เรียนรู้ไปกับ Melbourneเมืองแบบไหนที่เราเรียกว่า Knowledge City?

เรียนรู้ไปกับ Melbourneเมืองแบบไหนที่เราเรียกว่า Knowledge City?

เมือง Melbourne ได้รับการพูดถึงมากขึ้นในฐานะเมืองอันเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ดึงดูดผู้คนระดับหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลกให้ไปอยู่อาศัย ไปศึกษาต่อ และไปประกอบอาชีพ นั่นไม่เพียงเป็นการยกระดับชีวิตของผู้คนเหล่านั้น แต่ยังทำให้ Melbourne กลายเป็นเมืองที่ ฉลาดและเปี่ยมศักยภาพ พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดแบบไม่น้อยหน้าเมืองใดๆ

ในโอกาสที่ OKMD (Office of Knowledge Management and Development) จัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ เมือง คิด ใหม่ไปเมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ทางเจ้าภาพจึงไม่พลาดที่จะเชิญ Dr. Jackie Watts สมาชิกสภาผู้แทนของเมือง Melbourne มาร่วมแชร์ถึงวิธีการที่รัฐสร้างให้ Melbourne กลายเป็นเมืองเพื่อการศึกษาในแบบทุกวันนี้

Dr. Jackie Watts จบการศึกษาในระดับปริญญาเอกในสาขาการศึกษาศาสตร์ (RMIT), ระดับปริญญาโทด้านTeaching and Librarianship (University of Melbourne)และระดับปริญญาตรี Bachelor of Arts (La Trobe University) เป็นพลเมืองMelbourn มาแล้วมากกว่า 35 ปี เธอเชี่ยวชาญด้านระบบการศึกษาในทั้งระดับประถม, มัธยม และสายอาชีวะ รวมถึงงานด้านบรรณารักษ์ศาสตร์ และเป็นนักเคลื่อนไหวผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรต่างๆ ทั้งเพื่อการค้าและทั้งแบบไม่แสวงหาผลกำไร ผลงานเข้มข้นเหล่านี้ แน่นอนว่าเธอเก็บเกี่ยวประสบกาณ์เกี่ยวกับเมืองนี้และการศึกษามาอย่างโชกโชน ทำให้เธอตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสภาของเมือง Melbourne ในปี 2011

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ว่าด้วยการผลักดัน Melbourne ให้กลายเป็น “Knowledge Cities Portfolio” เธอเล่าว่าเมืองควรมีองค์ประกอบของ City Learning : เมืองต้องมีห้องสมุดสาธารณะและส่วนกลางที่เปรียบเป็น Hub ให้คนในชุมชนมาใช้ร่วมกัน, Knowledge : เมืองต้องสนับสนุนให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน มีพิพิธภันฑ์รวมรวมความรู้ ควรมีแหล่งข้อมูลให้ประชาชนเกิดความเข้าใจด้านเทคโนโลยี

 

Q: ถ้าเรามองจากกรณีของ Melbourne อะไรคือความท้าทายที่สุดในการสร้างเมืองให้กลายเป็น “City of Knowledge” ?

Dr. Jackie Watts: “ เมื่อเราวางแผนทำอะไรเกี่ยวกับคนหมู่มาก ปัญหาต่างๆ มักมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราจึงพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการปรับเมืองอาจจะมีบางช่วงเวลาที่ไม่เป็นไปดั่งใจ แต่นั่นก็เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ในการพัฒนาเมืองที่ดีที่สุด ผลกระทบหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของอาชีพการงานที่ต้องเปลี่ยนไปของผู้คน แต่หากผ่านวางแผนที่ดี เราก็จะเตรียมรับมือกับมันได้ก่อนที่ความไม่ราบรื่นเหล่านั้นจะเกิดขึ้นซะอีก

