5 New Year’s resolution ที่ทำได้ไม่ยาก ทั้งยังดีต่อโลก

5 New Year’s resolution ที่ทำได้ไม่ยาก ทั้งยังดีต่อโลก

พลุมากมายสว่างไสวเหนือท้องฟ้าของนครซิดนีย์ เพื่อเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ปี 2019
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Brendan Esposito/AAP/AP Photo

5 New Year’s resolution ที่ทำได้ไม่ยาก ทั้งยังดีต่อโลก

ปี 2018 ที่ผ่านมา คือปีแห่งสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว เราได้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์น่าหวาดหวั่นไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในซีกโลกเหนือ, ไฟป่าครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา, น้ำท่วมที่คร่าชีวิตผู้คนในอินเดียไปจำนวนมาก และที่ขาดไม่ได้ก็คือพายุหลายลูกที่โหมกระหน่ำซัดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายต่อหลายครั้ง ฯลฯ

รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ปี 2018 คือปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 4 เท่าที่เคยมีบันทึกมา สร้างความกังวลถึงในอนาคตอันใกล้ว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง, น้ำท่วม, พายุ ไปจนถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะยิ่งทวีความรุนแรงมากตามจำนวนปีที่เพิ่มขึ้นไปด้วย

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามนุษยชาติมีเวลา 12 ปีที่จะแก้ไขสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ก่อนที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ตัวเลขนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย ปกติแล้วหากอุณหภูมิขึ้นหรือลงเพียงแค่ 1.5 องศาเซลเซียส ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีน้อยมากจนผู้คนไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ แต่สำหรับอุณหภูมิโลกนั้นต่างออกไป ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะคร่าชีวิตของระบบนิเวศตามแนวปะการังทั้งหมด, สัตว์บางชนิดที่ปรับตัวไม่ทันจะพากันล้มตาย ร้ายแรงคือถึงขั้นสูญพันธุ์, ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะรุกคืบกลืนกินชายฝั่ง และสภาพอากาศที่ผันผวนจะเปลี่ยนให้บางพื้นที่ที่ชุ่มชื้น เปียกชุ่มยิ่งกว่าเดิม ในขณะที่บางพื้นที่ซึ่งแห้งแล้งอยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะแห้งผากมากขึ้นไปอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาหารของประชากรโลกโดยตรง เมื่อผลผลิตจากการเกษตรและปศุสัตว์ได้รับความเสียหายไปจำนวนมาก

New Year's resolution
อาสาสมัครเข้าช่วยเหลือชาวบ้านและสัตว์เลี้ยงที่เผชิญกับน้ำท่วมในเมือง New Bern รัฐนอร์ทแคโลไรนา
ภาพถ่ายโดย Chip Somodevilla, Getty Images

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์แนวโน้มว่า สำหรับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้วในปี 2019 นี้ มีแนวโน้มที่จะดีกว่าปีที่ผ่านมา จากความใส่ใจในปัญหาของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว บริษัทสตาร์บัคส์ออกมาประกาศเตรียมยกเลิกการให้บริการหลอดพลาสติกในร้านกาแฟทุกสาขาทั่วโลก ภายในปี 2020 นี้ แมคโดนัลด์เองก็เช่นกัน ในขณะที่ภาครัฐบาลของหลายประเทศเองก็เริ่มตั้งเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐบาลจีนที่ออกมาประกาศว่า ปี 2019 จะเป็นปีที่พวกเขามุ่งเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็พยายามสร้างสมดุลของการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมไปในตัว โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ

ทุกๆ ปี เมื่อถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ ผู้คนส่วนใหญ่มักตั้ง New Year’s resolution หรือคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับตนในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงชีวิต ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น การลดน้ำหนัก ไปจนถึงเรื่องใหญ่ในชีวิตอย่างจบการศึกษา คงจะดีไม่น้อยถ้าเราจะใช้โอกาสอันดีของช่วงเวลาปีใหม่นี้ไม่เพียงแค่สร้างระเบียบวินัยในชีวิตของตนให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงโลกที่เราอยู่อาศัยให้น่าอยู่ขึ้นไปอีกขั้นด้วยเช่นกัน และเหล่านี้คือตัวอย่างไอเดียน่าสนใจที่ไม่ยากจนเกินไป เพื่อเยียวยาบ้านหลังเดียวของเราให้ยังคงงดงามไปจนถึงรุ่นลูกหลาน

New Year's resolution
ในมาเก๊า ประเทศจีน น้ำท่วมจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเพราะอิทธิพลของไต้ฝุ่นมังคุด ขณะนี้บ้านเรือนมากกว่า 22,000 หลังต้องอยู่โดยปราศจากไฟฟ้าใช้ ในขณะที่อีกหลายพันคนเลือกอพยพไปอยู่ยังศูนย์ช่วยเหลือชั่วคราวแทน
ภาพถ่ายโดย ImagineChina, AP

 

