เรานั่งมองสายน้ำขุ่นและเชี่ยวกรากไหลผ่านไปนับชั่วโมง กิ่งไม้ ท่อนไม้ และงูบางตัว ลับโค้งไปอย่างรวดเร็ว
ฤดูมรสุมของป่าภาคใต้ก็เป็นแบบนี้ ตก ๆ หยุด ๆ ตลอดทั้งวัน หรือบางครั้งก็ตกแบบไม่หยุดคราวละหลายวัน ทำให้การทำงานในป่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างมาก ทั้งการใช้ชีวิต การเดิน กิน นอน ถ่ายภาพ และที่สำคัญ ช่วงเวลาแบบนี้เป็นเหมือนงานเลี้ยงชั้นดีของเหล่า “ทาก” ที่หิวกระหายมาตั้งแต่ครั้งฤดูแล้ง…
การทำงานในธรรมชาติเราคงหลีกเลี่ยงฤดูกาลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ทุกฤดูต่างมีความน่าสนใจ ความงดงาม รวมทั้งความหมายที่ซ่อนไว้มากมาย
มีหลายคนเคยถามว่า “หากไปแล้วลำบากขนาดนั้น จะไปทำไม” สำหรับผมแล้ว ความลำบาก เหนื่อยล้า อันตราย เป็นเครื่องย้ำเตือนให้กับผมเสมอว่า “ชีวิต…เหมือนกับการเดินป่าฤดูฝนนี่แหละ” ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เราก็ต้องผ่านไปให้ได้ อาจจะต้องเปลี่ยนทาง ปรับวิธีคิด จนถึงรอให้อุปสรรคที่ไม่อาจควบคุมผ่านไป แล้วค่อยไปกันต่อ…
จากป่าใต้ชายแดนไทย มาเลเซีย ที่ยะลา ถึงป่าเขาหลวง นครศรีธรรมราช ยอดเขาหนอง สุราษฎร์ธานี จนถึงแนวตะวันตกแห่งตะนาวศรี พะเนินทุ่ง แก่งกระจาน จนถึงสลักพระ กาญจนบุรี และต่อเนื่องขึ้นไปตามเทือกหินปูนสู่อุ้มผาง ดินแดนแห่งความมหัศจรรย์พรรณไม้ ตัดขึ้นเหนือสู่ดอยอินทนนท์ ป่างามในหัวใจชอุ่มในทุกเวลา ไปจนถึงดอยหลวงเชียงดาว ต่างก็เป็นช่วงเวลาดี ๆ และก็เป็นช่วงเวลาดี ๆ ของการศึกษาพรรณไม้กึ่งอัลไพน์
หากมองไปยังอีสาน จะเห็นแผ่นดินหินทรายที่ซ่อนสรรพชีวิตไว้ด้วยฤดูกาล จากพลาญหินร้อนแล้ง เปลี่ยนเป็นดอกไม้สะพรั่งบานเมื่อสายฝนชโลมแผ่นหิน บนภูหลวงและภูกระดึง ก็งดงามไปด้วยสายหมอก ทิวสน และชีวิตมากมายที่เริ่มต้นหยั่งรากในยามนี้ และพืชพรรณอีกมากผลิดอกสะพรั่งดั่งอัญมณีประดับดิน
หากเราไม่ออกเดินทางในเวลาที่ดินอุ้มน้ำ หรือภูเขาที่โดนโอบกอดด้วยสายหมอก เราจะเห็นชีวิตงามเหล่านี้ได้อย่างไร ระบบนิเวศมีเวลา นาฬิกาธรรมชาติเดินหน้าไป ฤดูกาลทำหน้าที่ไม่เคยเบื่อ ไม่เคยขี้เกียจ ธรรมชาติเป็นไปตามธรรมชาติและธรรมดาอย่างที่สุด ผมหลงรักความธรรมดา ที่พิเศษของเวลานั้น…
แม้ผ่านเวลาของชีวิตมาหลายสิบฝน ผมก็ยังคงหลงรักตอนฝนตก บางคนบอกว่ามันเป็นเวลาของ “การเกิดใหม่” ผมเห็นด้วย…เลยออกไปสัมผัสชีวิตในผืนป่าต่าง ๆ ได้พบเห็น เรียนรู้ ถ่ายภาพ รายงานทางวิชาการ จนถึงร่วมค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก ความหมายของชีวิตมันแบบไหนอย่างไร คงตอบได้ไม่ครบถ้วน
ไม่กี่คืนก่อนผมยังนอนในเปลและฟังเสียงฝนตกลงมาจากไม้ใหญ่สู่ฟลายชีท ผมพยายามจำแนกเสียงของหยดน้ำว่าหยดไหนตกลงมาจากฟ้า หยดไหนมาจากไม้ใหญ่ และหยดไหนตกลงจากใบไม้ ควันไฟกรุ่นและม้วนขึ้นก่อนจะมอดลง เมื่อฝนปรอยลงมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็กระหน่ำลงมาไม่มีทีท่าว่าจะหยุด และความชื้นและเย็นของป่าก็ทำให้ผมตื่นยามดึก เพื่อกระชับถุงนอนเพิ่มความอบอุ่น…
ผมนอนรับไอชื้นพร้อมกับฟังเสียงต่าง ๆ ที่สอดประสานกันในยามดึก ไม่แน่ใจนักว่าชีวิตของคนทำงานกับธรรมชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป และผมไม่เคยพยายามหาคำตอบให้ตัวเองว่าทำไม “รักฤดูฝน”
การได้อยู่กับธรรมชาติ กับผืนป่า เราได้รับสิ่งดีงามมากมาย สอนเราให้เติบโต ทั้งยังให้ทุกอย่างกับชีวิต และผมสำนึกอยู่เสมอถึงความเล็กจ้อยของตัวเราเอง เมื่อเอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าเวลานั้นจะเป็นฤดูใด…
