หรือ ป่า “มนุษย์ปลูกเอง”ใหญ่สุดในประเทศกลางทะเลทราย จะส่งผลร้ายต่อโลก

หรือ ป่า “มนุษย์ปลูกเอง”ใหญ่สุดในประเทศกลางทะเลทราย จะส่งผลร้ายต่อโลก

การตัดสินว่า ป่า Yatir ที่ปลูกด้วยมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอล คือความสำเร็จหรือล้มเหลว ขึ้นอยู่กับว่าคุณมองว่าสิ่งใดคือความสำเร็จ — และคนที่คุณถามคือผู้ใด

ณ ป่า Yatir ประเทศอิสราเอล สายลมแผ่วเบาพัดผ่านพุ่มไม้ซึ่งมีแสงอาทิตย์ตกกระทบเป็นจุดๆ ไปยังบรรดาต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่ดูไม่เข้าที่เข้าทาง ทำให้อากาศร้อนระอุของปลายเดือนกรกฎาคมบรรเทาลง บรรดาใต้ต้นสนอเลปโป พุ่มไม้หนามเบียดเสียดกันอยู่ท่ามกลางก้อนหินปูน เสียงที่ได้ยินนั้นมาจากแมลงและเครื่องบินรบที่ส่งเสียงคำรามเป็นครั้งคราวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนแรกๆ ของปีหลังจากฝนในฤดูหนาวหยุดลง ที่แห่งนี้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตใหม่ๆ ดอกไม้สีชมพูและเหลืองงอกงามขึ้นไปทั่วทั้งพื้นป่า อูฐและม้าแทะเล็มหญ้าในทุ่งเปิด ละมั่ง ไฮยีนา จิ้งจอก กระต่าย หนูนา กิ้งก่า และงู ล้วนอาศัยอยู่ใน ป่า Yatir โอเอซิสที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์และตั้งอยู่ที่ปลายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลทรายเนเกฟ ห่างจากเยรูซาเล็มไปทางใต้ราว 48 กิโลเมตรแห่งนี้

Yatir ซึ่งเป็นป่าที่ปลูกขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอล ถูกปลูกขึ้นโดยกองทุนแห่งชาติอิสราเอล (Jewish National Fund หรือ JNF) อันเป็นองค์กรพัฒนาที่ดินโดยไม่แสวงหาผลกำไรที่บริหารพื้นที่กว่าหนึ่งในสิบของอิสราเอลในช่วงทศวรรษที่ 1960 หากเนินเขาเหล่านี้ถูกปล่อยไว้ตามลำพัง พวกมันอาจถูกปกคลุมไปด้วยพุ่มไม้เตี้ยเช่น เยรูซาเล็มเสจ และหญ้าซิกแนลต้นตั้ง แต่ในตอนนี้ ต้นไม้สี่ล้านต้น ซึ่งร้อยละ 90 คือต้นสนอเลปโปอันทนทานต่ออาศหนาวเย็น แผ่ครอบคลุมพื้นที่เกือบ 31 ตารางกิโลเมตรของพื้นที่กึ่งแห้งแล้งนี้

Abed Abu-Alkean เป็นพนักงานป่าไม้ของ Yatir มาตั้งแต่ปี 1982 ทีมงานจำนวนเก้าคนของเขามีหน้าที่จัดการและรักษาป่าแห่งนี้

ต้นไม้เหล่านี้ไม่ถูกรดน้ำและใส่ปุ๋ย แต่ป่าแห่งนี้กลับอยู่รอดมาได้กว่าเกือบ 60 ปี “ป่า Yatir พิสูจน์ว่าเราสามารถต่อสู้กับการกลายสภาพของภูมิประเทศเป็นทะเลทราย (desertification) และรักษาโลกที่เจ็บป่วยใบนี้ได้” เว็บไซต์ของ JNF กล่าว ในยามที่ผู้คนทั่วโลกต่างเห็นว่าการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่าคือหนทางกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ป่าแห่งนี้คือตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจที่ดีได้

แต่มันจะยั่งยืนและเป็นความคิดที่ดีจริงหรือ?