ยับยั้งชั่งใจในการใช้พลาสติก และใช้บริการขนส่งมวลชน

หากคุณมองไม่เห็นภาพว่าในวันหนึ่งๆ มีขยะผ่านมือเรามากน้อยแค่ไหน ให้ลองแยกขยะ หรือเก็บขยะเหล่านั้นไว้พิจารณาจะพบว่ามีขยะพลาสติกมากมายที่ไม่จำเป็น ตั้งแต่พลาสติกห่ออาหาร ถุงช้อปปิ้ง ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ในจำนวนนี้กลายเป็นขยะหลังถูกใช้งานเพียงไม่กี่นาที และมีสัดส่วนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล

สิ่งที่ยากที่สุด ทว่าได้ผลอย่างยั่งยืนหากทำได้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาด้วยพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่คือการเปลี่ยนแปลงนิสัยต่างหาก ลดปริมาณการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด พกถุงผ้าและกระติกน้ำติดตัว เหล่านี้คือแนวทางรับมือที่เราทำได้ ส่วนปัญหามลพิษจากรถยนต์ ที่เป็นปัญหาระดับชาติในหลายเมือง เช่น นครมุมไบ หรือกรุงปักกิ่ง แน่นอนคุณไม่อาจห้ามผู้คนไม่ให้ซื้อรถยนต์ได้ เนื่องจากแต่ละคนก็มีเหตุผลและความจำเป็นต่างกันไป เพียงแต่ลองหาโอกาสใช้บริการระบบขนส่งมวลชนบ้าง ในแต่ละสัปดาห์ หรือจะให้ดีการปั่นจักรยานก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการเพิ่มพูนสุขภาพที่ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้ใครหลายคนทราบวิธีการอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ลองลงมือทำเท่านั้น

(โดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันสร้างขยะราว 2 กิโลกรัมต่อวัน Rob Greenfield จะมาสาธิตให้ชมว่าขยะที่เขาสร้างใน 1 เดือนนั้นมากขนาดไหน เพื่อย้ำเตือนถึงความสำคัญของการลดขยะที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตประจำวัน)

 

งดทานเนื้อสัตว์สัก 1 วัน

งดกินเนื้อจะไปช่วยโลกได้อย่างไร? อันที่จริงมันเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คิดเลยทีเดียว เพราะทุกวันนี้ก๊าซเรือนกระจกถูกผลิตขึ้นจากอุตสาหกรรมอาหารมากถึง 30% และในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมาจากฟาร์มปศุสัตว์ ปัจจุบันประชากรโลกบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่า 230 ล้านตันต่อปี นั่นหมายความว่าต้องใช้พลังงาน น้ำ และอาหารจำนวนมากกว่าจะผลิตเนื้อสัตว์ออกมาให้เรากิน นอกจากนั้นฟาร์มปศุสัตว์ยังปลดปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ รวมถึงผลิตของเสียอีกจำนวนมหาศาล ทั้งยังต้องใช้พื้นที่ปริมาณมากในการทำฟาร์มอีกด้วย โดยเฉพาะกับสัตว์ใหญ่ เช่น วัว และหมู

งานวิจัยชี้ว่า หากประชากรโลกลดปริมาณการทานเนื้อสัตว์ลงเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ นอกเหนือจากจะดีต่อสุขภาพของคุณเองที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วนและเบาหวานแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ด้านนักวิทยาศาสตร์แนะนำให้เหลือมื้อที่มีโอกาสทานเนื้อสัตว์เพียง 1 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เทียบเท่ากับปริมาณที่ผู้คนในช่วงเวลาก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทานจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มาก ทั้งนี้ปัจจุบันมีเทรนด์การทานอาหารที่เรียกว่า “flexitarian diet” คือทางสายกลางระหว่างคนทานมังสวิรัติ และคนรักการทานเนื้อ เทรนด์เพื่อสุขภาพนี้ยังคงทานเนื้อสัตว์ แต่เน้นไปที่ผักผลไม้ และธัญพืชเป็นหลัก สำคัญคือความยืดหยุ่นที่ไม่ฝืนตนเองมากเกินไป

(งดทานเนื้อสัตว์ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร? ทำความเข้าใจถึงผลกระทบจากปศุสัตว์กันให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นผ่านวิดีโอนี้)

 

กินให้หมดจาน

คำสอนจากพ่อแม่ที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็ก ทว่าความสำคัญในประเด็นนี้หมายถึงการกินให้พอดีกับความต้องการของเรา แนวคิดดังกล่าวคือการตักอาหารให้พอดี เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าเราจะกินมันหมด และไม่ก่อขยะเศษอาหารเหลือทิ้งบนจาน

สิ่งนี้สัมพันธ์กับปัญหาขยะ ตลอดจนรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหาร ดังที่อธิบายไปในข้อก่อนหน้าว่ากว่าจะได้อาหารมาให้เราทานต้องแลกกับพลังงาน และของเสียที่ฝากไว้กับโลกมากมาย จึงเป็นการดีกว่าที่จะใช้อาหารนั้นๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และพยายามแยกให้ออกว่าความต้องการอาหารนั้นเกิดขึ้นจากความหิว หรือความอยากทานเฉยๆ กันแน่ นักวิทยาศาสตร์เปรียบเปรยว่าความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากหลายคนร่วมกันทำนี้เทียบได้กับ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ซึ่งดวงดาวในที่นี้หมายความถึงอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังส่งผลกระทบต่อโลกมากมาย

