ผลวิจัยพบ มลพิษทางอากาศ มีผลต่อสมองและสุขภาพจิตของมนุษย์

ผลวิจัยพบ มลพิษทางอากาศ มีผลต่อสมองและสุขภาพจิตของมนุษย์

นักวิจัยในหลายมหาวิทยาลัยของอังกฤษ พบความเชื่อมโยงระหว่าง มลพิษทางอากาศ กับสมองและสุขภาพจิตมนุษย์ อาจเป็นต้นเหตุของการป่วยโรคจิตเวช วิตกกังวล และ ภาวะซึมเศร้า

สำหรับผลวิจัยดังกล่าวระบุว่า การสัมผัสมลพิษทางอากาศแม้ในระดับต่ำ แต่หากเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล โดยมีที่มาจากรายงานการศึกษาที่สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพอากาศและสุขภาพจิต

ทั้งนี้ ผลวิจัยของสหราชอาณาจักรชุดนี้สำรวจเรื่องของภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในผู้ใหญ่เกือบ 500,000 คนในพื้นที่สหราชอาณาจักรช่วง 11 ปี พบว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงมีแนวโน้มที่จะมีอาการต่างๆเกี่ยวกับโรคจิตเวช แม้ว่าคุณภาพอากาศจะมีมลพิษไม่สูง อยู่ในเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้

ส่วนงานเขียนของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน ในวารสารสมาคมการแพทย์สหรัฐฯด้านจิตเวชศาสตร์ ระบุว่า รายงานของพวกเขาชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นในการควบคุมมลพิษทางอากาศ

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่บรรดารัฐมนตรีกำลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการผ่านหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายฉบับใหม่ ในสหราชอาณาจักรซึ่งอนุญาตให้มีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มากกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึง 2 เท่า

ทั้งนี้ การอนุมัติกฎหมายดังกล่าว อนุญาตให้มีมลพิษของฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 เฉลี่ยต่อปีไม่เกิน 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายในปี 2028 ขณะที่องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนระดับคุณภาพอากาศตามแนวทางปฏิบัติปี 2005 ใหม่ในเดือนกันยายน ปี 2021 โดยลดค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ลงเหลือไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ให้มากที่สุดจากฝุ่น PM2.5 ขณะเดียวกัน WHO เสนอว่าไม่มีการสัมผัส PM2.5 ในระดับใดที่ปลอดภัยจากผลกระทบต่อสุขภาพ (ค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ยรายปีของประเทศไทยอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

มลพิษทางอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจมานานแล้ว แต่นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าหลักฐานจำนวนมากขึ้นกำลังสร้างความเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางสุขภาพจิต ซึ่งจนถึงตอนนี้การศึกษาเฉพาะที่มีอยู่เกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าได้ดำเนินการในภูมิภาคที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินขีดจำกัดคุณภาพอากาศของสหราชอาณาจักร

นักวิจัยใช้ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 389,185 คนจาก UK Biobank สร้างแบบจำลองและให้คะแนนมลพิษทางอากาศ รวมถึง PM2.5 , PM10 , ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ไนตริกออกไซด์ ในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่ พบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากว่า 13,131 รายและป่วยโรควิตกกังวล 15,835 ราย ภายในระยะเวลาประมาณ 11 ปี

เมื่อมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น นักวิจัยพบว่ากรณีของภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในความชันขอกราฟกราฟบ่งชี้ว่าการสัมผัสกับมลพิษระดับต่ำในระยะเวลานาน ก็มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การการป่วยทางจิต เช่นเดียวกับกลุ่มตัวอย่างที่สัมผัสมลพิษในระดับที่สูงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยหวังว่า รายงานชิ้นนี้จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลต่างๆพิจารณาว่า มาตรฐานคุณภาพอากาศของหลายประเทศยังคงสูงกว่าหลักเกณฑ์คุณภาพอากาศทั่วโลกปี 2021 ขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุด จึงควรนำมาตรฐานหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นมาใช้การควบคุมมลพิษทางอากาศมาใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต

ขณะที่ แอนนา แฮนเซลล์ ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ เปิดเผยว่า ผลวิจัยชิ้นนี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนเรื่องการปรับแก้กฎหมายที่ว่าด้วยการจำกัดมลพิษทางอากาศ

ที่มา

https://www.theguardian.com/environment/2023/feb/01/study-reveals-links-between-uk-air-pollution-and-mental-ill-health

https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/ cleanair/air-standard/

Recommend