รศ. เอนก ศิริพานิชกร สภาวิศวกร แผ่นดินไหวในไทย อาคารแบบไหนรับมือได้?

รศ. เอนก ศิริพานิชกร สภาวิศวกร แผ่นดินไหวในไทย อาคารแบบไหนรับมือได้?

สนทนากับ รศ. เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร ว่าด้วยความพร้อมอาคารก่อสร้างในประเทศไทย หากเกิดแผ่นดินไหว และภัยธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดคิด

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี-ซีเรีย ผ่านมานานนับเดือน ทว่าสิ่งที่ยังคงดำเนินไปคือการที่รัฐบาลตุรกีกำลังสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุอาคารหลายแห่งพังถล่ม

รายงานข่าวระบุว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวขึ้น ชาวตุรกีจำนวนไม่น้อยได้ออกมาแสดงความไม่พอใจและโกรธแค้น เนื่องจากพวกเขามองว่าอาคารที่พังถล่มจำนวนมากมีส่วนมาจากการสร้างอาคารหลายแห่งที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการทุจริต รวมถึงการพัฒนาเมืองของภาครัฐก็มีข้อบกพร่อง

“จนถึงขณะนี้ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยแล้ว 184 ราย รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่และเจ้าของโครงการอาคารชุดที่พักอาศัย ที่พังถล่ม และกำลังสอบสวนผู้ต้องสงสัยกว่า 600 รายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยไม่ได้มาตรฐาน” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของ นายเบเตีย บอซดัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของตุรกี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์

ท่ามกลางความเสียใจจากประชาคมโลก หันกลับมาที่ประเทศไทย หากมีการเกิดภัยธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว เรามีศักยภาพรับมือได้แค่ไหน และกฎหมายการก่อสร้างที่คู่ขนานไปกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ยากจะคาดเดาได้เช่นนี้เป็นอย่างไร?

National Geographic Thailand สนทนากับ รศ. เอนก ศิริพานิชกร ผอ.สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร

ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรม อาจารย์มองเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตรุกีซึ่งมีอาคารบ้านเรือนเสียหายและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากอย่างไร และเหตุการณ์นี้เตือนคนไทยในเรื่องใดบ้าง?

มองว่าภัยธรรมชาติยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องใกล้ตัว แผ่นดินไหวเองในแต่ละครั้งก็กระทบโครงสร้างอาคารบ้านเรือนมากน้อยต่างกันไป

ที่ผ่านมามีบันทึกการเกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศไทย หลายครั้ง และส่วนใหญ่มีการสั่นไหวในระดับเล็กถึงปานกลางคือขนาดประมาณ Magnitude 5.0 – 5.9  ซึ่งทำให้เกิดการสั่นไหวบริเวณกว้าง เครื่องใช้ไม้สอย และวัตถุสิ่งของเคลื่อนที่ เกิดความเสียหาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ในกรณีช่วงสึนามิ หรือล่าสุดเมื่อปี 2557 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งภาคเหนือรวมทั้งผู้ที่อาศัยในอาคารสูงในกรุงเทพฯ และมีความเสียหายรุนแรงในหลายพื้นที่

เหตุการณ์แผ่นดินไหวแต่ละครั้ง นอกจากการพูดถึงแผนเมื่อต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติแล้ว ในเชิงวิศวกรรมยังนำไปสู่การพูดถึงความเหมาะสมในการก่อสร้างอาคารเพื่อรับมือกับเหตุแผ่นดินไหว การพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร นั่นคือกฎกระทรวงกำหนดเรื่องการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวฉบับใหม่ ซึ่งฉบับล่าสุดประกาศใช้เมื่อปี 2564

ที่ประเทศตรุกี ในความเห็นของผมประเมินว่า ส่วนใหญ่อาคารที่พังเสียหายมีขนาดเล็ก เป็นอาคารเก่าซึ่งก่อสร้างอาคารสมัยก่อนที่ยังไม่มีการให้ความสำคัญ เมื่อเกิดเหตุในระยะใกล้จึงทำให้อาคารทับพังถล่มลงมา และก็เป็นสาเหตุของการที่เราเห็นประชาชนต้องติดอยู่ใต้ซากอาคาร ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากโครงสร้างอาคารที่หล่นมาทับ

แผ่นดินไหวแต่ละครั้ง สำหรับผู้อยู่อาศัยทั้งในอาคารบ้านเรือนและตึกสูง ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?