นักสิ่งแวดล้อมชาวอิสราเอลบางรายโต้แย้งว่าการปลูกต้นไม้บนทุ่งไม้พุ่มคือความคิดที่ผิดพลาด เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นอันตรายต่อนก กิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กซึ่งวิวัฒนาการมาพร้อมกับพุ่มไม้และหญ้าประจำถิ่น และมันจะยังไม่มีผลต่อสภาพอากาศในเวลาอันใกล้นี้

พืชทะเลทรายที่เจริญงอกงามบนยอดภูเขา Amasa ที่ขอบของป่า Yatir ในพื้นที่สงวนธรรมชาติแห่งนี้ พืชพันธุ์ของบริเวณเมดิเตอเรเนียนเติบโตขึ้นปนเปกับพืชทะเลทราย

มากไปกว่านั้น ความสามารถในการอยู่รอดของป่าแห่งนี้ในโลกที่กำลังอุ่นขึ้นนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ต้นไม้ในป่า Yatir ปริมาณระหว่างร้อยละ 5 ถึง 10 หรือมากถึงร้อยละ 80 ในบางพื้นที่ ต้องเหี่ยวเฉาและตายลงเนื่องจากภัยแล้งอย่างรุนแรงหลายครั้งในภูมิภาค ในขณะเดียวกัน ป่าแห่งนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากต้นกล้าของต้นสนซึ่งตายลงเนื่องจากภัยแล้งและการแทะเล็มโดยแกะและแพะ

“ต้นไม้ของที่นี่กำลังถูกต้อนถึงขีดจำกัดครับ” Eyal Rotenberg แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (Weizmann Institute of Science) ซึ่งศึกษาป่า Yatir มากว่าสองทศวรรษ กล่าว เขาและผู้ร่วมงานคิดว่าป่าแห่งนี้สามารถอยู่รอดได้และควรจะอยู่รอด แต่หากจะเป็นเช่นนั้น มันจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

คาร์บอนไม่ไช่ทุกสิ่ง

ในแหล่งวิจัยระยะยาวที่ป่า Yatir ของสถาบันฯ Rotenberg อธิบายว่า Dan Yakir นักนิเวศสรีระผู้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยได้ก่อตั้งสถานีวิจัยแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 1998 ได้อย่างไร ในแต่ละปี Yatir จะได้รับน้ำฝนโดยเฉลี่ยราว 11 นิ้ว โดยปริมาณส่วนใหญ่ที่ได้รับนั้นมาจากช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ความอดทนที่มันมีต่อสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งเช่นนี้คือสิ่งที่น่าฉงน เช่นเดียวกับผลกระทบที่มันมีต่อสิ่งรอบข้าง

“สำหรับพวกเราแล้ว Yatir คือสถานที่ทดสอบผลกระทบที่ป่ามีต่อสภาพภูมิอากาศ ในสภาวะอากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อการเติบโตของป่าอย่างที่สุด” Rotenberg ผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยในปี 2000 กล่าว “สิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับ Yatir ในปัจจุบันจะเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคที่ร้อนและแห้งต่างๆ ในโลกครับ”

โดยหลักการแล้ว การเพิ่มพื้นที่ป่าในเขตกึ่งแห้งแล้งแบบเดียวกัน เช่นในซาเฮล ที่ซึ่งโครงการกำแพงเขียวขนาดยักษ์ (Great Green Wall) อันทะเยอทะยานสร้างผลลัพธ์ได้อย่างเชื่องช้านับตั้งแต่สหภาพแอฟริกาเปิดตัวโครงการในปี 2007 ทำให้ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและการกลายสภาพของภูมิประเทศเป็นทะเลทรายชะลอตัวลง