วิธีหนึ่งที่เราเลือกใช้ก็คือ เราจัดให้มี “Knowledge week”  เป็นประจำทุกปี ให้ผู้คนได้มาเจอกัน แชร์ข้อมูลกัน รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นว่าพวกเขาจินตนาการเมืองในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง และยังมี “Open Data Platform” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาดูข้อมูลของสภาได้ผ่านระบบ online รวมไปถึงพื้นที่ที่เราเรียกว่า “Melbourne Conversations” ที่ให้ประชาชนได้ออกเสียงแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานกาณ์บ้านเมือง เรื่องที่สนใจหรือเรื่องที่พบว่าเป็นปัญหา เอามาพูดคุยกันได้อย่างเสรี (ตามไปดูกันได้ตามลิงค์เหล่านี้ค่ะ https://participate.melbourne.vic.gov.au
https://data.melbourne.vic.gov.au
http://www.melbourne.vic.gov.au/arts-and-culture/events-partnerships/melbourne-conversations/Pages/melbourne-conversations.aspx )

หน้าที่สำคัญของรัฐก็คือต้องมองเห็นปัญหาล่วงหน้าได้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น เช่นเราสังเกตว่าเศรษฐกิจของเมืองที่เคยมีภาคอุตสาหกรรมเป็นหัวใจหลักเริ่มมีแนวโน้มถดถอย แต่การขายปลีกยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี เราจึงเริ่มเผยแพร่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้กับประชาชน และมาช่วยกันดูว่าอะไรคือทางเลือกอื่นๆ ของแรงงานหากต้องมีการเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งกิจกรรมพวกนี้เกิดขึ้นในงาน “Knowledge Week” เป็นต้น พลเมือง Melbourne ก็ออกมาพบกันและแลกเปลี่ยนเรื่องไอเดีย เรื่องอาชีพ คนที่เคยมาแล้วก็ชวนคนที่ยังไม่เคยรู้จักงานนี้มาก่อนให้มาร่วมด้วย มันจึงเกิด impact ขึ้น

Q: แล้วผู้คนที่ต้องเปลี่ยนงานจากกรณีที่ยกตัวอย่างมา มีความเห็นอย่างไรบ้าง?

Dr. Jackie Watts:“ ชาว Melbourne ส่วนมากมีความเข้าใจเบื้องต้นอยู่แล้วว่ายุคปัจจุบัน อาชีพต่างๆ ไม่ได้มีแบบแผนที่คาดเดาได้อีกต่อไป ฉะนั้นการปรับตัวด้านอาชีพการงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้คนไม่เห็นแนวโน้มในระยะยาว เราจีงมีหน้าที่บอกกล่าวเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนเตรียมรับมือไปพร้อมๆ กัน”

 

Q: คุณเน้นว่า ความรู้ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้รัฐมีวิธีการที่ทำให้ชาว Melbourne เข้าถึงแหล่งความรู้ตามหลักการดังกล่าวอย่างไร ?

Dr. Jackie Watts:”เรามีหน่วยงานรัฐที่เรียกว่าเป็น 3rd level อันถือเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดผู้คนมากที่สุด รายได้ในการจัดตั้งและบริหารหน่วยงานรัฐดังกล่าวมาจากเงินของประชาชน เราจึงมีหน้าที่ให้บริการพวกเขาอย่างสุดความสามารถ โดยหนึ่งในงานหลักก็คือการให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนเหล่านี้”

Q: คุณคิดว่า “City of Knowledge” มีข้อจำกัดอะไรไหม เราใช้หลักการของเมืองแห่งความรู้มาช่วยแก้ปัญหาด้านอื่นๆ ของ Melbourne ได้ด้วยหรือไม่ เช่นปัญหาคนไร้บ้าน เป็นต้น ?

