฐานแรกของมนุษย์ เดนิโซวาน

ฟันลึกลับที่อาจเป็นหลักฐานแรกของมนุษย์ เดนิโซวา ในอาเซียน ที่อาจมาไกลจากทิเบตหรือเทือกเขาอัลไต

นักวิจัยพบฟอสซิลฟันในถ้ำงูเห่าแถบเทือกเขาอันนัมทางตอนกลางของประเทศลาว คาดว่าเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ของมนุษย์ เดนิโซวาน ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยพบมาก่อนซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 40,000 ปีก่อน โดยระบุว่าฟันชิ้นนี้มีอายุ 131,000 ถึง 164,000 ปี และเป็นของเด็กหญิงที่มีอายุประมาณ 3.5 – 8.5 ขวบ

เดนิโซวานเป็นมนุษย์สมัยโบราณที่ลึกลับและศึกษาได้ยากสายพันธุ์หนึ่งเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานฟอสซิลของพวกเขาน้อยมาก ชิ้นส่วนกระดูกและฟันก่อนหน้าทั้งหมดที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นของเดนิโซวานนั้นสามารถบรรจุลงในถุงพลาสติกขนาดเท่าแซนวิซได้อย่างง่าย

และทั้งหมดนั้นพบจากสถานที่ขุดค้นเพียงสองแห่งในโลกคือ ไซบีเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำเดนิโซวาน ซึ่งเป็นถ้ำที่ค้นพบตัวอย่างของมนุษย์โบราณหลายสายพันธุ์รวมถึงเดนิโซวาน ในเขตเทือกเขาอัลไต และที่ราบสูงทิเบต ซึ่งต่างจากญาติใกล้ชิดของพวกเขาคือนีแอนเเดอร์ทัลที่กระจายไปอย่างกว้างขวางในยุโรป

กระนั้น นักบรรพชีวินวิทยาตั้งสมมติฐานมานานแล้วว่า เดนิโซวาน ต้องอยู่ไกลออกจากยุโรปไปทางใต้ และดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีการผสมพันธุ์กับมนุษย์ยุคแรกก่อนซึ่งทิ้งร่องรอยทางพันธุกรรมไว้ในมนุษย์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ที่มีเชื้อสายเอเชีย

“มันทำให้ฉันนึกได้ว่าพวกเขามีความคล้ายคลึงกับเรามากแค่ไหน” ลอร่า แช็คเคิลฟอร์ด (Laura Shackelford) นักบรรพชีวินวิทยาและนักสำรวจของเนชั่นเนล จีโอกราฟิกกล่าวถึงการค้นพบฟอสซิลฟันชิ้นนี้ พร้อมทั้งเสริมอีกว่าสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างสุดขั้วตั้งแต่ภูเขาสูงที่เย็นยะเยือกและที่ราบลุ่มอันร้อนชื้นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวอย่างน่าทึ่งของมนุษย์เดนิโซวาน

ทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกันกับ ธงสา สายาวงศ์คำดี นักโบราณคดีชาวลาวผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยทำให้การขุดค้นเป็นไปอย่างราบรื่น เมื่อพบฟัน แช็คเคิลฟอร์ดกล่าวว่า “เรารู้ว่าเป็นพวกเดียวกันเกือบในจะทันที แต่ไม่ใช่มนุษย์สมัยใหม่” ในขณะที่เคลมเมนท์ ซานอลลิ (Clément Zanolli) หนึ่งในทีมขุดค้นเสริมว่า “ฟันนั้นเปรียบเสมือนกล่องดำเล็ก ๆ ในชีวิตแต่ละคน”

การวิเคราะห์โครงสร้างกรดอะมิโนของโปรตีนในฟันแสดงให้เห็นว่าฟันนั้นเป็นของบุคคลในสกุลโฮโม (Homo) แทนที่จะเป็นของลิงอุรังอุตังหรือลิงใหญ่อื่น ๆ และมันแสดงให้เห็นว่าเป็นของเด็กหญิงอายุ 3.5 ถึง 8.5 ปีและมีอายุ 131,000 ถึง 164,000 ปี อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังไม่ยืนยันว่าเป็นของมนุษย์เดนิโซวานซึ่งต้องการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

หากฟอสซิลฟันชิ้นนี้ได้รับการยืนยัน นี่จะเป็นหลักฐานชิ้นแรกถึงการแพร่กระจายของมนุษย์เดนิโซวานที่ไกลจากยุโรปและมาถึงยังลาวประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสำหรับทีมงานของแช็คเคิลฟอร์ดแล้ว นี่คือความตื่นเต้นที่พวกเขาหวังจะได้พบอีกมากท่ามกลางเทือกเขาสูงใหญ่ของลาว “และเรายังไม่ออกจากภูเขาลูกแรก”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/denisovan-tooth-found-in-laos-adds-new-wrinkles-to-their-story?
.

Recommend