Dan Yakir นักนิเวศสรีระ นั่งบนก้อนหินในสถานีวิจัยของสถาบันไวซ์มันน์ เขาก่อตั้งสถานีแห่งนี้ขึ้นในปี 1998

การเก็บข้อมูลใน Yatir เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งเริ่มจากปี 2001 แสดงให้เห็นว่ามันสามารถดูดซับคาร์บอนได้ในระดับที่น่าประหลาดใจ — หรือมากเท่ากับป่าในเขตซึ่งมีความร้อนชื้นมากกว่า

Rafat Qubaja นักวิจัยชาวปาเลสไตน์ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากไวซ์มันน์และกำลังประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยประจำรัฐแอริโซนา กล่าวว่า ทุ่งพุ่มไม้และทุ่งหญ้าครอบคลุมพื้นที่กว่าหนึ่งในห้าของโลก หรือคิดเป็น 26 ล้านตารางกิโลเมตร ผลการวิจัยของป่า Yatir ชี้ว่าการปลูกต้นไม้ในทุ่งเหล่านี้ทั้งหมดอาจช่วยในการดูดซับเชื้อเพลิงฟอซซิลที่ถูกปล่อยอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ร้อยละ 10

แต่ประสิทธิภาพที่พวกมันทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงนั้นยังไม่แน่ชัด ภาพของป่า Yatir ซึ่งถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นจุดสีดำขนาดใหญ่ในทะเลทรายสีเข้มและเต็มไปด้วยพุ่มไม้ สิ่งนี้หมายความว่ามันดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์มากกว่า ผลลัพธ์ของงานวิจัยโดย Rotenberg และ Yakir ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Science เมื่อปี 2010 ระบุว่าจุดสีดำซึ่งเข้มกว่าในป่าหมายถึงการดูดซับพลังงานที่มากกว่า และพลังงานเหล่านั้นจะถูกแปรเป็นความร้อนซึ่งถูกปล่อยกลับขึ้นไปที่ชั้นบรรยากาศ ในตอนแรกเริ่ม ความร้อนที่ป่าแห่งนี้ปล่อยนั้นมีมากกว่าประสิทธิภาพการทำความเย็น (cooling effect) ซึ่งเกิดจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของมัน Rotenberg ประมานการว่ามันต้องใช้เวลากว่า 200 ปีก่อนที่ป่าแห่งนี้จะมีประสิทธิภาพการทำความเย็นโดยรวม — หากมันยังอยู่รอดได้จนถึงตอนนั้น

ความเจริญงอกงามของป่า Yatir

แม้สนอเลปโปจะถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ล การสำรวจและการค้นคว้าทางโบราณคดีกลับบ่งชี้ว่าสนสายพันธุ์ดังกล่าวพบได้น้อยในภูมิภาคแห่งนี้จนกว่าจะถึงศตวรรษที่ 20 เมื่อถึงช่วงทศวรรษที่ 1980 พืชซึ่งถูกปลูกอย่างแพร่หลายในปาเลสไตน์โดยกรมป่าไม้ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรในช่วงทศวรรษที่ 1920 เหล่านี้คิดเป็นจำนวนร้อยละ 50 ของป่าซึ่งถูกปลูกโดย JNF พวกมันเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้บนดินทุกประเภท ในปัจจุบัน ต้นสนเหล่านี้พบเห็นได้ทั่วไปในอิสราเอล ตั้งแต่ตอนเหนือของหมู่เขากาลิลีไปจนถึงตอนเหนือของทะเลทรายเนเกฟ

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีกับสิ่งนี้ เช่นสมาคมเพื่อการปกป้องธรรมชาติในอิสราเอล ( Protection of Nature in Israel หรือ SPNI) ซึ่งต่อต้านการปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่เปิดซึ่งไม่มีป่าตามธรรมชาติเช่นทุ่งหญ้าและทุ่งพุ่มไม้อย่างแข็งขัน ในรายงานชิ้นหนึ่งจากปี 2019 สมาคมฯ นี้กล่าวว่าการปลูกสร้างสวนป่า (afforestation) ในระบบนิเวศที่บอบบางจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเฉพาะตัวของประเทศแห่งนี้

