จากไม่มีไฟฟ้าใช้ 50 ปี…รร. แม่ปั๋ง บนดอยเชียงใหม่ ได้รับโซลาร์เซลล์ สร้างโอกาสเด็กห่างไกลเรียนรู้ทันโลก

จากไม่มีไฟฟ้าใช้ 50 ปี…รร. แม่ปั๋ง บนดอยเชียงใหม่ ได้รับโซลาร์เซลล์ สร้างโอกาสเด็กห่างไกลเรียนรู้ทันโลก

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง สาขาบ้านขุนปั๋ง อ. พร้าว จ. เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอยสูง และไม่มีไฟฟ้าใช้ตลอด 50 ปี เด็กๆ ขาดโอกาสเรียนรู้มาตลอด แต่วันนี้ได้รับโอกาสเรียนรู้ให้กว้างไกลด้วยแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าให้เรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่ดูเป็นปัญหาเล็กๆ อาจสร้างผลกระทบได้อย่างใหญ่หลวง

ในปัจจุบัน หลายคนคงนึกภาพของ ‘การขาดแคลนไฟฟ้า’ ไม่ออกแล้ว ภาพพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด คงกลายเป็นภาพในอดีตของประเทศไทยในมุมมองของคนเมือง รวมไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่บนพื้นราบซึ่งมีเสาไฟฟ้าที่กระจายไปตามชุมชน

การเข้าถึงไฟฟ้าทำให้ชาวบ้านทุกหัวระแหงมีวิถีชีวิตใน ‘โลกยุคใหม่’ ที่สะดวกสบาย และมีโอกาสทำให้ชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งในแง่การเข้าถึงข่าวสาร โอกาสในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ เพราะสื่อการเรียนการสอนในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพิงไฟฟ้า รวมไปถึงคลังข้อมูลความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินเตอร์เน็ต ก็ต้องพึ่งพิงทั้งไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์

ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่สังคมลืมเลือนไป ทั้งที่ปัญหานี้ “ยังมีอยู่จริง” ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งการที่ประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่ขาดแคลนไฟฟ้าได้ส่งผลกระทบไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ คือเรื่องของการศึกษา

โรงเรียนนับพันแห่งในไทย ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ทั่วถึง

โรงเรียนส่วนใหญ่ในไทยที่มีอยู่ประมาณ 30,000 แห่ง จะมีไฟฟ้าใช้ แต่ในจำนวนดังกล่าว มี 4,939 โรงเรียน (ข้อมูลปี 2564) ที่ตั้งอยู่นอกเขตบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เช่น โรงเรียนในพื้นที่ป่า โรงเรียนที่ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติ  โรงเรียนบนดอย โรงเรียนบนเกาะ ทำให้การนำไฟฟ้าเข้าไปในพื้นที่ทำได้ลำบาก โรงเรียนเหล่านี้ต้องใช้ไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ เช่น โซลาร์เซลล์ เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง

เรื่องเล็กๆ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่นี้ ส่งผลให้เด็กๆ ขาดโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ รวมไปถึงโอกาสที่เด็กๆ เหล่านั้นจะได้ ‘เรียนรู้โลกกว้าง’ ให้ไกลจากพื้นที่ชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัย ซึ่งในบ้างแง่มุม การเรียนรู้โลกกว้าง ผ่านสื่อการสอนอย่างการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การดูสื่อที่มีประโยชน์ รวมไปถึงการสืบค้นข้อมูลที่สนใจผ่านอินเตอร์เน็ต อาจจะสำคัญกว่าการศึกษาในห้องเรียน เพราะการเรียนรู้โลกกว้างจะทำให้พวกเขามีทักษะชีวิตเพื่อเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ และมีโอกาสได้ก่อร่างสร้างเส้นทางชีวิตในแบบที่พวกเขาได้เลือกฝันจินตนาการในโลกอันกว้างใหญ่ ให้กว้างไกลจากชุมชนที่เกิดมา

จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ประเทศไทยยังมีเด็กๆ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ให้ทันต่อโลกกว้าง เพียงเพราะเขาเกิดในพื้นที่ที่ “ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง”

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง สาขาบ้านขุนปั๋ง โรงเรียนบนดอยที่ไม่มีฟ้าใช้เพียงพอกว่า 50 ปี

หมู่บ้านและโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง สาขาบ้านขุนปั๋ง อ. พร้าว จ. เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอยสูง ล้อมรอบไปด้วยขุนเขา ทำให้การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านนั้นยากลำบาก แม้จะใช้รถยนต์ที่มีสมรรถนะสูงก็ตาม โดย หมู่บ้านแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่อยู่นอกพื้นที่บริการไฟฟ้า