ต้องเข้าใจก่อนว่า การเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้ง จะมีคลื่น 2 ประเภท ได้แก่ คลื่นปฐมภูมิ (Primary wave)  ซึ่งเป็นคลื่นที่ทำให้ตัวกลางที่คลื่นวิ่งผ่านนั้นถูกอัดเข้า-ขยายออก สลับกัน โดยที่แนวการอัด-ขยายจะอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางวิ่งของคลื่น คลื่นนี้ไม่รุนแรง แต่เหมือนเป็นสัญญาณเตือนเรา ขณะที่อีกคลื่นคือ คลื่นทุติยภูมิ (Secondary wave)  ซึ่งทำให้ตัวกลางเคลื่อนตัวในแนวตั้งฉากกับทิศการเคลื่อนที่ของคลื่น ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยเรื่อง ความถี่ (frequency) ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อความเสียหายของอาคาร

การจะพิจารณาว่าอาคารแบบไหนจะได้รับความเสียหาย ไม่ได้มองที่จำนวนขนาด (magnitude) ความรุนแรงเพียงอย่างเดียวแต่ต้องมองถึง ความถี่ธรรมชาติที่มีอยู่ในอาคารนั้นๆด้วย ไม่ว่าจะมาจากการสั่นของพื้นดิน (ground motion) อันก่อให้เกิดแรงแผ่นดินไหว หรือการพิจารณาผลตอบสนองจากแรงลม ที่พัดเข้าปะทะตัวอาคารในทิศทางต่างๆ ก็ดี ซึ่งถ้าปัจจัยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกันมันจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การสั่นพ้อง (resonance) ที่จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของการสั่น

อธิบายง่ายๆว่า แต่ละตึก แต่ละอาคาร มีอาการสั่นตามธรรมชาติของตัวเอง แต่เมื่อเกิดรอยเลื่อนของดินในจังหวะที่การสั่นมีความถี่สูง จึงเกิดการพ้องคลื่นกัน นั่นหมายความว่า ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น  อย่างที่ประเทศตุรกี เราจะเห็นว่าอาคารที่เสียหายคืออาคารขนาดเล็กและเตี้ยซึ่งมีความแข็ง (stiff) และสั่นไหวด้วยความถี่ธรรมชาติสูง จึงไปพ้องกับคลื่นที่มีความถี่สูงจากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวและเกิดการเสริมแรง อันเป็นสาเหตุที่พบว่าอาคารที่พังจะอยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลจากจุดกำเนิดแผ่นดินไหวนัก อาจสรุปได้ว่าอาคารขนาดเล็กและเตี้ยมีการสั่นตามธรรมชาติที่ไปกลับเร็วกว่า (หรือเรียกว่ามีคาบการสั่น (period) ที่น้อย) ผลก็ทำให้เกิดลักษณะที่คลื่นพ้องกัน ทำให้ขนาดความรุนแรงของการสั่นมีมากขึ้นซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างอย่างรุนแรง

สำหรับอาคารสูงขึ้น ความถี่ธรรมชาติของอาคารจะน้อยลง เนื่องจากอาคารสูงจะให้ตัว (flexible) ได้มากกว่าอาคารเตี้ย ดังนั้นในบริเวณใกล่เคียงกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อาคารที่สูงมักจะได้รับผลกระทบจากการสั่นไหวของแผ่นดินไหวน้อยกว่าอาคารเตี้ย เนื่องมาจากความถี่ธรรมชาติของอาคารสูงไม่ตรงกับความถี่ของแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในกรณีที่อาคารสูงมากความถี่ธรรมชาติของอาคารจะต่ำมากจนแรงแผ่นดินไหวมีผลต่อโครงสร้างน้อยลง

ในเรื่องของการสั่นพ้อง ตึกที่สูงขึ้นจะตอบสนองสอดคล้องกับคลื่นที่มี ความถี่ต่ำ (low frequency) หรือมีคาบยาว (long period) และในกรณีที่อาคารอยู่ในแอ่งกรุงเทพที่เป็นชั้นดินอ่อนมาก คลื่นแผ่นดินไหวที่ควรมีการสั่นไหวที่ลดลงจนหายไป จะเกิดการขยายคลื่นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการสั่นไหวจากบริเวณดินแข็งเข้ามายังดินอ่อนที่พบบริเวณกรุงเทพและจังหวัดรอบ ๆ แต่การสั่นไหวจะมีความถี่ต่ำและจะมีต่ออาคารที่มีความสูงปานกลาง  กรณีนี้เรียกผลกระทบการสั่นไหวว่าเป็นแผ่นดินไหวระยะไกล ดังนั้นอาคารเตี้ยๆ ที่มีความถี่สูงๆ หรือคาบสั้น และอาคารสูงมากที่มีการสั่นธรรมชาติต่ำ จึงได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกลที่น้อยลง  จึงสรุปได้ว่าอาคารสูงมักเชื่อมโยงกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มาจากระยะไกล ส่วนอาคารเล็กและเตี้ยจะรับกระทบอย่างรุนแรงในบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหว

เมื่อวัดจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แสดงว่าอาคารเตี้ยมีความเสี่ยงกว่าอาคารสูง?

สำหรับจุดที่อยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลาง มีหลักฐานที่แสดงออกเช่นนั้น แต่ก็มีบางเหตุการณ์ในอดีตที่มีหลักฐานผลกระทบของอาคารขนาดหนึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวระยะไกล เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก เมื่อปี 1985 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารถล่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารสูง และอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางในเมืองเม็กซิโกซิตี้ราว 200-300 กิโลเมตร และในพื้นที่ตั้งของอาคารก็เป็นดินอ่อนมากปากแม่น้ำเช่นเดียวกับกรุงเทพ ฯ

โดยทั่วไปเราเชื่อว่าคลื่นความถี่จะค่อยๆ หายไป ตามระยะทาง เหมือนเราโยนหินในน้ำ แล้วคลื่นก็จะหายไป แต่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมีการวิเคราะห์ว่าคลื่นที่ควรจะหายไป กลับไปเจอกับชั้นดินอ่อน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหักเหของคลื่น ซึ่งเมื่อทิศทางคลื่นเปลี่ยนแปลงไป จะมีขนาด (แอมพลิจูด) เพิ่มขึ้น แต่การสั่นไหวจะมีความถี่ที่ต่ำลง และเกิดการพ้องคลื่นที่ทำให้เกิดความรุนแรงกับอาคารที่มีความสูงระดับปานกลางจำนวนหนึ่ง

บริเวณที่มีดินอ่อน เป็นแบบเดียวกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไหม และถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดการพ้องคลื่นแบบเดียวกัน อาคารในกรุงเทพฯจะเป็นอย่างไร?

กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นบริเวณดินอ่อน เคยมีการสำรวจและพบว่าพื้นดินแถวกรุงเทพมีการตอบสนอง ของการเกิดการสั่นไปกลับจากตำแหน่งเดิมเป็นเวลา ที่เรียกว่าคาบประมาณ 2 วินาที ก็แสดงว่าถ้าเจอคลื่นความสั่นที่จะทำให้เกิดการพ้องคลื่น จะมีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้น ซึ่งสำหรับกรุงเทพฯ เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในระยะไกลออกไป เราพบว่าอาคารสูงในระดับกลางสักประมาณ 30-50 เมตร หรือสักประมาณ10-20 ชั้น จะรู้สึกได้ถึงการสั่น แต่อาคารที่เตี้ยและอาคารที่สูงกว่านั้น ก็จะไม่รู้สึก นั่นเป็นที่มาว่าทำไมบางเหตุการณ์อาคารหนึ่งถึงรู้สึกถึงการสั่นแต่กับอีกคารไม่ได้รู้สึกอะไรเลย นั่นเพราะคาบการสั่นของอาคารมันไปเท่ากับการขยายคลื่นและการสั่นที่เปลี่ยนไปจากแผ่นดินไหวระยะไกลที่เดินทางผ่านจากดินแข็งกับไปยังอ่อน

หากมีแผ่นดินไหวในภาคอื่นๆ ในประเทศไทย กรุงเทพฯ ก็อาจเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าพ้องคลื่นได้เหมือนกัน?

ใช่ แต่กับบางพื้นที่เช่น ในกรุงเทพฯ ที่ไม่พบว่ามีรอยเลื่อนใดที่จะส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวได้ ซึ่งในประเทศไทยมีรอยเลื่อนทางฝั่งภาคเหนือ ภาคตะวันตก  แต่เมื่อคลื่นเดินทางมาถึง โอกาสที่อาคารขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบก็น้อยมาก แต่อาคารกลางๆ สัก ไม่เกิน 30 ชั้น อาจจะเกิดการสั่นพ้องได้

แผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยแน่ๆ ทุกวันนี้ การก่อสร้างอาคารเพื่อรับเหตุแผ่นดินไหวเตรียมพร้อมไปถึงไหน?