“ผมรักต้นไม้ครับ” Alon Rothschild หัวหน้าฝ่ายนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพของ SPNI กล่าว “แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องปลูกพวกมันไปทั่วทุกที่”

David Lerner ผู้สมัครเข้าศึกษาปริญญาเอกของศูนย์ต้นไม้ของสถาบันไวซ์มันน์ เดินเข้าหาต้นอะคาเซียในทะเลทราย Arava ระหว่างการวิจัยเป็นเวลาสามปี นักวิจัยติดตามต้นอาคาเซียสองสายพันธุ์ที่เติบโตในทะเลทรายแห่งนี้จำนวน 10 ต้น เพื่อศึกษาว่าต้นไม้เหล่านี่สามารถเติบโตได้ในทะเลทรายหรือเพียงแค่มีชีวิตรอดและมีขนาดเท่าเดิมเท่านั้น

การปลูกต้นไม้ในเมืองหรือหมู่บ้านเพื่อให้พวกมันสร้างร่มเงาและความเย็นชุ่มชื้น หรือในเหมืองที่ถูกทิ้งร้างและพื้นที่เพาะปลูกคือความคิดที่ยอดเยี่ยม เขากล่าว ส่วนป่าธรรมชาติในทิวเขา Carmel และที่อื่นๆ นั้นควรได้รับการอนุรักษ์ “แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในอิสราเอลไม่ใช่พื้นที่ป่าโดยธรรมชาติครับ” Rothschild กล่าว และภูมิประเทศที่เป็นเขตพุ่มไม้เหล่านั้นก็ควรถูกอนุรักษ์เช่นกัน

เขากล่าวว่าการปลูกป่าในเขตทุ่งพุ่มไม้กีดกันสัตว์สายพันธุ์ท้องถิ่นซึ่งปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศนี้ ซึ่งรวมนกประเภททำรังบนดินที่ไกล้สูญพันธุ์ (endangered) เช่นนกกระจ้อยวงตาสีทองหรือนกนักล่าเช่นเหยี่ยวเคสเตรลเล็กและเหยี่ยวทะเลทรายขายาว ซึ่งต้องอาศัยภูมิประเทศที่เปิดโล่งเพื่อการโฉบเข้าหาเหยื่อ นอกจากนี้ ยานพาหนะขนาดใหญ่และยาฆ่าวัชพืชซึ่งใช้ในการปลูกต้นไม้ยังสามารถสร้างความเสียหายต่อดินที่เปราะบางในเขตแห้งแล้งด้วยการบดทำลายผิวดินบางๆ ดินเหล่านี้มีพืชต้นเล็กๆ ไลเคน และรา

นอกจากนี้ มันยังมีราคาค่างวดที่มนุษย์ต้องจ่ายให้กับวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนทะเลทรายให้กลายเป็นป่าของ JNF ในปี 2015 ศาลสูงสุดของอิสราเอลอนุมัติการขับไล่ผู้อยู่อาศัยชาวอาหรับเบดูอิน 1,000 คนออกจากหมู่บ้านสองแห่งในเนเกฟเพื่อสร้างเมือง Hiran และ ขยายพื้นที่ของป่า Yatir จากข้อมูลของ Adalah หรือศูนย์ให้คำปรึกษากฎหมายเพื่อสิทธิชนกลุ่มน้อยชาวอาหรับในอิสราเอล (Legal Center for Arab Minority Rights in Israel)

ฝูงแกะเล็มหญ้าในป่า Yatir ในบริเวณที่พวกมันได้รับอนุญาตให้เล็มพืชเพื่อลดความเสี่ยงของไฟป่า

