เมื่อ 40 กว่าปีก่อน โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำของนายช่างไฟฟ้าเป็นฮีโร่กู้วิกฤตการณ์ขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้ของไทย มาวันนี้ โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย ถูกพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับการกลับมาของงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ปีที่ 4 ที่มาพร้อมกับการปลุกเครื่องจักรกลในโรงไฟฟ้าให้กลายเป็นหุ่นยนต์ และพาเยาวชนไปรู้จักกับพลังงานแห่งอนาคต
“ชอบหุ่นยนต์ครับ เพราะตื่นเต้นดี โดยเฉพาะตอนที่ลุกมาจากเครื่องจักรในห้องแสดงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” นี่คือเสียงสะท้อนจากเหล่าเยาวชนที่เข้าร่วมงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ประจำปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-16 พฤศจิกายน 2565 ในธีม “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Energy Sci-tech Transformation For Life พลังงานเปลี่ยนโลก” ที่บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน ผ่านพี่หุ่นยนต์ทั้ง 5 ได้แก่ หุ่นยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์เรือไฟฟ้า หุ่นยนต์บอยล์เลอร์ หุ่นยนต์คอนโทรล และหุ่นยนต์สตาร์ตอัพ ร่วมกับแสงสีเสียง แอนิเมชัน และอินเตอร์แอ็คทีฟ หลากหลายวิธีการที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ
“ในปีนี้ เราหยิบเอาแนวคิดของการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transformation มาเป็นประเด็นหลัก เนื่องจากตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา เยาวชนไทยคุ้นเคยกับยุคเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งสมาร์ตโฟน อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับศึกษาทางไกลผ่านออนไลน์ หรือความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมต่าง ๆ ที่รุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเราใช้กิมมิกของปัญญาประดิษฐ์ หรือ “พี่หุ่นยนต์” เข้ามาช่วยถ่ายทอดเรื่องราวของงานในปีนี้” น.ส.พินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เล่าถึงแนวความคิดของการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ภายใต้ธีม “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Energy Sci-tech Transformation For Life พลังงานเปลี่ยนโลก” ในครั้งนี้
นวัตกรรมวิทย์ในโลกที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ศูนย์เรียนรู้ฯ เริ่มเปิดให้บริการในปี 2562 ผ่านความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่และวิทยาศาสตร์แบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ จำเป็นต้องพักการให้บริการแบบ On-site ชั่วคราว แต่ด้วยความเชื่อมั่นที่มีอยู่เสมอว่างานให้บริการทางด้านวิชาการและการเรียนรู้ไม่มีวันหยุด จึงได้พัฒนา Virtual Exhibition ให้เข้าชมผ่านทางออนไลน์ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘หยุดโรค ไม่หยุดเรียนรู้’
จากจุดนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่ทำให้งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของที่นี่ต้องการแนะนำให้เยาวชนใกล้ชิดกับคำว่า “สมาร์ต” มากขึ้นกว่าที่เคย จากปีก่อนที่แนะนำให้เยาวชนรู้จักกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเริ่มต้นเล่าเรื่องราวของนวัตกรรมและความเปลี่ยนแปลงของโลกนวัตกรรมภายใต้ธีม ‘นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก’
“ช่วงนั้นเองเป็นช่วงเดียวกับที่มีการพูดถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เริ่มเป็นปีที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หรือนโยบายหลักเน้นการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ จะเห็นได้ว่าความสำคัญของเรื่องนี้เริ่มเข้ามาในทุกมิติ และช่วงโควิดที่ดิจิทัลเข้ามา Transform หรือเปลี่ยนโลกเป็นอีกมิติ แม้คนไม่เคลื่อนที่ แต่ทุกอย่างยังเดินหน้าอยู่” คุณพินทุ์สุดา เล่าถึงที่มาของการนำเรื่องการเปลี่ยนผ่าน มาแปลงเป็นแนวคิดในการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์
“ในปีที่แล้ว แม้งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ได้จัดขึ้นในรูปแบบ Virtual Exhibition บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 100% แต่ก็ประสบความสำเร็จมาก จนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ศูนย์เรียนรู้ฯ ของเราได้รับรางวัล Museum Thailand Awards 2021 ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม จากสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
เพราะช่วงเวลาที่ศูนย์เรียนรู้ฯ หยุดพักให้บริการ เป็นช่วงเวลาดีที่ทำให้ทีมงานได้พัฒนาความรู้และทักษะใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาคอนเทนต์และจัดทำสื่อออนไลน์ การพัฒนาบุคลากร พร้อมกับการทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น นั่นทำให้ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้เข้าใกล้และเข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งเยาวชนและชุมชน การพัฒนาคอนเทนต์ด้านนวัตกรรมที่เคยดูห่างไกล จึงขยับมาอยู่ใกล้กับทุกคนในชีวิตจริงมากขึ้น ภายใต้ธีม ‘Smart Solution for Life’ “ไม่เพียงแต่นวัตกรรมที่ก้าวไกล แต่ต้องอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนด้วย”
จากการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในปี 2564 ที่ใช้คอนเซ็ปต์นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก เล่าเรื่องราวของความสมาร์ตในชีวิต นำมาสู่ธีมงานนวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ต่อเนื่องตอนที่ 2 ในปีนี้ ที่โฟกัสเรื่องพลังงานกับอนาคต “ยุคนี้นวัตกรรมยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยเฉพาะด้านพลังงาน จากเดิมที่ผู้ผลิตกับผู้บริโภคแยกกัน แต่ตอนนี้พอพลังงานหมุนเวียนเข้ามา การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน ผู้บริโภคจะสามารถผลิตพลังงานได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นที่มาของตอน Energy Sci-tech Transformation For Life พลังงานเปลี่ยนโลก” ในปีนี้
ฮีโร่ที่ช่วยพลิกโลก
“งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมทุก ๆ ปี มักจะมีลูกเล่นคือ ทำอย่างไรให้การเรียนรู้ภายในงานสามารถจุดประกายให้เด็ก ๆ สงสัยหรือคิดต่อ เราอยากทำให้เด็ก ๆ คุ้นชินกับหลายคำที่มีการพูดถึงในวงว้าง และกำลังจะเข้ามาถึงชีวิตประจำวันของพวกเขาแล้ว รวมทั้งทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยความสนุกสนานและเพลิดเพลิน ธีมปีนี้เป็น Transformation เราจึงปั้น “พี่หุ่นยนต์” ที่แปลงร่างมาจากเครื่องจักรในโรงไฟฟ้า ให้เป็นพระเอกในงาน โดยเป็นผู้นำชมโรงไฟฟ้า โซนนิทรรศการต่าง ๆ ไปพร้อมกับฉายให้เห็นมิติของการเปลี่ยนผ่าน และนำพาไปยังอนาคตของโลกพลังงาน” คุณพินทุ์สุดาเล่าต่อ
“ตัวหุ่นยนต์เป็นสัญลักษณ์ของความล้ำหน้าทางวิทยาศาสตร์ในตัวเอง ที่สำคัญคือ ดีไซน์ของหุ่นยนต์เกิดจาก คาแร็กเตอร์หลักของเครื่องจักรสำคัญของที่นี่ เพราะเราต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นตัวสื่อสาร และลุกขึ้นมาสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกกับเยาวชน”
หุ่นยนต์ทั้ง 5 เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งมีที่มาจากโรงไฟฟ้าและเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 หรือโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ ได้แก่ หุ่นยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์เรือไฟฟ้า หุ่นยนต์บอยล์เลอร์ หุ่นยนต์คอนโทรล และหุ่นยนต์สตาร์ตอัพ ทั้งหมดอยู่ร่วมกับผู้เข้าชมงานตลอดทางตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ตัวงาน การเป็นผู้ให้ความรู้ระหว่างทาง และของที่ระลึก
ในเส้นทางหลักของการชมงาน เยาวชนยังได้รับความรู้พื้นฐานเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากนิทรรศการถาวรภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ตั้งแต่โซนแรก ‘ค้นพบเปลี่ยนโลก’ ที่พาไปเรียนรู้ต้นกำเนิดพลังงานไฟฟ้า แล้วตามรอยไปรู้จักกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย สู่โซนที่ 2 ‘ย้อนอดีตโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1’ ภายในบรรยากาศของห้องควบคุมการผลิตไฟฟ้า พร้อมสัมผัสประสบการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าขนอมในวันที่เกิดวิกฤตไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ หรือ Black Out Day
จนมาถึงโซนที่ 3 จากเดิมที่เครื่องจักรผลิตไฟฟ้าตัวจริงเสียงจริงมาให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการผลิตไฟฟ้า ครั้งนี้ เครื่องจักรที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ลุกขึ้นมาแปลงร่าง และเล่าเรื่องราวของพลังงานอนาคต ทั้งเรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในส่วนของกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถใช้งานต่อยอดกับโรงไฟฟ้าเดิมได้ อย่างพลังงานไฮโดรเจน รวมทั้งนวัตกรรมของพลังงานในอนาคตที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งได้ทุกพื้นผิว พลังงานชีวภาพจากสาหร่าย พลังงานจากร่างกายมนุษย์ พลังงานฟิวชั่น และพลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ ให้เยาวชนได้เห็นว่า ทุกสิ่งเป็นไปได้เพียงแค่ลองคิดค้นและลงมือทำ
“เราอยากชวนให้เด็ก ๆ สนใจ เราจึงสร้างการเรียนรู้โดยใช้วิธีการเล่าเรื่อง ส่งต่อไปยังโซนที่ 7 ซึ่งเป็นแหล่งสำหรับค้นคว้า สืบค้นข้อมูล และให้น้อง ๆ ทดลองเล่นกับพลังงานที่เกิดขึ้นจากตัวเอง เช่น การเดินหรือการกระโดดสามารถทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้าได้ หรือการนำลูกโป่งมาถูกับผม ผิวหนัง ก็ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้เช่นกัน”
แนวคิดและธีมจากงาน ‘นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Energy Sci-tech Transformation For Life พลังงานเปลี่ยนโลก’ ยังจะเชื่อมโยงต่อไปสู่การจัดกิจกรรมวันเด็กของศูนย์เรียนรู้ฯ ในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ปี 2566 ผ่านการจัดประกวดหุ่นยนต์จากวัสดุเหลือใช้ เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับวิถีชีวิตของเยาวชนอีกด้วย