ทุกประเทศทั่วโลก มีการคำนวณออกแบบและก่อสร้างอาคารไม่ต่างกัน ซึ่งมีอยู่ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับแรก คือเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไม่มีส่วนเกิดการเสียหายเลย หรือมีก็อาจจะเล็กน้อยมากๆ กลุ่มนี้ไม่นิยมทำกัน เนื่องจากใช้งบประมาณที่สูงมาก

ระดับที่สองเราเรียกว่าระดับ Immediate Occupancy Level – IQ คือ อาคารมีสภาพใกล้เคียงกับสภาพก่อนเกิดแผ่นดินไหว ไม่มีการเคลื่อนที่ระหว่างชั้นอย่างถาวร โดยส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างเกิดความเสียหายน้อย สามารถซ่อมแซมอาคารเล็กน้อยก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ กลุ่มนี้เป็นอาคารที่มีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล Data center ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการก่อสร้างระดับนี้เรายอมให้อาคารเสียหายบางส่วนแต่โครงสร้างยังใช้ได้ทันที เพราะมีการคำนวณไว้แล้วว่าอะไรที่สามารถให้พังได้ อะไรที่ยังแข็งแรง

ระดับที่ 3 เราเรียกว่า Life Safety Level – LS ซึ่งส่วนนี้โครงสร้างมีความเสียหายได้ แต่ไม่พังทลาย ส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง เช่น ชิ้นส่วนทางสถาปัตยกรรม ระบบเครื่องจักรกลและไฟฟ้าเกิดความ อาคารไม่สามารถใช้งานได้ทันที ต้องทำการตรวจสอบและซ่อมแซมอาคารก่อนกลับเข้าใช้งาน แต่เป้าหมายหลักคือไม่มีผู้เสียชีวิต

ขณะที่ระดับสุดท้าย คือระดับป้องกันการพังทลาย Collapse Prevention Level – CP ซึ่งอาคารเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายโดยรวมรุนแรงมากแต่การพังทลายคือชิ้นส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้าง ซึ่งการก่อสร้างขึ้นอยู่กับการประเมินระดับสมรรถนะของอาคารกับระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่เลือกใช้ในการประเมิน

ปัจจุบันแนวทางการก่อสร้างของทั่วโลกและไทยคือแนวทางของระดับ 2 และระดับ 3 เพราะตามหลักการเรามองว่าการก่อสร้างที่ดีและเพื่อรับมือแผ่นดินไหวที่สมเหตุสมผลคือเรายอมให้บางส่วนเสียหายได้ แต่ในส่วนที่เป็นโครงสร้างยังสามารถใช้งานได้เพื่อสอดคล้องกับการใช้งาน การอยู่อาศัย

ในเชิงวิศวกรรมเราสามารถออกแบบได้หลายแนวทาง เพื่อให้สอดรับกับคลื่นไหวสะเทือนและให้อาคารนั้นเสียหายน้อยที่สุด เช่น การยึดตรึง (brace) เป็นการเสริมโครงสร้างอาคารด้วยโครงสร้างแบบแกงแนง ช่วยให้อาคารสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวที่มาแบบแกว่งไปมา การแทรกโครงสร้าง (infill) การใส่กรอบเสริม (frame) ตลอดจน การค้ำยัน (buttress)

อนาคตของประเทศไทยในการรับมือแผ่นดินไหวเป็นอย่างไร?

แน่ว่าในระยะยาว  สิ่งที่ดีที่สุดคือการก่อสร้างอาคารรุ่นใหม่ให้แข็งแรงทดแทนอาคารรุ่นเก่าบนความเคร่งครัดของการทำตามมาตรฐาน ซึ่งล่าสุดประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมอาคารการออกแบบอาคารใหม่เพื่อต้านทานแผ่นดินไหวมีกฎหมายบังคับควบคุมอย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ.2540 พ.ศ.2550 และปรับปรุงเรื่อยมา โดยบังคับใช้กับอาคารสาธารณะและอาคารที่มีความสำคัญ หรืออาคารทั่วไปที่มีความสูงเกิน 15 เมตร ขึ้นไปในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งอาคารสูงเกิน 10 เมตร ในจังหวัดที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน เช่น กาญจนบุรี เชียงราย และเชียงใหม่ เป็นต้น โดย กระทรวงมหาดไทยออก “กฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564″ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับล่าสุด

แนวทางการก่อสร้าง ทิศทางยังเน้นไปที่การเสริมกำลังโครงสร้างด้วยการสลายพลังงาน ซึ่งทางเลือกนี้ถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดเนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร และสามารถซ่อมแซมหรือเปลี่ยนได้ง่ายหลังจากเกิดแผ่นดินไหว

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คืออะไร?