Dr. Jackie Watts:น่าสนใจมากที่คุณถามเรื่องนี้ เพราะด้วยตำแหน่งแล้ว ส่วนแรกฉันดูแลเกี่ยวกับเรื่อง “Knowledge City” เป็นหลัก และส่วนที่สองเน้นเรื่อง “People City”  ซึ่งเรื่องคนไร้บ้านจะอยู่ในส่วนที่สองนี้เอง ถือเป็นเรื่องที่ฉันเกี่ยวข้องและดูแลอยู่เป็นพิเศษเลยทีเดียว จริงๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับเรื่องการให้การศึกษา รัฐมีการจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาเพื่อเข้าไปพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านจริงๆ โดยกลุ่มที่ปรึกษาดังกล่าวคือบุคลากรที่มาจากราว 20 องค์กร ที่ทำงานเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในการเจอกันแต่ละครั้ง เรารับฟังปัญหาจากกลุ่มคนไม่มีบ้านเพื่อพยายามวิเคราะห์ต้นตอของปัญหาคนไร้บ้าน เนื่องจากจำนวนประชากรของเมืองที่เพิ่มขึ้นแปลผันตรงกับจำนวนคนไร้บ้าน ทำให้รัฐต้องใช้เงินทุนเข้ามาเยียวยาปัญหาคนไร้บ้านไปหลายล้านดอลล่า แต่การจะแก้ปัญหานี้อย่างถึงรากถึงโคนได้ ก็คือการผลักดันให้พลเมืองทุกคนเข้าถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและองค์ความรู้ต่างๆ อย่างทั่วถึงกันนั่นเอง

 

Q: “Knowledge City” สร้างได้ผ่านหลักการ ดึงดูดผู้คนที่มากความสามารถให้เข้ามาอยู่ในเมือง นั้นสำคัญอย่างไร และ Melbourne ใช้แนวคิดนี้ในการพัฒนาเมืองอย่างไรบ้าง

กลไลในการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใน Melbourne ก็เริ่มจากการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี องค์ประกอบด้านอื่นๆ เกิดจากความร่วมมือกันของสถาบันการศึกษาระดับสูงและสถาบันเพื่อการพัฒนาทักษะต่างๆ จนทำให้ Melbourne เป็นเมืองทีขึ้นชื่อในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไปแล้ว ดังนั้น วิชาการ จึงกลายมาเป็นค่านิยมที่สูงค่าอย่างยิ่งใน Melbourne เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ถ้าคุณอยากให้เมืองใดเป็นเมืองที่น่าอยู่ ให้สร้างเมืองที่มีที่อยู่อาศัยในราคาจับต้องได้ มีอาหารการกินดี และเปี่ยมไปด้วยศิลปะวัฒนธรรม เหนือสิ่งอื่นใด ผู้คนจะไม่อยากจากเมืองนั้นไปหากพวกเขารู้ว่าเรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้เมืองพัฒนาไปต่อ และมันกำลังเติบโตไปเพื่อเอื้อกับการลงทุนและประกอบอาชีพ
ถ้าเมืองไหนยังคงยึดติดกับวิธีการที่คนต้องจ่ายค่าเล่าเรียนแพง เพื่อให้ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอุดมปัญญาและอยู่ในแวดวงการศึกษาที่แบ่งชนชั้นกัน เมืองนั้นก็จะไม่สามารถหวังผลจากแนวคิด “Knowledge City” ได้เลย แม้แต่ละคนจะมาจากพื้นฐานที่ต่างกัน แต่พลเมืองทุกคนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียมกันประชากรจะต้องได้รับการปลูกฝังว่า สังคมควรชื่นชมคนที่มีความสามารถมากกว่าคนรวยหรือคนในชนชั้นสูง กลุ่มคนที่่มีศักยภาพจะต้องได้รับการสนับสนุน เพราะ “Knowledge City” ไม่ว่าจะในประเทศใดๆ ก็ตามควรต้องประกอบด้วยประวัติศาสตร์ของตัวเอง มีสังคม และการปกครองที่มีนโยบายเอื้อให้เกิดสังคมแห่งความรู้ดังกล่าวเสียก่อน เราจึงจะได้เห็นการงอกงามของสังคมอุดมปัญญา

 

ภาพและบทสัมภาษณ์ : Jonas Becker

Recommend