โรงไฟฟ้าของทุกคน
“เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ของเยาวชนเป็นอันดับแรก ๆ อยู่แล้ว เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเรา เพราะฉะนั้นในการกระตุ้นหรือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม จึงมีความสำคัญและเราให้การส่งเสริมมาโดยตลอด เราจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว นับตั้งแต่เปิดศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มา และยังคงจัดอย่างต่อเนื่องไปอีก เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดที่เยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้ เพื่อจุดประกายความคิด ความฝัน ด้านการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานในอนาคตที่อาจมีการปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด” นายโกศล ศิริวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ในกลุ่มเอ็กโก ย้ำถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ขึ้นในศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมเป็นประจำทุกปี
“หากพูดเรื่องนวัตกรรมพลังงานแล้ว ในอดีตโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 หรือ ‘โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ’ ก็ถือว่ามีความเป็นนวัตกรรมในตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากเมื่อ 40 กว่าปีก่อน โรงไฟฟ้าของเราเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างบนเรือลอยน้ำแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ก่อสร้างจากประเทศญี่ปุ่น แล้วลากจูงมาติดตั้งในประเทศไทย ซึ่งนวัตกรรมนี้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในภาคใต้ที่ถือเป็นวิกฤตพลังงานที่สำคัญในช่วงเวลานั้น ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนพลังงานบรรเทาลง เพราะใช้เวลาในการก่อสร้างแค่ 2 ปี จากปกติถ้าเป็นโรงไฟฟ้าทั่วไป จะต้องใช้เวลาก่อสร้าง 4-5 ปี”
“ถ้าจะบอกว่าโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 เป็นฮีโร่ของภาคใต้ ณ ยุคเวลานั้น ก็คงไม่ผิดนัก” คุณโกศลทิ้งท้าย “เพราะฉะนั้นในเมื่อเป็นสถานที่ที่สำคัญ เราก็พัฒนาปรับปรุง รวบรวมและรักษาคุณค่าทุกมิติไว้ เปรียบเสมือนกับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโรงไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว โดยใช้มัลติมีเดีย นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจและน่าตื่นตาตื่นใจของเยาวชนทั้งในพื้นที่อำเภอขนอม พื้นที่ใกล้เคียงและประชาชนทั่วไป”
จากฮีโร่ของภาคใต้ในอดีตที่ช่วยแก้วิกฤตการณ์ทางพลังงานให้กับประเทศ และอยู่ร่วมกับวิถีชุมชนของชาวขนอมจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนไปแล้ว ฮีโร่ผู้นี้กลับมาอีกครั้งด้วยการเป็นพื้นที่แห่งความรู้และความสนุก ในวันที่นวัตกรรมและพลังงานเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว และพร้อมที่จะนำพาเยาวชนไปสู่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมพลังงาน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม
เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้งบริษัท เมื่อปี 2560 เอ็กโก กรุ๊ป และโรงไฟฟ้าขนอม ในกลุ่มเอ็กโก ได้ริเริ่มและพัฒนา “โครงการศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม” ขึ้น โดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแบบพิเศษที่ก่อสร้างบนเรือขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ” แห่งแรกในประเทศ ที่ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2524 และหมดอายุสัญญาและหยุดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อปี 2554 ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าและกระบวนการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนสะท้อนการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของโรงไฟฟ้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อม สำหรับเยาวชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป ภายในศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม แบ่งเป็น 7 โซนนิทรรศการ 1 โถงกิจกรรมพิเศษ และพื้นที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ โดยจัดแสดงเนื้อหาครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไฟฟ้า กระบวนการผลิตไฟฟ้า การรักษาสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้าและชุมชน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ผ่านสื่อมัลติมีเดียและเทคนิคการนำเสนอที่น่าสนใจและทันสมัย
ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 08.00-17.00 น.
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/khanomlearningcenter
หรือลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าเยี่ยมชมล่วงหน้าได้ที่ www.egco.com/th/khanom-learningcenter