บอกข้อบังคับ กติกาในการก่อสร้างอาคารที่อยู่บริเวณต้องออกแบบและคำนวณ ตามกฎกระทรวงซึ่งกำหนดค่าแรงต่าง ๆ ตามมาตรฐานและประกาศของกรมโยธาและผังเมืองที่วางไว้

ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวมาตลอด เล็กบ้าง ปานกลางบ้าง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรอยเลื่อนก็ถือว่าเรายังไม่รุนแรงเท่า และกฎกระทรวงฉบับต่างๆ ก็ได้ปรับปรุงบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศมากขึ้น จากเดิมมี บริเวณเฝ้าระวัง บริเวณที่ 1 และบริเวณที่ 2 โดยแบ่งใหม่เป็น 3 บริเวณ รวม 43 จังหวัด ประกอบไปด้วย

บริเวณที่ 1 (เดิมคือ บริเวณเฝ้าระวัง) มี 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร สงขลา สุราษฎร์ธานี โดยมีหลายจังหวัดที่เพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สตูล และหนองคาย และมีบางจังหวัดที่ปรับย้ายไปเป็นบริเวณที่ 2 (พังงา ภูเก็ต ระนอง)

บริเวณที่ 2 (เทียบได้กับ บริเวณที่ 1 เดิม) เป็นบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบในระดับปานกลาง มี 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยมีจังหวัดที่ปรับย้ายมาจากบริเวณเฝ้าระวังเดิม คือ พังงา ภูเก็ต ระนอง และมีจังหวัดที่เพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

บริเวณที่ 3 (เทียบได้กับ บริเวณที่ 2 เดิม) เป็นบริเวณที่อาจได้รับผลกระทบในระดับสูง มี 12 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเดิม 10 จังหวัด คือ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน และเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือ สุโขทัย และอุตรดิตถ์

อาคารเก่าในย่านเศรษฐกิจกับการเตรียมเหตุแผ่นดินไหวเป็นอย่างไร?

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันยังมีอาคารจำนวนมากที่ได้สร้างก่อนจะกฎกระทรวงออกมาบังคับใช้ซึ่งส่งผลให้อาคารเหล่านั้นที่ไม่ได้ออกแบบให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวและมีความเสี่ยงต่อความเสียหายหรือพังทลาย หากมีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงเกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกันเจ้าของอาคารก็ไม่ได้มีความผิดใดๆ เนื่องจากกฎหมายได้ถูกพัฒนามาหลังจากยุคของการก่อสร้างกลุ่มอาคารข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะพัฒนาไปข้างหน้า เช่นเดียวกับการก่อสร้างซึ่งปัจจุบันอาคารสมัยใหม่ก็ถูกออกแบบด้วยหลักวิศวกรรมสมัยใหม่ ที่ได้บรรจุคำสำคัญ เช่น การรับมือแผ่นดินไหว, การรับมือแรงลม ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนวิศวกรรมโยธาทั่วประเทศ และการเตรียมความพร้อมในการให้ความรู้แก่วิศวกรให้มีสมรรถนะในการต้านทางแรงแผ่นดินไหว ซึ่งอาคารขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาจะมีความสามารถในการต้านทานแรงสั่นไหวได้ และได้มีการพัฒนาปรับปรุงไปเป็นลำดับ ซึ่งหมายความว่าทิศทางในการก่อสร้างจะดำเนินการไปทางนั้น แม้ว่าพื้นที่ของการก่อสร้างจะไม่ได้มีปัจจัยใดที่เชื่อมโยงกับรอยเลื่อน หรืออยู่นอกเหนือตามที่กฎกระทรวงกำหนด หากแต่เป็นจิตสำนึก และความมีเหตุมีผลในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่ไม่มีอะไรแน่นอน 100% ในอนาคต

 

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพประกอบ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม : Environmental and Social Foundation

 

อ่านเพิ่มเติม

อ่านเพิ่มเติม เปิดที่มา-สาเหตุ แผ่นดินไหวตุรเคีย (ตุรกี) – ซีเรีย ครั้งใหญ่

Recommend