“ธรรมชาติสอนให้เข้าใจชีวิต ฤดูกาลสอนให้เข้าใจเรื่องของเวลา”
เรื่องและภาพ หัสชัย บุญเนือง
ติดตามผลงานของช่างภาพต่อได้ที่ https://facebook.com/hasachai
บรรณาธิการภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา
น้ำตกทีลอจ่อในบางช่วงของต้นฤดูฝน แสงเช้าลอดผ่านยอดเขา ลงมาในหุบก่อนจะกระทบกับไอน้ำเกิดเป็นเส้นแสงและมุมมองที่แสนงดงาม
การเดินเท้าแสนโหดจากสนามบินแม่ฮ่องสอน – จนถึงดอยหมากพริก ใช้เวลาเกือบ 1 สัปดาห์ ฝ่าสายฝนที่กระหน่ำมาเป็นระยะ กว่าจะมาถึงจุดนี้ร่างกายสะบักสะบอม และในเย็นวันนั้นผมก็ได้รับช่วงเวลาดี ๆ ของธรรมชาติ เมื่อแสงสุดท้ายแสดส่องผ่านปุยหมอกที่กำลังลอยขึ้นมาจากหุบเขา
นับสิบปีมาแล้วที่นักเดินป่าและช่างภาพอาชีพ กัณฑ์ คนแบกเป้ และสมศักดิ์ ล่ำพงษ์พันธุ์ ได้นำภาพพืชสีดำชนิดนี้ส่งมาให้ผมซึ่งถ่ายมาได้จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ผมคาดว่าจะเป็นรายงานพืชชนิดใหม่ของประเทศไทย หรือชนิดใหม่ของโลก โดยต่อมา ผศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและรายงานเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกในชื่อ พิศวงภูวัว Thismia angustimitra Chantanaorr.
ฝนทางภาคใต้กระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายวัน ผมในฐานะของช่างภาพประจำโครงการสำรวจพืชสกุลเทียนในประเทศไทย ลงไปเก็บภาพดอกไม้สีม่วงอมชมพูที่ขึ้นบนผาหินปูน ระย้าเป็นกลุ่มดูงดงามยิ่งนัก
ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน และ ดร. ปราโมทย์ ไตรบุญ ได้ทำการศึกษาด้านอนุกรมวิธานแล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งชื่อพรรณไม้ในพระนามของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 55 พรรษา 2 เมษายน พ.ศ. 2553 ในชื่อ ชมพูสิริน หรือ เทียนสิรินธร Impatiens sirindhorniae Triboun & Suksathan
การทำงานในธรรมชาติ การออกไปสำรวจผืนป่าเมืองไทย ทำให้เราพบกับมิตรสหายและอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะในฤดูฝน ลำธารเล็ก ๆ ในผืนป่าใหญ่ จะเกรี้ยวกราด และเต็มไปด้วยพลัง หลายครั้งเราไม่สามารถข้ามน้ำได้ หลายครั้งต้องใช้ตัวช่วย และหลายครั้งต้องนอนรอให้น้ำลด เนื่องจากการอยู่ในป่าและประมาทกับธรรมชาติ หมายถึง การเอาชีวิตไปทิ้งดี ๆ นี่เอง
แม้ผ่านเวลาของชีวิตมาหลายสิบฝน ผมก็ยังคงหลงรักตอนฝนตก บางคนบอกว่ามันเป็นเวลาของ “การเกิดใหม่” ผมเห็นด้วย…เลยออกไปสัมผัสชีวิตในผืนป่าต่าง ๆ
ทุกช่วงฤดูฝนกล้วยไม้หลายชนิดผลิดอกอย่างงดงาม เอื้องสิงโตปากนกแก้ว Bulbophyllum psittacoglossum Rchb.f. นับได้ว่าเป็นกล้วยไม้ที่พบได้ยากของเมืองไทย ทว่าในผืนป่าดิบเขาของภูหลวง ท่ามกลางอากาศชื้นและเย็น สิงโตปากนกแก้วก็ผลิดอกอย่างงดงามอิงอาศัยบนต้นไม้ประดับป่าดูอิ่มเอม
แม้ผ่านเวลาของชีวิตมาหลายสิบฝน ผมก็ยังคงหลงรักตอนฝนตก บางคนบอกว่ามันเป็นเวลาของ “การเกิดใหม่” ผมเห็นด้วย…เลยออกไปสัมผัสชีวิตในผืนป่าต่าง ๆ
เมื่อเก็บภาพต่าง ๆ ได้อย่างที่ต้องการ ผมหันกลับมาด้านหลังของตัวเอง เห็นสายหมอกขาว กำลังคลอเคลียทิวสน ด้านหลังเป็นภูขวาง ซึ่งเป็นจุดที่เราเดินลงมาเมื่อหลายวันก่อน ภาพด้านหน้าทางตะวันออกได้เป็นปกนิตยสารฉบับนั้น ทว่าภาพมุมตะวันตกหรือภาพนี้เป็นภาพประกอบที่ผมรักมาก