การปลูกสร้างสวนป่าในเนเกฟยังคงดำเนินต่อไป “ภาครัฐ [อิสราเอล] กำลังประกาศว่า พวกเขารู้ดีที่สุดว่าชุมชนและธรรมชาติจะเชื่อมโยงกันได้อย่างถูกต้องได้อย่างไรค่ะ” Morany กล่าว ชุมชนเบดูอินที่เลี้ยงดูฝูงปศุสัตว์ของตน เธอกล่าว “รู้ว่าตนเองจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไรมากกว่าใครทุกคน” ภยันตรายต่อธรรมชาตินั้นมาจากการสร้างเมืองและถนนในบริเวณนั้น และไม่ใช่ “ชุมชนชาวเบดูอินที่จูงฝูงแกะของตนไปรอบๆ ป่า”

ธรรมชาติคือสิ่งใดกันแน่?

การหาคำตอบว่า “ธรรมชาติ” หมายถึงสิ่งใดกันแน่ในดินแดนโบราณที่ถูกมนุษย์ใช้หาประโยชน์ให้ตนเองมากว่าหนึ่งพันปีแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อผู้อพยพชาวยิวเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์เมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้ว ดินแดนแห่งนี้ “มีการเลี้ยงปศุสัตว์ในระดับสูงและกำลังมีการกลายสภาพของภูมิประเทศเป็นทะเลทรายอย่างผิดปกติครับ” Tamir Klein นักชีววิทยาด้านพืชและผู้อำนวยการศูนย์ต้นไม้ของสถาบันไวซ์มันน์ (Weizmann Institute Tree Lab) กล่าว ปศุสัตว์เช่นแกะและแพะ “คือฆาตกรของพืช” เขากล่าว “พวกมันดูดกลืนทุกสิ่งและทิ้งร่องรอยไว้ทุกที่ พวกมันกินทั้งพืชและต้นกล้าทั้งหมดเลยครับ”

Klein เห็นพ้องกับ Rothschild ในบางประเด็น “เราไม่ควรปลูกพืชไปทั่วทุกที่ มันควรจะมีพื้นที่สำหรับทุ่งพุ่มไม้และทุ่งหญ้าประจำถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีในอิสราเอลครับ” แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็สนับสนุนการปลูกสร้างสวนป่าบางโครงการของ JNF รวมถึง Yatir ที่เขากล่าวว่ากำลังเผชิญกับปัญหา

สนอเลปโปนั้นทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็น แต่ขณะเดียวกัน พวกมันก็มีอายุสั้น โดยพืชเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยที่ 80 ปี ภายในยี่สิบถึงสามสิบปีต่อจากนี้ ต้นสนซึ่งถูกปลูกเป็นต้นแรกๆ จะตายหรือไกล้ตาย และ Yatir ยังมีการฟื้นตัวเพียงน้อยนิดเท่านั้น Klein กล่าว สาเหตุส่วนหนึ่งของสิ่งนี้คือการเลี้ยงปศุสัตว์ แต่สาเหตุส่วนใหญ่นั้นมาจากภัยแล้งซึ่งฆ่าต้นกล้าของต้นไม้เหล่านี้เกือบทั้งหมด

Yatir “ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่มันถูกปลูกในยุค 1960 ครับ” Klein กล่าว “แต่มันดูเหมือนว่ามันจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าเดิมในปีต่อๆ ไปเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

กระนั้น อิสราเอลก็มี “ความหลากหลายของพันธุ์พืชอย่างน่าอัศจรรย์” เขากล่าว ประเทศแห่งนี้มีต้นไม้ประจำถิ่นเช่นมะกอกและโอ๊กกว่า 70 สายพันธุ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อ JNF ขอให้ Klein ช่วยออกแบบอนาคตของป่า Yatir เขาจึงแนะนำว่าพวกเขาควรตัดสินใจปลูกต้นไม้พันธุ์อื่นๆ เช่นทามาริกส์ซึ่งทนทานต่อความเค็ม, Ziziphus spina-christi (Christ’s Thorn Jujube), และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะคาเซีย

Klein กล่าวว่าต้นอะคาเซียทนทานต่อสภาพอากาศรุนแรงได้สามแบบ ได้แก่ความแห้งแล้ง รังสีดวงอาทิตย์ระดับสูง และอุณหภูมิสูง ในการวิจัยครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ทีมงานของเขาค้นพบว่าต้นไม้เหล่านี้ในหุบเขา Arava อันแห้งแล้ง (หุบเขาแห่งนี้ได้รับปริมานน้ำฝนน้อยกว่าสามนิ้วต่อปี) กลับเติบโตขึ้นเร็วที่สุดในช่วงฤดูร้อนซึ่งมีอากาศแห้งและอุณหภูมิในแต่ละวันอาจสูงได้ถึง 45 เซลเซียส ดูเหมือนว่าความลับอย่างหนึ่งของพวกมันคือรากที่ยาว ซึ่งสามารถมีความยาวแนวตั้งได้กว่า 7.6 เมตรและแนวดิ่งได้กว่า 9 เมตร ลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

“ในอนาคตที่อากาศแห้งและอุ่นขึ้น” Klein และผู้ร่วมงานวิจัยสังเกตว่าป่าไม้บางเบาซึ่งประกอบไปด้วยต้นอะคาเซีย “อาจสามารถรอดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ดีกว่าป่าไม้ที่หนาทึบ”

David Lerner มองหาผืนดินที่สำหรับการวิจัยสวน ฝนที่ตกลงมาในหน้าหนาวทำให้พืชพรรณเบ่งบานสวยงาม

สำหรับ Rotenberg เขาเชื่อว่า Yatir จะอยู่รอดในสักทาง ระหว่างการเดินทางจากสถาบันไวซ์มันน์ไปสู่ป่าแห่งนี้ เขาชี้ไปที่บรรดาต้นทีรีบินท์, จูดาส, โอ๊ก, และสนไซเปรสอีกสองชนิด เขายืนกรานว่าหากไม่มีการแทะเล็มโดยแกะและแพะ ต้นไม้เหล่านี้จะฟื้นตัวได้ตามธรรมชาติแม้แต่ในภูมิประเทศกึ่งแห้งแล้ง “หากคุณมองที่ซึ่งถูกทิ้งให้รกร้าง คุณจะเห็นว่าพื้นที่เหล่านั้นมีป่าเจริญงอกงามขึ้นครับ” เขากล่าว

ที่ Yatir เขากล่าว “พวกเราต้องตะลึงไปกับความสามารถในการอยู่รอดของต้นไม้เหล่านี้อยู่ตลอดเวลาเลยครับ” แม้แต่ในระหว่างภัยแล้งครั้งรุนแรงครั้งหนึ่งระหว่างปี 2008 ถึง 2009 ต้นไม้เหล่านี้ส่วนใหญ่อดทนอยู่รอดได้แม้พวกมันจะไม่ได้รับน้ำฝนเป็นเวลาถึง 349 วันติดต่อกัน

“ผมมั่นใจว่าหากไม่มีใครมาแตะต้องป่าแห่งนี้เป็นเวลาหนึ่งร้อยปี คุณก็จะเห็นต้นสนบางต้นที่ยังมีชีวิตเมื่อคุณมาเยี่ยมเยียนสถานที่แห่งนี้” Rotenberg กล่าว “ป่าแห่งนี้จะไม่ยอมแพ้โดยง่ายดายหรอกครับ”

เรื่อง JOSIE GLAUSIUSZ

ภาพ DANIELLE AMY

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม ไนเจอร์ ดินแดนต้นไม้ 200 ล้านต้น การปลูกความหวังสีเขียวกลางดินแดนสะฮารา

Recommend