ปกป้องหมู่เกาะ กาลาปากอส กับโครงการ Mission Blue 25 ปีแห่งการอนุรักษ์

ปกป้องหมู่เกาะ กาลาปากอส กับโครงการ Mission Blue 25 ปีแห่งการอนุรักษ์

“หากปกป้องหมู่เกาะกาลาปากอสไม่ได้
แล้วคุณจะสามารถปกป้องส่วนใดในโลกใบนี้ได้”

Sylvia Earle ผู้ก่อตั้งโครงการ Mission Blue

ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์และไม่เหมือนที่ใดของหมู่เกาะ กาลาปากอส เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์นานาชนิด ที่ไม่สามารถพบได้ในที่อื่นใดบนโลกใบนี้ เมื่อนักสมุทรศาสตร์ในตำนาน ซิลเวีย เอิร์ล (Sylvia Earle) ไปเยือนหมู่เกาะแห่งนี้เป็นครั้งแรกในปี 1966 เธอได้กล่าวว่า ที่นี่เป็น “สถานที่ที่มีปลาฉลามและปลาชนิดต่าง ๆ มากที่สุด” เท่าที่เธอเคยไปเยือน  แต่สิ่งที่ทำให้หมู่เกาะแห่งนี้มีความพิเศษก็สามารถทำให้สถานที่ดังกล่าวเปราะบางได้เช่นกัน เพราะยิ่งมีคนค้นพบเกาะแห่งนี้มากขึ้นเท่าใด สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นก็สามารถรุกรานเข้ามา ทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ตกอยู่ในอันตรายได้มากขึ้นเท่านั้น

ซิลเวีย เอิร์ล จึงได้ก่อตั้งโครงการ Mission Blue องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์มหาสมุทรตามเป้าหมายการสร้างเครือข่ายระดับโลกสำหรับ Hope Spot พื้นที่ที่เปี่ยมไปด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง เพื่อความสมบูรณ์และอนาคตของมหาสมุทร ซึ่ง Rolex ได้ให้การสนับสนุนภายใต้แนวคิดริเริ่ม Perpetual Planet มา 25 ปีแล้ว

การสำรวจครั้งยิ่งใหญ่

หมู่เกาะ กาลาปากอส ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ Hope Spot แห่งแรก ๆ ของโครงการ Mission Blue ของ Earle ในปี 2010 เป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ ที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ต่อมหาสมุทรนั้นสามารถแก้ไขได้ ซึ่งการสำรวจครั้งสำคัญนี้ ที่นำทีมโดย Earle ได้เพิ่มหลักฐานถึงความจำเป็นที่ต้องปกป้องผืนทะเลให้มากยิ่งขึ้น

ความพยายามของเธอไม่สามารถรอให้ถึงช่วงเวลาที่วิกฤตไปกว่านี้ได้ แม้ว่าประเทศเอกวาดอร์จะก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเล กาลาปากอส ขึ้นเมื่อปี 1998 ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของเกาะถึง 133,000 ตารางกิโลเมตร ทว่ายังจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่มากกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่า ชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และชาวประมง จะได้ใช้หมู่เกาะ กาลาปากอส แห่งนี้อย่างยั่งยืนต่อไปได้อีกหลายปี

ในปี 2022 เกือบ 25 ปีหลังการก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเล กาลาปากอส ก็ถึงเวลาที่จะประเมินผลลัพธ์ของการคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล Sylvia Earle ผู้ซึ่งเป็น Rolex Testimonee ตั้งแต่ปี 1982 ได้ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบัน ดำเนินการสำรวจทั่วพื้นที่ Hope Spot แห่งนี้เป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยเป้าหมายของการวิจัยที่หลากหลายของทีม ทำให้มีการประเมินระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อย่างครอบคลุม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความท้าทายและโอกาสสำหรับความพยายามในการอนุรักษ์ในอนาคตข้างหน้า

แผนภูมิสู่ความสำเร็จ

การสำรวจส่วนใหญ่เน้นค้นหาความหลากหลายที่ซ่อนเร้นและถูกลืมเลือนอยู่ภายใต้เกลียวคลื่น เพื่อใช้เป็นคุณค่าพื้นฐานด้านความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ที่การสำรวจในอนาคตสามารถติดตามย้อนรอยได้

ด้วยการใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย อาทิ ดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อม (eDNA) และระบบวิดีโอใต้น้ำ ทีมสำรวจได้ค้นพบข้อมูลประชากรที่สำคัญของสัตว์ที่ไม่ค่อยมีผู้ศึกษาวิจัยมากนัก เช่น ม้าน้ำและกุ้งก้ามกรามเฉพาะถิ่น โดยการวิเคราะห์ของ eDNA นั้น ได้แยกดีเอ็นเอของสัตว์ที่ทิ้งร่องรอยไว้ในห้วงน้ำ ซึ่งอาจไม่มีใครสามารถสังเกตเห็นได้

“ลำดับดีเอ็นเอที่เราพบส่วนใหญ่ไม่ตรงกับฐานข้อมูลสาธารณะใด ๆ
นั่นหมายความว่ามีหลายสิ่งจาก กาลาปากอส ที่ยังไม่ได้รับการจัดลำดับ หรือมีสิ่งใหม่ที่วิทยาศาสตร์เรายังไม่รู้”

Diana Pazmino จากศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปากอส

นี่ไม่ใช่การค้นพบครั้งแรกของทีม  ในปีที่ผ่านมา Sylvia Earle และ Salome Buglass จากมูลนิธิ Charles Darwin ได้ค้นพบสาหร่ายเคลป์สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวน้ำ โดยระหว่างการสำรวจในปี 2022 ทั้งคู่ได้ขึ้นเรือดำน้ำ “DeepSee” เพื่อขยายขอบเขตการสำรวจความลึกของมหาสมุทร และได้พบกับภาพของป่าเขียวชอุ่มภายใต้ผืนน้ำ ทั้งนี้ มีทฤษฎีเบื้องต้นว่าป่าเคลป์ที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ดังกล่าว