 

มีเซ็กส์อย่างป้องกัน

45% ของการตั้งครรภ์ในสหรัฐฯ เกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ ส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้น และตามมาด้วยปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นตาม ปัญหาประชากรล้นโลกคือความกังวลที่นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาทางแก้ไข ความกังวลดังกล่าวไม่เพียงแต่ในอนาคตที่เราอาจจะต้องแก่งแย่งอาหารกันเท่านั้น แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นยังรวมไปถึงพื้นที่ตามธรรมชาติที่จะถูกรุกราน และเปลี่ยนแปลงให้เป็นที่อยู่อาศัยอีกด้วย ทุกวันนี้ปัญหาการบุกรุกและทำลายถิ่นอาศัยกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สัตว์ท้องถิ่นหลายชนิดเผชิญความเสี่ยงสูญพันธุ์

รายงานจากปี 2017 เสริมว่า หากประชากรโลกวางแผนที่จะมีลูกเพียงคนเดียวจะช่วยลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 60 ตันต่อปี นอกเหนือจากการวางแผนครอบครัวแล้ว การมีเซ็กส์อย่างป้องกันคือวิธีที่ดีในการลดความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ไม่พร้อม ท่ามกลางจำนวนประชากรโลกที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดการณ์กันว่าภายในปี 2050 นี้ จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,800 ล้านคน และ 11,200 ล้านคน ในปี 2100

(ประชากรล้นโลกได้อย่างไรในเมื่อมีคนเสียชีวิตทุกวัน? วิดีโอจาก Kurzgesagt จะช่วยฉายภาพที่มาของปัญหาให้คุณผู้อ่านเข้าใจมากยิ่งขึ้น (มีซับไทย))

 

ส่งต่อแนวคิดให้คนใกล้ตัว

ไม่ว่าคุณจะทำอะไรที่กำลังช่วยโลก จงแบ่งปันให้คนรอบตัว และเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียให้ทุกคนได้รับทราบว่า การใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดกัน นี่คือความเปลี่ยนแปลงทางอ้อม ทว่าคุ้มค่าในการพัฒนาคุณภาพของประชาชน เพราะองค์ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติจะถูกส่งต่อไปยังผู้คนอื่นๆ มากมาย และขยายเป็นวงกว้างไปสู่สังคมในที่สุด

นอกจากนั้นความร่วมมือในชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างจิตสำนึก และตัวอย่างที่ดีต่อเด็กๆ คุณสามารถเริ่มต้นง่ายๆ เพียงจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มเดือนละต้น หรือไปเดินป่าชมธรรมชาติ ไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่กว่า เช่น การเลือกใช้พลังงานทดแทนในชุมชน สิ่งสำคัญคือการดำเนินโครงการอย่างยั่งยืน ต้องมีความต่อเนื่อง และมีการดูแลรักษา เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการนั้นๆ ได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ข้อแนะนำจากศาสตราจารย์ Randy O’Reilly ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโดเสริมว่า สารสื่อประสาทอย่าง โดพามีน คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ New Year’s resolution ประสบความสำเร็จ ในช่วงแรก เมื่อผู้คนทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ความสำเร็จของพวกเขาจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงใจจากสารโดพามีนที่หลั่งออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป การปฏิบัติสิ่งเดิมซ้ำๆ จะส่งผลให้สมองเริ่มเคยชิน และลดการหลั่งของสารลง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมใครหลายคนจึงทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ได้เพียงไม่กี่เดือน และล้มเลิกในที่สุด ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะตั้งเป้าหมายเล็กๆ ไว้ก่อน และค่อยๆ เพิ่มความท้าทายขึ้นทีหลัง สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นสร้างความรู้สึกเชิงบวกจากความสำเร็จในแต่ละวัน เพราะความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา

 

อ่านเพิ่มเติม

รอยเท้าคาร์บอน เบื้องหลังเทศกาลลอยกระทง

 

แหล่งข้อมูล

‘Momentum is growing’: reasons to be hopeful about the environment in 2019

Here’s how to stick to your 2019 New Year’s resolution

5 resolutions you should make for the planet in 2019

5 Science-Backed New Year’s Resolutions You Can Take In 2019 To Help Save The Environment

“แก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ต้องเริ่มที่ตัวเรา”คุยเรื่องทางออกปัญหาสิ่งแวดล้อม กับ เต้ย – วีรยา ภักดีรจนาแห่งมูลนิธิเอ็นไลฟ

เคล็ดลับ “ตั้งปณิธานปีใหม่” ไม่ให้ล้มเหลวเหมือนปีก่อน

 

Recommend