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง

หมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรประมาณ 290 คน มีวิถีชีวิต ประกอบชีพ เลี้ยงสัตว์ ทำนา ทำไร่ ปลูกกาแฟและใบชา ไม่มีไฟฟ้าใช้มานานมากกว่า 50 ปี หรือนับตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นมา แต่เดิมหมู่บ้านนี้มีโซลาร์ เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ติดอยู่ในบ้านบางหลัง แต่ก็เป็นแผงเล็กๆ ที่ไม่ได้มีกำลังในการผลิตต่อวันมากนัก บางบ้านที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเสริมเพื่อทำมาหากินก็ต้องใช้ “แบตเตอรี่” มาช่วย แต่ก็ต้องลงดอยไปชาร์จไฟในเมือง ซึ่งแม้จะมีรถ ก็ต้องใช้เวลาไป-กลับ นานทั้งวัน ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ชาร์จกลับมาได้แต่ละครั้งก็ยังห่างไกลกับคำว่าเพียงพอ

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง

ช่วงปี 2555 ทางหมู่บ้านได้ติดต่อนำเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมาใช้ หวังจะเติมเต็มการผลิตไฟฟ้าให้พอใช้โดยอาศัยลำธารของหมู่บ้าน แต่ต้องกลับเจอปัญหาใหม่ คือในยามหน้าแล้ง น้ำในลำธารนั้นเหือดแห้งเกินกว่าจะผลิตไฟฟ้า พอในยามฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านจำเป็นต้องแบ่งนำไปทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ ทำให้ไม่มีน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ไฟ ทั้งบ้านของชาวบ้าน และโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่มีหมู่แห่งเดียว

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง, สิงห์อาสา

โรงเรียนแห่งนั้นคือโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง สาขาบ้านขุนปั๋ง เป็นโรงเรียนสาขาบนดอยเล็กๆ มีอาคารเก่าๆ อยู่หนึ่งหลัง มีห้องเรียนหนึ่งห้อง นักเรียนอยู่ 12 คน ซึ่งอยู่ชั้นเรียนตั้งแต่อนุบาล – ประถมศึกษาปีที่ 6 มีครูที่ทำการเรียนการสอนอยู่คนเดียว ทำให้การจัดการเรียนสอนต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามระดับชั้น

ห้องเรียนในลักษณะเช่นนี้ จำเป็นที่จะต้องมีสื่อการเรียนการสอนที่ใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “ครูตู้” เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนเนื้อหาอย่างมีประสิทธิภาพ และแบ่งเบาภาระการเรียนการสอนของครู แต่สภาพความเป็นจริงของโรงเรียนแห่งนี้ คือโรงเรียนมีปริมาณไฟฟ้าใช้แค่การส่องสว่างของหลอดไฟดวงเล็กๆ หรือบางวัน เด็กๆ ต้องจุดเทียนเพื่อเรียนหนังสือ ทำให้การเรียนการสอนทำได้ไม่ต่อเนื่อง

ขึ้นดอยสร้างแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า

สิงห์อาสา โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นเครือข่ายอาสาสมัครที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งได้ทำกิจกรรมดูแลสังคมที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ได้เล็งความสำคัญของการศึกษาของเด็กๆ เยาวชน และความสำคัญของการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล เมื่อมีโอกาสรับทราบเรื่องราวของโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง จึงได้ร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อร่วมออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ภายในโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง, สิงห์อาสา

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง, สิงห์อาสา

รวมถึงได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ ได้แก่  มหาวิทยาลัยแม่โจ้,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา  และร่วมติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ส่องสว่างในห้องเรียน และต่อยอดในกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ อาทิ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และยังสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตดาวเทียมให้เด็กๆ ได้ค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ ช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนให้ดีขึ้นได้

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง, สิงห์อาสา

นอกจากนี้ยังได้สร้างระบบไฟเพื่อส่องสว่างตอนกลางคืนตลอดเส้นทางภายในหมู่บ้าน รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน ดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำกระแสไฟฟ้าไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินชีวิตตามแบบวิถีชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ รุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

นายรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เผยว่า “เป็นเวลา 10 กว่าปี สิงห์อาสาเติบโตและกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการนำความสุขและรอยยิ้มเพื่อส่งมอบให้ผู้คนที่ต้องการ มีสมาชิกร่วมเป็นเครือข่ายสิงห์อาสามากขึ้น ทั้งเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาทั่วประเทศ, เครือข่ายกู้ภัย-กู้ชีพ, หน่วยงานราชการต่างๆ ภารกิจของสิงห์อาสาจึงมีมากกว่าการเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเกิดอุทกภัยหรือภัยพิบัติอย่างที่ทำมาโดยตลอด การจับมือกับเครือข่ายเข้ามาทำแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ ในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้เด็กๆในพื้นที่ที่ห่างไกลมีไฟฟ้าไว้ใช้ในการเรียนการสอน ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการสอนชาวบ้านใช้งาน ดูแลรักษา และซ่อมบำรุงแผงโซลาร์เซลล์ หลังจากนี้ก็จะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน”

นายอินชัย  จันทะกี อาจารย์แผนกวิชาไฟฟ้า วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ผู้ที่ร่วมมือกับสิงห์อาสา และได้นำนักศึกษาจากวิทยาลัยเครือข่ายสิงห์อาสามาติดตั้งระบบไฟฟ้าให้กับโรงเรียนในครั้งนี้ กล่าวถึงประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้านี้ว่า “ ทางวิทยาลัยฯ และสิงห์อาสาได้ร่วมกันวางแผนและออกแบบระบบโซลาร์เซลล์ที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย สำหรับนำไปติดตั้งที่โรงเรียน โดยแผงโซลาร์เซลล์มีขนาด 3.30 กิโลวัตต์ มีระบบจัดเก็บและสำรองไฟฟ้าสำหรับใช้ในห้องเรียนยาวนานกว่า 12 ชั่งโมงต่อวัน และมีกำลังไฟเพียงพอสำหรับการใช้อุปกรณ์ส่องสว่าง เครื่องคอมพิวเตอร์ และโทรทัศน์ได้ในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดความต่อเนื่อง และพลังงานไฟฟ้ายังมีเพียงพอสำหรับให้ชุมชนได้นำไปสำหรับไฟส่องสว่างในช่วงเย็นและยามค่ำคืนอีกด้วยเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในชุมชนด้วย”

ด้าน นายดำรงศักดิ์ อุ่นทา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง เป็นตัวแทนโรงเรียนที่รับมอบแผงโซลาร์เซลล์และระบบไฟฟ้าจากสิงห์อาสา กล่าวว่า สื่อการเรียนการสอนต่างๆ ในปัจจุบัน ต้องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆ มีโอกาสในการเรียนรู้ได้เหมือนกับเด็กในเมือง แต่โรงเรียนยังมีปัญหาเรื่องไฟฟ้าไม่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนมาตลอด  ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางโรงเรียนและหมู่บ้านไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง

“ทางสิงห์อาสาที่ทราบเรื่องราวของโรงเรียนได้ติดต่อเข้ามา จากนั้นก็ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน ดำเนินการเรื่องแผงโซลาร์เซลล์และระบบไฟฟ้าจนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากๆ จากที่เราไม่มีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอมาตลอด 50 ปี คงเป็นเพราะทางสิงห์อาสาและเครือข่ายให้ความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาเด็กๆ ที่ขาดแคลนโอกาสในพื้นที่ห่างไกล”

โรงเรียนบ้านแม่ปั๋ง, บ้านขุนปั๋ง, สิงห์อาสา

“สิ่งที่สิงห์อาสามอบให้ในวันนี้ ทำให้เด็กๆ มีโอกาสมีเรียนหนังสืออย่างมีคุณภาพในหมู่บ้าน ทำให้เด็กๆ มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ไม่ต้องรีบจากบ้านของตัวเองเพื่อไปเรียนหนังสือในเมือง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้งโอกาสในการศึกษาเรียนรู้ ทางโรงเรียนต้องขอขอบคุณสิงห์อาสาที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของกระแสไฟฟ้าในครั้งนี้อย่างยิ่ง”

แม้โรงเรียนสาขาขุนปั๋งจะมีนักเรียนเพียง 12 คน แต่การมีไฟฟ้าใช้ในห้องเรียน ก็เทียบได้กับการมอบโอกาสให้เด็กได้ออกไปทำความรู้จักกับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ได้รู้เท่าทันสังคมจากข่าวสาร เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่ผันไปตามยุคสมัย และได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต โดยมีไฟฟ้าเป็นตัวจุดประกายอนาคตให้สว่างไสวจากยอดดอย


อ่านเพิ่มเติม สิงห์อาสา ระดมเครือข่ายสิงห์อาสาฯ กำจัดผักตบชวาช่วงฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วมภาคกลาง

Recommend