“ป่าเคลป์ในส่วนอื่น ๆ ของโลกมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน

ความหลากหลายทางชีวภาพ และบางทีเราอาจพบชิ้นส่วนของ

ปริศนาที่อธิบายว่า ทำไมความหลากหลายทางชีวภาพและชีวมวล

จึงอุดมสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ในหมู่เกาะกาลาปากอส”

Salome Buglass จากมูลนิธิ Charles Darwin

คิดให้เหมือนมหาสมุทร

ทีมสำรวจของ Earle ได้ทำการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานข้ามมหาสมุทรของสัตว์ทะเลนานาชนิดด้วยวิธีการตรวจจับตำแหน่งที่บันทึกการอพยพของฉลามจากสถานที่ที่ไกลออกไปถึงอ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งคอสตาริกา ซึ่งการค้นพบดังกล่าวถือเป็นหลักพิสูจน์อันสำคัญในการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อขยายการอนุรักษ์ทางทะเล

นอกจากนี้ ทีมสำรวจยังได้ทำการสำรวจแหล่งที่อยู่ของเต่า ทำแผนที่พื้นที่หาอาหารของฝูงนกเพนกวิน รวมถึงวัดระดับของไมโครพลาสติก ซึ่งการทำงานภาคสนามดังกล่าวจะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถ “คิดให้เหมือนมหาสมุทร” อย่างที่ Earle ได้กล่าวไว้ พร้อมตระหนักถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศอย่างไม่มีขอบเขตสำหรับสัตว์ทะเล

เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในปี 2021 ประเทศเอกวาดอร์ ปานามา โคลอมเบีย และคอสตาริกา ได้ประกาศการริเริ่มโครงการแนวระเบียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก (Eastern Tropical Pacific Marine Corridor) โดยการเข้าร่วมและเพิ่มการคุ้มครองน่านน้ำ เพื่อสร้าง “ทางว่ายน้ำ” ที่ห้ามจับปลาในเส้นทางอพยพหลักของฉลาม เต่า กระเบน และวาฬ และถึงแม้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญ แต่ภารกิจของ Earle และทีมสำรวจก็แสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขยายและเพิ่มเส้นทางว่ายน้ำให้มีมากขึ้น 

Manuel Yepez และ Alex Hearn ผู้ร่วมผลักดันพื้นที่ Hope Spot หมู่เกาะกาลาปากอสของโครงการ Mission Blue เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในการปกป้องส่วนสำคัญของมหาสมุทร โดย Hearn จากศูนย์วิทยาศาสตร์กาลาปากอส เป็นผู้ตรวจสอบหลักในการสำรวจภายใต้การนำของ Earle และเป็นผู้เรียกประชุมทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่เข้าร่วมในโครงการ Hearn เชื่อว่า “ถ้าเราประสบความสำเร็จที่กาลาปากอส เราก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ทุกแห่งบนโลกใบนี้”


เกี่ยวกับโครงการ PERPETUAL PLANET

เป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษที่ Rolex ให้การสนับสนุนเหล่านักสำรวจผู้บุกเบิก เพื่อผลักดันขีดความสามารถและความอุตสาหะของมนุษย์ให้ก้าวไกลมากกว่าเดิม บริษัทฯ ได้ต่อยอดจากการสนับสนุนการสำรวจเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ ไปสู่การอนุรักษ์โลกธรรมชาติ พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนบุคคลและองค์กรในระยะยาว โดยใช้วิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและคิดค้นวิธีแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

การเปิดตัวโครงการ Perpetual Planet ในปี 2019 ได้ตอกย้ำถึงการมีส่วนร่วมดังกล่าว โดยแรกเริ่มโครงการได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่การสนับสนุนบุคคลที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าเคย ผ่านโครงการ Rolex Awards for Enterprise ในการปกป้องมหาสมุทรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่จัดตั้งขึ้นกับโครงการ Mission Blue และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านความร่วมมืออันยาวนานกับ National Geographic Society

บุคคลหรือองค์กรที่เข้าร่วมในโครงการ Perpetual Planet ในขณะนี้ ได้แก่ Cristina Mittermeier และ Paul Nicklen ช่างภาพผู้อนุรักษ์ธรรมชาติ, Rewilding Argentina และ Rewilding Chile องค์กรลูกของ Tompkins Conservation ซึ่งกำลังปกป้องภูมิ
ประเทศในทวีปอเมริกาใต้, องค์กร Coral Gardeners ที่ทำการปลูกปะการังคืนสู่แนวปะการัง, ทีมสำรวจของ Steve Boyes และโครงการ The Great Spine of Africa ที่สำรวจลุ่มแม่น้ำสายสำคัญของทวีป, โครงการ Under The Pole ที่ผลักดันขีดจำกัดของการ

สำรวจใต้น้ำ, ทีมสำรวจ B.I.G ไปยังขั้วโลกเหนือในปี 2023 ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อเขตอาร์กติก และโครงการ Monaco Blue ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มหาสมุทร 

นอกจากนี้ Rolex ยังได้สนับสนุนองค์กรและโครงการริเริ่มที่ส่งเสริมนักสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ ผ่านทุนการศึกษาต่าง ๆ เช่น ทุน Our World-Underwater Scholarship Society และ The Rolex Explorers Club Grants

Recommend